ต่างประเทศอินโดจีน : ชีวิตเป็นหนี้โควิด-19 ของชาวกัมพูชา

ประชากรของกัมพูชามีทั้งหมด 16 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบอาชีพเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากถึงกว่า 800,000 คน

แล้วก็กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่หลวงของประเทศในเวลานี้

เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักทั่วโลกนั้น แม้กัมพูชาจะไม่มีการระบาดมากมายใหญ่โตกระไร แต่ความต้องการสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงอย่างฮวบฮาบ

เมื่อสิ้นเดือนเมษายน กว่าครึ่งหนึ่งของโรงงานสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาต้องปิดตัวลงเพราะเหตุนี้

ปัญหานี้ถูกขยายใหญ่โตขึ้นเกินกว่าภาวะว่างงานปกติทั่วไป

เหตุผลเป็นเพราะกัมพูชาเป็นประเทศที่มีการกู้ยืมสินเชื่อรายย่อย หรือไมโครไฟแนนซ์ สูงที่สุดในโลก

เฉลี่ยแล้วประชากรกัมพูชาเป็นหนี้ในระบบสินเชื่อรายย่อยตกรายละ 3,800 ดอลลาร์ สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัวต่อปีเกือบ 2 เท่าตัว

ข้อมูลของสมาคมสินเชื่อรายย่อยแห่งกัมพูชาชี้ให้เห็นว่า ชาวกัมพูชามากถึง 2.6 ล้านคนกู้ยืมจากระบบนี้ คิดเป็นเม็ดเงินรวมกันเท่ากับ 10,000 ล้านดอลลาร์

 

แรกเริ่มเดิมที รัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ประกาศว่า ลูกจ้างโรงงานที่ปิดกิจการเพราะโควิด จะยังคงได้รับ 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเดิมต่อไป

โดยนายจ้างจะจ่าย 40 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเดิม รัฐบาลเติมให้อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ต่อเนื่องนาน 6 เดือน

เอาเข้าจริงยอดเงินรายได้ระหว่างพักงานดังกล่าวลดลงมาเหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์จากค่าจ้างเดิม เหลือเพียง 70 ดอลลาร์เท่านั้น

เหตุผลก็คือ นายจ้างไม่มีเงินพอที่จะทำอย่างที่เคยประกาศไว้ได้

 

นอกจากแรงงานสิ่งทอแล้ว ลูกหนี้ในระบบสินเชื่อรายย่อยส่วนใหญ่อีกกลุ่มก็คือเกษตรกร ซึ่งในยามนี้ก็ตกที่นั่งลำบากไม่แพ้กัน

รัฐบาล, องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และประเทศเจ้าหนี้ ผลักดันระบบสินเชื่อรายย่อยในกัมพูชาอย่างหนักในทศวรรษ 1990 พอถึงทศวรรษ 2010 ระบบสินเชื่อรายย่อยก็กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ

อย่างรวดเร็วยอดเงินกู้เริ่มสูงขึ้น เกินกว่าขีดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ทุกคน

ผลสำรวจเมื่อปี 2017 แสดงให้เห็นว่าระดับหนี้ในระบบสินเชื่อรายย่อยกลายเป็นอันตรายมากกว่าประโยชน์

ครึ่งหนึ่งของลูกหนี้เงินกู้ เชื่อว่าตนเองมีหนี้มากเกินไป และอีกเกือบครึ่งยอมรับว่า จงใจกินให้น้อยลง เพื่อจะได้ออมเงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้

ระบบสินเชื่อรายย่อยในกัมพูชาเป็นระบบแสวงกำไรและเรียกร้องหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหนีไม่พ้นที่ดินที่ทำกินของเกษตรกรทั้งหลาย ในกรณีที่ไม่มีงานประจำ

ถึงที่สุดแล้ว ที่ดินเหล่านี้หากไม่ถูกขายเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ก็อาจตกเป็นของเจ้าหนี้ ยึดไปฟรีๆ แทนมูลหนี้ทั้งหมด

ไม่ขายที่ใช้หนี้ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายลงให้ได้ ลูกๆ อาจต้องเลิกเรียนหนังสือ เลิกคิดถึงอนาคตอันสดใสไป

 

รายงานขององค์กรภาคประชาสังคมอย่าง เอสทีที และแอลไอเอดีเอชโอ ชี้ให้เห็นว่า ราว 90 เปอร์เซ็นต์ของลูกหนี้ของ 9 บริษัทสินเชื่อรายย่อยซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาด 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้วิธีการแบบนี้ทั้งสิ้น

ถึงตอนนี้ รัฐบาลกัมพูชายังไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ

ไม่รู้ว่าสาเหตุเป็นเพราะ ยังไม่พบเห็นปัญหา หรือยังมองหาหนทางแก้ไขไม่ได้ หรือว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอเพื่อการนี้กันแน่

แต่ส่อให้เห็นว่า หนี้ในยุคโควิด-19 กำลังทำให้คนกัมพูชาไม่น้อยต้องหมดทั้งเงินออม ทั้งที่ดินทำกิน และหมดอนาคตอีกด้วย