อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มีฝรั่งบางคนบอกเอาไว้อย่างน่าฟังว่า อนาคตอยู่ที่นี่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ว่าอนาคตมาถึงเร็วกว่าที่คาดคิด

ผมชอบคำกล่าวถึงอนาคตดังกล่าวอันนี้มาก เรียบง่ายแต่ช่างคมคายและลึกซึ้ง

คำกล่าวว่าด้วยอนาคตอยู่ที่นี่แล้วช่วยให้ผมได้คิดถึงคำหลายคำที่คนทั่วไปชอบพูดกันตอนนี้ ขออนุญาตใช้ภาษาฝรั่งหน่อย

เช่น New Normal บางคนแปลว่า ความปกติใหม่

Disruption บางคนแปลว่า ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและคาดไม่ถึง ส่วนผมแปลว่า ปั่นป่วน

Globalization บางคนแปลว่า โลกภิวัตน์ คำแปลเหล่านี้สำหรับผมไม่ค่อยมีความหมายมากนัก ทว่าผลต่างๆ จากสิ่งเหล่านี้เราอาจถกเถียงกันได้ แต่ผมสังเกตว่า ทั้งสามคำข้างต้นมีผู้คนจำนวนมากใช้เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ของโลกซึ่งรวมทั้งบ้านเราด้วยอย่างง่ายๆ โดยไม่ได้มองเหตุและผลให้รอบด้าน

ที่สำคัญกลับนำข้อความดังกล่าวมาสรุปปรากฏการณ์สำคัญมากๆ แล้วสรุปง่ายๆ ว่า เราต้องปรับตัว ปรับตัวอย่างไรครับ ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน้อยคนจำนวนมากๆ ในโลกและภูมิภาคต่างๆ ของโลกรวมทั้งบ้านเราอาจล้มทั้งยืนหรือสูญหายไปจากโลกนี้เลยก็ได้

ผมกล่าวเช่นนี้เพื่อเป็นความขึ้นต้นแห่งความเข้าใจอนาคต ซึ่งล้วนผันแปรตามสภาพของปรากฏการณ์ใหญ่ๆ นี้แทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ เราควรทำความเข้าใจบริบทที่รองรับปรากฏการณ์ใหญ่ๆ เป็นเบื้องต้น

 

เรียนรู้อดีต

เราอาจระบุเวลาที่แน่นอนได้

ทว่าปรากฏการณ์ใหญ่ที่อาจนำมาอ้างเพื่อเข้าใจบริบทสำคัญน่าจะเป็น

ดังนี้

วิกฤตการเงิน 1997 (Financial crisis)

คําอธิบายวิกฤตการเงิน 1997 หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งอย่างสรุปคือ เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินการธนาคารในประเทศไทยที่กู้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากตลาดต่างประเทศ หลังจากนั้นมีการนำเงินกู้เหล่านั้นไปลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นการลงทุนเก็งกำไรมากกว่าเป็นการลงทุนแท้จริง

ดังนั้น จึงเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งแตกตัวออกแล้วก่อผลให้ภาคการเงินการธนาคารไทยล้มละลาย แล้วเกิดผลกระจายส่งต่อไปภาคเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี (ซึ่งประเทศหลังนี้เป็นสมาชิกของกลุ่มเศรษฐกิจเจริญแล้ว หรือ OECD)

ผลอย่างสำคัญคือ คนชั้นกลางตกงานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานในบริษัทด้านการเงินและธนาคาร แน่นอนมีเจ้าสัวเยสเตอร์เดย์ด้วย

ผลอันหนึ่งคือ ด้านมืดของโลกาภิวัตน์เผยตัวเองออกมา

ด้านมืดที่แสดงว่า คนด้อยอำนาจ ความมั่งคั่งและบทบาททางสังคมถูกเอารัดเอาเปรียบจากโลกาภิวัตน์และจากผู้ที่เหนือกว่า

หากไม่ต้องสนใจแนวคิดของชาติมหาอำนาจ เช่น ฉันทานุมัติวอชิงตันและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมากนัก อนาคตของคนตกงาน

ในประเทศไทยยังมีข้อเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และภาคเกษตรและชนบทไทยยังรองรับอนาคตของคนเหล่านั้นได้ระดับหนึ่ง

 

วิกฤตการณ์ซับไพรม์ 2008

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา

ช่วงเวลานั้น กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาอัดฉีดเงินดอลลาร์เข้าระบบการเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐ

ผลอันนี้ก่อผลให้ค่าเงินดอลลาร์เปลี่ยนแปลงยังผลให้ค่าเงินต่างประเทศ เช่น เงินหยวนของสาธารณรัฐประชาชนจีน เงินยูโร รวมทั้งค่าเงินบาทด้วย

ทางการไทยคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการกู้เงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจเพราะเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจไทยชะลอตัวและคนจำนวนหนึ่งตกงาน

รัฐบาลไทยสมัยนั้นออกโครงการไทยช่วยไทย

แต่แนวคิดเศรษฐกิจไทยที่สำคัญไม่ปรากฏ

 

วิกฤตโรคระบาด COVID-19 (2019-)

ขออนุญาตไม่กล่าวถึงรากเหง้าของโรคระบาดใหม่ครั้งนี้

แต่ผมอยากให้เห็นบริบทโลกและไทยซึ่งคล้ายคลึงกัน

กล่าวคือ ช่วงปี 2009 เป็นต้นมา ราวกับว่า เศรษฐกิจโลก ภูมิภาคและไทยมั่งคั่งและรุ่งเรืองด้วยจักรกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคบริการคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเชื่อมโยงคือ สายการบิน โรงแรมและภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่ม ห้างสรรพสินค้า ค้าปลีก ธุรกิจสุขภาพ (สปา คลินิกเสริมความงาม นวด) ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์

ทั้งหมดนี้มีการเคลื่อนย้าย (Flow) ของผู้คนหลากหลายและเป็นคลื่นใหญ่ได้แก่ นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา นักลงทุน แรงงาน พ่อค้าต่างด้าว การย้ายถิ่นของผู้สูงอายุ เป็นต้น

การเคลื่อนย้ายของผู้คนได้สร้างและกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อยๆ ลดต่ำลง แต่รัฐบาลของแต่ละประเทศต่างเร่งรัดอัตราการเติบโตด้วยนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ

การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและลงทุนด้านนวัตกรรมและดิจิตอลเพื่อการผลิตสินค้ามูลค่าสูงและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

แล้วโลกาภิวัตน์ด้านมืด ปั่นป่วนทางเทคโนโลยีและความปกติอย่างใหม่ก็เป็นทั้งคำอธิบายและปลอบประโลมคนด้อยโอกาสทั้งมวล ทว่ายังไม่มีโมเดลทางเศรษฐกิจของโลกและของประเทศเป็นทางออก เราอาจได้ยิน Local economy บ้าง แต่เราไม่ค่อยได้ยินเศรษฐกิจพึ่งตัวเอง เศรษฐกิจชุมชน (Community Economy) เศรษฐกิจหมู่บ้าน (Village Economy) เศรษฐกิจของประเทศโลกที่สาม แนวคิดเชิงวิพากษ์ เช่น Top-Under dog relation

บริบทเหล่านี้สำคัญเพราะระบบเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo Liberalism) เป็นกรอบทฤษฎีพัฒนาทางเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นต้น

ดังนั้น กล่าวอย่างย่อ ซัพพลายเชนโลก (Global supply chain) ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global value chain) ที่เชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อนที่พัฒนาขึ้นมาทั้งออนไลน์และออฟไลน์ผ่านดิจิตอลไลเซชั่น (Digitalization) เชื่อมโยงระบบทุนนิยมโลก

แล้วโรคระบาดโควิดก็ทำลายห่วงโซ่การผลิตพินาศชั่วข้ามคืน

 

อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว

ออนไลน์ดิจิตอล ซึ่งไม่ใช่สิ่งใหม่ในระบบเศรษฐกิจ การค้า การเงินและไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั่วโลกจึงถูกนำมาใช้ทั้งหลากหลายและมิติต่างๆ พร้อมกัน

การศึกษา ในระบบการศึกษาซึ่งทั่วโลกรวมทั้งไทยก็เรียนกันด้วยการสอนออนไลน์อยู่แล้ว การทำวิจัยและการค้นคว้าต่างๆ เราก็ใช้ห้องสมุดออนไลน์และแพลตฟอร์ม ดาต้าและไลเบอร์รี่ต่างๆ อยู่แล้ว การประชุมออนไลน์หรือ conferencing ทำกันอยู่แล้วและจะทำกันมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่วงวิชาการไทยก็มีการออกกฎหมายรองรับการประชุมและค่าตอบแทน

นี่อาจทำให้ระบบการศึกษาออนไลน์ต่อส่วนใดของสังคมแห่งความด้อยโอกาสทางการศึกษาเสียทีก็ได้ มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมหาศาลอยู่ก่อนแล้ว ตอนนี้เพียงแค่เร่งการใช้และปรับปรุงประสิทธิภาพ

การค้า เช่น การค้าปลีก ทั้งในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อได้รองรับการสั่งซื้อออนไลน์มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว การลงทุนแบบห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อาจเปลี่ยนเป็นเพียงตำนาน และ/หรือเป็นแหล่งพบปะดื่มกินในไลฟ์สไตล์แบบหนึ่งของผู้คนประเภทหนึ่งเท่านั้น ในเวลาเดียวกัน การค้าปลีกด้วยร้านสะดวกซื้อน่าจะเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากและเกือบทุกสังคมจะมีแนวโน้มด้านนี้เป็นหลัก

เวลา สถานที่และโลจิสติกส์น่าจะเป็นระบบที่ไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทำหน้าที่นี้มากขึ้นทดแทนคนงาน

การทำงานและวิถีชีวิต การทำงานทั้งในออฟฟิศทั้งภาครัฐและเอกชนนอกออฟฟิศ และตอนนี้คือ Work from Home สิ่งที่น่าคิดคือ อะไรคืออาชีพอนาคต (Future of Work) ที่รัฐและบุคคลจะวางแผนงาน มีอาชีพเหลือน้อยลงสำหรับแรงงานหรือไม่ แรงงานนอกระบบ (Informal Labor) และระบบสิทธิประโยชน์ซึ่งเคยมีการตั้งคำถามอยู่ก่อนแล้วจะเกิดคำถามเชิงนโยบายระดับโลกเลยทีเดียว

การเมืองและรัฐบาล น่าสนใจ ไวรัสร้ายท้าทายรูปแบบรัฐ รัฐบาลและนักการเมืองทุกประเทศในโลก ไม่เพียงแต่ไวรัสท้าทายการจัดการด้านสาธารณสุขของรัฐบาลอันนำมาสู่การประท้วงและการวิจารณ์ประสิทธิภาพของรัฐบาลเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาทิ ความพ่ายแพ้การเลือกตั้ง คะแนนนิยมที่ตกต่ำลงจากประชาชน การประท้วงในท้องถนนและการเปลี่ยนระบอบการปกครองอาจเห็นได้ในไม่ช้า

สุดท้าย วิกฤตการณ์ไวรัสเผยให้เราเห็นคนตกงานเป็นล้านๆ กันทั่วโลก เราจะเห็นคนด้อยโอกาสทั่วทุกมุมโลกมากขึ้น เราน่าจะสรุปได้ว่า โลกไม่เท่าเทียมกัน

อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว