E-DUANG : ขานรับ จาก “จตุพร-ณัฐวุฒิ” ​​​ปฏิบัติการ #ตามหาความจริง

พลันที่เทปบันทึกคำอภิปรายของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ในสภาผู้แทนราษฎร สะท้อนรายละเอียดการปราบปรามอันเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

ปรากฏผ่านเพจ UDD กลางดึกของคืนวันที่ 14 พฤษภาคม ปฏิบัติการโฟโต ซีรีส์ #ตามหาความจริงก็กลายเป็นเรื่องเด็กๆ

ที่ “พี่ช่อ”ระบุว่า เสมอเป็นเพียง”น้ำจิ้ม” คือ ความจริง

เป็นความจริงทั้งเมื่อมองภาพ # ตามหาความจริง โดยองค์รวม เป็นความจริงที่บรรดาผู้ที่เคยร่วมและประสบชะตากรรมในเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 จะต้องไม่อยู่นิ่งอย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะเป็น “น้องเดียร์ ขัตติยะ” ไม่ว่าจะเป็นของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ

นี่ย่อมเป็นความคึกคักในการขานรับ สำนองตอบ

 

ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมผ่านปฏิบัติการ # ตามหาความจริง เสมอเป็นเพียงการ LAUNCE หรือเปิดตัว หากมองจากมุมทางด้าน”การตลาด”

เป็นการลั่นระฆังจากความจัดเจนของการทิ้งลูกระเบิดอย่างที่เคยเกิดขึ้น ณ โยฮันเนสเบิร์ก อัฟริกาใต้

อย่างที่เคยเกิดขึ้น ณ วอลสตรีท กลางกรุงนิวยอร์ค

จากนั้น นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ในฐานะเลขาธิการนปช.ก็ขยับผ่านเวบเพจ UDDจากนั้น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะประธานนปช.ก็ขยับผ่าน PEACE TV

มิได้เป็นการชุมนุมทางการเมืองเหมือนกับแววแห่งความวิตกอันมาจากกระทรวงกลาโหม กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นต้องขยับ

หากเป็นการเคลื่อนไหวในแบบ “พิธีกรรม” เพื่อรำลึกนึกถึงภาพอันเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

เท่ากับขยายปฏิบัติการ # ตามหาความจริง

 

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งแห่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยปรับประสานไปตามเงื่อนไขและข้อจำกัดในทางการเมือง

เป็นข้อจำกัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

เป็นข้อจำกัดจากที่การประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินยังเป็นด้านที่ครอบงำ

เป็นข้อจำกัดภายใต้คำขวัญ”สุขภาพเหนือเสรีภาพ”

แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าจะทำให้ไม่สามารถ # ตามหาความจริง แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถทบทวนรำลึกถึงภาพแห่งความตาย

แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าจะห้ามญาติสนิทมิตรสหายได้ร่วมกันทำบุญให้กับคนที่เสียสละชีวิตตามอุดมการณ์ความเชื่อ

ทุกอย่างล้วนรวมศูนย์ไปสู่ปฏิบัติการ # ตามหาความจริง