เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระมหามัยมุนี” เมืองนี้คือผู้มีชัย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“พระมหามัยมุนี” ของพม่าสามารถเทียบได้กับ “พระแก้วมรกต” 2 นัย

นัยแรก ชื่อของพระพุทธปฏิมา คำว่า “มัย” มาจาก “เมียะ” แปลว่า “แก้วมรกต” อันเป็นความหมายเชิงอุปมาอุปไมยว่าเป็นพระพุทธรูปที่สูงค่า แต่ในความเป็นจริงแล้วใช้วัสดุอื่นสร้าง

นัยที่สอง หากกษัตริย์รัฐต่างๆ พระองค์ไหนสามารถครอบครองพระมหามัยมุนีได้ ก็เท่ากับเป็นการประกาศชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของนครนั้นๆ ว่าคือผู้มีชัย

ไม่ต่างอะไรไปจากการเคลื่อนย้าย “พระแก้วมรกต” จากรัฐสู่รัฐของทางล้านนา ล้านช้าง สุดท้ายจบลงที่กรุงเทพมหานคร

 

ยะไข่ อารกันเมืองที่ทำให้ถูกลืม

ตํานานความเป็นมาของพระมหามัยมุนี เริ่มต้นที่รัฐยะไข่ หรือแคว้นอารกัน รัฐโบราณรุ่นเก่าที่อยู่ใกล้อินเดียมากที่สุดของพม่า ซึ่งปัจจุบันมีประชากร “ชาวโรฮิงญา” อาศัยอยู่ และดูเหมือนว่า “ออง ซาน ซูจี” ตั้งใจจะปิดหูปิดตาแสร้งมองไม่เห็นความสำคัญของเมืองนี้

ตำนานกล่าวว่า พระมหามัยมุนีสร้างตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระพุทธเจ้าพร้อมสาวก 500 รูปเสด็จผ่านมา พระเจ้าจันทรสุริยากษัตริย์เมืองยะไข่ได้จัดวังให้ประทับ พร้อมกับขออนุญาตหล่อรูปเหมือนของพระพุทธองค์ไว้กราบไหว้บูชา โดยมีความตั้งใจหล่อให้เสร็จภายใน 1 วัน

ปรากฏว่าทุกส่วนของพระพุทธรูปหล่อเสร็จสมบูรณ์หมด ยกเว้นพระนลาฏ (หน้าผาก) หล่ออย่างไรทองก็ไม่ติด ทำให้พระพุทธองค์ต้องทรงนำ “ไคล” จากพระอุระ (อก) ปั้นเป็นก้อนปิดลงไปบนพระนลาฏให้

เมื่อหล่อเสร็จแล้วพระพุทธองค์ยังได้ประทาน “ลมหายใจ” ใส่พระพุทธรูปองค์นี้อีก และเมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับ พระพุทธรูปมหามัยมุนีก็ทำท่าจะลุกขึ้นถวายความเคารพ แต่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้

ข้อความทั้งหมดเราสามารถเห็นเรื่องราวที่เล่าขานกันแบบ “ตำนานซ้อนตำนาน” หลายแง่มุม เป็นการโยงเอาตำนานพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงในเขตล้านนา-พม่าเข้ามาผสมปะติดปะต่อในลักษณะ “ยำใหญ่ใส่สารพัด” ได้ชัดเจนมากที่สุดองค์หนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็น ตำนานพระเจ้าทันใจ (การหล่อให้เสร็จภายใน 1 วัน) ตำนานไคลพระเจ้า (การปาดเหงื่อไคลมาร่วมสร้างพระพุทธรูป) และตำนานพระเจ้าแก่นจันทน์แดง (การที่พระพุทธเจ้ายกมือขึ้นตรัสห้ามพระไม้แก่นจันทน์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล)

เหนือสิ่งอื่นใด คือความขัดแย้งระหว่าง “ตำนาน” กับ “ประวัติศาสตร์ความน่าจะเป็น” เพราะอายุสมัยที่ระบุในตำนานไม่สอดคล้องกับทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลป์ว่าอินเดียเริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปราว พ.ศ.600

อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ก็คือ พระมหามัยมุนีเมื่อแรกสร้าง ทำขึ้นในรัฐยะไข่หรืออารกันอย่างแน่นอน

แต่จะสร้างโดยใครและช่วงพุทธศักราชไหนนั้นยังเป็นที่กังขาอยู่

เหตุเพราะเราไม่อาจเห็นรูปแบบพุทธศิลป์ของพระมหามัยมุนีองค์ดั้งเดิมที่ส่อถึงศิลปะยะไข่รุ่นเก่าได้ชัดนัก

ด้วยเหตุที่มีการซ่อมแซมใหม่ในยุคหลังพอกทับแล้วทับอีกเสียจนไม่เห็นเค้าเดิม

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์หลายท่านเชื่อว่า ยุคแรกสร้างน่าจะไม่เกินช่วง พ.ศ.1000-1100 ซึ่งตรงกับสมัยทวารวดีตอนต้น ถือว่าเก่าแก่มากแล้ว

ปัจจุบันพระมหามัยมุนีถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่น ทิ้งให้รัฐยะไข่ต้องสร้างพระมหามัยมุนีจำลองขึ้นมาแทนที่ รัฐยะไข่มีสถานะเป็นรัฐกันชนพรมแดนพม่า-บังกลาเทศ ต่อมาชาวเบงกาลี (ต่อมาถูกเรียกว่า “โรฮิงญา”) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมถูกชาวอังกฤษอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่นานกว่า 150 ปี

ดิฉันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องสถานการณ์ “โรฮิงญา” กับอาจารย์ชาวพม่าท่านหนึ่งที่เข้ามาสอนภาษาพม่าให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ท่านผู้นี้กล่าวเชื่อมโยงปัญหาเรื่องโรฮิงญากับรัฐยะไข่ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยที่คนไทยไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีประเด็นเรื่อง “พระมหามัยมุนี” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“น่าแปลกที่ออง ซาน ซูจี เพิกเฉยต่อการที่ชาวพุทธรังแกชาวโรฮิงญา ทั้งๆ ที่ในอดีตรัฐยะไข่คือจุดเริ่มต้นพระพุทธศาสนาของพม่า แต่รัฐบาลทำประหนึ่งว่าไม่มีรัฐยะไข่อยู่ในพม่า หรือว่าลึกๆ แล้ว ชาวพม่าต้องการกดข่มไม่ให้รัฐยะไข่มีปากมีเสียง

ด้วยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานานกว่า 1,500 ปีนั้น ชาวยะไข่ขอทวงคืน “พระมหามัยมุนี” จากเมืองอมรปุระและมัณฑะเลย์มาตลอดไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้ปกครองก็ตาม แต่ชาวโลกไม่เคยได้ยินเสียงเรียกร้องนี้

นโยบายการกำจัด “ชาวโรฮิงญา” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เท่ากับเป็นการเตือนชาวเมืองยะไข่กลายๆ ว่า เมืองของพวกคุณไม่ได้อยู่ในสายตาของรัฐบาลกลางแต่อย่างใดเลยดอกนะ”

 

มัณฑะเลย์ – มันดะละแห่งจักรวาล
ศูนย์รวมจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่

พระมหามัยมุนีเป็นที่หมายปองของกษัตริย์ยุคจารีตรัฐต่างๆ ไม่ว่ารัฐปยู รัฐมอญ รัฐพุกาม ในยุคที่เรืองอำนาจ ต่างพยายามจะช่วงชิงนำไปเป็นสมบัติประจำแคว้น ด้วยชาวพม่าเชื่อว่า “พระมหามัยมุนี” เป็นตัวแทน “ลมหายใจ” ของพระพุทธเจ้าตลอดนิจนิรันดร์

บางช่วงถูกลักขโมยไปจมโคลนจมดินกลางทุ่ง บางยุคถูกปล้นเผาละลายทองคำไปบางส่วน บางสมัยก็ถูกตัดแขนเฉือนขาไปบางข้าง แต่จนแล้วจนรอดพระมหามัยมุนีก็แคล้วคลาดปลอดภัยยังคงสถิตเสถียร ณ เมืองยะไข่เรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2328

พระเจ้าปดุง กษัตริย์กรุงอมรปุระ ได้ส่งกองทัพทหารบุกยะไข่มากถึง 5,000 นาย ลากจูงพระมหามัยมุนีข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ใช้เวลา 4 เดือนเศษ พระเจ้าปดุงเมื่อรู้ว่าพระมหามัยมุนีใกล้มาถึง โสมนัสยิ่งนัก เดินลุยลงไปท่าน้ำอิรวดีลึกในระดับที่น้ำท่วมถึงพระศอเพื่อถวายการต้อนรับพระมหามัยมุนีด้วยพระองค์เอง

การเดินทางไกลระหกระเหินของพระมหามัยมุนีมาจบลงที่เมืองมัณฑะเลย์ (บ้างเขียน “มัณฑะเล” “มัณฑเล”) เมื่อมีการย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระมาอยู่ที่แห่งใหม่ในปี พ.ศ.2400 ตรงกับสมัยพระเจ้ามิงดง

พระมหามัยมุนีได้รับการประดับตกแต่งถวายเครื่องสักการะประเภทแก้วแหวนเพชรนิลจินดา ไข่มุก ทับทิม อัญมณีเลอค่า ละลานตาจนแทบสังเกตไม่เห็นว่าพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้ แท้จริงแล้วมีร่องรอยศิลปะอยุธยาตอนปลายเข้าไปแทรกปนด้วย ในส่วนของสังวาล ทับทรวง กรรเจียกจอน ฯลฯ

การที่อิทธิพลศิลปะอยุธยาเข้าไปมีบทบาทในการทำเครื่องทรงพัสตราภรณ์ของพระมหามัยมุนีเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พม่าได้เกณฑ์ชาวสยามไปอยู่ที่อังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์จำนวนมหาศาล มีการขนทรัพย์สมบัติอันมีค่าจากพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยาไปด้วย

ศาสตราจารย์ฌ็อง บัวเซอลีเยร์ (Prof. Jean Boisselier) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงการที่พม่านำเอาประติมากรรมสำริดที่เป็นศิลปะเขมร (สยามตีได้จากกัมพูชา และเคยเอาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาก่อนแล้วยุคหนึ่ง) มาประดับรายล้อมพระราชวังที่กรุงมัณฑะเลย์ว่า

“เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจที่ถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ในครอบครองของผู้ชนะ ซึ่งมักปฏิบัติพร้อมกับการทำลายศาสนสถานของผู้แพ้ อันเป็นหัวใจของเมืองให้ย่อยยับไป เสมือนเป็นการทำลายล้างสิทธิธรรมของความเป็นกษัตริย์ผู้พ่ายแพ้ลงให้ราบคาบโดยสิ้นเชิง ดังเช่นในคราวที่อยุธยามาตีเมืองนครธมได้ ก็ได้นำรูปสำริดเหล่านี้กลับมายังอยุธยา พร้อมกับทำลายปราสาทนาคพันอันเป็นศาสนสถานสำคัญของนครธม”

ความยิ่งใหญ่ของมณฑลจักรวาลมัณฑะเลย์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ก็คือ การรวบรวมเอางานศิลปกรรมจากอยุธยา (แม้จะเป็นช่างขอมโบราณ) มาประดับรายล้อมองค์พระมหามัยมุนีที่ได้มาจากรัฐอารกัน รัฐแรกในดินแดนพม่าที่มีความเจริญด้านพุทธศาสนา ถือเป็นการรวบตึงแบบ 2 อิน 1

 

สู่ “พระเจ้าเนื้อนิ่ม” กับการท่องเที่ยว

สัดส่วนของพระมหามัยมุนี เห็นได้ว่าพระพักตร์กับพระวรกายไม่ค่อยสมดุลกันเท่าใดนัก เหตุที่มีการพอกทองคำเปลวทับแล้วทับอีกจนหนาเทอะทะ กระทั่งคนในวงการท่องเที่ยวตั้งชื่อใหม่ให้เรียกง่ายๆ ว่า “พระเจ้าเนื้อนิ่ม”

ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ได้มีการทำพิธีกรรม “สีทนต์ล้างพระพักตร์” ให้พระเจ้าเนื้อนิ่มตั้งแต่ตีสี่ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจเข้าชมได้ (อันที่จริงคงมีการทำเป็นประเพณีนิยมมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เป็นกิจกรรมภายในของวัด)

ในด้านพุทธศิลป์ของพระมหามัยมุนีนั้น เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องซึ่งชาวพม่า-ล้านนาเรียกว่า “ปางทรมานท้าวชมพูบดี” หรือปาง “พญาชมพู” ที่อวดอ้างว่าตนเป็นจักรพรรดิเหนือพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงแปลงกายให้ชมพูบดีเห็นว่า สมบัติจักรพรรดินั้นเป็นของนอกกาย

พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพระมหามัยมุนีได้กลายมาเป็น “ต้นแบบ” หรือ “พิมพ์นิยม” ของพระประธานตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศพม่า ทำนองเดียวกันกับพระแก้วมรกตหรือพระพุทธชินราชของเรา

ในประเทศไทยแถบตะเข็บพรมแดนไทยพม่า เช่นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก พบพระมหามัยมุนีจำลองหลายองค์ ที่งดงามที่สุดคือ “พระเจ้าพาราละแข่ง” ที่วัดหัวเวียง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน สร้างในปี 2460 โดยช่างชาวไทใหญ่ (ในภาพประกอบนี้)

กับอีกองค์ที่มีนัยทางการเมือง คือพระมหามัยมุนีจำลองที่เมืองเชียงตุง

 

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลง
กับทวงคืนจิตวิญญาณชาวพม่า

กลางมหานครเชียงตุง รัฐฉานของพม่า ตรงข้ามกับวัดหัวข่วง ซึ่งเป็นวัด “หน้าหมู่” ของชาวบ้านนั้น เป็นที่ตั้งวัดสำคัญชื่อ “วัดพระแก้ว” ซึ่งมี “พระมหามัยมุนีจำลอง” เป็นพระประธาน (ดังภาพประกอบนี้)

พระมหามัยมุนีจำลองสร้างขึ้นโดย “เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลง” รัชทายาทองค์สุดท้ายของเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง เป็นการสร้างขึ้นในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน เพราะขณะนั้นพม่าทั้งประเทศตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษหมดแล้ว

ยกเว้นแต่เมืองเชียงตุงเพียงแห่งเดียวที่อังกฤษยังอนุญาตให้มี “เจ้าฟ้า” ได้เป็นองค์สุดท้าย และมีสิทธิ์ปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง

จะมองว่าเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลง “ท้าทาย” อำนาจเจ้าอาณานิคม หรือว่าเป็นการ “ทิ้งทวน” อำนาจเก่าของพม่าแบบจารีต ก็สุดแท้แต่ใครจะตีความ

เพราะการที่พระองค์ได้ตัดสินพระทัยสร้าง “พระมหามัยมุนี” จำลองขึ้นกลางมหานครเชียงตุงนั้น เป็นนัยที่ต้องการประกาศให้โลกรู้ว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อันดับต้นของพม่าองค์จริงแม้ไม่สามารถอัญเชิญจากเมืองมัณฑะเลย์ให้มาประทับที่เมืองเชียงตุงได้ก็จริง ด้วยชาวอังกฤษคงไม่อนุญาต

แต่ในนามของ “เจ้าฟ้าองค์สุดท้าย” ที่ยังพอมีอำนาจอันน้อยนิด จักขอชะลอพระมหามัยมุนีที่คนพม่านับถือมาประทับเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวประชา (แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อสายไทใหญ่ ไทขึนก็ตาม) ณ เมืองเชียงตุง

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลงได้ทำพิธีแห่พระมหามัยมุนีจำลองไปตามท้องถนน เสมือนหนึ่งต้องการสถาปนาเมืองเชียงตุงขึ้นมาแทนที่เมืองหลวงเก่ามัณฑะเลย์ที่ถูกทำลายระบบกษัตริย์ไปแล้ว

ถือเป็น “ลมหายใจสุดท้าย” ของการ “ต่อลมหายใจให้พระเจ้า” ก่อนที่เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลงจะหมดลมหายใจไปในที่สุด