บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/โควิด-19 เผยความ ‘ด้อยพัฒนา’ ของคนในชาติพัฒนาแล้ว

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

โควิด-19 เผยความ ‘ด้อยพัฒนา’

ของคนในชาติพัฒนาแล้ว

 

การแพร่ระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 นอกจากเผยให้เห็นความร้ายแรงของเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างที่แทบไม่เคยเห็นกันมาก่อน

ยังทำให้เราได้เห็นตัวตน ความคิด ไอคิว และสติปัญญาของคนจำนวนหนึ่งในประเทศตะวันตก ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความก้าวหน้ากว่าซีกโลกอื่นทั้งระดับการศึกษา เศรษฐกิจ เทคโนโลยี สาธารณสุข

อย่างที่ทราบกันโลกตะวันตกคือฝ่ายบุกเบิกเข้าสู่ยุคเรืองปัญญา ซึ่งหมายถึงการใช้หลักเหตุผลและวิทยาศาสตร์มาแทนที่ความเชื่อทางไสยศาสตร์และพระเจ้า หรือกระทั่งอารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัว

แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 กลับพบว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งในโลกตะวันตก มีความงมงายอย่างเหลือเชื่อ

อย่างเช่น ช่วงเดือนเมษายนชาวอังกฤษจำนวนหนึ่งพากันเผาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ 5 G อย่างน้อย 50 ต้น เพราะหลงเชื่อตามที่มีคนปล่อยข่าวลวงว่าเสาสัญญาณดังกล่าวมีส่วนแพร่เชื้อไวรัส

แม้จะมีการชี้แจงว่าเสาสัญญาณไม่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่ดูเหมือนไม่มีใครยอมฟัง ยังคงมีการเผาเป็นระยะ แถมลามไปยังประเทศอื่นเช่น เนเธอร์แลนด์ ก็เอากับเขาด้วย

ต่อมาชาวเมืองแวนคูเวอร์ของแคนาดาประมาณ 15 คน รวมตัวกันต่อต้านมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาล โดยชูป้ายว่า “โควิดเป็นแค่ข่าวปลอม”

พร้อมกับเชิญชวนให้ประชาชนต่อต้านมาตรการของรัฐบาลที่ขอให้รักษาระยะห่างและอยู่ในบ้าน

ถึงกับทำให้รัฐมนตรีสาธารณสุขของแคนาดาอึ้ง ว่าคนกระหย่อมนี้คิดได้อย่างไรว่าโควิดเป็นข่าวปลอม

เท่าที่ติดตามข่าวของหลายประเทศทั่วโลก ยังไม่มีประชาชนของประเทศไหนในโลกนี้ แม้แต่ประเทศล้าหลังหรือด้อยพัฒนาที่สุด กล้าออกมาชูป้ายว่า “โควิดเป็นข่าวปลอม”

ถ้าคนกลุ่มนี้เชื่อว่าโควิดเป็นข่าวปลอม การระบาดไม่มีอยู่จริง และไม่มีคนตายจากโรคนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะเชื่อว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นข่าวปลอม หรือการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาเป็นข่าวปลอมเช่นกัน

 

ส่วนที่อเมริกา แม้จะไม่ถึงกับมีใครออกมาพูดว่าโควิดเป็นข่าวปลอม แต่ก็ใกล้เคียง เนื่องจากมีบางคนที่ออกมาต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ เขียนป้ายข้อความว่า “จงเชื่อในพระเจ้า ไม่เชื่อในวัคซีน” และติดแฮชแท็ก “ไม่เอาบิล เกตส์”

อย่างที่ทราบกัน ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งออกมาต่อต้านการล็อกดาวน์ แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ และได้รับการหนุนหลังจากพวกรีพับลิกันและแม้แต่ทรัมป์เอง เพราะที่อเมริกา ผู้ว่าการแต่ละรัฐมีอำนาจอิสระจากประธานาธิบดี

ดังนั้น การประท้วงจึงมีการเมืองแฝงอยู่ โดยเฉพาะรัฐที่มีผู้ว่าการมาจากพรรคเดโมแครต เพราะการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจชะงัก

เหตุที่บิล เกตส์ มหาเศรษฐีโลกชาวอเมริกัน เป็นเป้าถูกโจมตีจากผู้สนับสนุนทรัมป์ ก็เพราะกระทำการหักหน้าโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการบริจาคเงินให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) 250 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด หลังจากทรัมป์ระงับเงินอุดหนุน WHO 400 ล้านดอลลาร์ โดยกล่าวหาว่า WHO เข้าข้างจีนมากเกินไปเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้จนเกิดการระบาดลุกลามทั่วโลก ส่งผลให้อเมริกามีผู้ติดเชื้อและตายมากที่สุดในโลก

แน่นอนว่าความพยายามของทรัมป์ในการโยนบาปให้คนอื่น กลบเกลื่อนความล้มเหลวของตัวเองในการรับมือไวรัส มีเป้าหมายทางการเมืองเป็นหลัก เพราะเดือนพฤศจิกายนนี้ก็จะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว แต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐสาหัสหนักมากจากการต้องล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ทรัมป์หัวเสีย เพราะโอกาสจะชนะเลือกตั้งค่อนข้างน้อย

สถานการณ์โควิด ยังทำให้เห็นภาวะผู้นำประเทศ ทั้งประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว ซึ่งบางทีก็ทำให้ฉุกคิดว่าจะเลือกตั้งคนประเภทนี้เข้ามาเป็นผู้นำทำไม เพราะขาดวุฒิภาวะ เป็นที่พึ่งไม่ได้ ทำตัวเหมือนเด็ก 5 ขวบ

ในสถานการณ์นี้เราได้เห็นสองคน หนึ่งในนั้นคือโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งออกมาทวีตสนับสนุนประชาชนให้ต่อต้านการล็อกดาวน์ แถมแชร์ทวีตของสมาชิกพรรครีพับลิกัน ที่โพสต์ว่า “ไล่ออก เฟาซี”

ประโยค “ไล่ออก เฟาซี “หมายถึงไล่ออก ดร.แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อของสหรัฐ และได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในสหรัฐ

คาดว่าเหตุที่พวกรีพับลิกันและทรัมป์ไม่พอใจ เป็นเพราะ ดร.เฟาซีให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า อเมริกาจะสามารถรักษาชีวิตคนได้มากกว่านี้ถ้าหากควบคุมการระบาดแต่เนิ่นๆ

คาดว่าการที่ทรัมป์ไม่พอใจเฟาซี ก็เพราะไปให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น ที่ทรัมป์ถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจและมักออกมาบริภาษสื่อแห่งนี้เสมอ

 

อีกคนหนึ่งก็คือประธานาธิบดีบราซิล เพราะรายนี้ถึงกับออกมาร่วมชุมนุมกับประชาชนเพื่อต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์เสียเอง แถมไม่สวมหน้ากากอนามัยอีกด้วย เพราะคิดว่าโควิดเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา ไม่ได้ร้ายแรงอะไร

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ชาวบราซิลตายจากโควิดแล้วกว่า 5,000 ราย ประธานาธิบดีบราซิลตอบแบบไม่ยี่หระว่า “แล้วจะให้ทำยังไง”

ส่วนในอเมริกา นอกจากจะเห็นบางคนไม่ยอมอยู่ในยุคเรืองปัญญา เชื่อพระเจ้ามากกว่าวัคซีนแล้ว ยังได้เห็นมิจฉาทิฐิ เรื่องเสรีภาพ สะท้อนให้เห็นการไร้ความสามารถในการคิดแบบภาพรวม คิดอะไรได้ไกลไม่เกินปลายจมูกตัวเอง

ดังเห็นได้จากทนายความรายหนึ่งในรัฐคอนเนตทิคัต ยื่นฟ้องผู้ว่าการรัฐ กล่าวหาว่าการที่ผู้ว่าการรัฐออกคำสั่งบังคับให้พลเมืองสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ละเมิดรัฐธรรมนูญและละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคลเพราะทำให้ตัวเขาขาดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ขาดความสะดวกสบาย ประชาชนควรมีสิทธิตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง และยังกล่าวหาอีกว่า รัฐและสื่อปั่นข่าวโควิดให้น่ากลัวเกินจริง

ยังมีชาวอเมริกันอีกหลายคนที่อ้างในทำนองเดียวกันนี้ ประเภทที่ว่า “สุขภาพของฉัน ฉันเลือกเอง” หรือ “ร่างกายของฉัน ฉันมีสิทธิทำอะไรก็ได้” แต่ไม่เห็นเขียนป้ายเพิ่มเติมว่า ถ้าติดเชื้อ ฉันขอสละสิทธิ์ไม่รักษา จะได้ไม่เพิ่มภาระให้แพทย์ พยาบาล

นี่คือภาพสะท้อนของพวกปัญญาเท่าหางอึ่งและเห็นแก่ตัว เพราะโควิดนั้นไม่ใช่โรคที่เกิดเฉพาะตัว แต่เป็นโรคที่แพร่เชื้อให้คนอื่นได้ง่าย ไม่ควรมาอ้างเสรีภาพ เพราะเสรีภาพนั้นมันสร้างอันตรายต่อผู้อื่น

สุดท้ายแล้วคนพวกนี้คงไม่ได้ศึกษาหาความรู้ว่าโควิดแพร่ระบาดอย่างไร และการสวมหน้ากากอนามัยจะช่วยรักษาชีวิตคนอื่นอย่างไร

จริงอยู่ การเลือกตายเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ถึงคุณไม่กลัวติดเชื้อและไม่กลัวตาย แต่คนอื่นๆ หรือคนจิตปกติอีกมากที่เขายังไม่อยากตาย ดังนั้น คุณจึงมีหน้าที่ป้องกันไม่เอาเชื้อไปติดคนอื่น และคนอื่นที่ไม่อยากตายนั้นเขาก็มีสิทธิที่จะปกป้องตัวเอง และไม่ให้คุณเอาเชื้อไปแพร่ให้เขา

น่าเหนื่อยหน่ายใจที่ต้องทนอยู่กับพวกที่วันๆ พูดถึงแต่เสรีภาพตัวเอง แต่ไม่พูดถึงความรับผิดชอบต่อคนอื่น ต่อส่วนรวม (ซึ่งเมืองไทยก็มีไม่น้อย)