E-DUANG : ความเป็น”อนิจจัง”ของการเมืองประเทศไทย

เหมือนกับมี “ข้อกำหนด” ที่แน่นอนอย่างยิ่งในทางการเมือง หากพิ จารณาจากเนื้อหาของ “รัฐธรรมนูญ”

เป็นข้อกำหนดที่ว่า “อำนาจ”จะอยู่กับใคร

สัมผัสเพียงการบัญญัติ “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 เอาไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 267

ทุกคนก็ร้อง”อ๋อ”อย่างพร้อมเพรียงกัน

แต่หากใครที่ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 หรือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 มาแล้ว

ก็อาจจะร้องคำว่า “ไม่แน่”ออกมา

คำว่า “ไม่แน่” คือ คำซึ่งติด 2 ริมฝีปากของ พระอาจารย์ชา  แห่งวัดหนองป่าพงอยู่เสมอ

มาจากคำว่า “อนิจจัง”

 

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ซึ่งใช้เวลาร่างจากเมื่อปีพ.ศ.2502 ต้องการให้อำนาจเป็นของ จอมพลถนอม กิตติขจร

ถามว่าแล้วเป็นอย่างไร

การเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2512 อำนาจยังเป็นของ จอมพลถนอม กิตติขจร แน่นอน

แต่ถึงเดือนพฤศจิกายน 2514 ก็ต้องทำ”รัฐประหาร”

ทำรัฐประหารเสร็จแล้วอยู่ด้วยอำนาจเหมือนกับ”มาตรา 44″นี่แหละต่อไปอีกระยะ 1

เดือนตุลาคม 2516 ก็ต้อง “จร”

ทั้งมิได้เป็นการจรจากอำนาจวาสนาและยศถาบรรดาศักดิ์อย่างธรรมดา หากแต่ถูก “ขับไล่” ต้องถูกเนรเทศออกไปอยู่ต่างประเทศ

เมีย”จอมพล”บางคนยอมรับว่า “นุ่งกางเกงใน”ไม่ทัน

 

เห็นหรือไม่ว่า ภายในกระบวนการทางการเมืองมีคำว่า”ไม่แน่”มีคำว่า “อนิจจัง”ดำรงอยู่เสมอ

หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เป็นอย่างไร

ต้องการให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อยู่ในอำนาจแต่พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2523 ก็ต้องออก

หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เป็นอย่างไร

ต้องการให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร อยู่ในอำนาจ แต่อยู่ได้เพียงไม่กี่วันเดือนพฤษภาคม 2535 ก็ต้องออก

ทั้งหมดนี้คือความ”ไม่แน่นอน” คือความเป็น”อนิจจัง”