กรองกระแส / กรณีการบินไทย ‘เผือกร้อน’ ในมือรัฐบาล ปัจจัยชี้ ‘อนาคต’

กรองกระแส

 

กรณีการบินไทย

‘เผือกร้อน’ ในมือรัฐบาล

ปัจจัยชี้ ‘อนาคต’

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้านหนึ่ง ได้สะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งอันดำรงอยู่ภายในชุมชนสาธารณสุข

โดยเฉพาะแนวทาง “อสม.” อันแนบแน่นอยู่กับชุมชน

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเละเทะภายในโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินที่สะสมและหมักหมมอยู่อย่างยาวนาน

ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการ “เข้ม” โดยไม่คำนึงถึงการเยียวยา ช่วยเหลือ

รูปธรรมเด่นชัดอย่างยิ่ง คือ มาตรการ “เข้ม” ของ กทม.เมื่อวันที่ 13 มีนาคม อันเท่ากับปิดเมือง ปิดงาน และเมื่อตามมาโดยการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีนาคม

ประเทศไทยก็ตกอยู่ในภาวะมิคสัญญี ตะกอนอันเคยนอนก้นก็ลอยเด่น

ไม่ว่าจะเป็นระบบไอทีที่กระทรวงการคลัง ไม่ว่าจะเป็นระบบไอทีที่กระทรวงแรงงาน ไม่ว่าแนวทางสังคมสงเคราะห์ที่ล้มเหลวของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

และที่เด่นชัดเป็นอย่างมากคือ กรณีของ “การบินไทย”

 

โครงสร้างสังคมไทย

อ่านจากการบินไทย

 

การบินไทยเป็นผลผลิตแห่งความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย เป็นผลผลิตการผสมผสานระหว่างโครงสร้างระบบราชการไทย กับโครงสร้างเศรษฐกิจในแบบทุนขุนนาง

เป็นแหล่งแสวงหาประโยชน์ของ “อภิสิทธิ์ชน” มาอย่างยาวนาน

ตั้งแต่ยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 อันเป็นการสมาทานของอำนาจจากระบอบเก่าที่ดำรงอยู่ในยุคก่อนและหลังเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475

นั่นก็คือ รัฐราชการรวมศูนย์ กับ ทุนขุนนางยุคใหม่

แม้จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 แม้จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคแห่งโลกาภิวัตน์มาแล้ว

แต่โครงสร้างดึกดำบรรพ์ก็ยังดำรงอยู่ใน “การบินไทย”

 

สถานการณ์รัฐประหาร

สถานการณ์โควิด-19

 

สถานการณ์โควิด-19 ที่ธุรกิจการท่องเที่ยวประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง กว้างขวางและลึกซึ้ง ส่งผลให้ธุรกิจการบินโลกประสบวิกฤตอันหนักหนาอย่างสาหัส

การปิดประเทศ การปิดเมือง ได้ตัดวงจรการท่องเที่ยวลงไป

ผลก็คือ สายการบินทั่วโลก ไม่ว่าใหญ่ ไม่ว่าเล็ก ล้วนมีปัญหาต้องล้มละลาย ประกาศเลิกกิจการอย่างถ้วนหน้า

แต่สถานการณ์เดียวกันนี้ สถานการณ์ของ “การบินไทย” สาหัส

ความจริง “การบินไทย” ประสบปัญหาขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาแล้ว แต่ก็รอดพ้นมาได้เพราะรัฐราชการรวมศูนย์ยังถือว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ

ทุ่มงบประมาณไปอุ้มเป็นจำนวนมหาศาล ครั้งแล้วครั้งเล่า

ต่อวิกฤตครั้งใหม่รัฐบาลก็เตรียมจะเข้าไปอุ้มด้วยงบประมาณเบื้องต้น 50,000 ล้านบาท และจะตามมาอีกหลายหมื่นล้านกระทั่งทะลุหลักแสน

แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือ เกิดกระแสคัดค้านต่อต้านอย่างกว้างขวาง

 

อนาคตการบินไทย

กับอนาคตรัฐบาล

 

ปฏิกิริยาในทางสังคมไม่เพียงแต่ท้าทายต่อการตัดสินใจของรัฐบาล หากแต่ยังท้าทายต่ออนาคตของการบินไทยเป็นอย่างสูงว่าจะดำเนินไปอย่างไร

จะยังรักษาซากปรักหักพังของ “การบินไทย” เอาไว้หรือไม่

แม้แนวโน้มเด่นชัดยิ่งว่ารัฐบาลต้องการโอบอุ้ม ต้องการรักษาสถานะความเป็นสายการบินแห่งชาติของ “การบินไทย” อยู่

แต่ปฏิกิริยาในทางสังคมกลับไม่เห็นด้วย

เป็นความไม่เห็นด้วยที่ดังกระหึ่ม ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองอันเป็นตัวแทนจากการเลือกของประชาชน ไม่ว่าภาคธุรกิจที่มองไม่เห็นอนาคต ไม่ว่าปัญญาชนสาธารณะที่ห่วงใยสังคม

ยิ่งรัฐบาลแสดงท่าทีจะเข้าไปโอบอุ้ม “การบินไทย” มากเพียงใด

สถานะของ “การบินไทย” ก็ยิ่งจะกลายเป็นมาตรการวัดสถานะของรัฐบาล มาตรการวัดความรู้สึกของสังคมต่อรัฐบาลมากเพียงนั้น

สถานะของ “การบินไทย” กับสถานะของ “รัฐบาล” จึงแทบไม่แตกต่างกัน