การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / The Mysterious Underground Men

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

The Mysterious Underground Men

 

ได้หนังสือการ์ตูนปกแข็งของเท็ตซึกะ โอซามุมา ราคามิใช่น้อย พิมพ์ด้วยกระดาษสีน้ำตาลเหมือนหนังสือเก่ากรุโบราณ เป็นหนึ่งในโครงการการ์ตูนสิบเซ็นต์

เป็นงานเขียนเรื่องแรกๆ ของอาจารย์เท็ตซึกะ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1948 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง 3 ปี

พ่อของจอห์นเครื่องบินตก ก่อนตายเขาฝากฝังลูกชายให้คิดค้นวิธีเดินทางที่ปลอดภัยให้แก่มนุษยชาติด้วย จอห์นรับคำแล้วพ่อก็ตายจากไป

ตัดภาพไปที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งสร้างกระต่ายพูดได้ขึ้นมา ยังไม่พอ พวกเขาสร้างความเฉลียวฉลาดให้มันด้วย แล้วตั้งชื่อว่ามิมิโอะ

วันหนึ่งมิมิโอะหนีจากห้องทดลองออกไปในเมือง สร้างความแตกตื่นแก่ผู้คนไปทั่ว

เขาหนีผู้คนมาซ่อนตัวในบ้านของจอห์น จอห์นอวดยานยนต์ทะลุโลกให้เขาดู คือยานยนต์ที่จะใช้เจาะดินแล้วขับผ่านแกนกลางโลกไปทะลุที่อีกด้านหนึ่ง

จอห์นชวนมิมิโอะผจญภัยลงผิวดิน ผ่านชั้นตัวตุ่น ฟอสซิล ลาวา แกนหิน แล้วทะลุโพรงขนาดยักษ์ซึ่งมีอารยธรรมหนึ่งซ่อนอยู่มานานแสนนาน

ข้อมูลว่าเท็ตซึกะเป็นคนแรกๆ ที่เติมเรื่องจริงจังลงไปในการ์ตูนสมัยใหม่ (เวลานั้น) การ์ตูนเคยมีและควรมีเฉพาะเรื่องตลกแต่เท็ตซึกะเล่าเรื่องราชินีของอารยธรรมใต้ดินที่คิดพิชิตผิวโลก มีการฆ่า ติดสินบน ความโลภ การหักหลัง และจบลงด้วยความตายของกระต่ายน้อยมิมิโอะ

ทำเยี่ยงนี้กับเด็กๆ ได้อย่างไร

 

คําโปรยปกในให้ข้อมูลว่าโครงเรื่องผจญภัยมนุษย์ใต้ดินเคยมีปรากฏในมินิซีรี่ส์การผจญภัยของแฟลช กอร์ดอน 15 ตอนจบ เมื่อปี 1938 เรื่อง Flash Gordon’s Trip to Mars ของ Buster Crabbe ก่อนแล้ว เหมือนกันแม้กระทั่งราชินีมีอัญมณีที่สามารถเปลี่ยนจอห์นเป็นหินได้ด้วย

หนังสือที่ได้มาเป็นฉบับภาษาอังกฤษอ่านจากขวาไปซ้าย เป็นหนึ่งในหนังสือชุดการ์ตูนสิบเซ็นต์ของ Ryan Holmberg โดยมีหน้าคำตามเขียนโดยเท็ตซึกะเองเมื่อปี 1982 ซึ่งตีพิมพ์จากซ้ายไปขวา เขาบอกว่านี่เป็นการ์ตูนเรื่องที่สาม และเป็น “การ์ตูนเรื่อง” เรื่องแรก (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า story manga)

เขาเคยอ่านหนังสือปี 1930 เรื่อง Der Tunnel ของ Bernhard Kellermann เมื่อชั้นมัธยมและชอบมาก เขาตั้งชื่อการ์ตูนเรื่องนี้ว่า The Tunnel ในตอนแรกซึ่งก็เหมือนกันเพียงแค่ชื่อแต่เนื้อเรื่องต่างกัน บรรณาธิการขอให้เปลี่ยนชื่อในเวลาต่อมา

เฉพาะส่วนคำนำนี้มีเชิงอรรถอธิบายวิธีนับผลงานของเท็ตซึกะซึ่งมีเยอะมาก ตัวละครสำคัญ เช่น จอห์นนี่ ลุงบิลลี่ หรือมิมิโอะ รวมทั้งคนร้ายที่ชื่อว่าแฮมเอ็ก มิได้ปรากฏตัวในการ์ตูนเรื่องนี้เป็นครั้งแรกแต่เคยปรากฏตัวมาก่อนแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเชิงอรรถที่ระบุว่าเท็ตซึกะเขียนปีที่พิมพ์หนังสือ Der Tunnel ครั้งแรกผิดจากปี 1913 เป็นปี 1930

เพิ่มเติมว่านี่เป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ระดับโลกเวลานั้น

 

ถัดจากหน้าคำตามของเท็ตซึกะ มาที่หน้าบทตามของไรอัน ฮอล์มเบิร์ก ส่วนนี้ยาวและน่าอ่านมากกว่าอีก

ไรอันอธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าการ์ตูนเรื่องนี้การ์ตูนญี่ปุ่นยังไม่มีเส้นเรื่องและไม่มีโศกนาฏกรรม เป็นเท็ตซึกะเองที่ตั้งข้อสังเกตว่าการ์ตูนส่วนใหญ่เล่นสนุกกับแก๊กและมุขมากกว่าเส้นเรื่องจริงๆ แม้ว่าจะมีเนื้อเรื่องอยู่บ้าง

มากกว่านี้คือการ์ตูนมีแต่ความหรรษา ฮา ฮา ฮา และความโศกเศร้าเป็นข้อห้าม เท็ตซึกะเขียนเรื่องกระต่ายน้อยมิมิโอะที่อยากเป็นมนุษย์ตั้งแต่แรกแต่มิได้รับการยอมรับแม้แต่จากตัวเอกคือจอห์นและลุงบิลเอง จนกว่าเขาจะสละชีวิตในตอนจบ นี่จึงเป็นเส้นเรื่องที่จริงจัง

เท็ตซึกะให้สัมภาษณ์ว่าเด็กๆ อ่านการ์ตูนควรรู้ว่าชีวิตมิได้มีเพียงด้านสุขสันต์ แต่มีความโศกเศร้า ความตาย และเรื่องร้ายแรงอื่นๆ ด้วย อันเป็นธรรมดาของชีวิต

ยิ่งกว่านั้นเนื้อหาที่เขาสื่อยังพาดพิงถึงความพยายามที่มนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์จะอยู่ด้วยกันได้โดยสันติแต่ไม่เคยทำสำเร็จ เราจบลงด้วยการทำลายล้าง

เมื่อคำนึงว่าเขาเขียนเรื่องนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เท่ากับเขาได้เขียนเรื่องที่ไม่มีใครอยากพูดถึง

 

นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น Juza Unno 1897-1949 มีอิทธิพลต่องานเขียนของเท็ตซึกะในยุคแรก

เขาเขียนเรื่องการรุกรานจากต่างดาวและสงครามอวกาศในวันเวลาที่จักรวรรดิญี่ปุ่นกำลังขยายอำนาจ เท็ตซึกะไม่พูดถึงผลงานปี 1947 ของเขาเรื่อง Doctor Mars ซึ่ง “มีกลิ่นอายของยุคก่อนสงคราม” มากเกินไป

ญี่ปุ่นถูกยึดครองหลังสงคราม เป็นเวลาที่การ์ตูนเล่มเล็กจากสหรัฐอเมริกาไหลเข้ามาและเป็นโอกาสอันดีที่เท็ตซึกะได้ศึกษางานและลายเส้นแบบอเมริกัน ทั้งของดิสนีย์และป๊อปอาย

มีภาพเปรียบเทียบฉากมิมิโอะเหวี่ยงหมัดกับป๊อปอายเหวี่ยงหมัดหน้าต่อหน้า เข้าใจว่าเป็นเพราะเท็ตซึกะไม่ได้เขียนภาพเหวี่ยงหมัดนี้มาก่อนกระมัง

หนังสือปี 1913 เรื่อง Der Tunnel แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเมื่อปี 1930 หนังสือเล่าเรื่องการขนส่งผ่านอุโมงค์ใต้ดินระหว่างอเมริกาและยุโรปโดยแฝงนัยการรุกรานของระบอบทุนนิยม

แต่เนื่องจากเท็ตซึกะอ่านหนังสือเล่มนี้ช้าไปยี่สิบปีทำให้เขาได้ประเด็นอื่นๆ ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องความน่าตื่นตาตื่นใจของโครงการข้ามทวีปเช่นนี้ ซึ่งเขาจะให้ความเห็นว่าน่าหัวเราะเมื่อเวลาผ่านมาอีกสามสี่สิบปี

จะเห็นว่าหนังสือเล่มหนึ่ง รวมทั้งการ์ตูน ไม่สำคัญว่าถูกใครเขียนขึ้นเมื่อไร ที่สำคัญพอกันคือใครอ่านเมื่อไร หนังสือหนึ่งเล่มจึงเป็นสมบัติทางปัญญาที่ไม่สิ้นสุดจริงๆ