หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ทางกับความทรงจำ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
วัวแดง - วัวแดงตัวผู้ เมื่อเริ่มอาวุโส สีตามลำตัวจะคล้ำขึ้น และมันจะตามฝูงมาห่างๆ จะเข้ามาในฝูงเมื่อมีตัวเมียอยู่ในช่วงเวลาพร้อมรับการผสม

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ทางกับความทรงจำ’

 

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกกับเส้นทางที่ใช้สัญจรในป่านั้น ไม่ว่าจะเป็นป่าแห่งใด โดยเฉพาะป่าด้านตะวันตก

จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน หล่มลึก ที่ลงไปแล้วรถติดอก เนินชันลื่นไถล เลาะเลียบไปตามสันเขา ด้านหนึ่งเป็นหน้าผา อีกด้านคือเหวลึก รกทึบ ในช่วงฤดูฝน ร่องลึกๆ ที่ต้องวางล้อคร่อมร่องไปในฤดูแล้ง ทางที่เหมือนจะแห้งๆ นี่แหละ แท้จริงไม่ได้ทำให้รถผ่านไปได้ง่ายเลย

ทางอาจจะดีขึ้นเมื่อได้รับการปรับโดยรถแทร็กเตอร์ และทางราบเรียบมักอยู่ไม่นาน เมื่อสายฝนกลับมาสักพัก ก็จะเข้าสู่สภาพเดิม

หลายครั้งเมื่อขับรถอยู่ในป่าหนึ่ง กลับรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในอีกป่า ข้อดีของมันคือ การผ่านหล่มหรือเนินต่างๆ ได้ใช้ทักษะเดียวกัน

ข้อดีอีกประการ ในความที่เส้นทางทุรกันดารมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ ผมจำเส้นทางทุกเส้นทางนั้นได้อย่างไม่ลืม…

 

ประสบการณ์สำคัญที่ผมได้เรียนรู้จากป่าทุ่งใหญ่ คือการเดินทางบนเส้นทางที่นี่ การได้ขับรถตามบรรดา “ครู” ซึ่งมีประสบการณ์กับทางเส้นนี้มายาวนาน 20-30 ปี เป็นบทเรียนอันล้ำค่า ทั้งทักษะการบังคับรถ และแก้ไขนำรถขึ้นจากหล่ม

ครูอย่างจิตติ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช ที่เกษียนไปเมื่อสองปีที่แล้ว สอนวิธีขับรถอย่างสุขุม

ส่วนครูจากหน่วยจะแก ตั้งแต่เจริญ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ ผู้ช่วย และคนอื่นๆ นั้น เรียกได้ว่าเป็นแนวระห่ำ ได้ยินเสียงรถไกลๆ วิธีการเร่งเครื่องยนต์ เรารู้ว่ารถหน่วยจะแกแน่ๆ

ในระยะหลัง มีผ่องไม้โผ่ ลูกน้องในหน่วยมหาราชที่กำลังมาแรง และมีทักษะในการซ่อมรถด้วย

เวลานึกถึงเจริญ หัวหน้าหน่วยจะแก ผมจะนึกถึงเจ้ากระทิงโทน รถเขา และสุวิวรรณ เมียเขาด้วย เพราะทุกครั้งที่เจริญเดินทาง เธอจะนั่งอยู่ข้างๆ เสมอ

 

สุวิวรรณ หญิงไทยเชื้อชาติกะเหรี่ยงวัย 30 กลางๆ นอกจากเป็นภรรยาหัวหน้าหน่วย เธอยังเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าจะแกด้วย

ว่าตามจริง ลูกน้องทุกคนรู้ดีว่า หัวหน้าตัวจริงน่ะใคร เพราะตามประเพณีของคนในหมู่บ้านจะแกนั้น ภรรยาทำหน้าที่ผู้นำ ตัดสินใจปัญหาทุกอย่าง แม้ดูเผินๆ ที่นี่เป็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ นั่นเพราะสตรีชาวกะเหรี่ยงฉลาดพอที่จะวางบทบาทตัวเองให้ดูคล้ายผู้ชายอยู่เบื้องหน้า

เจริญถึงจะเป็นชายไทยแท้ บ้านเดิมอยู่อำเภอศรีสวัสดิ์ เมื่อได้สุวิวรรณเป็นภรรยา เขาก็ยอมรับประเพณีอย่างไม่มีข้อแม้

สุวิวรรณนับได้ว่าเป็นสาวงาม แถมพ่อดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน กว้างขวางไม่เบา อย่างนี้เจริญจะหือได้อย่างไร

พวกเขามีลูก 5 คน ไม่มากหรอก ลูก 5 คน ถือว่าน้อยด้วยซ้ำ

สันติ ลูกชายคนโตเรียนจบมอหก ก่อนไปคัดเลือกทหาร จากนั้นเขาเข้ามาทำงานในป่าทุ่งใหญ่ เป็นลูกน้องในหน่วยพ่อ

เจริญและสุวิวรรณย้ายไปอยู่หน่วยต่างๆ หลายหน่วย 4 ปีหลังนี้ เขามาประจำหน่วยพิทักษ์ป่าจะแก

 

หน่วยพิทักษ์ป่าจะแก อยู่ห่างสำนักงานเขตราว 80 ก.ม. ฤดูแล้ง เจริญใช้เวลาเดินทางหนึ่งวัน

“ถ้าช่วงฝน บางที 10 วันก็เคยครับ” เจริญเล่า

หน่วยจะแกอยู่ห่างจากหมู่บ้านสัก 5 กิโลเมตร ปกติผมไม่ค่อยได้ไปนัก แต่ทุกครั้งที่ไป สิ่งที่ได้รับคือ ความสมบูรณ์ของอาหาร

สุวิวรรณมีทักษะในการทำอาหารมาก เวลาเขตมีงาน หรือในวันประชุมประจำเดือน เธอจะมาทำหน้าที่แม่ครัวใหญ่

ผมสนิทกับเจริญ จึงสนิทกับสุวิวรรณด้วย การสนิทกับแม่ครัว ย่อมเป็นผลดี

“ปลาทอดราดพริกของหม่องโจ เก็บไว้ให้แล้ว อยู่ในครัวนะ” สุวิวรรณกระซิบบ่อยๆ

 

คนทำงานในป่า โดยเฉพาะป่าซึ่งดูจะทุรกันดารมากๆ อย่างป่าทุ่งใหญ่ มีคุณสมบัติที่ “อึด” เป็นพิเศษ

“ยัยสุไม่เคยบ่นเลยครับเวลารถติดหล่ม เอาแต่หลับ หรือไม่ก็นั่งกินขนมอยู่บนรถนั่นแหละ ไม่ลงมาเหยียบโคลนหรอก” เจริญแอบๆ นินทาเมีย

เวลาขับรถสวนกันบนเส้นทาง นอกจากจะหยุดทักทายพูดคุยแล้ว สุวิวรรณจะแบ่งขนมขบเคี้ยวให้ผมด้วยเสมอ

วันที่ผมพาเจ้านิค พาหนะหงายท้องสี่ล้อชี้ฟ้า สุวิวรรณคือผู้โดยสาร

“หม่องโจนิ่งไป เรานึกว่าเรารอดคนเดียว” เธอเล่า นี่เป็นเรื่องเล่าอย่างสนุกของคนในป่าทุ่งใหญ่

ภาพเธอคลานออกจากรถ และมาช่วยดึงผมออกจากห้องโดยสาร ผมจำได้แม่นยำ

 

ช่วงหลังๆ ผมไม่ได้ไปหน่วยจะแก แต่ได้ข่าวสุวิวรรณป่วยต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัด

“ยังไม่ดีขึ้นเลยครับ หมอพบว่าเส้นเลือดในสมองตีบ ให้ยารักษาก็มีผลกับปอด หรืออะไรนี่แหละ ไม่รู้ว่าจะกลับบ้านได้เมื่อไหร่” พบกันล่าสุด เจริญบอก

ต้นเดือนสิงหาคม ผมออกจากป่า ตั้งใจจะแวะไปเยี่ยมสุวิวรรณที่โรงพยาบาลในจังหวัดกาญจนบุรี

แต่เจ้านิค ลูกหมากพัง ต้องแวะอู่ เสียเวลารออะไหล่และซ่อมจนดึกจึงไม่ได้แวะโรงพยาบาล

อยู่บ้านได้สองวัน ผมได้รับข่าวว่าสุวิวรรณเสียชีวิตแล้ว

 

สําหรับสุวิวรรณ นอกจากเจริญและญาติๆ รวมทั้งคนในป่าทุ่งใหญ่แล้ว เธอไม่ได้เป็น “ใคร” หรือมีความสำคัญกระทั่งใครๆ ต้องรู้จักหรือจดจำเธอหรอก

เธอเกิดมาและจากไปเงียบๆ

ใบไม้ใบหนึ่งร่วงหล่นในป่าใหญ่ ยากที่ใครจะสังเกตเห็น จากไปเพราะ “หมดอายุ” คือเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกับการจากไปของสัตว์กินพืช โดยคมเขี้ยวของสัตว์ผู้ล่า คือการเริ่มต้นงานเลี้ยง…

 

เจริญขอหัวหน้าย้ายออกไปอยู่หน่วยพิทักษ์ป่าด้านนอก

“อยู่บนทางที่เคยมียัยสุนั่งข้างๆ มาร่วม 30 ปี ตอนนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ทำใจไม่ได้ครับ” เจริญคุยกับผม

กับเส้นทางทุรกันดารในป่าทุ่งใหญ่ สำหรับผมคือประสบการณ์ บางครั้งคือความผิดพลาด อันเป็นบทเรียน เป็นเส้นทางที่จดจำ

ส่วนเจริญ กับเส้นทางที่เขาสัญจรมาร่วม 30 ปี

เป็นทางที่เขาอยากจะลืม