เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / ศัพท์ใหม่ๆ ในชีวิต

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ศัพท์ใหม่ๆ ในชีวิต

เรื่องของภาษาเป็นเรื่องสนุก

ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน หรือแม้แต่ภาษาภาพ หรือภาษาที่มาจากอากัปกิริยาของผู้คน

การเปลี่ยนแปลงไปของสังคม สิ่งแวดล้อม ความเจริญในด้านต่างๆ ทำให้โลกเกิดมี “ศัพท์ใหม่ๆ” ขึ้นมาให้คนเราได้ใช้ไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

แน่นอนที่คนต่างวัยกันมากๆ จะงงงวยต่อศัพท์แสงที่ตนไม่รู้จัก ไม่รู้ที่มาที่ไป

“เพิ่งรู้จักคำว่า เท ว่าคืออะไรเมื่อวานนี้เอง”

คนสูงวัยหน่อยบอกด้วยอาการตื่นเต้น เหมือนเจอของกินที่ชอบ ซึ่งคำนี้สำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะกลายเป็นคำที่ตกรุ่นไปแล้วในวันพรุ่งนี้ก็ได้

“อะไรเหรอ สะแด่วแห้ว”

คนรุ่นใหม่ถามอย่างไม่ชิน แค่จะพูดสะแด่วแห้วให้ถูกยังต้องใช้ความพยายาม แต่สำหรับคนอายุเลย 45 ปีขึ้นไปรู้จักดี

ในโลกยุคโควิด-19 นี้ คนทั่วไปได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมาก แรกๆ อาจจะอะไรนะ…ไม่เข้าใจ เรียกไม่ถูก แต่พอได้ยินทุกวัน ได้อ่านได้เห็น ได้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปแล้ว ก็กลายเป็นเหมือนญาติที่คุ้นเคยขึ้นมา

ศัพท์ที่ว่านี้ ไม่ใช่คำใหม่ๆ เสียทีเดียว แต่เป็นคำที่ใช้อยู่ในสาขาวิชา หรือในพื้นที่เฉพาะทางอยู่แล้ว แต่ในวันนี้ที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วย “ข้อมูลข่าวสาร” คำพวกนี้จึงผุดขึ้นมาให้คนในโลกได้เรียนรู้

 

อย่างคำว่า “social distancing” ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว ไม่มีใครไม่รู้จัก แถมให้ความเคารพยำเกรง เชื่อถือว่าเป็นหนึ่งในทางรอดจากการติดเชื้อไวรัสอีกด้วย

ไปไหนมาไหนตอนนี้ จะเห็นคนระวังเรื่องระยะห่างกันจนเป็นเรื่องปกติของชีวิต เผลอๆ ใครมายืนใกล้เรา เราเด้งหนีโดยอัตโนมัติ

แล้วก็เกิดมีการล้อเลียนเรื่อง distancing ในแง่มุมต่างๆ ตามหน้าโซเชียล ให้เราได้หัวเราะมาแล้ว

ในรายละเอียดนั้น ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือ “figure distancing” บางคนบอกว่าคำนี้น่าจะตรงกว่า เพราะความหมายคือ ระยะห่างทางด้านร่างกาย ที่ให้ภาพชัดเจนมากกว่า

หรืออย่างคำว่า “quarantine” ที่แรกๆ หลายคนเรียกยังไม่ถูกนัก แต่ฟังทุกวันก็ซึมซับไปเองว่า คือ “การกักกัน” ที่มีทั้ง “State Quarantine” คือการกักกันจากภาครัฐที่มีมาตรการเข้มข้น คัดกรองอย่างดี และ “Local Quarantine” คือการกักกันในท้องถิ่น ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านดูแลจัดการกันเองกับชุมชนของตน

ซึ่งตอนนี้คุณผู้ชายหลายบ้านเริ่มบัญญัติศัพท์เพิ่มเติมขึ้นแล้วว่า ตนเองเป็น “Wife Quarantine” แปลว่า “การกักกันโดยภรรยา” ห้ามออกไปไหน ต้องทำงานบ้าน เป็นการกักกันที่ห้ามแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย หรือดื้อดึง ไม่อย่างนั้นอาจมีโทษที่ร้ายแรงกว่าโควิดแน่นอน

 

คําหนึ่งที่มาแรงในช่วงที่ผ่านมาคือ “New Normal” บางคนแปลว่า “สภาพการปกติแบบใหม่” หรือบางคนก็แปลว่า “พฤติกรรมขั้นพื้นฐานแบบใหม่” ทุกคนบอกว่าเมื่อเราพ้นวิกฤตโควิดนี้ไปแล้ว โลกทั้งใบจะเกิด “New Normal” ขึ้นมาในพื้นที่ต่างๆ ในพฤติกรรม หรือวิถีการทำกิจกรรมต่างๆ

เช่น ต่อไปนี้นอกจากพกมือถือแล้ว ทุกคนจะติดหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเสมอเวลาออกนอกบ้าน

ต่อไปนี้การให้บริการของร้านค้าหรือบริการต่างๆ จะเปลี่ยนไป จะมีระยะห่างและเน้นความปลอดภัยทางสุขอนามัยมากขึ้น

การทำงานของบางองค์กร อาจจะปรับมาเป็น work from home แบบถาวรเลยก็ได้

แม้แต่วิธีคิด วิธีการใช้ชีวิตในระดับปัจเจกก็จะเปลี่ยนไป คนจะหันมาสนใจตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น คนจะไม่เก็บสะสมของอะไรที่เกินจำเป็นเหมือนแต่ก่อน

อาจจะเปลี่ยนแปลงไปถึงวัฒนธรรม ประเพณี หรือค่านิยมทางสังคมได้เลย เช่น งานแต่งงานที่อาจจะจำกัดเพียงคนไม่มากจำนวน แค่เครือญาติและคนสนิท เพื่อลดความเสี่ยง การทำงานบุญต่างๆ ก็จะมีวิธีการที่แตกต่างจากเดิม เราคงมีโอกาสได้เห็นกันแน่นอน

 

นอกจากนั้น ยังมีคำว่า “New Abnormal” ให้เราๆ ท่านๆ ปวดหัวเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งแปลว่า “การไม่ปกติแบบใหม่” งงไหม อะไร (วะ)

ผู้รู้บอกว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ได้มีชีวิตแบบ Normal ที่ลากยาวอีกแล้ว อย่างตอนนี้ถือว่าเราอยู่ในช่วงที่ไม่เป็นปกติ หรือ Abnormal มันไม่เคยมีมาก่อน มันไม่คุ้นไม่ชิน และแถมเป็นการไม่ปกติที่เกิดขึ้นใหม่ด้วย คือเราไม่มีความรู้ความเข้าใจมาก่อน ต้องมาเรียนรู้กับสิ่งไม่ปกตินี้ เพื่ออยู่กับมัน และหวังว่าสักวันจะเป็นวันของ “New normal”

และผู้สันทัดกรณีบางคนบอกอีกว่า ต่อไปนี้โลกเราจะเกิด Normal และ Abnormal สลับกันไปแน่นอน เพราะโลกได้ปรับตัวสู่วิถีทางใหม่ๆ ที่ต้องเคลื่อนไหว พลิกตัว เพื่อปรับตัวเองให้อยู่รอดตลอดเวลา ฉะนั้น อย่าได้คิดว่าอะไรจะนิ่งๆ นานๆ ได้เหมือนช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งเราเองก็หวังเหมือนกันว่า อยากเห็น “New Normal” ในหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะ “ภาคการเมือง”

ที่นับวันยิ่งเห็นถึงความ Abnormal ทางความคิดและพฤติกรรมของนักการเมืองมากขึ้นทุกที

 

ช่วงนี้มีคำใหม่เกิดขึ้นอีกแล้ว นั่นคือคำว่า “The Hammer and The Dance” หรือแปลเป็นไทยว่า “ทุบด้วยค้อนแล้วค่อยฟ้อนรำ”

เป็นการแสดงออกแบบใหม่ที่แข่งกันใน tik tok หรืออย่างไร

เปล่าครับ แต่เป็นมาตรการการจัดการของสังคมเราในห้วงเวลาต่อไปนี้ ที่กำลังชักเย่อกันระหว่าง “เป็นโรคตาย” หรือ “อดตาย” ที่กำลังบาลานซ์ระหว่าง “สุขภาพ” และ “เศรษฐกิจ”

มาตรการคลายล็อกที่ ศบค.ประกาศออกมาก็คือ The Hammer and The Dance ที่ยินดีให้เราได้เต้นรำกัน แต่ต้องเต้นแบบใหม่ ที่ไม่เสี่ยงต่อการติดโรค เต้นแบบที่ปลอดภัย และไม่เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ หากไม่เป็นผลหรือมีสัญญาณไม่ดี ก็ต้องเปลี่ยนอย่างฉับพลันมาใช้ค้อนทุบๆๆๆ เพื่อเอาโรคให้อยู่ กดจำนวนมันลงมาให้ได้ และเมื่อมันลงมาถึงจุดที่พอผ่อนคลายไหว ก็จะยอมให้ลุกขึ้นมาเต้นมาฟ้อนรำกันใหม่อีกครั้ง

เชื่อว่าหาก “การ์ดตก” เมื่อไหร่ ได้กลับมาทุบๆๆ อีกแน่นอน

เรื่องนี้คุณผู้ชายหลายคนก็แอบเปรยๆ ว่า เหมือนพฤติกรรมของศรีภรรยาเลย ที่มักจะ “ทุบ (เรา) ด้วยค้อน แล้วค่อยให้ (เรา) ได้ฟ้อนรำ” เราตายใจว่ารำได้เต้นได้ แต่ถ้าเผลอ มีอะไรนอกลู่นอกทางไป คราวนี้คุณเธอก็จะกลับมาทุบเราใหม่แบบไม่ปรานีปราศรัยใดๆ

สามีบางคนบอกว่า ไม่ใช่ทุบ แต่เป็นกระทืบเลยละ

กว่าโควิดจะจาง กว่าวัคซีนจะมา เราชาวโลกคงได้มีโอกาสเรียนรู้ศัพท์แสงใหม่ๆ อีกแน่นอน คิดเสียว่าได้เจออะไรใหม่ๆ ไม่เครียดดี แถมศัพท์ที่ว่านี้ไม่มีช่องว่างระหว่างวัยด้วย เพราะทุกคนล้วนร่วมชะตากรรมเดียวกันต่างรู้จักคำเหล่านี้ดี

อย่าลืมว่าเรายังต้องสู้กับโควิดอีกหลายยก การ์ดอย่าตก และเมื่อวันนั้นมาถึง วันที่เราทุบไวรัสร้ายนี้ได้อยู่หมัด เราก็คงจะได้สัมผัสกับคำนี้เสียที

Game Over …จบบริบูรณ์