ปฏิบัติการทางทหาร ที่ชายแดนภาคใต้ กับการอาจส่งผลต่อการแก้ปัญหาโควิด-19 (จากจุดเริ่มต้นวิสามัญ 3 ศพ)

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ต้องยอมรับว่าหน่วยความมั่นคงชายแดนภาคใต้ได้รับการยกย่องอย่างมากจากประชาชน โดยเฉพาะภาพทหารช่วยเหลือคนไทยนับพันคนจากฝั่งมาเลเซียข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก (แม้ว่าผิดกฎหมาย) ช่วงโควิด-19 แต่หลังจากเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรม (หรือจะใช้คำอื่น) 3 ศพที่กำปงอาตัสจือรัง ม.6 ปะกาจินอ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 30 เมษายน 2563 (7 รอมฎอน ฮิจเราะหฺศักราช 1441)

ชาวบ้านในพื้นที่ผวา พูดปากต่อปาก มีภาพข่าวและคลิปส่งต่ออย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ภาพลักษณ์ของทหารดังกล่าวมัวหมองอีกครั้งแม้จะไม่ทั้งหมด (แต่ในทัศนะชาวบ้านมลายูมุสลิมกับคนทำงานด้านสันติภาพ)

ซึ่งมีรายละเอียดให้พิจารณา

ดังนี้

หนึ่งสงครามแย่งมวลชนเริ่มขึ้นเมื่อ #เปรียบเทียบสองแถลงการณ์ BRN และแถลงข่าวหน่วยความมั่นคงได้ดังนี้

1. BRN ออก YouTube ประณามไทยล้ำเส้นมนุษยธรรมช่วงโรคระบาด

30 เมษายน 2563 ขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานี หรือ BRN ออกแถลงการณ์ โดยอับดุลการีม คาลิบ โฆษกของ BRN ผ่านการเผยแพร่ช่องทาง Information Depertement BRN ในเว็บไซต์ดัง YouTube มีหัวข้อวิดีโอว่า “MISI KEMANUASIAAN HARUS DIUTAMAKAN” ซึ่งแปลว่า “พันธกิจด้านมนุษยธรรมต้องมาก่อน”

(ลิงก์วิดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=rr98gu0eDi8&feature=youtu.be&fbclid=IwAR0H7LlDRNrYF43DdhX5QMjsMTjD8FGYqfLedeB1P4O8pPaF_M75CE5nrpw)

ทั้งนี้ วิดีโอมีความยาว 2.02 นาที และพูดภาษามลายู The Motive จึงได้แปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจได้เข้าใจถึงการสื่อสารของขบวนการที่กำลังเจรจาสันติภาพกับรัฐไทย

คำแปลมีดังนี้

“พันธกิจด้านมนุษยธรรมต้องมาก่อน”

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานี

ขอความสันติทั้งปวงจากเอกองค์อัลลอฮฺจงประสบแด่ท่าน

สลามการปฏิวัติ

สลามเอกราช

ด้วยความปรารถนาดี

ตลอดระยะเวลาการระบาดของ COVID-19 ที่ได้รุกคืบเข้ามาในพื้นที่ปาตานีที่เรารัก

พวกเรา BRN มีการวิเคราะห์เงื่อนไขและสถานการณ์เสมอมาในการปฏิบัติ เปิดพื้นที่และโอกาส สำหรับประชาชนในการจัดการชุมชนเพื่อเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคร้าย

แต่ปฏิบัติการของรัฐสยาม (รัฐไทย) ในแต่ละครั้งยังคงไม่สนใจถึงความปลอดภัยของประชาชนปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้)

รัฐสยามยังคงใช้โอกาสนี้ในการดำเนินการทางการทหารกับประชาชน

ในการนี้ BRN ขอประณามรัฐสยามที่ไร้มนุษยธรรม

และหวังว่าประชาชนทุกคนจะยึดมั่น อดทน ในการจัดการชุมชนของตนเองจากภัยพิบัติและระบอบการปกครองที่เลวร้ายได้เป็นอย่างดี

รวมใจเป็นหนึ่งทำให้เราแข็งแกร่ง

พระเจ้าอยู่เคียงข้างเราเสมอ

อินชาอัลลอฮฺ เอกราช

ศูนย์สื่อสารสนเทศ, กองเลขาธิการโฆษก, กรมประชาสัมพันธ์ BRN

(อ้างอิงคำแปลจาก #themotive)

2.1 พฤษภาคม 2563

พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ชี้แจงเหตุเจ้าหน้าที่จัดกำลังเข้าพิสูจน์ทราบเพื่อบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ บ้านปะการือสง ตำบลตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และได้ปะทะกับกลุ่มผู้ก่อเหตุ เสียชีวิต 3 คน สามารถตรวจยึดอาวุธปืนได้จำนวน 3 กระบอก ประกอบด้วย ปืนลูกซอง ปืนเล็กยาว เอเค 102 และปืนพกขนาด .38

สำหรับอาวุธที่ตรวจยึดได้ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 จะนำไปตรวจสอบประวัติและความเชื่อมโยงทางคดีที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คน พบว่ามีประวัติหมายจับรวม 10 หมาย ก่อคดีที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์มาอย่างต่อเนื่อง

โดยคนร้ายประกอบด้วย

1. นายยูโต๊ะ แมะตีเมาะ บุคคลตาม ป.วิอาญา 7 หมายที่สำคัญ จากเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนเมื่อปี 2559 และเหตุระบิดเจ้าหน้าที่ทหารพรานกองร้อยทหารพรานที่ 4303 เมื่อปี 2560

2. นายมะตามีซี สาอิ บุคคลตามหมายจับคดีปล้นร้านทองสุธาดา อ.นาทวี จ.สงขลา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562

3. นายอับดุลอาซิ ปากียา บุคคลตามหมายจับ จากเหตุระเบิดห้างบิ๊กซี ปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2560 ทั้ง 3 คนยังเป็นผู้ต้องสงสัยเหตุโจมตีจุดตรวจบ้านกอแลและ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 อีกด้วย

โดยคดีที่ผู้ก่อเหตุทั้ง 3 คนได้ก่อขึ้นล้วนเป็นคดีที่มีความรุนแรง อุกฉกรรจ์ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน รวมทั้งผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะเรื่องของวางระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ก่อให้เกิดความสะเทือนขวัญและความหวาดกลัวให้แก่พี่น้องประชาชน สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ ทำลายความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน รวมถึงทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนในวงกว้าง

คดีวางระเบิดห้างบิ๊กซี ปัตตานี กลุ่มผู้ก่อเหตุกระทำการด้วยความโหดเหี้ยม ล่อลวงนายนุสนธ์ ขจรดำ ช่างติดผ้าใบเพื่อนำรถยนต์ไปก่อเหตุวางระเบิด หลังจากนั้นได้สังหารนายนุสนธ์ ขจรดำ นำศพไปทิ้งป่าละเมาะข้างทาง และได้นำรถยนต์ไปก่อเหตุระเบิด ณ ห้างบิ๊กซี ปัตตานี สร้างความหวาดกลัว สร้างความแตกตื่นให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง ส่วนคดีปล้นร้านทองในพื้นที่ อ.นาทวี จ.สงขลา กลุ่มคนร้ายได้มีการวางแผนปล้นรถตู้จากพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อนำไปปล้นร้านทอง ถือเป็นคดีที่อุกอาจ เนื่องจากปฏิบัติการในช่วงกลางวัน และกลุ่มคนร้ายได้หลบหนีไป ซึ่งคดีทั้งหมดนี้ถือเป็นคดีที่สร้างความหวาดกลัวให้แก่พี่น้องประชาชน รวมทั้งทำลายระบบเศรษฐกิจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวม

การปฏิบัติในครั้งนี้ เป็นการบังคับใช้กฎหมายกับอาชญากรที่กระทำผิดกฎหมายสร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐไม่สามารถละเว้นการปฏิบัติได้

ทั้งนี้ ผลจากการแจ้งข่าวของพี่น้องประชาชนที่พบความเคลื่อนไหวกลุ่มบุคคลต้องสงสัย เจ้าหน้าที่จึงได้นำกำลังเข้าพิสูจน์ทราบแต่ถูกกลุ่มคนร้ายเปิดฉากยิงใส่ จึงได้เกิดการปะทะและเกิดการสูญเสียดังกล่าว

โดยในห้วงเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนอันศักดิ์สิทธิ์และเดือนแห่งการทำความดี แต่ในห้วงที่ผ่านมาได้พบเบาะแสและภาพข่าวความเคลื่อนไหวของคนร้ายเตรียมก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น สำหรับผู้ให้การสนับสนุนโดยเฉพาะผู้ให้ที่พักพิง เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมเพื่อดำเนินการตามกฎหมายฐานให้การสนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรงต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราการแพร่ระบาดค่อนข้างสูง เจ้าหน้าที่รัฐต้องสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้แก่พี่น้องประชาชนในการป้องกัน และกำจัดเชื้อโควิด-19 ในทุกรูปแบบ

แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีและผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามสร้างสถานการณ์ลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการวางระเบิดหรือด้วยการปฏิบัติการอื่นๆ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก

จึงขอฝากพี่น้องประชาชนหากพบเห็นบุคคลที่ต้องสงสัยเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ ให้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่ หรือแจ้งไปยังหมายเลขโทรศัพท์สายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 โทร. 06-1173-2999 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

2.ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติการ “ตรวจค้นและเก็บ DNA” แม้ช่วงโควิด ข้อสังเกตจากประชาสังคมด้านกระบวนการยุติธรรม

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (jasad) เปิดเผยว่า ก่อนวิสามัญฆาตกรรม 3 ศพนี้แม้ช่วงโควิด หน่วยความมั่นคงแทนที่จะให้ความสำคัญกับการปัญหาเรื่องโควิดอย่างเดียว แต่กลับทำงานสองหน้า

ส่วนหนึ่งช่วยเหลือชาวบ้าน

แต่อีกส่วนหนึ่งยังมีปิดล้อมตรวจค้นและเก็บ DNA ชาวบ้านแม้แต่เด็กและสตรีตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2563 โดยอ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

ซึ่งในแง่รัฐศาสตร์และการแก้ปัญหาโควิดระดับประเทศควรละเว้นไว้ก่อน

เพราะแม้กระทั่งเหตุการณ์ปกติก็ยังโดนกล่าวหาว่า “ละเมิดสิทธิมนุษยชน”

3.เหตุการณ์อาจบานปลาย อาจกระทบการแก้ปัญหาโควิด-19 ในภาพรวม สิ่งที่นักสังเกตการณ์ปัญหาชายแดนภาคใต้กลัวคือการโต้กลับจากผู้เห็นต่าง

แม้ BRN จะออกแถลงการณ์ให้คนของเขาที่ติดอาวุธในพื้นที่อดทนไม่โต้ตอบหน่วยความมั่นคง

แต่เมื่อ 3 พฤษภาคม 2563 เวลาประมาณ 19.00 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงทหารพรานเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 1 คน ที่สายบุรี จ.ปัตตานี

“ถ้าเหตุยิงทหารล่าสุดเป็นคนของ BRN หมายความว่า แกนนำนอกประเทศไม่สามารถคุมคนปฏิบัติการ (บางคน) เมื่อเป็นเช่นนี้หากเหตุการณ์บานปลาย จะกระทบการแก้ปัญหาเรื่องโควิดที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะที่ยะลาที่มียอดผู้ติดเชื้อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ถึง 40 คนอย่างแน่นอน”

อยากจะขอร้องทุกฝ่ายโดยเฉพาะให้เห็นแก่ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนเรื่องโควิด-19

เพราะต้องยอมรับว่า หลังจาก BRN ประกาศหยุดปฏิบัติการทางทหารมา เหตุการณ์สงบมากๆ ในช่วงโควิด-19