ชะตากรรมใน “ความเป็นไปไม่ได้” ของ คนจนในเมือง

ชะตากรรมใน “ความเป็นไปไม่ได้”

เริ่มเป็นหัวข้อใหญ่ของการถกเถียงกันมากขึ้นเรื่อย ระหว่างการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยมาตรการที่เข้มข้น กับความกังวลเรื่องสภาวะเศรษฐกิจที่จะทำให้ชีวิตของประชาชนที่จะเกิดปัญหาหนักหนาสาหัสอันจะกระทบถึงปากท้อง ว่าที่สุดแล้วอะไรจะสร้างปัญหาให้ประเทศมากกว่ากัน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงผลการสำรวจของ ศบค.ว่า

ประชาชนร้อยละ 99.38 ที่เข้าใจว่าควรทำมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” อย่างไร

มีถึงร้อยละ 93.8 คิดว่ามาตรการนี้ช่วยลดการระบาดของโรคได้

คือทั้งเข้าใจและเชื่อตามที่ ศบค.และรัฐบาลบอก

ความน่าสนใจคือ ทั้งที่เข้าใจอย่างยิ่ง และเชื่ออย่างมากในมาตรการดังกล่าว แต่เมื่อลงในรายละเอียดของวิธีปฏิบัติแล้ว ตัวเลขกลับเปลี่ยนไปแม้จะมีไม่มากแต่ถือว่ามีนัยยะสำคัญ

เป็นตัวเลขที่ ศบค.ใช้เป็นตัวชี้วัดเรื่อง “พฤติกรรมการป้องกันตนเอง”

คือผู้ที่ใส่หน้ากากอนามัยมีร้อยละ 91.2, ผู้ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ ร้อยละ 87.2, ที่กินร้อน ช้อนส่วนตัว ร้อยละ 86.1, รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร ร้อยละ 65.3, ไม่เอามือจับใบหน้า จมูก ปาก ร้อยละ 92.9

นพ.ทวีศิลป์ย้ำว่า ความร่วมมือจะต้อง 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจึงจะลดเชื้อได้ แต่เดือนเมษายนทั้งเดือนการใส่หน้ากากอนามัยดี แต่ที่เหลือ 80 กว่าลงมา หมอทวีศิลป์บอกต้องระมัดระวังเลย

ผลงานที่กำลังเป็นที่ชื่นชมไม่ใช่เฉพาะคนในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงในอีกหลายประเทศด้วย คือ ฝีมือการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยทีมแพทย์และระบบสาธารณสุขที่วางไว้อย่างเข้มแข็งของไทย

และรัฐบาลมีความจำเป็นต้องฟัง ศบค.เพื่อรักษาภาพของผลงานอันโดดเด่นนี้ไว้

เมื่อหมอทวีศิลป์ในฐานะโฆษกอันหมายถึงผู้พูดแทน ศบค.บอกมาอย่างนี้ ย่อมมีความหมายไปในทางจำเป็นต้องควบคุมเข้มงวดต่อไป ตามยุทธศาสตร์ “สุขภาพมาก่อนเสรีภาพ” และนั่นหมายถึงความจำเป็นด้านปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องที่ขยับอะไรให้ไม่ได้มากนัก

ลำบากกันต่อไปเพื่อควบคุมการระบาดของโควิดไว้

อย่างไรก็ตาม อีกผลสำรวจหนึ่ง มีข้อมูลที่น่าสนใจ

“Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ COVID-19” จัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

มีข้อมูลบางมุมที่ให้ความเป็นจริงในเรื่องการรักษาระยะห่างที่ นพ.ทวีศิลป์แสดงความเป็นห่วง

ในคำถามเรื่อง “ชีวิตประจำวันของคนจนในเขตเมือง”

เมื่อถาม “คนจนในเขตเมือง” ถึงสถานที่ทำงาน ร้อยละ 28 ทำงานในบ้าน, ร้อยละ 57 ทำงานนอกบ้าน, ร้อยละ 15 ไม่ได้ทำงาน

ความน่าสนใจอยู่ที่ “ที่นอน” อันเป็นระยะห่างที่ป้องกันได้น้อยที่สุด เพราะคนหลับย่อมไม่รู้ตัว

การต้องนอนกับ “คนที่ออกไปนอกบ้าน” ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ของเชื้อโควิด เป็นในกลุ่มที่ทำงานในบ้านร้อยละ 72, ในกลุ่มที่ทำงานนอกบ้านด้วยกันร้อยละ 88 และกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานร้อยละ 88

ตัวเลขนี้อาจจะหมายถึง แม้ว่าจะรู้ จะเข้าใจ และต้องการทำตามมาตรการรักษาระยะห่างสักเพียงใดก็ตาม

แต่ในชีวิตจริงทำไม่ได้ เพราะบ้านของคนจนมีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรักษาระยะห่างตามที่มาตรการกำหนด

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ

การรักษาระยะห่างที่เป็นปมให้ ศบค.จำเป็นต้องคงมาตรการเข้มงวดไว้ หากให้คนจนในเมืองรับภาระทำให้บรรลุตามเป้าหมาย เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นความเป็นไปได้

ที่ชวนให้คิดอย่างยิ่งคือ หากเอาเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้นั้นมาเป็นเครื่องมือกำหนดมาตรการที่ส่งผลต่อปากท้องประชาชนโดยรวม

จะเท่ากับเป็นการต้อนให้ชีวิตประชาชนจนมุม โดยไม่มีทางเลือกหรือไม่

ลองนึกดูหากเป็นเช่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้น