วรศักดิ์ มหัทธโนบล : บทสรุปอาณาจักรสุย-ถัง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุย-ถังกับนานาวิสาสะสมัย (41)
การปกครองของจักรวรรดิสุย-ถัง (ต่อ)

การค้าที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ได้ทำให้คูคลองต่างๆ คึกคักไปด้วย โดยเฉพาะช่วงที่เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำหยังจื่อกับคลองส่งน้ำหัน (หันโกว, Han Conduit) นั้น อันเป็นศูนย์รวมสินค้าก่อนที่จะถูกกระจายไปยังเมืองใหญ่น้อยต่างๆ

คำว่า โกว ในภาษาจีนมีความหมายกว้าง คือหมายถึงคลองขุด คลองชลประทาน คลองส่งน้ำ หรือคูน้ำ แล้วแต่บริบทที่ใช้ แต่ทั้งหมดมักเกิดจากการขุดและมีแนวตรง ในที่นี้จึงใช้คำว่า คลองส่งน้ำ

เวลานั้นเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญในเวลานั้นก็คือเจียงตู ที่เคยเป็นเมืองหลวงทางด้านใต้ในยุคสุย เป็นเมืองที่คลองขุดต้าอวิ่นเหอไหลผ่าน และเป็นเมืองที่สุยหยังตี้ให้ความสำคัญและถูกปลงพระชนม์

แต่มาบัดนี้ในยุคถังกลับเจริญยิ่งกว่าในยุคสุย

โดยศูนย์การค้าขนาดใหญ่ (emporium) ถูกตั้งขึ้นที่เมืองนี้จนกลายเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจักรวรรดิ สินค้าสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกลือ ใบชา ไม้ เพชร-พลอย สมุนไพร หรือสินค้าที่ผลิตจากเครื่องจักรอย่างเช่นผลิตภัณฑ์ทองแดง ผ้าไหม และผ้าทออื่นๆ จะถูกถ่ายเทกันที่เมืองนี้

ยิ่งหลังกบฏอันลู่ซันที่ทำให้เกลือกลายเป็นสินค้าที่ถูกผูกขาดโดยรัฐด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่จักรวรรดิยิ่งขึ้น ผลคือ เมืองซึ่งมีประชากรอยู่ราว 40,000 คนเมื่อศตวรรษที่ 7 ก็ทะยานขึ้นเป็น 500,000 คนเมื่อถึงกลางศตวรรษที่ 8 ในที่สุด

จนถึงตอนนั้นตลาดในถิ่นนี้ไม่เพียงจะเปิดต่อเนื่องแม้ในยามวิกาลเท่านั้น ตลาดอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ตลอดแนวสัญจรทางน้ำก็เริ่มเปิดนับแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป แสงสว่างไสวจากโคมไฟที่ประดับอยู่สองฝั่งน้ำจึงเป็นภาพปกติในยุคถัง

การพร่ำพรรณนาถึงบรรยากาศเช่นนี้ปรากฏผ่านความเรียงและบทกวีจำนวนหนึ่ง ที่ยังคงตกทอดจนถึงทุกวันนี้

การค้าที่คึกคักมีชีวิตชีวานี้ส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีอย่างมาก ในปลายศตวรรษที่ 8 เจ้าพนักงานฝ่ายตรวจสอบสินค้าของพ่อค้าตามเมืองใหญ่จะจัดเก็บภาษีคิดในอัตราส่วนเงินสด 20 ต่อ 1,000

 

นอกจากนี้ ในปลายยุคถังได้มีการใช้เงินกระดาษ (paper money) หนังสือสัญญา หรือเอกสารสินเชื่อแทนเหรียญกษาปณ์ที่ใหญ่ทั้งจำนวนและน้ำหนัก “กระดาษ” ในรูปแบบที่ว่านี้ใช้ถือเคลื่อนย้ายหรือแลกเปลี่ยนกันเป็นปกติในยุคถัง

ยิ่งเงินกระดาษด้วยแล้วยังถูกนำไปใช้เพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งของผู้ตายอีกด้วย คือจะถูกนำไปเผาพร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ล้วนทำจากกระดาษเพื่อส่งให้ผู้ตายได้ใช้ในภพหน้า ควรกล่าวด้วยว่า หลังจากที่ถังล่มสลายไปแล้วหลายสิบปี เงินกระดาษที่เซ่นผู้ตายก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นเงินกระดาษปลอมที่ทำเลียนแบบของจริง และถูกใช้มาจนทุกวันนี้

หรือที่ไทยเราเรียกว่า แบงก์กงเต๊ก

ในกรณีเงินกระดาษนี้มีประเด็นตรงที่ว่า แรกเริ่มจะอยู่ในรูปของบัตรแลกอาหาร (food tickets) ที่ทหารประจำกรมกองต่างๆ มีไว้เพื่อแลกธัญพืช จากนั้นก็นำธัญพืชที่ได้มาไปแลกซื้ออาหารในถิ่นที่ตนอาศัยอยู่

จนในศตวรรษที่ 8 หรือต้นศตวรรษที่ 9 ทางการจึงได้พัฒนาบัตรที่ใช้แลกอาหารดังกล่าวให้เป็น “เงินปลิว” (flying cash) คือเบามากจนอาจถูกพัดปลิวหลุดจากมือไปได้ วิธีการก็คือ พ่อค้าจะฝากเงินสดไว้ที่เมืองหลวงแล้วจะได้รับใบรับรองเพื่อถือไว้แลกเงินสดในเมืองอื่นได้

ใบรับรองนี้เป็นเหมือนตั๋วแลกเงินมากกว่าที่จะเป็นเงินจริงๆ จนในปลายยุคถังภาคเอกชนก็ได้สร้างเอกสารทำนองนี้ในรูปของเอกสารสินเชื่อขึ้นมา

เอกสารนี้จะรับรองเงินสด ทองคำ และเงิน (silver) ที่ผู้ฝากฝากไว้กับร้านของตน

การที่นักแลกเปลี่ยนเงินตรา ช่างทอง และช่างเงินใช้เอกสารรับรองธุรกรรมเช่นนี้นี่เอง ที่ต่อมาได้ทำให้เอกสารเหล่านี้ค่อยๆ กลายเป็นเงินตรา (money) ไปทีละเล็กทีละน้อยในที่สุด โดยเฉพาะหลังจากยุคถังไปแล้ว

 

ส่วนบทบาทของกระดาษที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ที่สำคัญในยุคนี้เรื่องหนึ่งก็คือ การพิมพ์เอกสารทางพุทธศาสนาที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากหนังสือวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (Diamond Sutra) ที่พิมพ์เมื่อ ค.ศ.868 และถูกค้นพบที่ตุนฮว๋างใน ค.ศ.1907 ซึ่งมีลักษณะเป็นม้วนหนังสือยาว 17.5 ฟุต และกว้าง 10.5 ฟุต เป็นต้น

ไม่เป็นที่สงสัยเลยหากจะกล่าวว่า ระบบการปกครองในยุคสุย-ถังที่มีการปฏิรูปจนก้าวหน้ากว่ายุคก่อนหน้านี้นั้น นับว่ามีส่วนอย่างมากในการทำให้จีนผงาดขึ้นเป็นจักรวรรดิอีกครั้งหนึ่ง ระบบที่ว่านี้ยังแสดงผลในสองเรื่องที่สำคัญในสองเรื่องด้วยกันอีกด้วย

เรื่องหนึ่งคือ การเปิดให้ชนชาติที่มิใช่ฮั่นและชาวต่างประเทศได้เข้ามาในจีนอย่างฉันมิตร และที่เข้ามานี้ส่วนใหญ่ก็เพื่อทำการค้าขาย อีกเรื่องหนึ่งคือ ระบบการปกครองที่เอื้อให้เศรษฐกิจของจีนได้เจริญรุ่งเรืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทั้งสองเรื่องนี้ย่อมเอื้อกันและกัน และแยกขาดจากกันไม่ได้ ถึงตอนนั้นจีนก็จัดเป็นประเทศที่ทันสมัยอย่างยิ่ง เป็นความทันสมัยที่มีพื้นฐานมาจากนโยบายที่เปิดกว้างโดยแท้ และทำให้จีนกลายเป็นจักรวรรดินานาวิสาสะ (Cosmopolitan Empire)

ทั้งที่ยุคก่อนหน้าและหลังจากนี้มิอาจเป็นได้เช่นนี้

 

ความลงท้าย

ก่อนที่สุยจะถือกำเนิดเป็นราชวงศ์ขึ้นนั้น จีนได้ตกอยู่ในภาวะที่แตกแยกและไร้เอกภาพมาเป็นเวลานาน ปมหนึ่งในภาวะนี้ที่เห็นได้ชัดคือ การเข้ามามีบทบาทอย่างโดดเด่นของชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ที่ว่าโดดเด่นนี้มิใช่เพียงแต่จะมีอำนาจในทางการเมืองเท่านั้น หากยังมีในเรื่องของการรับเอาวัฒนธรรมจีนมาใช้หรือทำตนให้เป็นจีนในบางครั้ง หรือไม่ก็ต่อต้านความเป็นจีนในอีกบางสมัย มีแม้กระทั่งเรื่องการนับถือศาสนาพุทธ

และด้วยความโดดเด่นนี้ก็ได้ทำให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งได้ผสมผสานไปกับชนชาติเหล่านี้ และต่อมาชาวจีนเหล่านี้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นนำในหมู่ชนชาติเหล่านี้ จนเมื่อแข็งแกร่งขึ้นก็สามารถตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นมาซึ่งก็คือสุยและถัง

สุยนั้นมีสายเลือดของซย์งหนูผสมอยู่ด้วย อีกทั้งยังได้รับการกล่อมเกลาผ่านศาสนาพุทธตั้งแต่เมื่อครั้งเยาว์วัย แต่เมื่อสุยถูกสถาปนาขึ้นแล้วชนชั้นนำของสุยกลับนำลัทธิขงจื่อมาใช้ในทางการเมือง

 

และหลักคิดหนึ่งของลัทธินี้ที่ถูกให้ความสำคัญและนำมาใช้ก็คือ หลักคิดเรื่องรีตของลัทธิขงจื่อ

หลักคิดนี้ได้ห่างหายไปนานแสนนานจากยุคก่อนหน้านี้ เมื่อนำมาใช้แล้วสุยก็ยังเชิดชูเรื่องความกตัญญูขึ้นอย่างสูงเด่น ทั้งนี้มิใช่เพื่ออื่นใด หากเพื่อสนองตอบต่อความมั่นคงของสุยเอง แต่สุยก็ไม่ได้ละเลยที่จะเปิดที่ทางให้แก่ลัทธิเต้า อย่างน้อยก็เพื่อมิให้นักพรตในลัทธิเป็นปฏิปักษ์กับตน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีในทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำลัทธิขงจื่อมาใช้ในทางการเมืองแล้ว สุยก็จัดให้มีการสอบบัณฑิตขึ้นมาด้วยระบบที่ก้าวหน้ากว่าสมัยฮั่น และสุยก็ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้อย่างมาก

แม้จะนำลัทธิขงจื่อมารับใช้การเมืองแล้วก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่สุยถือกำเนิดขึ้นในยุคสมัยที่ชนชาติอื่นมีอิทธิพลสูง สุยจึงระมัดระวังชนชาติเหล่านี้อยู่ไม่น้อย และเพื่อความมั่นใจในความมั่นคงของราชวงศ์ สุยจึงได้สร้างระบบทหารบ้านขึ้นมาเพื่อค้ำจุนตน

ซึ่งในด้านหนึ่งก็ได้ผล แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เท่ากับได้สร้างกลุ่มอิทธิพลทางการทหารขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน

 

แต่กระนั้น ความสำเร็จของสุยจากนโยบายต่างๆ ก็กลับภินท์พังลงเมื่อถึงจักรพรรดิองค์ที่สอง และสาเหตุก็ยังคงเป็นเรื่องเดิมๆ นั่นคือ จักรพรรดิประพฤติตนเยี่ยงทรราช และเรื่องที่อื้อฉาวมากก็คือ การที่จักรพรรดิองค์นี้ให้ขุดคลองขนาดใหญ่เพื่อสนองความสุขส่วนตน

คลองขุดใช้แรงงานเกณฑ์จำนวนมาก เมื่อถูกเกณฑ์แล้วไร่นาสาโทก็ไร้แรงงานไปผลิต ผลผลิตทางการเกษตรจึงลดลงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปด้วย ถึงตอนนั้นความจงเกลียดจงชังของราษฎรที่มีต่อจักรพรรดิก็แผ่ซ่านและเกิดกบฏไปทั่ว แล้วสุยก็ถูกโค่นล้มลงไปและถูกแทนที่ด้วยถัง

ที่เป็นเรื่องตลกร้ายก็คือว่า คลองขุดที่ขุดเพื่อสนองการเสพสุขของจักรพรรดิทรราชดังกล่าว ได้กลายเป็นคลองที่มีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ประโยชน์นี้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผลที่ลงเอยเช่นนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วจะประเมินบทบาทของจักรพรรดิพระองค์นั้นอย่างไรดี

ว่าพระองค์พึงเป็นทรราชหรือเป็นผู้นำที่มากด้วยวิสัยทัศน์กันแน่