ธงทอง จันทรางศุ | วิกฤตเป็นโอกาส ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย

ธงทอง จันทรางศุ

เคยมีใครก็ไม่รู้บอกว่า ในวิกฤตนั้นมีโอกาสอยู่เสมอ

ผมฟังแล้วก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

เพราะได้เห็นกับตามาแล้วว่า หลายคนโดนวิกฤตทำร้ายเสียจนไม่เป็นผู้เป็นคนแล้วก็ยังหาโอกาสอะไรไม่เจอเสียด้วย จนนึกปลงเสียแล้วว่า เรื่องอย่างนี้อยู่ที่บุญทำกรรมแต่ง

โรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่เวลานี้ก็ถือว่าเป็นวิกฤตสำคัญของพวกเราทุกคน หลายคนก็วิกฤตจนอ่วมไปเลยทีเดียว มีเฉพาะบางรายบางคนเท่านั้นที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

ก็ให้บังเอิญที่วันนี้ผมได้รู้อะไรมาบางอย่างที่อยากมาขยายความ เพื่อให้เห็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสักเรื่อง

ตามมาดูกันนะครับ

เรื่องคือว่า ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่ง ชื่อมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ฟังดูซ้ำซ้อนประดักประเดิดอย่างไรก็ไม่รู้ แต่เอาเถิด ในเมื่อชื่อตามกฎหมายเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องเรียกตามที่เขากำหนดก็แล้วกัน

อันว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีที่ทำการใหญ่อยู่บริเวณศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อยู่เลยและลึกจากถนนบรมราชชนนีเข้าไปพอสมควร

นอกจากนั้น ยังมีวิทยาเขตอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ อีกหลายจังหวัดทั่วประเทศในราว 10 วิทยาเขต

นักศึกษามีทั้งผู้ที่เป็นพระภิกษุและคฤหัสถ์

คฤหัสถ์ที่ว่านี้ก็มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

วิชาที่เปิดสอนมีทั้งวิชาพระพุทธศาสนาโดยตรงและวิชาอื่นด้วย เช่น รัฐศาสตร์ การศึกษา สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และปรัชญาอะไรเทือกๆ นั้น

โดยไม่มีคณะวิชาสายวิทยาศาสตร์หรือสายการแพทย์แต่อย่างใด เพราะไม่ใช่แนวของมหาวิทยาลัย

คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลมหาวิทยาลัยแห่งนี้ รวมตลอดถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีความเห็นพ้องร่วมกันว่า มหาวิทยาลัยของเราต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านการเรียนการสอนและการบริหารให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ถ้าเราไม่ขยับเขยื้อนอะไรในขณะที่คนอื่นเขาเดินไปข้างหน้า เราจะกลายเป็นคนตกยุคไปในที่สุด

แต่นั่นแหละครับ การที่จะปรับระบบอะไรภายในมหาวิทยาลัยที่ตั้งมาช้านาน มีบุคลากรทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสจำนวนไม่น้อย และมีพื้นที่การทำงานแยกย้ายกันถึง 10 แห่งทั่วประเทศ ย่อมไม่ใช่ของที่ทำได้โดยง่ายเลย

และเป็นปัญหาที่ท้าทายหัวใจของสภามหาวิทยาลัยอยู่เสมอ

จนกระทั่งเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 ขึ้นนี่แหละครับ ที่เราได้มองเห็นโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้น

เพราะอย่างไรเสีย มหาวิทยาลัยแทบทั้งโลกรวมทั้งมหาวิทยาลัยในเมืองไทยทุกแห่ง ต้องพบกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในห้องสี่เหลี่ยมภายในบริเวณมหาวิทยาลัยได้อีกต่อไปแล้ว

ไม่ต้องดูอื่นไกล ในช่วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมาผมไม่ได้พบนิสิต “ตัวเป็นๆ” ของผมเลย เพราะสำหรับวิชาที่ผมสอนอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องปรับเป็นระบบการเรียนการสอนทางไกลขึ้นมาในทันใด

การสอบที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็ต้องปรับเป็นระบบการสอบทางไกลเหมือนกัน

ทุกคนกำลังต้องปรับตัวขนานใหญ่

กรรมการสภามหาวิทยาลัยของเราท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ผู้มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์อย่างยิ่งในเรื่องการจัดการศึกษาระดับอุดม ได้ทำงานร่วมกันกับท่านเจ้าคุณอธิการบดี พระราชปฏิภาณโกศล และคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมาได้ประมาณหนึ่งเดือน เพื่อแสวงหาลู่ทางที่จะปรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกันกับที่เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดด้วย

การปรึกษาหารือที่ว่านี้ ทั้งแบบพบกันเห็นหน้า และประชุมออนไลน์ก็มี สัปดาห์หนึ่งประชุมสองสามครั้งแทบไม่ได้หยุดหายใจกันเลย


อาจารย์กฤษณพงศ์เล่าว่า เราจะต้องนำระบบไฮบริด (ที่ผมแปลเอาเองว่าระบบพันทาง) มาใช้ในการเรียนการสอน

อย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยของเรามีนักศึกษากระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีทั้งพระและชาวบ้าน และใช่ว่าทุกรูปทุกคนจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เราจึงต้องคิดถึงเรื่อง “ออนแอร์” มากกว่าเรื่อง “ออนไลน์”

นั่นหมายความว่า การเรียนการสอนส่วนใหญ่ของเราต้องจัดในรูปที่เป็นสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่อาจเอื้อเฟื้อและร่วมมือกันได้

เช่น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำรายการที่เราได้เลือกสรรแล้วว่าเป็นการบรรยายของครูชั้นยอดของมหาวิทยาลัยหรือของประเทศไทยด้วยซ้ำออกอากาศไปให้ถึงมือถึงหูของนักศึกษาทุกคนทุกรูป

เปรียบว่าได้ฟังหัวใจของเรื่องจากครูคนเดียวกัน จากนั้นให้อาจารย์ในแต่ละวิทยาเขตเป็นผู้ขยายความ รวมทั้งออกแบบการทำงานร่วมกันกับนักศึกษาให้เหมาะกับสภาพของท้องถิ่น

ในแต่ละวิทยาเขต เราต้องจัดสภาพห้องเรียนใหม่ให้เหมาะสมกับโลกยุคหลังโควิด-19 หมายความว่ามีระยะห่างระหว่างผู้เรียนแต่ละคน มีความถูกต้องตามหลักสุขลักษณะอนามัย

การใช้ห้องเรียนชนิดนี้ต้องจัดตารางให้คุ้มค่าคุ้มเวลามากที่สุด

ข้อสำคัญคือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างเป็นสมบัติของเราเอง อาศัยความร่วมมือและแสวงหาเครือข่ายกับหน่วยงานทางด้านการศึกษาหรือแม้กระทั่งหน่วยงานอื่นในพื้นที่

ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่นๆ อีกมากมาย

รวมถึงสำนักศึกษาเล่าเรียนตามวัดวาอารามต่างๆ ถ้าเราตั้งใจทำงานจริงแล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

ผมเองมีความเข้าใจว่า จุดแข็งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ คือความเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ลำพังเพียงแค่เห็นเจ้าคุณอธิการบดีห่มจีวรมาร่วมปรึกษาหารือก็มีชัยมากไปกว่าครึ่งแล้ว

ใครจะนึกว่าตำแหน่ง “เจ้าคุณอธิการบดี” ยังมีอยู่จริงในโลกปัจจุบัน ไม่ได้มีอยู่แค่ในเรื่องนิยายเรื่องข้างหลังภาพเท่านั้น

ใครต่อใครก็อยากทำบุญกับพระศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น

ที่เล่ามาเพียงแค่นี้ขอให้นึกเสียว่าเป็นน้ำจิ้มก็แล้วกัน อาจารย์กฤษณพงศ์และคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยกำลังเร่งทำงานกันเต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายว่าก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ของปีการศึกษา 2563 นี้ การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจะพลิกโฉมไปจากสิ่งที่ทำมาหลายสิบปีต่อเนื่องกัน

นี่คือการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของจริง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย

ถ้าสนใจจะสมัครเป็นนักศึกษาใหม่ของปีนี้ก็ยังไม่สายเกินไปนะครับ

แหะ แหะ ขายตรงอีกแล้วนะเรา