สองเดือนแห่งความพ่ายแพ้ของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

โดนัลด์ ทรัมป์ นั่งอยู่ในห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวเมื่อเย็นวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยเท่าไหร่นัก

นั่นคือต้องยอมรับความล้มเหลวของตนเอง

การปฏิรูประบบประกันสุขภาพที่เป็นการผลักดันร่างกฎหมายสำคัญฉบับแรกของทรัมป์ ล้มเหลวตั้งแต่เผชิญกับอุปสรรคด่านแรกสุด นั่นคือสภาคองเกรสที่พรรครีพับลิกันอันเป็นพันธมิตรของเขาครองเสียงข้างมาก

แน่นอนว่า นักธุรกิจวัย 70 ปีผู้นี้ เคยล้มเหลวมาก่อน ตั้งแต่ทำกาสิโนล้มละลายไปจนถึงโรงแรมที่ต้องปิดกิจการไป

แต่การวางท่าใหญ่โตของเขา มากพอที่ทำให้จนถึงตอนนี้ แบรนด์ของเขายังคงอยู่ดี ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด และพาทรัมป์มาจนถึงทำเนียบขาวในที่สุด

แต่ตอนนี้ ทรัมป์อยู่ภายใต้แสงสปอตไลต์ที่สว่างจ้าที่สุดในโลก นั่นคือในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่มีที่ไหนให้หลบซ่อนตัวได้

ทรัมป์กล่าวถึงเรื่องนี้ที่โต๊ะในห้องทำงานรูปไข่ ที่ดูเหมือนว่าจะเหมาะสมอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นที่เดียวกันกับที่อดีตประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน นำป้ายสัญลักษณ์ที่เป็นข้อสรุปของความกดดันและความรับผิดชอบในฐานะประธานาธิบดีของชาติมหาอำนาจมาวางไว้ “ความผิดทุกอย่างถูกโยนมาที่นี่”

ดูเหมือนทรัมป์ยังไม่พร้อมที่จะแบกรับความผิดมากมายขนาดนั้น แม้เขาจะยอมรับสารภาพว่า “ประหลาดใจนิดหน่อย” กับความล้มเหลวของแผนการดังกล่าว “เราเข้าใกล้มากทีเดียว” เขาบอก

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

แต่น่าประหลาดใจที่ทรัมป์ตำหนิพันธมิตรของตนเองน้อยมากอย่างน่าประหลาดใจ แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นอาจตามมาหลังจากนี้ในช่วงที่ฝุ่นควันซึ่งยังตลบอบอวลอยู่จางไปแล้ว

แต่เขากลับตำหนิฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคเดโมแครตตามสูตรสำเร็จ ทั้งที่อันที่จริงแล้ว คงไม่มีสมาชิกพรรคเดโมแครตคนไหนลงมติผ่านร่างกฎหมายที่จะเป็นการฉีกรัฐบัญญัติประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่รู้จักกันในชื่อ “โอบามาแคร์” อันเป็นผลงานชิ้นโบแดงของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ทิ้งไป

ข้อเท็จจริงที่สำคัญกว่านั้นคือ พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อีกทั้งยังควบคุมอำนาจบริหารในทำเนียบขาว พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจากพรรคเดโมแครตเลยแม้แต่น้อย

“ดูเหมือนว่าทรัมป์ไม่สามารถผลักดันหรือบรรลุข้อตกลงได้ทุกอย่างที่เขาต้องการ” จูเลียน เซลิเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และกิจการสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เขียนไว้บนเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น

และว่า “ในกรณีนี้ เขาเป็นผู้แพ้”

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

นั่นทำให้ทรัมป์ที่หลังจากดำรงตำแหน่งมาเพียงแค่ 2 เดือน ต้องเผชิญกับคำถามที่อาจเป็นตัวกำหนดและชี้ทิศทางทั้งหมดในช่วงเวลาที่เหลือของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า การใช้สไตล์มวยวัดที่โผงผาง หยาบกร้าน ซึ่งนำพาเขามาจนถึงจุดสูงสุดของแวดวงการเมืองโลก จะสามารถพาเขาเดินหน้าต่อไปจากนี้ได้จนสุดทางหรือไม่

การทวีตข้อความที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือของเขาเป็นเรื่องน่ากังขา

ที่ร้ายแรงที่สุดคือการกล่าวหาโอบามาว่าดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ของเขา โดยที่ไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ใดๆ

วิธีการของเขาในการกำหนดนโยบายทั้งหมดขึ้นอยู่กับความรวดเร็วโดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือน้อยมาก แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดจากการที่คำสั่งผู้บริหารของเขาในการควบคุมผู้อพยพด้วยการห้ามประชากรจากชาติมุสลิมบางแห่งเข้าประเทศ ถูกศาลตีตกถึง 2 ครั้ง

เพียงแค่ 1 สัปดาห์หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ออกคำสั่งผู้บริหารห้ามพลเมืองของ 7 ชาติมุสลิมและผู้อพยพทั้งหมดเข้าประเทศ โดยเปิดเผยแบบไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ส่งผลให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการเดินทางเป็นวงกว้าง และจุดชนวนให้เกิดความโกรธเคืองไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในความล้มเหลวที่น่าอับอาย ศาลรัฐบาลกลางในรัฐวอชิงตันพิพากษาระงับคำสั่งผู้บริหารดังกล่าวโดยระบุว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐที่ห้ามมีการเลือกปฏิบัติในเรื่องศาสนา

หลังคำสั่งดังกล่าวถูกระงับในศาลอุทธรณ์ ฝ่ายบริหารของทรัมป์ออกคำสั่งผู้บริหารฉบับใหม่ที่ระบุว่าสอดคล้องกับกฎหมายมากกว่าเดิม โดยจะห้ามพลเมืองของอิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย และเยเมน เดินทางเข้าสหรัฐเป็นเวลา 90 วัน และผู้อพยพทั้งหมดห้ามเข้าอย่างน้อย 120 วัน โดยประเทศที่ถูกนำออกไปจากคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับเดิมคืออิรัก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ศาลในรัฐแมรีแลนด์และฮาวาย พิพากษาว่าคำสั่งห้ามฉบับที่ 2 นี้ยังคงถือว่าเลือกปฏิบัติต่อมุสลิมอยู่เช่นเดิม

AFP PHOTO / TIMOTHY A. CLARY

อีกเรื่องที่เรียกได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้ของทรัมป์คือรัสเซีย โดยนับจากที่หน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่กล่าวหารัสเซียว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อช่วยทรัมป์ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทีมงานหาเสียงของทรัมป์ติดต่อหรือรู้เห็นเป็นใจกับรัสเซียในเรื่องนี้หรือไม่

เมฆหมอกลอยทาบทับทำเนียบขาวเมื่อเดือนที่แล้วเมื่อ ไมเคิล ฟลินน์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ลาออก หลังพบว่าเขาเคยพบปะหารือกับ เซร์เก คิสเลียค ทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตันมาก่อนที่จะรับตำแหน่ง

เจฟฟ์ เซสชันส์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐต้องถอนตัวจากการเข้าร่วมในการสอบสวนกรณีความเชื่อมโยงกับรัสเซียทั้งหมดหลังจากที่มีการเปิดเผยว่า เขาเคยพบกับคิสเลียคก่อนรับตำแหน่งเช่นกัน

ในการซ้ำเติมทรัมป์อีกเรื่องคือ เจมส์ โคมี ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) สรุปในการให้ข้อมูลกับกรรมาธิการข่าวกรองของสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโอบามาดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ของทรัมป์

เซลิเซอร์ระบุว่า “ถึงตอนนี้ หลังความล้มเหลวของการผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพ เป็นทรัมป์ที่อยู่ในจุดไม่มั่นคง”

“แต่เขาคงไม่สามารถตำหนิใครได้เลยนอกจากตนเอง”