Momentos/Monuments & reMinders การถูกลบเลือนและสร้างขึ้นใหม่ของความทรงจำในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ผลงานของอาจิณโจนาธานอาจิณกิจ

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในช่วงก่อนที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะอยู่ในขั้นวิกฤตจนหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่สถาบันศิลปะอย่างหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ต้องปิดทำการลงชั่วคราว

มีนิทรรศการศิลปะหนึ่งที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการเมืองไทยได้อย่างน่าสนใจถูกจัดขึ้นมา

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า Momentos/Monuments & reMinders

โดยผลงานของวนะเป็นการตีความอนุสาวรีย์แห่งชาติและวีรบุรุษที่ประกอบด้วยผลงานของศิลปิน 3 คน จากสองยุคสมัย ทั้งศิลปินรุ่นปัจจุบันอย่าง วนะ วรรลยางกูร, อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ และศิลปินในอดีตผู้ล่วงลับอย่าง ล้วน เขจรศาสตร์จากประวัติศาสตร์ พร้อมด้วยจินตนาการของเขาที่มีต่อประวัติศาสตร์ของชาติสมัยใหม่

ผลงานของล้วนเขจรศาสตร์

ส่วนผลงานของอาจิณโจนาธานเป็นชุดตัวต่อจิ๊กซอว์ของการเมืองไทยที่ชวนให้ผู้ชมขบคิดและเตือนความทรงจำที่ถูกทำให้ลืมเลือน

และท้ายสุด ผลงานของล้วนที่ถูกเขียนขึ้นในเขตสงครามประชาชนระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงที่สงครามคุกรุ่น

สะท้อนห้วงอารมณ์ระหว่างภารกิจการสู้รบกับชีวิตส่วนตัวของนักปฏิวัติได้อย่างน่าสนใจ

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ นักวิชาการด้านการเมืองและภัณฑารักษ์ผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะไทยและสากล แห่งพื้นที่แสดงงานศิลปะใหม่ถอดด้ามอย่าง แผนสำเร็จ Gallery ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวถึงที่มาของนิทรรศการว่า

“ผมสนใจงานของวนะและอาจิณโจนาธานมานานแล้ว ผมเห็นวนะโพสต์ภาพผลงานของเขาทางเฟซบุ๊กมาระยะหนึ่ง แล้วรู้สึกว่างานมีพลังมาก ก็เกริ่นกับเขาว่าอยากจะเห็นงานเขาแสดงเป็นนิทรรศการ พอดีกับที่อาจิณโจนาธานทำงานชุดใหม่ที่น่าจับตาออกมา ก็เลยชวนศิลปินสองคนนี้มาแสดงนิทรรศการร่วมกัน ประจวบกับจังหวะที่ทางคุณพ่อของวนะ คือคุณวัฒน์ วรรลยางกูร ที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศ โพสต์รูปสมบัติส่วนตัวของเขาทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นภาพวาดที่คุณล้วน เขจรศาสตร์ เขียนให้ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สงครามเย็นของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีกองกำลังของประชาชนที่เรียกว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ที่สู้รบกับรัฐบาล ภาพวาดชุดนี้ของคุณล้วนถูกเขียนที่ภูพาน สมรภูมิการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างรัฐไทยกับกองกำลังส่วนหนึ่งของประชาชนในช่วงเวลานั้น ซึ่งน่าแปลกใจว่าในช่วงการสู้รบ เขากลับมีอารมณ์สุนทรีย์วาดภาพทิวทัศน์แบบนี้ขึ้นมาได้”

ผลงานของล้วนเขจรศาสตร์

ชื่อนิทรรศการส่วนแรกอย่าง Momentos/Monuments มาจากผลงานของวนะ ที่พูดถึงเรื่องของวีรบุรุษและบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ในแง่มุมของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ส่วนชื่องานส่วนหลังอย่าง reMinders นั้นมาจากผลงานของอาจิณโจนาธาน ที่เป็นการเตือนความทรงจำถึงสิ่งที่หายไปในประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าสนใจว่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่ซ้ำเดิม พล็อตเดิมๆ เปลี่ยนแค่ตัวละคร อย่างภาพที่มีคนมาแถลงข่าวและมีธงชาติประดับ เราดูแล้วรู้ทันทีว่านั่นคือฉากของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงเวลา 80-90 กว่าปีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“ผมสนใจว่าถ้าเอางานของศิลปินสามคนจากสองรุ่น สองช่วงเวลา มาแสดงเคียงกัน จะทำให้เกิดเรื่องเล่าและความหมายอะไรใหม่ๆ และอาจจะกระตุ้นให้เราตั้งคำถามว่า ถึงแม้เวลาจะผ่านมา 40 กว่าปีแล้ว แต่สังคมไทยยังอยู่ภายใต้บทสนทนาและความขัดแย้งแบบเดิมๆ อยู่ใช่ไหม? นั่นเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ Momentos/Monuments & reMinders ซึ่งก็คือ ช่วงเวลาขณะหนึ่งของประวัติศาสตร์ กับอนุสรณ์ และการเตือนความจำ”

วนะ วรรลยางกูร จิตรกรภาพเหมือนจริงผู้มีฝีไม้ลายมือจัดจ้านและมีแนวคิดทางการเมืองอันเข้มข้น กล่าวถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานชุดนี้ของเขาให้เราฟังว่า

“งานของผมในชุด Monuments มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการทำงานเชิงอุดมการณ์ในแง่ของการ Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) โดยจะใช้อนุสาวรีย์ของบุคคลในประวัติศาสตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศอย่าง ซิมอน โบลิบาร์ (Sim?n Bol?var) (วีรบุรุษผู้กอบกู้อิสรภาพแห่งอเมริกาใต้จนชื่อของเขาถูกนำมาตั้งเป็นชื่อประเทศโบลิเวีย), นโปเลียน, เดวิด (เด็กเลี้ยงแกะผู้ล้มยักษ์โกไลแอตและกลายเป็นกษัตริย์ของชาวยิว), สมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นต้น”

ผลงานของวนะวรรลยางกูร

“งานในชุดนี้ผมพยายามเล่าแง่มุมอีกด้านหนึ่งที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก อย่างเช่น ภาพของอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ผมก็วาดให้ม้าฉีกออกเป็นสองตัว เป็นการแสดงนัยยะถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นจากหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ หรืองานวิจัยทางวิชาการต่างๆ ผมพยายามสื่อว่า นอกจากข้อเท็จจริงจากทางภาครัฐแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงชุดอื่นๆ ที่คู่ขนานกัน ซึ่งมีเหตุผลหนักแน่นพอที่จะรับฟังอยู่ด้วยเหมือนกัน”

ผลงานของวนะวรรลยางกูร

“อย่างภาพอนุสาวรีย์ของนโปเลียน จักรพรรดิฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีทั้งนโปเลียนที่ 1, 2, 3 นั่งซ้อนกันอยู่บนม้าตัวเดียว ผมต้องการสะท้อนว่า รูปแบบการปกครองที่พยายามสืบทอดอำนาจทางสายเลือดหรือความสนิทชิดเชื้อนั้นเป็นลักษณะของการเมืองการปกครองแบบโบราณและล้าสมัย ซึ่งสุดท้ายจะไปไม่ได้ไกล จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของม้าและคนในรูปจะดูพิกลพิการไปหมด”

“นอกจากเรื่องอนุสาวรีย์ ยังมีงานชิ้นที่เกี่ยวข้องกับตัวผมโดยตรง และเป็นเรื่องการเมือง 100% คือเรื่องของพ่อของผม ที่ตกอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ผมก็ถือโอกาสนี้พูดถึงเรื่องของพ่อไปด้วย”

อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ ศิลปินผู้ปกติเราคุ้นเคยกับผลงานในแนวนามธรรมของเขา กล่าวถึงการหันเหมาสร้างสรรค์ผลงานกึ่งเสมือนจริงเชิงเสียดสีวิพากษ์การเมืองในครั้งนี้ว่า

“งานของผมในชุด reMinder มีแนวคิดหลักคือการสร้างงานที่ทำให้คนนึกถึงเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยใช้วิธีการง่ายๆ คือการเลือกรูปในกูเกิ้ลที่ผมคิดว่าทุกคนเคยเห็นผ่านตากันมาแล้ว”

“ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเราเสิร์ชหาคำว่า “รัฐประหาร 2549″ ก็จะมีรูปโผล่ขึ้นมาไม่กี่รูปที่เป็นภาพจำที่ทุกคนเคยเห็นกันบ่อยๆ ผมก็ใช้รูปเหล่านี้มาสร้างเป็นงานจิตรกรรม โดยงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน”

“ส่วนแรกเป็นภาพอนุสาวรีย์ 3 ชิ้น คืออนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”

“ผมมองว่าการที่อนุสาวรีย์ของใครจะถูกสร้างขึ้นมาได้นั้น เป็นเพราะรัฐเห็นว่าคนเหล่านั้นเป็นวีรบุรุษหรือทำคุณงามความดีให้กับประเทศนี้”

ผลงานของอาจิณโจนาธานอาจิณกิจ

“แต่พออุดมการณ์ของรัฐเปลี่ยนไป คนที่เคยเป็นวีรบุรุษก็อาจจะไม่ใช่วีรบุรุษอีกต่อไป อนุสาวรีย์หรือนุสรณ์สถานที่สร้างเพื่อรำลึกถึงคนเหล่านั้นก็อาจจะถูกทำลายลง อย่างเช่นอนุสาวรีย์ของจอมพล ป. หรืออนุสรณ์สถานของคณะราษฎร เป็นต้น”

“เพราะฉะนั้น ภาพอนุสาวรีย์ของจอมพล ป. ผมก็เขียนให้ไม่เต็มตัวส่วนหัวขาดหายไป”

“แสดงนัยยะถึงการถูกลบเลือนจากการที่วีรกรรมของคนเหล่านี้ไม่ตรงกับอุดมการณ์รัฐอีกต่อไป สิ่งที่คนเหล่านี้เคยสร้างมาก็ต้องถูกทำลายไปจนหมด”

ผลงานของอาจิณโจนาธานอาจิณกิจ

“งานส่วนที่สองก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐประหารปี 49 จำนวน 3 ชิ้น ภาพรถถัง 2 ชิ้น กับภาพรูปคณะรัฐประหาร”

“ภาพรถถังผมพยายามใช้สีแทนภาพจำที่คนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ส่วนภาพคณะรัฐประหารชุดปี 2549 ผมเชื่อว่าการที่รัฐประหารที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น ความสำคัญไม่ได้เกี่ยวกับการที่ใครเป็นคนทำ แต่เกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ (ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพ) ที่เอื้อให้การรัฐประหารสำเร็จได้มากกว่า”

“ผมเลยเขียนหน้าตัวละครให้ดูเป็นเหมือนซอมบี้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนผีที่วนเวียนมาหลอกหลอนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่รู้จบ”

“สําหรับผม ผลงานของศิลปินสองรุ่นในนิทรรศการนี้ เป็นเหมือนตัวแทนของความทรงจำทางสังคมเราจากอดีตสู่ปัจจุบัน ที่อาจจะไม่ได้ก้าวไปไหนไกลเท่าไรนัก ในแง่ของการคลี่คลายความขัดแย้งทางความคิด” บัณฑิต ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการกล่าวทิ้งท้าย

ผลงานในนิทรรศการนี้ย้ำเตือนกับเราว่า นอกจากเราดูศิลปะเพื่อความสวยงามแล้ว บางครั้งศิลปะยังสามารถกระตุ้นให้เราคิดถึงประเด็นอื่นๆ แม้แต่เรื่องสังคมการเมืองได้ด้วยเหมือนกัน!

นิทรรศการ Momentos/Monuments & reMinders จัดแสดงที่ แผนสำเร็จ Gallery ถึงแม้นิทรรศการจะต้องปิดการแสดงชั่วคราว จากคำสั่งของกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19

แต่หากใครสนใจจะชมงาน ก็สามารถติดตามผลงานและข่าวสารของนิทรรศการทางออนไลน์กันได้ที่เพจ facebook @แผนสำเร็จ Plan Samret กันได้ตามสะดวก