จรัญ มะลูลีม : ตับลีฆ ญะมาอัต

จรัญ มะลูลีม

ดะอ์วะฮ์ (3)

สําหรับเมาลานา อิลยาส ผู้ให้กำเนิดขบวนการดะอ์วะฮ์หรือการเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่เรียกว่าตับลีฆ ญะมาอัต แล้ว ตับลีฆ ญะมาอัต ก็คือโรงเรียนศาสนาเคลื่อนที่หรือคอนเกาะฮ์ (a moving madrasa or khanqa) นั่นเองเป็นที่พำนัก และเหนืออื่นใดเป็นที่ให้การศึกษาแก่ครูบาอาจารย์ในเวลาเดียวกันด้วย

ในสมัยที่อินเดียยังคงตกอยู่ใต้การเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรนั้น เมาลานา อิลยาส มองว่าสหราชอาณาจักรก็คือศัตรูของอิสลามนั่นเอง

เขาจึงไม่เห็นด้วยกับกิจการใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักรในอินเดีย รวมทั้งภาษาต่างๆ ที่นำมาโดยนักบูรพคดีที่ใช้สอนในมหาวิทยาลัยอินเดีย

เมื่อผู้นำขบวนการจากไป ผู้นำคนต่อมาก็คือยูสุฟ (Yusuf) และหลังการจากไปของยูสุฟ ลูกพี่ลูกน้องของเขาคือ อินามุล หะซัน (Inam-al Hasan) ก็เข้าแทนที่ในฐานะผู้นำของขบวนการ

อินามุล หะซัน ได้เริ่มให้มีการพบปะกัน (Ijtima) ของขบวนการทุกปีในอินเดีย ปากีสถานและบังกลาเทศ

สุลัยมาน ดีน (Sulaiman Din) ในบทความของเขาเรื่อง “U.S. Tabliquis Fear Crackdown, ใน New York Times กล่าวว่า การพบปะประจำปีที่ปากีสถานสามารถนำเอาผู้คนมารวมกันได้มากที่สุดรองจากการไปรวมตัวของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ในนครมักกะฮ์

หลังการจากไปของอินามุล หะซัน บุตรชายทั้งสองคนของเขาคือ อิซฮัร อัล หะซัน และซุบัยร์ อัล หะซัน พร้อมกับหลานปู่ของยูสุฟได้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการเผยแผ่ตับลีฆ ญะมาอัต

 

หากพิจารณาเส้นทางแห่งการสืบทอดของบรรดาผู้นำของขบวนการดะอ์วะฮ์ที่ชื่อว่าตับลีฆ ญะมาอัต ก็จะพบว่าขบวนการนี้เป็นกลุ่มก้อนของผู้ที่มาจากตระกูลคันดัล หรือคันดัลวี (Kandhalwi) เป็นด้านหลัก

ผู้นำในการเผยแผ่ขบวนการนี้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมืองหรือข้อขัดแย้งทางเทววิทยา โดยจะผลิตเฉพาะงานของการเผยแผ่ที่เป็นการทำตามศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) และบรรดาสาวกที่ใกล้ชิดของท่านเท่านั้น

ขบวนการฟื้นฟูอิสลามอย่างตับลีฆ ญะมาอัต แทบจะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจของมวลชนมุสลิมใดๆ เลย

แต่ขบวนการนี้จะเข้าไปข้องเกี่ยวอยู่กับชนชั้นล่างและชาวมุสลิมทั่วๆ ไปเพื่อสถาปนา “อาณาจักรแห่งพระเจ้า” ที่มีผลต่อแรงบันดาลใจของพวกเขา

สำหรับความรู้สึกของขบวนการตับลีฆ ญะมาอัตแล้ว มิใช่กำลังอันยอดเยี่ยมทางการทหาร แต่การเผยแผ่ของบรรดามุสลิมต่างหากที่ทำให้ชาวมุสลิมขยายตัวจากแคว้นซินด์ (ปากีสถาน) ไปยังสเปนได้ภายในเวลา 60 ปี หลังการจากไปของศาสดามุฮัมมัด

อย่างไรก็ตาม ตับลีฆ ญะมาอัต ได้ชื่อว่าเป็นองค์การหรือขบวนการทางศาสนาที่เป็นศูนย์กลางสำหรับผู้อพยพชาวมุสลิมในประเทศต่างๆ ของตะวันตกด้วยเช่นกัน

 

ตับลีฆี นิซอบ (Tabliqui Nisab) เป็นหนังสือ 6 เล่ม ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องราวที่เป็นรายงานสืบต่อกันมาในชีวิตของศาสดามุฮัมมัดที่เขียนขึ้นโดยเมาลานา มุฮัมมัด ซะการิยา (Maulana Muhammad Zakariya) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเมาลานา อิลยาส เป็นหนังสือที่ใช้เป็นวัตถุของการเผยแผ่โดยบรรดาผู้นำของตับลีฆ ญะมาอัต

ขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต รู้จักกันโดยทั่วไปว่าไม่ฝักใฝ่การเมืองและเป็นขบวนการทางศาสนา (apolitical and purely religious movement) โดยจุดมุ่งหมายสำคัญจะมุ่งสู่การกลับไปสู่ศักราชของศาสดามุฮัมมัดและเพื่อความเป็นภราดรภาพของชาวมุสลิม (Muslim brotherhood)

กระนั้นความเอื้อเฟื้อที่ขบวนการนี้ได้รับจากสถาบันอิสลามทั้งหลายก็มักจะดำเนินการภายใต้การเมืองอิสลาม (Political Islam)

จึงทำให้ขบวนการถูกมองว่ามีพื้นฐานทางการเมืองรองรับอยู่

 

ในระหว่างปิดภาคเรียนนักศึกษาจากสถาบันศาสนาที่มีชื่อเสียงอย่างเดียวบัน (Deoband) และนัดวา (Nadwa) ก็จะเข้าร่วมกับขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต อยู่เสมอ

หลายๆ มัสญิดและโรงเรียนสอนศาสนา (madrasas) ที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของอินเดียจะให้ความเคารพต่อขบวนการเผยแผ่นี้เป็นอย่างมาก

โดยสถาบันที่กล่าวมาข้างต้นมิได้แยกการเมืองออกจากศาสนา นอกจากนี้ ขบวนการฆราวาสนิยมทั้งหลายก็สนับสนุนขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต ซึ่งรู้จักกันว่าเป็นขบวนการที่มิได้ข้องเกี่ยวกับการเมือง และมิได้นำเอาการเมืองมาอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนของขบวนการแต่อย่างใด

จากการยึดโยงอยู่กับสถาบันทางศาสนาทั้งหลาย ในภาคปฏิบัติ ขบวนการจึงเป็นหัวหอกในการต่อสู้เพื่อให้มีการแยกกันระหว่างหญิงชาย ไม่เข้าร่วมอยู่ในโรงหนังและดนตรีประโลมโลกย์

 

อบุล หะซัน อะลี นัดวี นักวิชาการด้านอิสลามศึกษาคนสำคัญของอินเดีย ซึ่งอยู่ในสมัยเดียวกันกับเมาลานา อิลยาส ในขณะที่นำเสนอความคิดเห็นแก่ขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต ในปี 1944 กล่าวว่า “หากนักการศาสนา (Ulama) ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์กับประชาคมเข้มแข็งขึ้นด้วยการเข้าร่วมกับภารกิจของอิลยาสแล้ว พวกเขาก็จะกลายเป็นจัณฑาลที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีใครเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาโดยทั่วไปกลายเป็นคนแปลกหน้า ที่แม้กระทั่งภาษาและความคิดต่างๆ ของพวกเขาก็ไม่เป็นที่คุ้นเคยของสาธารณชน”

เอกสาร 9 เล่มเล็กๆ ถูกเขียนขึ้นในระหว่างปี 1928-1964 โดยซะกะรียา คันดัลวี (1898-1982) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของอิลยาส ซึ่งเคยสอนวิชาหะดีษ (จริยวัตร) ของศาสดามุฮัมมัดที่เดียวบันแห่งเมืองสะฮารานปุรและถือเป็นงานพื้นฐานของขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต

ตำราทั้งหมดเหล่านี้อยู่ภายใต้วิธีการสอนตามรูปแบบของอิสลาม (Teaching of Islam) หรือตับลีฆ นิซอบ ครูของญะมา มีเลีย (Jamia Milia) ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยของอินเดีย ที่มีชื่อเสียงแห่งกรุงนิวเดลีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร.ซากิร ฮุสเซน (Dr.Zakir Hussain) อดีตประธานาธิบดีของอินเดียก็เคยเข้าร่วมการละหมาดที่จัดโดยเมาลานา อิลยาส มาก่อน

ในความเป็นจริงผู้นำที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลสำคัญของอินเดียอย่างเมาลานา อบุล กะลาม อะซาด (Maulana Abul Kalam Azad) อิฟติฆ็อร ฟาริดี (Iftikar Faridi) และพี่น้องอะลี (Ali brothers) ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับเมาลานา อิลยาส ก็มีความใกล้ชิดกับขบวนการเช่นกัน

เนื่องจากความใกล้ชิดของเมาลานา อิลยาส กับบุคคลสำคัญของมุสลิมและสถาบันอิสลามทั้งหลายอย่างเดียวบันและนัดวา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นผู้ให้ข้อแนะนำทางศาสนาและการเมืองแก่ชาวมุสลิมอินเดีย

ดังนั้น จึงมักมีข้อสรุปว่าแท้ที่จริงแล้ว ขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง แม้ว่าจนถึงปัจจุบันจะยังมองไม่เห็นข้อสรุปดังกล่าวในภาคปฏิบัติก็ตาม

 

แม้ว่าขบวนตับลีฆ ญะมาอัต จะยังมิได้แสดงการขับเคลื่อนทางการเมืองใดๆ ให้เห็นก็ตาม แต่อิทธิพลที่มีต่อจิตใจของชาวมุสลิมก็ได้รับการเชิดชูว่าเป็นความสำเร็จของขบวนการที่มีอิทธิพลกับชาวมุสลิมของอินเดียจำนวนหนึ่งเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้จึงมีการวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา อย่างเช่นคำพูดที่ว่า วันหนึ่งเป้าหมายทางการเมืองอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต ก็จะปรากฏออกมา

Encyclopedia of Islam vol. X ถึงกับกล่าวว่า “จุดมุ่งหมายทั้งหมดของขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต ก็คือการดึงดูดคนให้ได้จำนวนมากที่สุดให้เข้ามาสู่ความคิดในการก่อกำเนิดเทวรัฐ (Theocratic State) ที่วางอยู่ภายใต้หลักการแห่งศาสนรัฐที่มีศาสนาอิสลามเป็นพลังขับเคลื่อน”

นอกจากนี้ ผู้นำของขบวนการจะหลีกเลี่ยงการได้อภิปรายและการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อต่างๆ หรือกล่าวถึงแหล่งการเงินของพวกเขา

เมื่อกลุ่มก้อนของผู้นำขบวนการถูกถามโดยชาวอเมริกันมุสลิมที่ Chicago ในปี 1967 ว่าถ้าเขาจะอนุญาตภรรยาของเขาให้แต่งกายด้วยชุดของชาวตะวันตกที่ยาวมาปิดหัวเข่าและออกไปว่ายน้ำด้วยเสื้อผ้าที่มิดชิดได้หรือไม่ บรรดาผู้นำของขบวนการก็จะตอบว่ามันไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายของพวกเขาที่จะเข้าสู่การถกเถียงใดๆ ขอให้เป็นสติสำนึกของแต่ละคนก็แล้วกัน

ปัจจุบันขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต มีสาขาอยู่ใน 80 ประเทศทั่วโลก

แต่เนื่องจากขบวนการมิได้มีโครงสร้างที่เห็นเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้ขอบเขตของขบวนการส่วนใหญ่จะไม่เป็นที่รู้จักของชุมชนที่มิได้นับถือศาสนาอิสลามแต่อย่างใด