วิรัตน์ แสงทองคำ : ความคิด “ผู้ร่ำรวย”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ที่ผ่านมา เท่าที่ได้อ่านจดหมาย “ผู้ร่ำรวยไทย” มีบ้าง ควรค่าแก่การตรึกตรอง

ห้วงเวลาผู้คนในสังคมกำลังให้ความสนใจ “มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน” ในฐานะเป็นผู้ “มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ” (Keyword บางตอนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อ 17 เมษายน 2563) และเป็น “ผู้อาวุโสของสังคม” (Keyword ซึ่งอ้างมาจากจดหมายนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 20 เมษายน 2563)

ประเด็นสำคัญเบื้องแรก เชื่อว่าใคร่จะรู้กันว่า “มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย” เป็นใครกันบ้าง

แม้ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ เพียงอ้างอิงอาศัยจากผู้ส่งจดหมายตอบซึ่งมีแล้วจำนวนหนึ่ง พอจะเชื่อได้ พอจะเห็นภาพบางอย่าง

บทสรุปเป็นไปตามคาดกันไว้ ว่ารายชื่อที่ว่านั้นมาจาก Forbes Thailand”s 50 Richest โดย Forbes Magazine (ดังข้อมูลคร่าวๆ ที่เคยเสนอในตอนก่อน “เศรษฐี 20 คน” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24-30 เมษายน 2563) ดูไปแล้วเป็นไปอย่างง่ายๆ

สะท้อนให้บางแง่มุมควรตั้งข้อสังเกตไว้

 

ประการแรก-ผู้นำ ผู้บริหารประเทศ กับระบบข้อมูลรัฐ ซึ่งมีความหมายเชิงยุทธศาสตร์ ถือเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญมากขึ้นๆ ในยุคสมัย กรณีอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ อย่างที่ว่าไว้ข้างต้น อาจสะท้อนปัญหาหลายอย่างที่มีอยู่

อีกประการหนึ่ง ไม่เพียงระบบข้อมูล หากสะท้อนความคิดรวบยอด ว่าด้วยสัมพันธ์เชิงโครงสร้างทางสังคม กรณี “มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย” ควรเป็นภาพใหญ่ ต่อเนื่องจากปัจเจก เชื่อมโยงสู่บทบาททางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ประเด็นที่สำคัญกว่า บุคคลเหล่านั้นจะทำอะไร อย่างไรต่อไป ตามโจทย์ที่ให้มา ดูง่ายไปสักหน่อย “ทำเอกสาร นำเสนอสิ่งที่ท่านพร้อมจะทำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทย” (สาระในจดหมายนายกรัฐมนตรี)

เท่าที่ได้ติดตามจากข่าวสาร (คัด ตัดตอน และสรุปอย่างคร่าวๆ) จากการอ่านทั้งฉบับของบางคน ซึ่งยังไม่ครบทุกคน (ณ วันที่ 4 พฤษภาคม) บางบุคคลซึ่งตั้งใจรออ่านเป็นพิเศษยังมาไม่ถึง ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้ตอบจดหมาย โดยเฉพาะจากตระกูล สิริวัฒนภักดี และ จิราธิวัฒน์

มีความเป็นไปเป็นกระแส สอดคล้องกับความคิดชุดหนึ่งซึ่งผู้ร่ำรวยซึ่งอ้างอิงข้อมูล Forbes Thailand”s 50 Richest วัดจากมูลค่าทรัพย์สินเป็นตัวเลขดูแล้วตื่นตาตื่นใจ ช่างสอดคล้องกับข้อมูลซึ่งนำเสนอในจดหมายตอบจากบรรดาผู้ร่ำรวยนั้น ทั้งนี้ มักให้ความสำคัญ มักจะวัดกันที่ตัวเลขทางการเงิน และมักจะตามมาด้วยคำว่า “บริจาค”

ว่าไปแล้วเป็นชุดความคิดดูง่ายๆ สอดคล้องกับทั้งกระบวนการ ตั้งแต่จุดเริ่มจากจดหมายเปิดผนึกที่ว่านั้นเลย

ที่น่าสนใจ ใคร่จะเห็นบทวิเคราะห์ของบรรดาผู้ร่ำรวย ว่าด้วยธุรกิจของตนเองท่ามกลางวิกฤตการณ์ จากปัญหาเฉพาะส่วนเชื่อมโยงภาพรวม ตามด้วยยุทธศาสตร์และแผนการในการกอบกู้กิจการตนเอง ซึ่งพยายามขยายจินตนาการกว้างออกไปยังผลพวงต่อสังคม ด้วยแบบแผนมุมมองซึ่งความเข้าใจความหมาย “Stakeholder” อย่างแท้จริงและจริงจัง ทว่าดูจะไม่เป็นเช่นนั้น

อาจเป็นเพราะโจทย์ไม่ได้ตั้งไว้

 

ดูไปแล้วที่น่าสนใจเป็นพิเศษ จดหมายซึ่งสะท้อนมุมมองในเชิงโครงสร้างในระดับใดระดับหนึ่ง คงจะเป็นจดหมายตอบรับฉบับหนึ่งซึ่งคาดไว้แล้ว นั่นคือจดหมายจากธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี เมื่อพิจารณาทั้งในแง่สาระที่มีอย่างกว้างขวาง และความตั้งใจนำเสนออย่างจริงจังเป็นพิเศษ

นับว่าเป็นอีกครั้ง ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้นำเสนอความคิดที่น่าสนใจ สะท้อนบทบาทในภาพใหญ่ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างซีพีกับสังคมไทย จากบทวิเคราะห์ทางธุรกิจซึ่งมีที่มาจากวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ งานวิจัย และความชำนาญ ในฐานธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งมีพลังขับเคลื่อนความเป็นไประดับโครงสร้างสังคม อย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบศตวรรษ

ไม่ว่าสังคมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร ไม่ว่าซีพีขยายอาณาจักรธุรกิจไปอย่างกว้างขวางเพียงใด ไม่เพียงซีพีไม่เคยทิ้งรากเหง้าธุรกิจดั้งเดิม หากขยายจินตนาการกว้างออกไป ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญมากขึ้นจากวิกฤตการณ์ COVID-19 ในฐานะเป็น “ชิ้นส่วน” สำคัญ ในโครงสร้างความมั่นคงพื้นฐานของสังคม

ในฐานะผู้ติดตามคนหนึ่งได้มองเห็นภาพเชื่อมโยงนั้น มาจากแนวคิดเป็นระบบของธนินท์ เจียรวนนท์ มีบางกรณีขอยกขึ้นเทียบเคียง ให้เป็นภาพที่มีความเคลื่อนไหว

ครั้งหนึ่งเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว (4 มกราคม 2561) “ผมกำลังศึกษาโมเดลธุรกิจที่จะสร้างเมืองขนาดใหญ่ ประชากร 3-4 แสนคนมาอยู่รวมกัน โดยคนที่อยู่ในเมืองนี้สามารถทำธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งปลูกพืชเกษตร ทำปศุสัตว์ …โมเดลใหม่จะเป็นเมืองขนาดใหญ่ …ไม่ต้องมาปลูกเอง ผมรับจ้างปลูกให้โดยการันตีว่า ถ้าผลผลิตเสียหาย ผมรับผิดชอบ และให้รัฐบาลการันตีว่า ที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของคุณ” ธนินท์ เจียรวนนท์ (ในฐานะประธานมอบที่ดินให้ข้าราชการตำรวจที่เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี) นำเสนอไอเดียใหม่ที่น่าสนใจ ในความพยายามขับเคลื่อนเกษตรกรรมพื้นฐานของไทย

อีกครั้งซึ่งห่างกันไม่กี่เดือน (ข่าวสารปรากฏในวันที่ 27 สิงหาคม 2561) ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวกับสื่อไทย ระหว่างการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน มีบางตอนที่สำคัญสอดคล้อง ลงรายละเอียดมากขึ้น และเจาะจงเรื่องข้าว ด้วยประเด็นสำคัญๆ

—ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวมากเกินไป ควรลดพื้นที่ลง หันไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ให้มากขึ้น ให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่

—ซีพีพร้อมจะเช่าที่ทำนาแทน โดยให้ผลตอบแทนมากกว่าเดิม ตามโมเดลใหม่ ซีพีจะไม่ดำเนินการเอง หากจะหาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม

—ซีพีให้ความสำคัญการทำนาไม่ใช้สารปราบศัตรูพืช เป็นไปตามแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค โดยซีพีกำลังดำเนินการวิจัยและทดลองแนวทางระบบเกษตรกรรมแปลงใหญ่ ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรทันสมัย และที่สำคัญระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ

 

ครั้งล่าสุด เมื่อธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ได้ทำจดหมายตอบนายกรัฐมนตรี (วันที่ 1 พฤษภาคม 2563) ได้ปรากฏสาระบางตอนสะท้อนแนวคิดที่ซึ่งต่อเนื่องและตกผลึกมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าเป็นการตอบโจทย์ได้กว้างกว่า

โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่นำเสนอว่าด้วย “เศรษฐกิจใหม่ หรือ Economic Reform” มีบางตอนกล่าวถึงเมืองอัจฉริยะ (Smart City) “ดึงดูดบุคลากร ผู้มีความรู้ และนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก การออกแบบเมืองที่มีความปลอดภัย ปลอดเชื้อ การป้องกันด้านสาธารณสุข (Preventive Healthcare) การท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เน้นสุขภาพ” ที่สำคัญได้พาดพิงถึงเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farming) และการทำการค้าออนไลน์ (E-commerce) รวมถึงการวางแผนพื้นที่การเพาะปลูก (Agrimap/Zoning) การพัฒนาระบบชลประทาน (Digital Irrigation) ให้พื้นที่การเกษตรเข้าถึงน้ำ 100%

มีอีกตอนในจดหมายซึ่งถือว่าสำคัญ เข้าถึงปัญหาเกษตรกรรมพื้นฐานยิ่งขึ้น “ซีพีขอนำเสนอโครงการที่ซีพีจะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งโครงการที่น่าสนใจคือ โครงการปลูกน้ำ โดยเน้นว่าประเทศไทยไม่เป็นเพียงอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทย แต่ได้พัฒนาจนกลายเป็นผู้นำการผลิตอาหารให้แก่ชาวโลกอีกด้วย”

เป็นเรื่องสำคัญที่มีเรื่องราว มีสาระและแง่มุมหลากหลาย

เชื่อว่าจะตามมาด้วยบทวิเคราะห์จากผู้เกี่ยวข้อง