คนมองหนัง : เมื่อ “อภิชาติพงศ์” ขึ้นปก Film Comment

คนมองหนัง

นิตยสารภาพยนตร์ชื่อดังระดับนานาชาติอย่าง “Film Comment” ฉบับเดือนมีนาคม-เมษายน 2016 ได้นำภาพผู้กำกับหนังชาวไทย “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” มาขึ้นหน้าปก

โดยในเล่ม “วิโอเล็ต ลุคคา” บรรณาธิการดิจิทัลของนิตยสารเล่มนี้ ได้เขียนรายงานขนาดยาวเกี่ยวกับภาพยนตร์ “รักที่ขอนแก่น” ของอภิชาติพงศ์ ภายใต้ชื่อว่า “Dream State” (สภาวะแห่งความฝัน)

อันประกอบไปด้วยบทความปริทัศน์ว่าด้วยหนังเรื่องนี้ และบทสัมภาษณ์คนไทยเจ้าของผลงาน

ต่อไปนี้ คือเนื้อหาน่าสนใจบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว

 

ไม่กี่วันก่อนหน้าการสัมภาษณ์ครั้งนี้ คุณเพิ่งนำภาพยนตร์ชิลีเรื่อง “No” ผลงานของ “พาโบล ลาเรน” ไปจัดฉายที่เทศกาลภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทำไมคุณถึงเลือกหนังเรื่องนั้นไปฉาย?

(หมายเหตุผู้แปล – ภาพยนตร์เรื่อง “No” เล่าถึงกระบวนการรณรงค์ที่นำไปสู่การลงคะแนนเสียง “โหวต โน” ล้มล้างระบอบการปกครองของนายพลออกุสโต ปีโนเชต์ ในประเทศชิลี)

มันเป็นกระจกเงาที่เหมาะสมกับประเทศไทยแบบสุดๆ นอกจากนี้ มันยังเกือบจะเป็นเรื่องแฟนตาซีสุดเหลือเชื่อด้วย เพราะเรา (คนไทย) ไม่ได้รับโอกาสให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใดๆ ตลอดปีที่ผ่านมา

จริงๆ แล้ว ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่เดินทางไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด แต่หลังจากนั้น ก็เกิดเหตุรัฐประหาร คะแนนเสียงของผมจึงหมดความหมาย

ภาพยนตร์เรื่อง “No” ถือเป็นงานอันยอดเยี่ยมที่ช่วยจุดประกายความหวังให้แก่พวกเราว่า “สักวันหนึ่ง เราจะได้เจอสถานการณ์อย่างที่เคยเกิดขึ้นในชิลี”

สำหรับกรณีของชิลียุคปีโนเชต์ ประชาชนที่นั่นต้องรอคอยยาวนานถึง 16 ปี กว่าจะได้ออกไปเลือกตั้ง, 16 ปี เป็นเวลาที่นานมากพอ ซึ่งจะทำให้หลายๆ คน “ลืม”

ในกรณีของประเทศไทยยุคปัจจุบัน อะไรต่อมิอะไรมันเพิ่งผ่านไปแค่ 2 ปีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงยังต้องเผชิญหน้ากับการถูกละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ในลักษณะนี้ไปอีกนาน

มันอาจต้องใช้เวลามากถึง 10 หรือ 15 ปี กว่าที่เราคนไทยจะได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริงกลับคืนมา ถึงเวลานั้น ผมอาจไม่ได้ทำหนังอีกแล้ว แต่สำหรับผู้ชมจำนวนมากที่เข้าไปดูหนังเรื่อง “No” ผมต้องการจะสื่อสารให้พวกเขาตระหนักว่า

“อย่าลืมนะ ในอนาคต พวกเราจะสามารถสร้างหนังทำนองนี้ขึ้นมาได้ในประเทศของเรา”

 

“รักที่ขอนแก่น” ได้ลงโรงฉายในเมืองไทยหรือยัง?

ยัง จริงๆ ผมอยากจะฉายนะ แต่ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะมีระบบเซ็นเซอร์มากมายเกิดขึ้นในเมืองไทย ณ ขณะนี้

ขณะเดียวกัน ผมก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคล ของคนที่มีความข้องเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้

: ในหนังเรื่อง “รักที่ขอนแก่น” เจ้าแม่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปรากฏกายต่อหน้าตัวละคร “ป้าเจน” มีที่มาจากประเทศลาว คุณช่วยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวหน่อยได้ไหม?

ตำนานเล่าขานว่าเจ้าแม่เหล่านั้นคือเจ้าหญิงชาวลาว และในยุคสมัยอดีต ภาคอีสานของไทยกับลาวก็ถือเป็นอาณาจักรเดียวกัน

ส่วนผมเองก็ไม่ค่อยมีความรู้สึกที่ดีนักกับกรุงเทพฯ เพราะผมเติบโตขึ้นมาในภาคอีสาน ยิ่งศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น ผมก็ยิ่งรู้สึกโศกเศร้ามากขึ้น ว่าเพราะการรวมประเทศในครั้งนั้น วัฒนธรรมอันหลากหลายจึงสูญหายไป และไม่ถูกปลุกให้ฟื้นตื่นขึ้นมามีชีวิตชีวากระทั่งบัดนี้

ดังนั้น ในงานช่วงหลังๆ ผมจึงพยายามสืบสาวลงลึกไปในอาณาบริเวณแถบนี้ จนเกือบๆ จะมีอาการคลั่งไคล้ใหลหลงกับการเดินทางไปสัมผัสและนำเอาอดีตคืนกลับมา

เช่นเดียวกับคุณเจนจิรา พงพัศ (ผู้รับบทเป็นตัวละคร “ป้าเจน” ในหนังหลายเรื่องของอภิชาติพงศ์) ซึ่งพ่อผู้ให้กำเนิดเธอเป็นคนลาว ด้วยเหตุนี้ เมื่อประเทศถูกแยกขาดออกจากกัน เธอจึงต้องพลัดพรากกับผู้เป็นพ่อ

 

ประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถบนี้ยังเกี่ยวพันกับการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกทำให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลอเมริกันเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการของไทย?

รัฐบาลสหรัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทยอย่างสำคัญมากๆ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งแพร่กระจายจากเวียดนาม ผ่านลาว มาถึงไทย

คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกจับใจกับแนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งให้ความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่าเดิม ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงร่วมมือกับสหรัฐในการกำจัดคอมมิวนิสต์

แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐก็มีส่วนสร้างปีศาจหลายต่อหลายตนขึ้นมาในสังคมไทย (หัวเราะ) และหนึ่งในปีศาจเหล่านั้น (อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง) ก็ปรากฏกายขึ้นเป็นภาพนูนต่ำบนฝาผนังในภาพยนตร์เรื่องนี้

 

คุณเลือกสรรสถานที่ถ่ายทำอย่างไร?

ขอนแก่นคือบ้านเกิดของผม ผมจึงรู้จักสถานที่ทุกแห่ง ซึ่งใช้ในการถ่ายทำ โดยส่วนใหญ่ ผมเลือกสถานที่ถ่ายทำจากความทรงจำส่วนตัว ซึ่งเติบโตมากับโรงพยาบาล โรงหนัง และโรงเรียน ผมพยายามผนวกสถานที่เหล่านี้เข้ามาในหนัง

และในช่วงเตรียมงานก่อนการถ่ายทำจริง ผมก็ย้ายไปเขียนบทภาพยนตร์ที่จังหวัดบ้านเกิด เพราะผมเริ่มรู้สึกว่า เรื่องที่ต้องการเล่า ชักจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่นั่นมีภาพประติมากรรมนูนต่ำเป็นรูปหนึ่งในอดีตนายกฯ ของระบอบการปกครองที่โหดร้ายที่สุด แน่นอน ผู้คนยังให้ความเคารพนับถือเขา สืบเนื่องมาจากเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อชนิดต่างๆ

จังหวัดขอนแก่น บ้านเกิดผม มีอนุสาวรีย์ของอดีตผู้นำคนนี้ตั้งอยู่ เพราะเขาได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนามาสู่ภาคอีสาน แต่สำหรับผม มันกลับค่อนข้างเป็นเรื่องน่าตกใจ ที่ได้มาเห็นรูปปั้นและภาพสลักเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาที่นี่

 

อยากให้คุณช่วยอธิบายความหมายของซีนที่มีผู้คนจำนวนมากเดินไปมาอย่างไร้เป้าหมาย แถวๆ ทะเลสาบ?

ผมค้นพบว่า บางครั้ง นักแสดงประกอบ (เอ็กซ์ตรา) มักแสดงหนังได้ไม่ดีนัก แต่ในซีนดังกล่าว ผมกลับรู้สึกว่าภาพที่ออกมามันสวยจริงๆ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงกระบวนการถ่ายทำหนัง ซึ่งทุกๆ อย่าง จะถูกควบคุมเอาไว้หมด มันจึงเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ถูกกำกับบงการให้กลายเป็นเพียงหุ่นเชิด

ดังนั้น ในซีนทะเลสาบ ผมจึงต้องการเน้นย้ำถึงแนวคิดเรื่องการเชิดหุ่นกับการถ่ายหนัง ตลอดจนความรู้สึกที่ผมมีต่อเมืองไทย ณ ยุคปัจจุบัน

 

เมื่อปีก่อน คุณมีงานกึ่งละครเวทีที่เกาหลีใต้ ชื่อ “Fever Room” ซึ่งเหมือนจะเป็นส่วนขยายของหนังเรื่อง “รักที่ขอนแก่น”?

(หมายเหตุผู้แปล – “Fever Room” เป็นงานแสดงสดประกอบภาพเคลื่อนไหวบนเวที ที่ใช้ชื่อไทยว่า “เมืองแสงหมด”)

งานทั้งสองชิ้นอยู่ในโลกใบเดียวกัน อยู่ในความฝันของการป่วยไข้คล้ายๆ กัน หรือจริงๆ แล้ว มันออกจะเป็นฝันร้ายมากกว่า

งานทั้งสองชิ้นใช้สองนักแสดงนำร่วมกัน คือ ป้าเจน และทหารผู้นอนหลับฝันชื่ออิฐ พูดถึงความฝันแบบเดียวกัน และสื่อแสดงถึงภาพของห้องความทรงจำอันเจ็บป่วยเหมือนๆ กัน

แต่ “เมืองแสงหมด” มีความเป็นนามธรรมมากกว่า เพราะไม่ได้มุ่งเล่าเรื่องราวใดๆ อย่างเด่นชัด งานสองชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนฝาแฝด ที่มีรูปลักษณ์ต่างกัน

นี่เป็นครั้งแรก ที่ผมได้ทำงานละครเวที และเมื่อก้าวขึ้นไปบนเวทีหลังการแสดงจบลง ผมก็รู้สึกราวกับว่า “สิ่งนี้แหละคือภาพยนตร์”

เพราะข้างบนเวที คือ สถานที่ที่เรื่องราวในหนังบังเกิดขึ้น และคนดูตรงเบื้องหน้าเวทีก็อยู่ในสภาวะที่ใกล้เคียงที่สุด กับการได้เดินทางเข้าไปในโลกของภาพยนตร์ หรือบางทีอาจเป็นการท่องเข้าไปในครรภ์ของมารดา ก่อนที่ทารกชื่อภาพยนตร์จะถือกำเนิดออกมา

ผมจึงคิดว่า บางที คนดูอาจรู้สึกว่าตนเองกำลังมีส่วนร่วมกับงานชิ้นนี้อยู่ เพราะนักแสดงและผู้ชมต่างประกอบกิจกรรมอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน และเมื่อแสงไฟบนเวทีสาดส่องกลับไปยังเหล่าคนดู นี่ก็เป็นการสะท้อน (หรือสลับแลก) สถานะกันไปมา ระหว่างผู้ดูกับผู้ถูกดู

มันเลยสอดคล้องกันพอดีกับแนวคิดของ “รักที่ขอนแก่น” รวมทั้งแนวคิดเรื่องการฝันและการหลับ เพราะบางคราว คุณก็มีประสบการณ์กับอะไรบางอย่าง ในลักษณะผลุบๆ โผล่ๆ หรือเข้านอกออกใน

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มันคือการที่เราได้พยายามทดลองเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อสรรพสิ่งต่างๆ นั่นเอง