นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ระยะห่างทางสังคม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ใช้สรรพนามบุรุษที่สองกับแหล่งข่าวที่มีฐานะทางสังคมต่ำกว่าตนอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผู้สื่อข่าวทีวีชอบใช้คำว่า “เรา” (โดยเฉพาะที่ดำเนินงานด้วยเงินภาษีประชาชน เพราะผมไม่เคยได้ยินผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวีใช้คำนี้)

สรรพนามบุรุษที่สองว่า “เรา” เคยใช้กันมากับเด็ก เพื่อแสดงฐานะที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้พูดและผู้ที่พูดด้วย ซึ่งเป็นเด็ก ย่อมไร้อำนาจและต่ำกว่า จึงไม่มีบทบาทอื่นในการสนทนามากไปกว่าตอบคำถาม หรือพูดในสิ่งที่ผู้ใหญ่คาดหวังว่าจะได้ยินเท่านั้น

พอจะคาดได้นะครับว่า ในชีวิต ผมได้ยินคำนี้มากที่สุดจากครู เพิ่งจะได้ยินบ่อยกว่าเสียอีกก็จากผู้สื่อข่าวทีวีนี่แหละ ซ้ำไม่ได้พูดกับเด็กด้วย แต่กับคนที่ไร้อำนาจเงิน อำนาจการเมือง หรือฐานะทางสังคมใดๆ ทุกคน

จะว่าภาษาไทยเปลี่ยนไปจากเมื่อผมเป็นเด็กแล้วก็ไม่ได้ เพราะผมไม่เคยได้ยินผู้สื่อข่าวทีวีช่องนั้นใช้สรรพนาม “เรา” กับนักการเมือง หรือคนมีอำนาจมีฐานะในสังคมคนอื่นเลยสักที ผมอยากได้ยินเต็มทนว่าเมื่อไรผู้สื่อข่าวทีวีจะถามคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “เมื่อไร “เรา” ถึงจะสั่งยกเลิก พ.ร.ก.เสียทีล่ะคะ”

“เรา” ที่เป็นสรรพนามบุรุษที่สองนี่แหละครับ เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า Social Distancing การทิ้งหรือการไว้ระยะห่างทางสังคม ส่วนการอยู่ห่างจากกันเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโรค เป็นการทิ้งระยะห่างทางกายธรรมดาๆ นี่เอง ไม่เกี่ยวกับสังคงสังคมอะไรทั้งสิ้น

ตรงกันข้ามกับที่ผู้คนพากันทิ้งระยะห่างจากคนไร้บ้าน (อาจเกิน 2 เมตร) นั่นก็มีส่วนของโซเชียลดิสแทนซิ่งอยู่มาก แม้จะอ้างว่ากลัวติดโรคหรือรังเกียจกลิ่นตัวอย่างไรก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การทิ้งระยะห่างทางสังคมไม่จำเป็นต้องหมายถึงว่าร่างกายต้องอยู่ห่างจากกัน แต่ทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างกันทางสังคมต่างหากที่เป็นเป้าหมายของการทิ้งระยะ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นเครื่องมืออย่างดีของการกีดกันทางสังคม และจัดช่วงชั้นทางสังคม ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า

เมื่อตอนที่โรคกำลังเริ่มระบาดในโลกตะวันตก ผู้คนมองเห็นว่าธรรมเนียมการทักทายกันแบบตะวันตกนั้นเป็นหนทางแพร่เชื้อได้ง่าย นับตั้งแต่การจับมือ ไปถึงการกอด, การเอาแก้มสัมผัสกัน และการจุมพิต จึงเสนอให้หยุดใช้ธรรมเนียมทักทายดังกล่าวเสียก่อน นักข่าวฝรั่งรีบบัญญัติศัพท์ให้เลยว่าคือการทิ้งระยะห่าง “ทางสังคม” ที่จริงแล้วไม่ใช่ นี่เป็นเรื่องของระยะห่างทางวัฒนธรรม ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าระยะห่างทางสังคม

ฝรั่งบางคนเสนอให้ทักกันด้วยการไหว้แบบไทยดีกว่า เพราะไม่ต้องถูกเนื้อต้องตัวกันเลย ข้อเสนอนี้อาจทำให้คนไทยบางคนดีใจว่าบรรพบุรุษไทยรู้จักโควิด-19 มาตั้งแต่ยังไม่มีโควิด-19 แต่ความจริงแล้ว ระยะห่างทางวัฒนธรรมของไทยนั้นทำให้ต้องถูกเนื้อต้องตัวกันมากกว่าระยะห่างทางวัฒนธรรมของตะวันตกหรือจีนเสียอีก

เพราะเป็นลูกเจ๊ก จึงไม่สำนึกในเรื่องนี้เลยจนกระทั่งโตเป็นหนุ่มทำงานทำการแล้ว เพิ่งสังเกตเห็นว่าเพื่อนที่มาจากครอบครัวไทย มักใช้การสัมผัสร่างกายเพื่อสื่อความให้มีนัยยะที่ลึกกว่าคำพูด และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “ภาษา” ก็ใช้ได้เก่งด้วย คือไม่ใช่มีการสัมผัสเพียงอย่างเดียว (เช่น การจับมือของฝรั่ง) แต่ส่วนที่จะสัมผัส วิธีสัมผัส เช่น ตบเบาๆ เพื่อปลอบใจ หรือตบแรงขึ้นในการหยอกล้อ สัมผัสเฉยๆ หรือลูบด้วย จนถึง “จับเข่า” คุยกัน

ผมมาแปลกใจว่าทำไมผมไม่เคยสัมผัสใครในการสนทนาเลย ซ้ำยังพยายามหลบหลีกมิให้เกิดการแตะเนื้อต้องตัวด้วย มาคิดออกในภายหลังว่า ธรรมเนียมจีนเมื่อพ้นจากวัยเด็กแล้ว แทบจะไม่ใช้การสัมผัสเพื่อสื่อความอะไรแก่กันเลย สอบถามจากเพื่อนที่เป็นลูกเจ๊กเหมือนกัน ก็พบว่าพ่อแทบไม่เคยแตะเนื้อต้องตัวใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากเมื่อถูกลงโทษ (เช่น จับไหล่เพื่อจะตีก้น)

ผมมาพบในภายหลังที่อเมริกาว่า ฝรั่งก็แทบไม่ใช้การสัมผัสในการสื่อความเช่นกัน ยกเว้นแต่เมื่อต้องการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงกว่าจะสรรหาคำพูดใดมาแทนได้ เช่น กอดเพื่อปลอบใจในปัญหาที่ร้ายแรงมากๆ

ตรงกันข้ามกับการแตะเนื้อต้องตัว ระยะห่างก็เป็นส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการสื่อความของวัฒนธรรมไทย คือเพื่อแสดงความเคารพนบนอบต่อบุคคลในช่วงชั้นที่สูงกว่า นักมานุษยวิทยาคนหนึ่งศึกษาระยะห่างทางวัฒนธรรมของไทยจากเอกสารทางประวัติศาสตร์แล้วพบว่า ระยะห่างของไทยในแง่นี้ใช้ระยะห่างทางแนวตั้งไม่ใช่แนวนอน คือไม่ใช่ห่างกันกี่เมตร แต่ใช้ศีรษะเป็นตัวกำหนดระยะห่าง จะพูดกับคนในช่วงชั้นที่สูงกว่า จะต้องค้อมหัวลงมามากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ค้อมให้หัวเท่าระดับไหล่ของผู้ที่พูดด้วย ลงมาถึงทรุดลงไปกับพื้นเพื่อให้ระดับหัวของผู้พูดเสมอกับระดับเท้าของผู้ที่พูดด้วย

พระบรมราชโองการใน ร.5 ให้เข้าเฝ้าฯ ด้วยการยืน ใช้กับฝ่ายหน้าเท่านั้น เพราะการเข้าเฝ้าฯ ของฝ่ายหน้าเป็นเรื่อง “ออกแขก” ในขณะที่ฝ่ายในก็ยังใช้ธรรมเนียมหมอบคลานเหมือนเดิม แต่เพราะพระบรมราชโองการนั้นขัดแย้งกับ “ภาษา” และหัวเข่าของคนไทยโดยตรง เราจึงได้เห็นภาพถ่ายการหมอบคลานของฝ่ายหน้าในรัชกาลต่อมา (ภาพถ่ายเป็นการ “ออกแขก” อย่างแน่นอน) จนกลับไปสู่การหมอบคลานตามธรรมเนียมเดิมทุกประการในปัจจุบัน

กลับมาเรื่องระยะห่างทางสังคม ดังที่ผมกล่าวแล้วว่าเป็นเครื่องมืออย่างดีของการกีดกันและการจัดช่วงชั้นทางสังคม การใช้สรรพนามบุรุษที่สองกับคนไร้อำนาจไร้สถานะว่า “เรา” บังคับให้พวกเขาต้องตอบคำถามเท่านั้น ไม่อาจย้อนถาม หรือต้องตอบไปตามความคาดหวังของผู้สื่อข่าวเท่านั้น ไม่ว่าคำถามนั้นจะฟังงี่เง่าเพียงไรก็ตาม เช่น ถามชายซึ่งภรรยาเพิ่งผูกคอตายว่า “รู้สึกอย่างไร?”

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เมื่อการใช้สรรพนามเชิงเหยียดถูกนำเสนอทางทีวี ก็หมายความว่าได้นำเอาระยะห่างทางสังคมที่กระทำต่อคนไร้อำนาจไร้สถานะเข้ามาสถาปนาขึ้นเป็นแบบแผนในระบบ ระยะห่างทางสังคมในระบบย่อมแพร่หลายและดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน

ผมทราบดีว่า “นอกระบบ” และ “ในระบบ” เป็นสองอย่างที่แยกออกจากกันได้ยาก ระยะห่างทางสังคมในระบบหลายต่อหลายอย่าง เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจเพราะเป็นผลมาจากสิทธิและอำนาจของแต่ละช่วงชั้นทางสังคมมีไม่เท่ากันมาแต่แรกแล้ว เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัยระหว่างสุขุมวิทกับคลองเตย, โรงเรียน “จตุรมิตร” กับโรงเรียนในสังกัด อปท., มหาวิทยาลัยของรัฐกับราชภัฏ, ผู้หญิงกับผู้ชาย, เครื่องแต่งกายที่เหมาะสมกีดกันคนจำนวนมากให้ไม่สามารถเข้าถึงสถานที่หรือวาระบางอย่างได้, คนไทยที่มีบัตรประจำตัวกับคนไทยที่ไม่มีบัตรประจำตัว ฯลฯ

ระยะห่างทางสังคมที่กลายเป็นระบบไปแล้ว คือระยะห่างที่มีการสถาปนา “ความปรกติ” (normality) ขึ้นรองรับ โดยอุดมการณ์หรือทฤษฎี, การปฏิบัติ, กฎหมาย, หรือ “ศีลธรรม” ทางสังคม ฯลฯ เช่น โดยปรกติของชีวิตชาวสุขุมวิท ไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องเข้าไปในสลัมคลองเตย ระบบการศึกษาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของเขา ทำให้สลัมคลองเตยไม่อยู่แม้แต่ในสำนึกของเขาด้วย แม้อาจต้องเดินเฉียดกรายกับชาวสลัมคลองเตยในบางสถานที่อยู่บ้าง ก็ไม่เห็นแม้ว่ามองอยู่ก็ตาม (เราเห็นหรือได้ยินอะไรในสมอง ไม่ใช่ที่ตาหรือหู ฉะนั้นถ้าไม่มีสิ่งนั้นในสมอง ถึงมองก็ไม่เห็น)

ระยะห่างทางสังคมจึงไม่ได้อยู่ภายนอกอย่างเดียว แต่ซึมลึกเข้าไปในสมองหรือจิตใจด้วย คำสั่งเคอร์ฟิวของรัฐบาลเผด็จการเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนดี อะไรคือที่สาธารณะ และอะไรคือเคหสถาน ระหว่างผู้สั่งและคนไร้บ้านนั้นแตกต่างกัน คนไร้บ้านเชื่อฟังคำสั่งด้วยการไปยังสถานที่นอนของเขาก่อนสี่ทุ่ม แล้วไม่ตระเวนคุ้ยขยะหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ใน “ที่สาธารณะ” อีกเลย จนกว่าจะพ้นเวลาเคอร์ฟิว

ส่วนผู้สั่งไม่ได้คิดถึงคนซึ่งถูกกันระยะห่างทางสังคมออกไปไกลสุดเอื้อมอย่างคนไร้บ้านด้วยซ้ำ จึงไม่อาจเข้าใจความหมายของ “เคหสถาน” ในความคิดของคนไร้บ้านได้

ผมไม่ปฏิเสธว่า ระยะห่างทางสังคมไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทย แต่มีในทุกสังคมทั้งโลก และก็ทำงานคล้ายๆ กันคือกีดกันและจัดช่วงชั้นทางสังคม ยิ่งทำให้ระยะห่างทางสังคมในสังคมใดแข็งทื่อตายตัวมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ช่วงชั้นแปรไปเป็น “ชนชั้น” ได้ง่ายและเร็วขึ้นเท่านั้น (คือสืบทอดอำนาจและสถานะไปสู่ลูกหลานได้ทั้งตระกูล, ทั้งสายเครือญาติ และทั้งโคตร)

ถึงจะมีหรือไม่มีโควิด-19 เราก็หนีระยะห่างทางสังคมไม่พ้น ถ้าทุกคนพอใจกับระยะห่างที่ตัวถูกจัดไว้ให้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่สังคมเปลี่ยนและมนุษย์เปลี่ยนอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง จึงยากที่ทุกคนจะพอใจกับระยะห่างที่ตนได้รับจัดสรรมา ผู้หญิงไทยเคยพอใจหรืออย่างน้อยก็ไม่พบหนทางเปลี่ยนแปลงระยะห่างของตนเอง แต่ต่อมาก็ไม่พอใจถึงกับกล้าออกมาเสี่ยงเรียกร้องระยะห่างแบบใหม่ ในที่สุดผู้หญิงไทยในปัจจุบันก็ถูกจัดระยะห่างทางสังคมต่างออกไปจากรุ่นแม่และยาย แม้กระนั้นก็มีความพยายามที่จะรักษาหลักการของระยะห่างทางสังคมที่จัดไว้ให้ผู้หญิงตามคติเก่า ดังจะเห็นได้ในแบบเรียนที่ยังวางอุดมคติของผู้หญิงไว้ที่ความเป็น “กุลสตรี” แบบเก่า และกฎเกณฑ์ของพระสงฆ์ที่กีดกันมิให้ผู้หญิงทรงเพศสูงสุดทางศาสนา คือยังไม่อาจบวชเป็นภิกษุณีได้

ภัยของระยะห่างทางสังคมที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนเลย ยังทำให้ผู้มีอำนาจและสถานะมองไม่เห็นหัวคนอื่นอีกมาก จึงทำให้นโยบายสาธารณะมักไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผมอยากยกตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า ระยะห่างทางสังคมนั้นทำให้เรามืดบอดต่อชีวิตของคนอื่นอย่างไร

นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา เสนอว่าในกรณีอินเดียซึ่งมีสัดส่วนของผู้สูงอายุน้อยมาก (เมื่อเทียบกับสังคมอื่น) การต่อสู้กับโควิด-19 ที่น่าจะได้ผลดีที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันฝูง (herd immunity) ขึ้นแก่ประชากร โดยปล่อยให้โรคแพร่ระบาดไปในหมู่ประชากรที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้จะไม่มีอาการหรือไม่มีอาการรุนแรงใดๆ แล้วรักษาระยะห่างทางกายอย่างเคร่งครัดไว้ในหมู่ผู้สูงอายุเท่านั้น

แม้กระนั้น นักวิจัยก็เตือนไว้ด้วยว่า อาจทำไม่ได้ผลด้วยเหตุบางประการ หนึ่งในนั้นก็คือครอบครัวอินเดียอาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่มีพื้นที่ขนาดเล็กมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกผู้สูงอายุออกไปจากคนอื่น

นักวิจัยอยู่ในอเมริกา แต่กลับมองเห็นวิถีชีวิตของคนอินเดีย ส่วนหมอในเมืองไทยซึ่งให้คำแนะนำแก่รัฐ กลับมองไม่เห็นวิถีชีวิตของคนไทยที่เป็นแรงงาน, คนสลัม และคนชั้นกลางระดับล่างอีกมาก ซึ่งอยู่อาศัยในบ้านเรือนขนาดเล็กไม่ต่างจากคนอินเดีย

คำตอบก็คือ ระยะห่างทางสังคมระหว่างคนรวยและคนจนในอเมริกา ซึ่งก็มีมากเหมือนกัน แต่ไม่มากเท่าในเมืองไทยซึ่งเป็นผลให้เอลีตไทยตาบอดกับวิถีชีวิตของคนจนไปเลย อย่างน้อยก็เพราะในสหรัฐ คนจนไม่หายไปเสียทีเดียวจากหลักสูตรการเรียน, จากหนัง, จากหนังสือพิมพ์, จากเพลง, จากละคร และจากการอภิปรายสาธารณะ

การใช้ศัพท์ผิดๆ เป็นเรื่องเล็ก ตราบเท่าที่คนไทยฟังกันรู้เรื่อง แต่ผมรู้สึกว่ามันกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะศัพท์ผิดๆ คำนี้ทำให้เราลืมถึงระยะห่างทางสังคม ซึ่งกีดกันและล้อมกรอบคนไทยจำนวนมากให้สูญเสียโอกาสและศักยภาพมหึมาที่จะทำประโยชน์ให้แก่ตัวเอง และแก่สังคมไทย