เทศมองไทย : ปัญหาของหญ้าแพรก เมื่อเกิดศึก “ช้างชนช้าง”

เท็ด โกเวอร์ สอนวิชาการปกครองอเมริกันอยู่ที่เซ็นทรัล เท็กซัส คอลเลจ และเป็นอาจารย์วิชารัฐศาสตร์ให้กับเหล่านาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการโครงการรัฐประศาสนศาสตร์ชนเผ่า ในสังกัดบัณฑิตวิทยาลัยแคลร์มอนต์

โกเวอร์มีผลงานการเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทางด้านนโยบายต่างประเทศอยู่เนืองๆ รวมทั้งข้อเขียนล่าสุดที่เผยแพร่ในเซาธ์ไชนา มอร์นิ่ง โพสต์ เมื่อ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ผมหยิบมาเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้

นักวิชาการอเมริกันรายนี้เชื่อว่า ความขัดแย้งที่คุกรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ อันสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ไม่ได้ส่งผลเฉพาะ 2 ประเทศคู่กรณีเท่านั้น

หากแต่ยังส่งผลให้ปัญหาของบรรดาชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่มีเต็มมืออยู่แล้วจากการแพร่ระบาด ทวีความสลับซับซ้อน ยากต่อการบริหารจัดการมากขึ้นอีกด้วย

 

ความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น เริ่มต้นมาจากการที่อยู่ดีๆ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เปลี่ยนน้ำเสียงจากที่เคยแสดงความเห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจเมื่อจีนเริ่มต้นการระบาด มาเป็นการกล่าวหาจีนว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการแพร่ระบาดออกไปทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น เป็นไปไม่ช้าไม่นานหลังจากทรัมป์พบว่า โควิด-19 ทำอันตรายให้กับสหรัฐอเมริกามากกว่าที่คิดไว้ตอนแรกมาก

ยิ่งใกล้เวลาเลือกตั้งประธานาธิบดีมากขึ้นเท่าใด ข้อครหาก็ยิ่งหนักมากขึ้นเท่านั้น ไม่สนใจว่าจะมีหลักฐานหรือไม่ จากเพียงแค่เรื่องต้นตอการระบาด กลายเป็นเรื่องของการทำไวรัสหลุดจากห้องแล็บ แล้วเสริมด้วยข้อกล่าวหาปกปิดข้อมูล เพราะต้องการ “กักตุน” เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการต่อสู้กับโควิด-19 ไปในไม่ช้าไม่นาน

ยิ่งจีนเริ่มใช้ “แมสก์ ดิโพลเมซี” มากขึ้นเท่าใด เสียงกล่าวหาจากสหรัฐอเมริกาก็ยิ่งดังมากขึ้นเท่านั้น

 

หลังสุดกรณีนี้ลุกลามมากขึ้น เชื่อมโยงไปถึงความพยายาม “ย้ายการพึ่งพาห่วงโซ่การผลิต” และการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญออกจากจีนให้หมด ไปประเทศอื่นไม่เป็นไร ขอแค่ไม่ให้เป็นจีนเท่านั้น

โยงไปถึงการข่มขู่จะเปิดสงครามการค้าระลอกใหม่ขึ้นด้วยอีกต่างหาก

ไม่แปลกแต่อย่างใดที่โกเวอร์สรุปความว่า “โควิด-19 ทำให้ความบาดหมางระหว่างสองชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเข้มข้นมากขึ้น ทำให้สถานการณ์สำหรับภูมิภาคเอเชียสลับซับซ้อนขึ้นเป็นทวีคูณ”

เขาย้ำว่า “โควิด-19 ทำให้พลวัตที่กำลังเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เร่งความเร็วมากขึ้น” ในเวลานี้

ราวหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มหาอำนาจทั้งสองพยายามฉุดดึง กระชากรั้งชาติอาเซียนทั้งหลายไปในทิศทางที่แตกต่างกัน ตามความต้องการของตัวเอง

“จีนพยายามดึงเอาชาติรัฐจำนวนหนึ่งเข้ามาอยู่ในอาณัติของตนเองเพื่อปกป้องดินแดนทางใต้ของประเทศ และหาหนทางยับยั้งไม่ให้สรรพกำลังทางนาวีของอเมริกันล่วงล้ำเข้ามาในน่านน้ำยุทธศาสตร์ของตน” อันหมายถึงพื้นที่ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก

สหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการ “ลงทุนในระบบอาวุธและศักยภาพทางทหารเพื่อป้องกันจีนไม่ให้แผ่อิทธิพลครอบงำทั้งภูมิภาคและเพื่อรักษาเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้”

ขณะที่จีนมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในชาติอาเซียนหลายประเทศ สหรัฐอเมริกาก็อาศัยออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, เวียดนามและอินเดียมาถ่วงดุล

เมื่อจีนประกาศใช้โครงการริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สหรัฐอเมริกาก็มียุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” ที่ให้ประโยชน์จากการคุ้มครองทางทหารจากสหรัฐบวกกับผลประโยชน์อื่นๆ ตามมา

 

ที่ผ่านมา หลายชาติในอาเซียนกังวลกับอำนาจอิทธิพลของจีนในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่น้อย แต่ในเวลาเดียวกันก็พยายามบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ให้สามารถอยู่กับมันให้ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เพราะในเวลาเดียวกันก็วิตกกับการที่อเมริกันไม่เคยผูกพันธะจริงจังกับภูมิภาคนี้ในระยะยาวมาตลอด ไม่ว่าจะในแง่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงหรือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจก็ตามแต่

การที่อยู่ดีๆ สหรัฐก็ทิ้งประเทศอย่างซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถานหน้าตาเฉย ไม่ได้ทำให้ความกังวลนี้ผ่อนคลายลงแม้แต่น้อย มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ในอีกทางหนึ่ง สงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่นี้ก็ส่งผลสะเทือนถึงกับก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในระบบการค้าโลก ที่ภูมิภาคอาเซียนต้องพึ่งพาอย่างหนักเช่นเดียวกัน

มีแนวโน้มมากขึ้นอีกด้วยว่า ยิ่งสหรัฐกับจีนขัดแย้งกันมากเท่าใด โอกาสที่จะเกิด “มาตรฐานใครมาตรฐานมัน” ให้เลือกในการเข้าสู่ตลาดของแต่ละฝ่ายก็มีมากขึ้นตามลำดับ

“ชาติอาเซียนจำเป็นต้องคำนึงถึงมิติและปัจจัยในทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างพยายามทำการค้าหรือลงทุน ไม่ว่าจะในจีนหรือในสหรัฐอเมริกา” โกเวอร์ย้ำ

โควิด-19 เพิ่มระดับของความแหลมคมและความตึงเครียดที่มีอยู่ก่อนแล้วให้ซับซ้อนและยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้น

ผู้นำอาเซียนทุกคนต้องคิดหนักมากว่า ทำอย่างไรถึงจะพารัฐนาวาให้รอดพ้นไปได้

ในยามที่มรสุมใหญ่ของการเมืองระดับโลกยกระดับความรุนแรงเหมือนทะเลคลั่งมากขึ้นในยามนี้