จิตต์สุภา ฉิน : Catfishing ตกเหยื่อช่วงโควิด

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สัปดาห์นี้น่าจะเป็นสัปดาห์ที่คนที่ทำงานแบบ Work from Home มาตลอดเดือนที่ผ่านมาเริ่มทยอยกลับไปทำงานที่ออฟฟิศมากขึ้น

พร้อมๆ กับร้านอาหารและธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนให้กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรหลังจากนี้ไปอินเตอร์เน็ตก็จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิมในฐานะของการเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้จากทุกที่แบบไร้รอยต่อ

เมื่อคนเข้าสู่อินเตอร์เน็ตกันเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากและใช้เวลาอยู่บนโซเชียลมีเดียมากกว่าที่ผ่านมา สิ่งที่จะตามมาก็คือการเพิ่มโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงกันบนอินเตอร์เน็ต

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีภัยบนไซเบอร์ที่คอยคุกคามอยู่แล้ว แต่โอกาสในการตกเป็นเหยื่อก็มีน้อยถ้าหากพนักงานของบริษัททำงานอยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบเครือข่ายที่แผนกไอทีของบริษัทได้ออกแบบเอาไว้ให้รักษาความปลอดภัยได้อย่างแน่นหนา

แต่พอทุกคนกระจายตัวกันทำงานมาจากที่บ้านก็กลายเป็นตัวใครตัวมัน ไม่มีระบบที่คอยกรองเพิ่มความปลอดภัยให้อีกชั้น

ทำให้เราได้เห็นว่าช่วง Work from Home ที่ผ่านมามีภัยไซเบอร์เกิดขึ้นเยอะกว่าเดิม

 

แฮ็กเกอร์เลือกที่จะล่อเหยื่อด้วยการใช้เนื้อหาเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเพราะเข้าใจดีว่าทุกคนหิวกระหายข่าวสารอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับโรคนี้ อีเมลหลายฉบับหลอกล่อให้คนเปิดอ่านและคลิกลิงก์ด้วยหัวข้อที่เกี่ยวกับการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคได้สำเร็จ

หรือการหลอกว่าเป็นคนที่ติดเชื้อและกำลังต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน ใครที่ไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกันเรื่องนี้ก็อาจจะเผลอไผลถูกหลอกไปบ้างแล้ว

อีกหนึ่งภัยที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นในช่วงที่คนสิงตัวกันบนโซเชียลมีเดียมากๆ ก็คือภัยที่เรียกว่า catfishing

Catfish เฉยๆ เรารู้กันอยู่แล้วว่าหมายถึงปลาดุกใช่ไหมคะ แต่ catfishing เป็นคำที่ใช้เพื่อหมายถึงการล่อลวงใครสักคนหนึ่งให้เข้าสู่ความสัมพันธ์โดยที่ใช้ตัวตนออนไลน์ที่สร้างขึ้นมา คล้ายๆ กับเวลาที่เรารู้จักใครสักคนออนไลน์แล้วพอเจอตัวจริงกลับ “ภาพไม่ตรงปก” เพราะภาพที่เราเห็นออนไลน์ผ่านแอพพ์มาแล้วร้อยแอพพ์ แต่แตกต่างนิดหน่อยตรงที่ว่า Catfishing นี้ คนที่อยู่ในภาพกับตัวตนจริงๆ ของคนที่เราคุยด้วยเป็นคนละคนไปเลยโดยสิ้นเชิง

Catfishing ส่วนใหญ่พบบ่อยตามเว็บไซต์หาคู่เดตออนไลน์ต่างๆ จุดประสงค์ก็อาจจะหลากหลาย ตั้งแต่หลอกเล่นๆ เพื่อความเกรียน ไปจนถึงหลอกวาดฝันให้ความหวังลวงๆ ในเรื่องที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริงเพื่อหวังรูดทรัพย์จากเหยื่อ

แม้ว่าตอนนี้เราจะตระหนักและมีภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับการตกเป็นเหยื่อของ catfishing อยู่บ้างแล้ว

เพราะเราก็ไม่ได้เพิ่งใช้อินเตอร์เน็ตเป็นปีแรก แต่เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา FBI ก็ยังรายงานว่ามีคนตกเป็นเหยื่อการ catfishing มากเกือบสองหมื่นคน ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้าเสียอีก

ซึ่งก็อาจจะแปลว่าเรายังสร้างภูมิคุ้มกันไม่พอ หรอคนที่ทำ catfish ก็ฝึกปรือฝีมือเก่งขึ้นกว่าเดิมจนทำให้เราการ์ดตก

 

เรามีแนวโน้มที่จะใส่ตัวตนของเราเข้าไปบนโซเชียลมีเดียเยอะขึ้นเรื่อยๆ อย่างช่วงก่อนหน้านี้ TikTok ก็ได้รับความนิยมชนิดที่พุ่งกระฉูด อยู่ๆ เพื่อนของเราหลายๆ คนก็ลุกขึ้นมาเต้น มาลิปซิ้ง มาทำคลิปขำๆ บน TikTok แล้วดาวน์โหลดมาแปะเอาไว้ข้ามแพลตฟอร์มต่างๆ เต็มไปหมด ซึ่งวิดีโอเหล่านี้ก็มีเยอะมากจนมิจฉาชีพสามารถช้อปปิ้งหยิบฉวยไปใช้ได้ตามต้องการ

คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อภัยแบบนี้ได้หลักๆ ก็น่าจะเป็นพวกดารา เซเลบริตี้ อินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายที่ออกหน้าบ่อยๆ มีภาพ มีคลิป มากมายเต็มไปหมด

ซึ่งก็จริงในระดับหนึ่งนะคะ แต่เนื่องจากกลุ่มคนที่ทำอาชีพเหล่านี้มีใบหน้าที่ใครๆ ก็รู้จัก การจะหยิบภาพของพวกเขาไปใช้ในการ catfish ก็อาจจะไม่ได้ง่ายเท่าไหร่ เพราะคนทั่วไปก็จะต้องรู้สึกเอะใจอยู่แล้ว ว่า เอ๊ะ ดาราคนนั้น เซเลบคนนี้ จะมาทำอะไรแบบนี้จริงๆ เหรอ

ในขณะที่หากดูดภาพของคนที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่มีหน้าตาและบุคลิกภาพที่ดูดีน่าเชื่อถือ ก็จะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จในการหลอกเหยื่อได้ดีกว่า

หนึ่งในสิ่งที่ฉันเคยโดนเข้ากับตัวและเป็นภัยที่เกิดขึ้นบ่อยกับคนที่ทำงานหน้าจอก็คือการถูกหยิบภาพหรือคลิปไปใช้เพื่อหลอกลวงคน

อย่างกรณีของฉันคือคลิปที่ฉันเคยรีวิวเครื่องแปลภาษาขนาดพกพา เป็นเครื่องที่เพื่อนซื้อมาใช้งานจริงและให้ฉันยืมมารีวิว ไม่มีสปอนเซอร์ ไม่มีตัวแทนจำหน่ายใดๆ ในเมืองไทย

และฉันก็ได้ระบุเอาไว้อย่างละเอียดว่าสามารถหาซื้อได้จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัท ซึ่งเขาก็จะต้องส่งของมาจากต่างประเทศอีกที

 

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคลิปนี้ถูกดูดไปใช้หลอกขายของเป็นวงกว้าง อ้างว่าขายเครื่องแปลภาษาเครื่องนี้ในราคาพันสองพันบาท (ในขณะที่ราคาจริงๆ ของเครื่องแพงกว่านั้นเป็นเท่าตัว)

พอลูกค้าโอนเงินให้ ของที่ได้รับกลับเป็นเครื่องเล่น MP3 คุณภาพกระจอกงอกง่อย เปิดก็แทบจะไม่ติด แต่หน้าตาคล้ายกับเครื่องแปลภาษาตรงที่เป็นแท่งสีขาวเหมือนกันเท่านั้น

ซึ่งไม่ใช่แค่เจ้าเดียวที่หยิบคลิปไปใช้ แต่มีแบบนี้กระจายอยู่ทั่วอินเตอร์เน็ต

คนที่ถูกหลอกบางคนส่งข้อความมาตัดพ้อต่อว่าฉันทางเพจ ว่าทำไมทำกับเขาแบบนี้ ทำไมถึงหลอกเอาเงินและส่งของปลอมมาให้

ฉันก็ไม่รู้จะทำยังไงมากไปกว่าบอกให้เขาแจ้งความ และเมื่อไหร่ที่มีคนบอกว่าพบเจอคลิปนี้อยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ต ฉันจะรีบเข้าไปกดรีพอร์ต คอมเมนต์เตือนใต้คลิป ทำทุกวิถีทางที่จะทำได้

บางครั้งคนรู้จักกันผิวเผินทักถามขึ้นมาว่าเครื่องแปลภาษาที่ฉันรีวิวนั้นใช้ดีไหม

ฉันจะต้องรีบเบรกพวกเขาทันทีว่าห้ามซื้อจากที่ไหนก็ตามที่ไม่ใช่เว็บทางการของบริษัทเด็ดขาด

บริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียก็ไม่สามารถจัดการปัญหา Catfishing ได้อย่างเด็ดขาด เราจะเห็นว่าโซเชียลมีเดียทุกที่ให้ความสำคัญกับการกำจัดข้อมูลปลอม ข่าวลวงต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวลวงเกี่ยวกับ COVID-19 เพราะปัญหาเหล่านี้สร้างความเสียหายในวงกว้างและทำให้แพลตฟอร์มถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลง

 

แต่ปัญหา catfishing เป็นปัญหาที่บริษัทเหล่านี้ไม่ได้อยากที่จะทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากลงไปจัดการสักเท่าไหร่

แรงจูงใจในการรับมือกับปัญหานี้อาจจะไม่มากพอ เนื่องจากธรรมชาติของความเป็นโซเชียลมีเดีย คือจะต้องทำให้กระบวนการขั้นตอนการลงทะเบียนใช้งานยุ่งยากน้อยที่สุดเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งานเยอะๆ

ยิ่งมียอดคนใช้งานเยอะก็ยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้โปรไฟล์บริษัทได้ นานๆ ทีก็จะลุกขึ้นมากวาดล้างแอ็กเคาต์ปลอมกันบ้างแต่ก็ยังไม่ได้มีมาตรการไหนที่จะสามารถจัดการได้เด็ดขาด

Catfishing ที่ว่าอันตรายอยู่แล้ว เมื่อผนวกเข้ากับอารมณ์อันอ่อนไหวและความโกลาหลในช่วงไวรัสระบาดก็อาจจะทำให้คนที่มั่นใจว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงดีพลาดพลั้งตกเป็นเหยื่อได้ อย่างการขโมยรูปพยาบาลสาวสวยมาสร้างแอ็กเคาต์เปิดรับเงินบริจาคสู้ภัย COVID ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

และที่แน่ๆ ถ้าเห็นเว็บไซต์ไหน เพจไหน ใช้คลิปฉันไปขายเครื่องแปลภาษา ให้หลีกหนีให้ไกลที่สุด