มนัส สัตยารักษ์ | บุญคุณที่ไม่ต้องทดแทน

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ในช่วงเวลาของวิกฤตโควิด-19 ได้เขียนเป็นเชิงเสนอแนะให้รัฐและเกษตรกรรนับหนึ่งใหม่ด้วยปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อทำให้ไทยกลับไปฝันถึงการเป็น “ครัวโลก” ได้อีกครั้ง

และถ้าจำเป็นก็ให้หน่วยงานของรัฐบาลเป็นนายทุนจ้างผู้ว่างงานเป็นเกษตรกรเสียด้วย เพื่อประกันการล้มเหลวและไม่ให้เกษตรกรประสบกับภาวะล้มละลายดังที่ผ่านมา

ส่งต้นฉบับไปแล้วชักใจไม่ค่อยดี กังวลว่าจะเป็นรายการ “โชว์โง่” เสียมากกว่า เพราะความไม่สันทัดในปัญหาเกษตรกรรม

เนื่องจากนับตั้งแต่พ่อเสียชีวิตไปในปี พ.ศ.2539 ทายาทของพ่อก็หมดเชื้อการเป็นเกษตรกรไปโดยปริยาย ไม่มีใครสืบสายพันธุ์อาชีพนี้อีก ต่างเปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้าทำการค้าขายสวนยางไปจนหมด

แต่แล้วก็หายกังวลไปได้ เมื่อบังเอิญเปิดทีวีช่องหนึ่งกำลังเสนอข่าวหรือสารคดีเกี่ยวกับเกษตรกรรมใกล้เคียงกับที่คอลัมน์นี้เสนอ คือ “เสี่ยใจบุญสละที่ดินให้ปลูกผักกลางเมือง”

เรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นก่อนวิกฤตโควิด-19 ด้วยซ้ำ แปลกใจตัวเองว่าพลาดข่าวดีมีสาระแบบนี้ไปได้อย่างไร… คงจะเป็นเพราะเราห่างเหินสื่อหลักทั้งหนังสือพิมพ์และทีวี เอาแต่ก้มหน้าก้มตากด FB ในมือถือ ก็จึงเจอแต่ข่าวประเภท ส.ว.นายหนึ่งทะเลาะกับนักศึกษาตัวป่วน ตามประสาข่าวขัดแย้งในสังคมออนไลน์

ตรงตามที่อาจารย์ประชาสัมพันธ์หรือหนังสือพิมพ์ท่านสอนไว้เมื่อราว 50 ปีก่อน…หมากัดคนไม่เป็นข่าว แต่คนกัดหมาเป็นข่าว

ตามไปค้นในกูเกิลได้รายละเอียดเพิ่มเติมมาว่า เสี่ยใจบุญหรือ “เฮียชัย” เป็นเจ้าของที่ดิน 500 ตร.ว. ห่างจากศาลากลางจังหวัดพิษณุโลกแค่ 1.30 กิโลเมตร เฮียชัยยังไม่ได้ใช้ที่ดินแปลงนี้ทำประโยชน์ จึงอนุญาตให้ชาวบ้านยากจน 9 ครอบครัวได้ใช้ปลูกผักสวนครัวทำกินไปพลางในช่วงเวลาวิกฤต ทั้ง 9 ครอบครัวนี้เฮียชัยไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน

ดูจากภาพถ่ายประกอบเนื้อข่าวแล้วเห็นผักสดทุกชนิดสดชื่นงดงาม การแต่งกายและหน้าตาของชาวบ้านที่มาปลูกผักแจ่มใสกันทุกคน

อีกรายหนึ่งสื่อเรียกว่า “หนุ่มใจบุญ” ใช้ชื่อ Panya SkinSiri อำเภอบัวใหญ่ นครราชสีมา เป็นเจ้าของที่ดิน 4 ไร่ ที่ตำบลกุดจอก ประกาศให้คนยากจน 4 ครอบครัวได้ใช้ที่ดินทำมาหากิน ทำเกษตรแบบผสมผสานโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ถ้าใครสนใจให้โทรศัพท์มาสอบถามรายละเอียดได้

ภาพประกอบในมุมที่ปลูกไม้ยืนต้นร่มรื่น มีสระเลี้ยงปลาขนาดย่อมอยู่ใกล้ๆ

พลิกกูเกิลดูคร่าวๆ พบว่า นอกจากเจ้าของที่ดิน 2 รายข้างต้นแล้ว น่าจะยังมีคนไทยที่คิดแบบเดียวกับคนใจบุญทั้งคู่ กล่าวคือ พยายามสร้างงานให้คนที่ว่างงานได้มีงานทำและพอมีรายได้หรืออย่างน้อยก็ไม่ถึงกับอดตาย เพียงแต่ยังไม่เป็นข่าว หรือเป็นข่าวแต่ยังไม่ได้บันทึกไว้ในสื่อ

สำคัญอยู่ที่ว่าคนในภาครัฐจะมีใครคิดอย่าง “คนใจบุญ” บ้าง และจะมีที่คิดนอกกรอบ กล้า “ลงทุน” สร้างงานให้เกษตรกร แทนที่จะลงทุนแจกไปตามยถากรรม

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จับเข่าพูดคุยกับกุนซือทั้ง 2 ชุด คือชุดของนายแพทย์ระดับอาจารย์ของหมอ กับชุดของ 20 มหาเศรษฐี

ภารกิจของรัฐบาลในช่วงเวลาอันสำคัญมี 2 ภารกิจคือ ต่อต้านการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนหนึ่ง กับภารกิจต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงอีกส่วนหนึ่ง ภารกิจแรกนายกรัฐมนตรีได้รับคำชมเชยจากทั่วโลก ส่วนภารกิจหลังแม้จะยุ่งยากสับสนจนทำให้ชักช้า แต่ทั้ง 2 ภารกิจล้วนมีหนทางแจ่มใสขึ้น อย่างน้อยก็เหมือนกับได้มองเห็นแสงไฟที่ปลายอุโมงค์

กุนซือทั้ง 2 ชุดมีจุดร่วมที่เหมือนกันอยู่ 2 ประการ คือ

ประการแรก ไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้เป็นข้าราชการประจำ และไม่ได้เป็นอดีตนายทหาร/ตำรวจ และน่าจะไม่ได้มีส่วนในการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ด้วย

ประการที่สอง รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องให้ตำแหน่งและจ่ายเงินเดือนกว่า 120,000 บาท อันเป็นเสมือน “ค่าตอบแทนบุญคุณ” เหมือนที่ต้องจ่ายแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.จำนวนหนึ่ง และสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. อีกจำนวน 250 คน

ลองคิดกันเล่นๆ ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์เสนอตำแหน่ง (อะไรก็ได้) พร้อมค่าตอบแทนท่านละแสนสอง 10 อาจารย์หมอหรือ 20 มหาเศรษฐี ท่านจะรับหรือไม่?

ตอบได้ตรงนี้เลยว่าท่านไม่รับ ดีไม่ดีอาจจะบริจาคเพิ่มเสียด้วยซ้ำ

แต่เท่าที่สดับตรับฟัง มีคนไม่อยากให้บริจาคต่อรัฐบาลในยุคที่กำลังสับสนเรื่องเงินทอง ในยุคที่ได้ชื่อว่าก่อหนี้สาธารณะมากที่สุด…มากจนต้องปลอดจากการตรวจสอบ!

ทุกครั้งที่มีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น เรามักจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นชมกับที่น่ารังเกียจทยอยสลับตามมาด้วยเสมอ…

ขณะที่เรากำลังวิตกกันถึงคำสั่งของรัฐบาล (ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส) โดยไม่มีมาตรการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกักกันผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง การปิดเมือง ล็อกดาวน์ หยุดค้าขาย รวมทั้งคำสั่งไม่ให้ออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ฯลฯ นั้น

เราหายวิตกไปทันทีเมื่อได้พบข่าวสมเด็จพระสังฆราชทรงพระดำริให้วัดจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบาก นอกจากโรงทานตามวัดแล้ว ผู้ใจบุญหลายท่านยังผลิตอาหารกล่องแจกจ่ายไปตามที่ต่างๆ อีกด้วย

แล้วก็มีภาพตำรวจเข้ามายึดอุปกรณ์และสิ่งของที่จะแจก เนื่องจากเห็นว่าประชาชนที่มารอรับการแจกเบียดเสียดจนไม่มีระยะห่าง อันจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นได้โดยง่าย

มีภาพข่าวผู้หญิงนางหนึ่งพยายามฆ่าตัวตายที่หน้ากระทรวงการคลัง เมื่อถูกปฏิเสธสิทธิของการรับแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ก่อนหน้านั้นมีภาพข่าวสาวร้อยเอ็ดนางหนึ่งนำเงินเยียวยา 5,000 บาท ไปลงทุนปลูกผัก เลี้ยงปลาและกบเพื่อมีกินอย่างยั่งยืน

ในเพจหนึ่งของเฟซบุ๊กมีข้อความโจมตี กทม.ที่แจกเมล็ดพันธุ์พืชแก่ประชาชนผู้ไร้บ้านและที่นอน วันเดียวกันก็มีภาพประชาชนยากจนอีกกลุ่มหนึ่งโชว์ภาพผักงอกงามในกระถางเล็กๆ

มีเรื่องราวของเด็กชายอายุ 10 ขวบปั่นจักรยานเร่ขายผักเพื่ออยู่รอด เปรียบเทียบกับเรื่องราวของเด็กแว้นกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมปรับตัวรับนิวนอร์มอล

สื่อทุกสายแพร่ภาพพระภิกษุทำอาหารแจกประชาชนผู้กำลังลำบาก ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีภาพข่าวตำรวจจับสึกพระนุ่งเหลืองห่มเหลืองมั่วสุมกันดื่มสุรา

ถัดมาไม่นานมีข่าว ผบก.น.7 สั่ง ผกก.สน.บางพลัด ดำเนินคดีนายตำรวจ 2 นาย (สังกัดจเรตำรวจ กับ สนง.ยุทธศาสตร์) ที่ถูกตำรวจ สน.บางพลัดไประงับเหตุ “ตั้งวงกินเหล้า” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

มีภาพของคน 2 คนที่น่ารังเกียจมาห้ำหั่นกันทางสื่อ ทั้ง 2 คนเป็นคนที่ไม่อยากเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่ว่าจะมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ฝ่ายหนึ่งคือ “เพนกวิน” ผู้อ้างว่าเป็นผู้แทนของนักศึกษาทั่วประเทศ อีกฝ่ายคือวุฒิสมาชิก เสรี สุวรรณภานนท์

ฝ่ายหนึ่งจะสร้าง “ม็อบออนไลน์” ต่อต้านรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนอีกฝ่ายต้องการรักษาสถานะเดิมของประโยชน์ที่ได้จากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน