วงค์ ตาวัน | เมาเหล้า-เมาอำนาจ

วงค์ ตาวัน

ในบรรดามาตรการต่างๆ ที่ออกมาจากรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิดนั้น มีกรณีเหล้า-เบียร์ เป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอื้ออึงมากเรื่องหนึ่ง ทั้งที่ไม่ควรเป็นเรื่องใหญ่ แต่กลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

ในประเด็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตและกระทบสิทธิส่วนบุคคล จากที่คนเห็นด้วยในช่วงแรก ต่อมากลายเป็นเสียงคัดค้าน

โดยทีแรกรัฐบาลได้สั่งปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ต่างๆ เพราะเป็นแหล่งมั่วสุมเฮฮา และมีการแพร่เชื้อ ถือว่าสมเหตุสมผล

ต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว พร้อมกับห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ส่วนนี้ก็ไม่มีใครคัดค้านอะไร เพราะรู้กันดีว่าเป็นการควบคุมเข้มข้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ปล่อยให้มีการละเล่นรื่นเริงไม่ได้ ปล่อยให้เดินทางกลับบ้านไปพบปะกับครอบครัวไม่ได้ และต้องไม่ขายเหล้า-เบียร์เพื่อหยุดการตั้งวงสังสรรค์ ถือว่าเป็นการสั่งห้ามที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความจริง

“ช่วงระหว่างปลายเดือนมีนาคม และตลอดเดือนเมษายน ไม่มีใครว่าอะไร!”

แต่พอเข้าเดือนพฤษภาคม เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่า ในท่ามกลางความยากลำบากของประชาชนที่ยอมร่วมมือกับมาตรการเก็บตัวอยู่ในบ้านนั้น ฝ่ายรัฐกลับไม่ได้สนอกสนใจจะเอื้ออำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนอยู่กับบ้านอย่างมีความสุข

“ค่าน้ำ ค่าไฟ อินเตอร์เน็ต แทนที่จะฟรี หรือลดราคาให้ก่อนเลย กลับไม่คิด จนต้องโวยวายกัน แล้วค่อยๆ ลดให้ทีละอย่าง เป็นไปโดยล่าช้ายิ่ง”

มาจนถึงเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ คนไทยดื่มกันเป็นจำนวนมาก แต่โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถึงกับดื่มอย่างเมามายไร้สติ

อีกทั้งการให้ดื่มลำพังภายในบ้าน ก็ชัดเจนว่าไม่ได้ส่งผลต่อการแพร่เชื้อใดๆ กลับยังตั้งท่าจะไม่ยอมให้จำหน่ายใดๆ อีก

“จึงเกิดข้อสงสัยว่า รัฐบาลใช้อำนาจเกินเลย ควบคุมประชาชนราวเด็กเล็กที่ยังคิดอะไรไม่เป็น และการไม่ให้ขายหมายถึงกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลที่จะดื่มระหว่างเก็บตัวภายในบ้าน”

ในหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ว่าอาจจะเหมือนดูดีมีฝีมือในการคุมคนป่วยและคนเสียชีวิต แต่อีกด้านการดูแลประชาชนไม่ให้อดตาย การประคองเศรษฐกิจเพื่อให้คนมีรายได้ กลับล้มเหลวและเหมือนไม่ใส่ใจ

การละเมิดสิทธิเรื่องการดื่ม จึงกลายเป็นอีกหัวข้อที่คนพูดถึงการตัดสินใจใช้อำนาจอย่างขาดความละเอียดอ่อนของรัฐบาลด้วย

แม้ว่าต่อมารัฐบาลจะยอมคลายกฎห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ โดยให้ซื้อไปดื่มในบ้านได้ แต่ก็มียกเว้นในบางจังหวัดอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล เหมือนมีหลายมาตรฐาน

แถมตามมาด้วยการข่มขู่ประชาชนแบบรายวันว่า ถ้าทำตัวไม่เรียบร้อยก็จะไม่ให้ดื่มกันอีกแล้วนะ!

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า เมื่อพูดถึงเหล้าเบียร์ หมายถึงสิ่งที่เป็นของชั่วร้าย เป็นอบายมุข ขัดศีลธรรม ทำลายสุขภาพ เพราะฉะนั้น ใครอยากให้ดูดีเป็นคนดี ก็ต่อต้านเครื่องดื่มพวกนี้ ได้ผลดีที่สุด

ขณะเดียวกัน ในสถานการณ์โควิด ทำให้ผู้มีหน้าที่ด้านสาธารณสุขได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเคียงข้างการทำงานร่วมกับรัฐบาล ในจำนวนนี้บางส่วนมีภารกิจด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง ไปจนถึงเชื่อมโยงกับองค์กรที่ต่อต้านเหล้า-เบียร์มาตลอด

“การสอดแทรกห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ จึงง่ายดายที่สุดในช่วงการหยุดยั้งโรคระบาดเช่นนี้”

ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา บางคนในเครือข่ายนี้ถึงกับดีใจอย่างออกหน้าว่า การห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ส่งผลดีอย่างมากต่อตัวเลขอุบัติเหตุเมาแล้วขับในสงกรานต์ปีนี้ ไม่ต้องตายกันเกลื่อนใน 7 วันอันตราย

“พร้อมกับปูทางไปถึงปีหน้าว่า สงกรานต์ครั้งต่อไป อาจจำเป็นต้องมีมาตรการทำนองเดียวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ ก็คงจะดีมากๆ”

ซึ่งหากย้อนดูในช่วงหลายปีมานี้ จะพบว่ามีความพยายามผลักดันให้งดจำหน่ายเหล้า-เบียร์ในเทศกาลหยุดยาวทั้งปีใหม่และสงกรานต์มาแล้ว แต่ไม่เป็นผล รัฐบาลไม่กล้าเอาด้วย เพราะกระทบกับสิทธิของประชาชนมากเกินไป

แต่ในสงกรานต์ปีนี้ เพราะมีโควิด จึงห้ามขายได้สำเร็จ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร เพราะร่วมมือกับการหยุดยั้งโรคระบาดอย่างเต็มที่

“งานนี้ก็เลยเข้าทำนองได้คืบจะเอาศอก เริ่มเกริ่นนำว่า สงกรานต์ปีหน้าก็น่าจะต้องทำ”

เชื่อได้เลยว่า บรรยากาศการถกเถียงขัดแย้งในเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องยิ่งแหลมคมมากขึ้น เพราะมีเรื่องราวความเป็นมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว เป็นอีกปมของสังคมไทย

ในเทศกาลหยุดยาวปีหน้า จะต้องต่อสู้กันอีกขนานใหญ่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมรับมือเอาไว้

ไม่ต่างจากที่เคยคิดห้ามการนั่งหลังรถกระบะอะไรเหล่านั้น จนโดนค้านถึงหูอื้อมาแล้วอย่างแน่นอน

ในวันแรกที่เริ่มให้เปิดขายเหล้า-เบียร์ตอนต้นเดือนพฤษภาคม เกิดภาพการแย่งยื้อซื้อกันในห้างสรรพสินค้าบางแห่ง มีการแชร์ภาพนี้ว่อนในโซเชียลและกล่าวกันทำนองว่า เป็นความไร้วินัยของคนไทย

ไปจนถึงกองเชียร์รัฐบาลออกมาเสียดสีว่า โวยวายกันว่าเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง จะอดตายไม่มีข้าวกิน แต่กลับแห่มาแย่งซื้อเหล้า-เบียร์

ทั้งที่ความจริงแล้ว เป็นเหตุการณ์ในห้างค้าส่ง ที่แย่งกันนั้นเป็นพวกยี่ปั๊ว ซาปั๊ว มาซื้อกันหลายๆ กล่อง หลายๆ ลัง

“ไม่ใช่ภาพชาวบ้านทั่วไปที่เสียดสีกันว่า ไม่มีเงินกินข้าวแต่มีเงินมาแย่งซื้อเหล้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น!!”

อย่างว่า ในสังคมไทยนั้น อยากดูดีมีศีลธรรม ก็แค่ลุกมาต้านการดื่มการขายเหล้าเบียร์ง่ายที่สุด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็รีบหยิบภาพการแย่งซื้อเหล้า-เบียร์มาขยายมาข่มขู่คนไทยว่า ถ้ายังแย่งกันแบบนี้ จะยกเลิกคำสั่งให้ขายแล้ว ไม่ต้องซื้อดื่มกันอีกแล้ว

ไปจนถึงอ้างว่า หลังจากเปิดขายเหล้าเบียร์ ก็เริ่มมีคนฝ่าฝืนเคอร์ฟิว มีการมั่วสุมกันเพิ่มมากขึ้น

กล่าวกันว่า ที่รัฐบาลหรือ ศบค.หยิบยกเรื่องเหล้า-เบียร์มาแสดงท่าทีไม่พออกพอใจ ส่วนหนึ่งก็ทำให้รัฐบาลดูดีเข้าตาคนมีศีลธรรมง่ายที่สุด

“เอาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาป่าวประณาม กลบเกลื่อนปัญหาขาดประสิทธิภาพการเยียวยา 5 พันบาทได้ง่ายอีกด้วย”

ไปจนถึงกลบเกลื่อนเรื่องคนฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีกิน ไม่มีปัญหาเงินรายได้ ซึ่งเกิดขึ้นมากมายรายวันไปพร้อมๆ กันด้วย

“แม้แต่เหตุหญิงสาววัย 20 วาดรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนผูกคอตาย ที่ยังสร้างผลสะเทือนมากมาย”

คิดอะไรไม่ออก ก็งัดเอาเหล้า-เบียร์สัญลักษณ์สิ่งเลวร้าย มาใช้สร้างภาพกันง่ายที่สุด

ทั้งที่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ และการดื่มในบ้านไม่กระทบสังคมส่วนรวม ไม่มีผลต่อการแพร่โควิดอย่างแน่นอน

สั่งห้ามขายเหล้า-เบียร์เมื่อไร ก็คือการส่งเสริมร้านค้าที่กักตุน แล้วปล่อยขายตลาดมืดราคาแพงลิบ

ทั้งยังสนองการใช้อำนาจของรัฐบาล ที่ไม่คำนึงถึงสิทธิส่วนตัว และสนุกสนานกับการออกคำสั่ง เสมือนประชาชนเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ที่คิดอะไรไม่เป็นอีกด้วย

เรื่องเหล้า-เบียร์ จึงไม่แค่เป็นปัญหาของนักดื่มเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของคนรักสิทธิเสรีภาพ ที่เริ่มรับไม่ได้กับการใช้อำนาจเกินขอบเขตเพื่อกลบความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในสถานการณ์โควิดนี้อีกด้วย