คำ ผกา | ความสุขบนความตายของฟาสซิสต์

คำ ผกา

ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ และการรักษาระยะห่างทางสังคม แม้จะต้องมีการปิดร้านค้า ร้านชำ ห้างสรรพสินค้า หลายประเทศระบุชัดเจนว่า ร้านจำหน่ายสุราต้องเปิด แต่กำหนดให้ซื้ออย่างมีระยะห่าง เช่นเดียวกับการเข้าไปซื้อข้าว-ของอื่นๆ หรือสนับสนุนให้สั่งซื้อจากร้านแล้วนำไปส่งที่บ้าน

เหตุที่ต้องเน้นเป็นพิเศษให้ร้านขายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องเปิด (ในระดับที่มีความสำคัญเท่ากับร้านขายยา) เนื่องด้วยรัฐเห็นว่า ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ และการรักษาระยะห่างทางสังคมนั้น จะทำให้ผู้คนมีความเครียดเพิ่มขึ้น

การดื่มเล็กๆ น้อยๆ ช่วยผ่อนคลายจากบรรยากาศที่ไม่ได้ออกจากบ้านไปออกกำลังกาย ไปเจอเพื่อนฝูง ไปกินอาหารนอกบ้าน

และเหตุผลที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นเหตุผลของประเทศที่สมาทานแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยแนวทางที่เรียกว่า Harm reduction นั่นคือ การปฏิบัติต่อผู้ที่เสพติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งในฐานะ “ผู้ป่วย” – ไม่ใช่อาชญากร ไม่ใช่คนเลวชั่วช้า

หลักใหญ่ใจความของ Harm reduction ไม่ใช่จับคนติดยาไปอดยา จับคนติดเหล้าไปอดเหล้า แต่หมายถึงการทำให้ผู้ติดยา หรือผู้ติดเหล้า ได้รับผลกระทบทางสุขภาพน้อยที่สุดจากการติดยา หรือติดเหล้าของเขา

ในระดับที่ใหญ่ขึ้นคือ ทำอย่างไรให้สังคมได้รับผลกระทบทั้งทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจจากการติดยา และติดเหล้าของเขาน้อยที่สุด

มาตรการ Harm reduction จึงเป็นเรื่องของการปรับพฤติกรรมของผู้ “เสพ” ให้ปลอดภัยต่อตนเอง และต่อผู้อื่น อันนำมาสู่แนวปฏิบัติหลายประการที่สังคมไทยรับไม่ได้ เข้าใจไม่ได้

เช่น รัฐจัดให้มีจุดให้บริการเข็มและอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้สารเสพติดที่ต้องมีเข็ม

เหตุที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อผู้ใช้เข็มจะได้ปลอดภัยจากการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น

ทําไมต้องเอาภาษี เงินงบประมาณไปดูแลปกป้องขี้ยา? คนไทยก็ชอบตั้งคำถามแบบนี้ ซึ่งคำตอบมันง่ายมากคือ ระหว่างดูแลผู้ติดยาอย่างเดียวกับดูแลผู้ติดยาด้วย ติดเชื้อตับอักเสบด้วย และคนติดเชื้อนั้นสามารถเอาเชื้อไปติดคนอื่นด้วย การดูแลอันไหนจะมีภาระน้อยกว่ากัน

คำตอบง่ายๆ คือ การดูแลผู้ติดยาอย่างเดียว ยังไม่นับกระบวนการดูแลผู้เสพยาให้ได้ยาโดยปลอดภัย ยังนำมาซึ่งการขยายผลไปสู่การนำเขาเข้าสู่กระบวนการดูแลสุขภาพ เรียนรู้การใช้ยาในโดสที่เหมาะสม ปลอดภัย สามารถทำงาน ทำมาหากินได้ อยู่ในสังคมได้

ผลทางอ้อมคือ เขาอาจได้ความภูมิใจในตัวเองกลับมา และท้ายที่สุด อาจจะไม่ต้องไปพึ่งพิงการใช้ยาอีกเลย

แต่ถึงแม้มันจะไม่นำไปสู่จุดที่เขาเลิกพึ่งพิงยา

แต่อย่างเลวที่สุดก็คือ ภาระทางสาธารณสุขน้อยกว่า การปล่อยให้ผู้ใช้ยาใช้อย่างไม่ปลอดภัย ไปติดโรค เอาโรคไปติดคนอื่น

หรือเกิดอาการลงแดง เจ็บป่วยต่อเนื่อง

อธิบายเรื่อง Harm reduction มายาว ก็เพื่อจะบอกว่า ประเทศที่สมาทานแนวคิดนี้จะไม่สั่งห้ามการจำหน่ายสุรา เพราะมันจะไปกระทบต่อนโยบาย Harm reduction ของผู้ติดเหล้า และในระยะยาว สิ่งนี้จะเป็นภาระทางสาธารณสุขมากกว่า

แนวทาง Harm reduction ในไทย เป็นสิ่งที่กระทรวงยุติธรรม และสาธารณสุข ร่วมกับภาคประชาสังคม พยายามทำกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี แต่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจาก “สังคมไทย” เลยแม้แต่น้อย

แม้จะมีข้าราชการที่มีความคิดก้าวหน้าทันสมัยผลักดันพยายามทำแต่มันก็ช่างเป็นเรื่องที่ “คนไทยไม่เอาด้วย” อย่างเหลือเชื่อ

ไม่ต่างอะไรจากการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต, การทำแท้งถูกกฎหมาย, การค้าประเวณีถูกกฎหมาย, การสร้างเมืองกาสิโนถูกกฎหมาย, การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน, การยกระดับคุณภาพชีวิตของนักโทษในคุก

อย่าว่าแต่เรื่องใหญ่ๆ แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ เช่น การยกเลิกการบังคับ (อ่านดีๆ นะ ไม่ใช่การยกเลิกเครื่องแบบ แต่คือการยกเลิกการบังคับ) ทรงผม

เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา

แม้แต่เรื่องแบบนี้ที่ยืนอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่สุด ก็ยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสังคม

ฉันใช้คำว่า “เสียงส่วนใหญ่” ไม่ได้หมายถึงการโหวต แต่คือการประสานเสียงของสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น “กระแสหลัก” ของสังคม

พลันที่เราพูดเรื่องการยกเลิกโทษประหาร ก็จะมีเสียงประสานกระหึ่มออกมาว่า

“เอานักโทษพวกนี้ไปเลี้ยงบ้านมึงสิ”

“คนทำชั่วเสือกจะได้รับการดูแลดีๆ”

“เอาภาษีคนดีๆ ไปดูแลขี้ยา”

“ทำแท้งถูกกฎหมาย เดี๋ยวเด็กก็เอากันสนุก”

ฯลฯ

สังคมไทยที่เป็น “กระแสหลัก” นั้นเป็นสังคมขวาจัด ไม่ใช่ขวาจัดธรรมดา แต่เป็นขวาแบบ fundamentalist และคงไม่เกินกว่าเหตุถ้าฉันจะบอกว่าสังคมไทยนั้นคุ้ยไปให้ลึกที่สุดคือมีจิตวิญญาณของฟาสซิสต์นาซีจนนับเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้

เพื่อนของฉันคนหนึ่งบอกว่า ที่คนไทยชอบติดรูปฮิตเลอร์ หรือพาเหรดนักเรียนชอบถือธงสวัสดิกะ นั้นไม่ใช่เพราะขาดความรู้เรื่องนาซี

แต่เพราะลึกๆ แล้วชื่นชอบ ชื่นชม เห็นดีเห็นงามกับความคิดฟาสซิสต์นั่นแหละ

แนวคิดขวาจัดฟาสซิสต์นี้อธิบายเป็นภาษาชาวบ้านได้ง่ายคือ มันเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า เราสร้างสังคมที่สะอาด เอี่ยมอ่อง ไร้รอยตำหนิได้

สังคมสะอาดเอี่ยมอ่อง คือสังคมแบบไหน?

ก็สังคมแบบในหนังสือเรียนภาษาไทย มานีมานะปิติชูใจ ถ้าแปรภาพสังคมสะอาดเอี่ยมอ่องเป็นภาพวาดโฆษณาชวนเชื่อล้างสมองของแนวคิดฟาสซิสต์ ก็จะเป็นภาพวาดประมาณบ้านหลังน้อยกลางท้องทุ่งสีเขียวขจี มีภูเขา มีต้นไม้ มีนกอยู่บนฟ้า หลังบ้านมีแปลงผักสวนครัว รั้วบ้านกินได้ หน้าบ้านมีต้นไม้ ดอกไม้ สะอาดสะอ้าน

ส่องเข้าไปในบ้าน เป็นครอบครัว พ่อ แม่ ลูก อาจมีปู่ มีตา มีย่า มียาย มีหมา มีแมว มีสัตว์เลี้ยงที่ซุกซนแต่น่ารัก

กิจกรรมในบ้าน อาจเป็นภาพคุณยายเย็บกระทงใบตอง ร้อยมาลัย เล่นกับหลานที่ยังคลานอยู่

แม่หน้าตาอ่อนหวาน เหมือนทั้งชีวิตไม่เคยโกรธใครเลย กำลังเย็บผ้า หรือไม่ก็ทำอาหาร

มีควันไฟลอยกรุ่นๆ อยู่เหนือเตา คุณพ่อ แต่งตัวเรียบร้อย รัดกุม ใส่แว่นดูภูมิฐาน กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ หรือไม่ก็เล่นกับหมา สอนการบ้านลูกคนโต

ถ้าถ่ายทอดออกมาเป็นเสียงได้ ก็จะได้ยินเสียงแม่อ่อนหวาน พูดจาไพเราะ พ่อเสียงทุ้มสงบ แฝงแววเด็ดขาดนิดๆ ถ้าลูกซุกซน ทว่าเปี่ยมเมตตา

คุณย่าคุณยายคือความใจดีอันหาที่สุดไม่ได้และตัวแทนของอดีตอันแสนงดงาม

ฟาสซิสต์ล้างสมองเราด้วยสิ่งนี้ และใดๆ ที่ไม่งดงามเยี่ยงนี้ คือสิ่งที่ต้องถูกดัด (สันดาน) ถ้าดัดไม่ได้ ไม่รักดี สถานีข้างหน้าคือต้องถูกทิ้งทำลาย เพื่อไม่ให้เป็น “เชื้อร้าย” ส่งต่อไปยังคนอื่น

ฟาสซิสต์สั่งเราว่านี่คือ “ความดี” ดังนั้น ทุกคนจงทำดี จงทำดี ฟาสซิสต์ไม่ได้ไม่เชื่อในความ “หลากหลาย” ของมนุษย์

แต่ฟาสซิสต์ต้องการ “ทำลาย” ความหลากหลาย และ “คัดให้เหลือ” แต่ “ความดี” ที่ฟาสซิสต์นิยามให้เท่านั้น

เฉกเช่นเดียวกับที่นาซีนิยามว่ายิวและยิปซีคือ “เชื้อโรค” ที่จะ contaminate มนุษยชาติ จึงต้องจับไปรมก๊าซทิ้งให้หมด

กวาดมนุษย์พันธุ์ที่จะ contaminate สังคมออกไปจนเกลี้ยงเกลาหมดจดแล้วนั่นแหละ ท้องฟ้าจะเรืองรองผ่องอำไพ

บ้านทุกหลังจะเป็นบ้านหลังน้อยกลางท้องทุ่งเขียวขจีดีงามปราศจากตัวพาหะนำความชั่วมาสู่สังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ต่อไปนี้สังคมก็จะมีแต่คนดีๆ คนดีๆ ไปโรงเรียนด้วยกัน อยู่ในชุมชนร่วมกัน

แต่งงานกันก็ออกลูกมาเป็นคนดีๆ ไม่ต้องกังวลว่าลูกเราจะไปติดเชื้อชั่วมาจากใคร เพราะคนชั่วถูก “กำจัด” ไปหมดแล้ว

สังคมไทยกระแสหลักเป็นสังคมที่ถูกทำให้เชื่อมั่นในแนวทางแบบฟาสซิสต์ นั่นคือเชื่อว่า สังคมจะ “ดี” ได้ต้องทำสองอย่างคือ หนึ่ง เปลี่ยนคนชั่วให้เป็นคนดี (แบบเรา) สอง ถ้าคนชั่วนั้นไม่ยอมเปลี่ยนให้ “กำจัด” มันออกไป เช่น เอามันๆปขังคุก เอามันไปฆ่า เอามันไปลงโทษ ไล่มันออกนอกประเทศ

ดังนั้น “หน้าที่” ของคนดีจึงต้องเที่ยวไปเทศนาสั่งสอน “คนชั่ว” ให้เปลี่ยนใจ กลับตัวกลับใจ และยิ่งเทศนา ก็ยิ่งรู้สึกว่า ความเป็นคนดีของตนเองมันดีขึ้น นอกจากเที่ยวไปเทศนาสั่งสอนแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่เป็น “ยาม” คอยจับตาดูว่ามีใครแอบ “ทำชั่ว” ที่ไหน ถ้าเจอก็ต้องประจาน ลงโทษ แจ้งตำรวจ แจ้งรัฐบาล ใช้ศาลเตี้ยได้ก็ใช้ ประชาทัณฑ์ได้ประชาทัณฑ์

รัฐบาลฟาสซิสต์จึงชอบบอกประชาชนว่า “โปรดเป็นหูเป็นตาให้กับเรา”

สังคมในจินตนาการของฟาสซิสต์ จึงไม่ใช่สังคมที่บริหารการอยู่ร่วมกันของความ “ไม่สมบูรณ์แบบ” ของมนุษย์ให้ผาสุกและมีความเป็นธรรม อีกทั้งพื้นที่สำหรับ “ความบกพร่อง” ทุกประการของมนุษย์ เพราะแค่เป็นมนุษย์ก็มีคุณค่าด้วยตัวของมันเองโดยไม่ต้องเป็นอะไรไปให้มากกว่านี้

ตรงกันข้าม สังคมในจินตนาการของฟาสซิสต์ คือสังคม “ปลอดเชื้อ”

ใดๆ ที่เป็น “เชื้อโรค” เป็น “พาหะนำโรค” เป็น “สิ่งแปลกปลอม” ต้องถูก “กำจัด” เพื่อคงสภาพสังคมสะอาดๆ ปลอดเชื้อ ต้องพาสเจอไรซ์กันตลอดเวลา

ในจินตนาการของฟาสซิสต์ ปัญหาสังคม เช่น อาชญากรรม, ยาเสพติด, ความรุนแรงในครอบครัว, ปัญหาวัยรุ่น ฯลฯ คือ “โรคร้าย”

คนที่ประกอบอาชญากรรม คนเสพยา คนที่กระทำความ “ผิด” ในรูปแบบต่างๆ คือ “เชื้อโรค”

สิ่งที่ฟาสซิสต์เฝ้าใฝ่ฝันหาคือ วิธีที่จะทำให้สังคมดีขึ้นได้เร็วๆ คือ ฆ่าเชื้อโรคให้หมด หรือเอาไปลงโทษให้แรงที่สุด จนเชื้อโรคนั้น “เชื่อง” และเลิกเป็นเชื้อโรค แต่ถ้าเชื้อโรคแรงๆ ต้อง “ฆ่า” เท่านั้น

หน้าที่ของรัฐบาลในความใฝ่ฝันของสังคมฟาสซิสต์ ไม่ใช่รัฐบาลที่จะไปสร้าง “ความสุข” ให้กับประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกยากดีมีจน ไม่เลือกว่าเป็นคน “ดี” หรือ “ไม่ดี” แต่ฟาสซิสต์เห็นว่าหน้าที่ของรัฐบาลคือการ “ฆ่า” เชื้อโรค

ฟาสซิสต์ต้องการมีรัฐบาลไว้เพื่อ “ปราบคนพาล อภิบาลคนดี”

ฟาสซิสต์เห็น “คนชั่ว” ถูกฆ่าแล้วจะฟินมาก สารแห่งความสุขจะหลั่ง สามารถยืนยิ้ม ยืนหัวเราะ ยืนเอาเก้าอี้ฟาดศพคนชั่วด้วยความสะใจได้

สังคมไทยกระแสหลักเป็นแบบนี้ เป็นฟาสต์ซิสต์ทั้งตัว หัวใจ และจิตวิญญาณ อีกทั้งยังปราศจากความละอาย และภูมิใจในความเป็นฟาสซิสต์ของตนเองอย่างสูงยิ่ง

ต้นธารของฟาสซิสต์ไทยนั้นเมื่อครองอำนาจแล้วได้เจียดทรัพยากรส่วนหนึ่งให้กลุ่มคนที่ต่อมากลายเป็น “ชนชั้นกลาง” ได้ครอบครองบ้าง เพื่อให้คนเหล่านี้เป็น “ผู้สนับสนุนฟาสซิสต์” เช่น ให้เข้าไปได้รับการศึกษาสักนิด, ให้ได้ทำการค้าสักหน่อย, ให้ได้เป็นข้าราชการ ให้รางวัลในฐานะศิลปินสักหน่อย ให้ได้ไปเฉียดกราย รู้สึกเหมือนอยู่ใน “แวดวง” ของ “คนดี”

ผู้กลายมาเป็นฟาสซิสต์ supporters เหล่านี้ จึงเข้าใจผิดว่า ตนเองได้ดิบได้ “ดี” เพราะขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ ไม่ข้องแวะอบายมุข อดทน ตั้งใจเรียน มาจากครอบครัวชาวบ้าน ไม่ร่ำรวย ก็ได้ดีได้

พวกเขาไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า ตนเองเป็นแค่กลไกหนึ่งของขบวนการสร้างสังคมนิยมอุดมการณ์ฟาสซิสต์ และจะถูกยืมมือมาฆ่าประชาชนด้วยกันเองในสักวันหนึ่ง

คำขวัญที่สะท้อนจิตวิญญาณฟาสซิสต์ไทยคือ “จน เครียด กินเหล้า” – ฟาสซิสต์ลูกกระจ๊อกไทยถูกล้างสมองว่า โรคร้ายของประเทศคือความจน และคนจน

เหตุที่คนมันจน เพราะคนเหล่านี้เป็นคน “ไม่ดี” คนเหล่านี้ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ขี้เกียจ รักสบาย ไม่ซื่อสัตย์ ชอบเอาเปรียบนายจ้าง ร้อยเล่ห์เพทุบาย มายาสาไถย (จะกินยาตายทำไมกินนิดเดียว แน่จริงกินหมดซองสิ)

เห็นแก่ได้ โลภ ชอบของฟรี

เมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล และได้รับความลำบาก ฟาสซิสต์ลูกกระจ๊อกแสนกระจอกเหล่านี้ก็จะออกมาเซ็งแซ่ว่า อยากจน อยากขี้เกียจ อยากโง่ อยากไม่รู้จักออม แล้วจะมาตายใส่รัฐบาล อีชั่ว อีเลว

ทันใดนั้น ฟาสซิสต์ลูกกระจ๊อกก็จะเห็นว่า เฮ้ เลิกขายเหล้ากันเถอะ อีพวกคนจนกินเหล้า ไม่ทำมาหากิน มีจิตวิญญาณอ่อนแอ ไม่อาจต้านทานต่อแรงยั่วยุของสิ่งชั่วร้ายได้ (ไม่เหมือนพวกเรา ที่กินเหล้าได้ ทำอะไรก็ได้ เพราะรู้จักระวัง พิสูจน์ได้จากที่เราไม่จนไง เพราะตอนเราเด็กๆ เรามีวินัยตั้งใจเรียน ขยันทำงาน แล้วเก็บออมง่ะ เรามี strong will power ว้อยยย)

ตอนนี้ฟาสซิสต์ลูกกระจ๊อกได้โอกาสร้องระงม อยากให้ “ลูกพี่” เห็นหัวตัวเอง ด้วยการออกมาทำหน้าที่ fascist ที่เข้มแข็งมาก โดยการออกมาด่าคนจน ด่าคนกินเหล้า ด่าคน “ไม่ดี” และเร่งเร้าให้ลูกพี่ออกกฎระเบียบอะไรมาก็ได้เพื่อบูลลี่เพื่อนร่วมชาติที่ไม่สมาทานนิยาม “คนดี” เหมือนกันกับตน

และหนึ่งในนิยาม “คนดี” ของพวกฟาสซิสต์ลูกกระจ๊อกคือ การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ เพราะเป็นรัฐบาลประเภทเดียวที่จะทำให้ฟาสซิสต์ฟินได้จากการ “ปราบคนพาล อภิบาลคนดี”

ความตายของ “ผู้ซึ่งเป็นอื่น” จึงหมายถึงนิพพานของฟาสซิสต์