ต่างประเทศ : ทรานส์-ทาสมัน ทราเวล บับเบิล อนาคตการท่องเที่ยวหลังโควิด-19?

วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส โคฟ-2 ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ยังคงไม่จบสิ้น การเดินทางระหว่างประเทศยังคงถูกจำกัดอย่างเข้มงวด

ความหวังที่จะเปิดเศรษฐกิจในประเทศที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นเสาหลักอย่างประเทศไทยเรานั้น ดูเหมือนจะมีความหวังมากขึ้น

เมื่อออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กำลังหารือถึงการเปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันได้อีกครั้ง ผ่านแผนการที่เรียกว่า “ทรานส์-ทาสมัน ทราเวล บับเบิล” ระเบียงการท่องเที่ยวระหว่างสองชาติที่อาจมีขึ้น เมื่อแนวโน้มการแพร่ระบาดในสองประเทศดีขึ้นต่อเนื่องต่อไปอย่างเช่นในเวลานี้

นโยบายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ซึ่งเปรียบได้กับการเดินทางไปมาหาสู่ภายใน “เกราะป้องกัน” ของ “ฟองสบู่” เนื่องจากการเดินทางระหว่างชาติอื่นๆ ยังคงถูกจำกัดเช่นเดิมนั้น

ได้รับการคาดหมายว่าอาจกลายเป็นโมเดลสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวให้กับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก

 

จุดเริ่มต้นของมาตรการดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ประกาศปิดพรมแดนอย่างสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในสองประเทศที่มีทะเล “ทาสมัน” กั้นระหว่างกัน เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

บรรดานักการเมืองของสองชาติก็เริ่มหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดพรมแดนระหว่างกันแล้วในเวลานี้

สกอตต์ มอริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ออกมาพูดถึงข้อเสนอดังกล่าวแล้วด้วยว่า หากออสเตรเลียจะเปิดพรมแดนเชื่อมต่อกับโลกได้ ประเทศแรกที่ออสเตรเลียจะเปิดให้ก็คือนิวซีแลนด์

ขณะที่จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ก็ระบุว่า นิวซีแลนด์อยากมีส่วนร่วมในเรื่องนี้แน่นอน แต่สิ่งที่ต้องเน้นในเวลานี้ก็คือ สองประเทศจะต้องมั่นใจว่าสถานการณ์การจัดการโควิด-19 ในประเทศจะอยู่ในจุดที่มั่นใจได้ว่าสามารถเปิดชายแดนระหว่างกันได้แล้ว

แม้เวลานี้จะยังไม่ชัดเจนว่า “ระเบียงการท่องเที่ยว” ดังกล่าวจะกลายเป็นความจริงได้เมื่อใด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคาดการณ์เอาไว้ว่าเดือนสิงหาคม

ช่วงเวลาที่เป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากในนิวซีแลนด์เป็นฤดูกาลเล่นสกี และพอดีกับช่วงปิดเทอมในเดือนถัดไป

 

สําหรับเหตุผลที่นิวซีแลนด์และออสเตรเลียต่างเลือกกันและกันในการเปิดชายแดนระหว่างกันนั้นมีอยู่หลายข้อด้วยกัน

หนึ่งคือ ออสตรเลียและนิวซีแลนด์ สองชาติซึ่งมีชายแดนที่เป็นทะเลทาสมัน ความยาว 2,000 กิโลเมตรกั้นเอาไว้ เป็นสองชาติที่มีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ใกล้ชิดกันมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ถือหนังสือเดินทางออสเตรเลียสามารถเดินทางเข้าและทำงานในนิวซีแลนด์ได้โดยไม่จำกัดเวลา และไม่ต้องขอวีซ่า เช่นเดียวกันกับผู้ถือพาสปอร์ตนิวซีแลนด์ ที่ทำในทางกลับกันได้เช่นกัน

เหตุผลที่สองคือ ทั้งสองชาติพึ่งพากันอย่างมากในแง่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้านิวซีแลนด์เป็นชาวออสเตรเลียคิดเป็นสัดส่วนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในนิวซีแลนด์ ชาวออสเตรเลียใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วนถึง 24 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ในออสเตรเลีย นักท่องเที่ยวนิวซีแลนด์คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวนิวซีแลนด์คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด

แม้นโยบายดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการหารือ แต่ก็มีการคาดการณ์กันออกมาบ้างแล้วว่า “ทราเวล บับเบิล” อาจส่งผลให้ต้องเกิดมาตรการใหม่ๆ ที่เป็น “นิวนอร์มอล” เช่น สนามบินอาจต้องตรวจเชื้อโควิด-19 นักท่องเที่ยวทุกคนก่อนอนุญาตให้ขึ้นบิน ต้องมีการตรวจอุณหภูมิที่สนามบินทุกครั้ง และนักท่องเที่ยวอาจต้องให้ข้อมูลกับสายการบินเพิ่มมากขึ้นเพื่อการสอบสวนโรคที่ง่ายขึ้น

และที่แน่นอนที่สุด “ทราเวล บับเบิล” จะได้ผลก็ต่อเมื่อมาตรการการกักโรค 14 วันของนักท่องเที่ยวที่มีระหว่างกันจะต้องยกเลิกลงไป

 

ขณะที่หลังจากนั้นหากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ดำเนินมาตรการ “ทราเวล บับเบิล” ได้ผล “ฟองสบู่การเดินทาง” ขยายจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ให้ชาติอื่นๆ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง รวมไปถึงบรรดาประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้อย่างหนักเช่นกัน เข้ามาอยู่ใน “ฟองสบู่การท่องเที่ยว” ลูกเดียวกันนี้ได้

และนั่นจะทำให้ข้อตกลงนี้กลายเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกได้

แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะไม่กลับมาเท่ากับสถานการณ์ก่อนหน้าการแพร่ระบาด เนื่องจากผู้คนจะเน้นไปที่การท่องเที่ยวในประเทศก่อนเป็นหลัก

แต่ “ทราเวล บับเบิล” ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเริ่มเปิดพรมแดนกับชาติที่สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง

อย่างน้อยๆ ก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุน ให้เศรษฐกิจค่อยๆ กลับมาเริ่มเดินหน้าได้อีกครั้ง ในช่วงเวลาที่โลกกำลังรอการคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานนับปี

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก นิวซีแลนด์และออสเตรเลียจะต้องระมัดระวังในทุกย่างก้าวเพื่อไม่ให้โควิด-19 แพร่ระบาดอีกครั้งเป็นระลอกที่ 2 ทั้งในเวลานี้และในอนาคต