คนมองหนัง : สีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 27 การหายไปของรางวัล “ศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม”

คนมองหนัง
ภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก Season Awards

ประกาศออกมาแล้ว สำหรับรายนามศิลปินในแวดวงดนตรีที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล “สีสัน อะวอร์ดส์” ครั้งที่ 27 ประจำปี 2558 จัดโดยนิตยสารสีสัน

น่าสนใจว่า ในครั้งนี้ สาขารางวัลลดลงเหลือเพียง 9 สาขาเท่านั้น ได้แก่ ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม, ศิลปินคู่หรือกลุ่มยอดเยี่ยม, ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม, อัลบั้มยอดเยี่ยม, โปรดิวเซอร์ยอดเยี่ยม, เพลงยอดเยี่ยม, เพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม, เพลงร็อกยอดเยี่ยม และเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม

โดยสาขารางวัลที่หายไปใน “สีสัน อะวอร์ดส์” ครั้งที่ 27 ก็คือ ศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม, อัลบั้มร็อกยอดเยี่ยม และศิลปินกลุ่มร็อกยอดเยี่ยม

การลดสเกลลงไปสู่การจัดประกาศรางวัลแค่ 9 สาขา ถือเป็นจำนวนที่เทียบเท่ากับ “สีสัน อะวอร์ดส์” ครั้งที่ 6-7-8 ประจำปี 2536, 2537 และ 2538 ตามลำดับ

ขณะที่ “จุดพีกสุด” ทางด้านจำนวนสาขารางวัล เคยเกิดขึ้นในการประกาศรางวัลครั้งที่ 9 (พ.ศ.2539), ครั้งที่ 12 (พ.ศ.2542), ครั้งที่ 14 (พ.ศ.2544), ครั้งที่ 18 (พ.ศ.2548) และครั้งที่ 19 (พ.ศ.2549) ซึ่งมีการมอบรางวัลกันถึง 14 สาขา


สําหรับสาขารางวัลที่สูญหายไปแล้วอย่างถาวร ก็คือ รางวัลศิลปินหญิงร็อกยอดเยี่ยม (ที่ต่อมาถูกควบรวมกับรางวัลศิลปินชายร็อกยอดเยี่ยม กลายเป็นรางวัลศิลปินร็อกยอดเยี่ยม) และรางวัลศิลปินฮิปฮอปยอดเยี่ยม

แต่เมื่อผนวกกับสาขารางวัลที่ (อาจ) หายไปชั่วคราว ในการประกาศรายนามผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลครั้งล่าสุด ก็ส่งผลให้งาน “สีสัน อะวอร์ดส์” คล้ายจะต้องย้อนกลับไปยังยุคก่อร่างสร้างตัวช่วงกลาง-ปลายทศวรรษ 2530 อีกครั้งหนึ่ง สอดคล้องกับสภาพธุรกิจเพลงไทยซึ่งหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

การขาดหายไปของรางวัลอัลบั้มร็อกยอดเยี่ยมและศิลปินกลุ่มร็อกยอดเยี่ยม อาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องจำนวนและความหลากหลายของตัวผลงาน ซึ่งถูกผลิตออกมาจากระบบอุตสาหกรรมดนตรียุคร่วงโรย

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวให้ตรงไปตรงมาแล้ว รางวัลทั้งสองสาขายังจัดเป็นรางวัลใน “หมวดหมู่ย่อย” ที่สามารถล้มหายตายจากได้ ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง (เช่นเดียวกับรางวัลศิลปินหญิงร็อกและรางวัลศิลปินฮิปฮอป)

ที่น่าครุ่นคิดยิ่งกว่า เห็นจะเป็นการหายไปของรางวัลใน “หมวดหมู่หลัก” อย่างรางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม (ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการหายตัวไปอย่างชั่วคราวหรือถาวร?)


ตลอดระยะเวลาที่นิตยสารสีสันจัดให้มีการมอบรางวัล “สีสัน อะวอร์ดส์” มา 27 ครั้ง มีเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น ที่ไม่มีการมอบรางวัลในสาขาศิลปินหญิงเดี่ยว คือ ในการมอบรางวัลครั้งที่ 3 ประจำ พ.ศ.2533 และครั้งที่ 27 ประจำ พ.ศ.2558

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ปัญหาของ “สีสัน อะวอร์ดส์” เอง แต่น่าจะเป็นปัญหาหรือลักษณะอาการร่วมสมัยของอุตสาหกรรมเพลงไทยยุคปัจจุบันมากกว่า

น่าคิดว่า ถ้าพิจารณาผลการประกาศรางวัลทางดนตรี ที่ถือเป็น “กระแสหลัก” และ “เจ้าใหญ่ๆ” ของทางยุโรปและอเมริกา อาทิ บริต อะวอร์ดส์ และแกรมมี่ อะวอร์ดส์ นับแต่ ค.ศ.2010 เป็นต้นมา

ดูเหมือน “ศิลปินหญิงเดี่ยว” จะสามารถกวาดรางวัลสาขาหลักไปครองได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเป็น “อะเดล” หรือ “เทย์เลอร์ สวิฟต์”

แต่ในกรณีของไทย ศิลปินหญิงเดี่ยวกลับค่อยๆ เลือนหายไปจากสารบบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพลงเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ (ไม่ว่าจะในรูปแบบซีดีที่เหลือน้อยลงทุกที หรือในรูปแบบอัลบั้มเพลงที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์)

เหลือเพียงการออกผลงานเป็นซิงเกิล, การเข้าร่วมรายการประกวดร้องเพลงทางทีวี ทั้งในฐานะผู้เข้าประกวด โค้ช และกรรมการ หรือการขึ้นเวทีคอนเสิร์ตด้วยสถานะ “ดีวาส์”

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว “สุนทรี เวชานนท์” ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล “สีสัน อะวอร์ดส์” สาขาศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก จากอัลบั้มชุด “เพลงกล่อมโลก” ก็บอกว่าผลงานชุดนั้นอาจเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของเธอ

เชื่อว่าบุคลากรในอุตสาหกรรมดนตรี (ซึ่งลดจำนวนลงไปเยอะ) คงพอจะตระหนักได้ว่า อะไรคือบ่อเกิดอันนำมาสู่ลักษณะอาการดังกล่าว


รายชื่อศิลปินผู้เข้ารอบสุดท้าย 
“สีสัน อะวอร์ดส์” ครั้งที่ 27 ประจำปี 2558


ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม

ชลาทิศ ตันติวุฒิ จากอัลบั้ม “9 (ในที่สุด)”, พีระพัฒน์ เถรว่อง จากอัลบั้ม b3, ทศพร อาชวานันทกุล (ซิน) จากอัลบั้ม Melancholy และ ธีร์ ไชยเดช จากอัลบั้ม Robin

ศิลปินคู่หรือกลุ่มยอดเยี่ยม

สเลอร์ จากอัลบั้ม B, 25 อาวเออร์ส จากอัลบั้ม Mom & Pop Shop, เครสเซนโด จากอัลบั้ม “อัตตวิถี”, สมเกียรติ จากอัลบั้ม _Sara และ เดอะ เยอร์ส จากอัลบั้ม You

ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม

บลูส์รีรัมย์ แบนด์ จากอัลบั้ม Blues-riram, โซลิจูด อิส บลิสส์ จากอัลบั้ม Her Social Anxiety, สมเกียรติ จากอัลบั้ม _Sara, เคาน์เตอร์คล็อคไวส์ จากอัลบั้ม Carry On และ มัชฌิมา จากอัลบั้ม Mat Chi Maa

อัลบั้มยอดเยี่ยม

b3 โดย พีระพัฒน์ เถรว่อง, Melancholy โดย ทศพร อาชวานันทกุล (ซิน), Robin โดย ธีร์ ไชยเดช, Mom & Pop Shop โดย 25 อาวเออร์ส และ “อัตตวิถี” โดย เครสเซนโด

โปรดิวเซอร์ยอดเยี่ยม

มณฑล จิรา และ 25 อาวเออร์ส จากอัลบั้ม Mom & Pop Shop ศิลปิน : 25 อาวเออร์ส, แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ และ ทศพร อาชวานันทกุล จากอัลบั้ม Melancholy ศิลปิน : ทศพร อาชวานันทกุล (ซิน), รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์, บัญชา เธียรกฤต และ จักรพันธ์ บุณยะมัต จากอัลบั้ม B ศิลปิน : สเลอร์, ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ และ ดนัย ธงสินธุศักดิ์ จากอัลบั้ม You ศิลปิน : เดอะ เยอร์ส และ รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ และ สมเกียรติ จากอัลบั้ม _Sara ศิลปิน : สมเกียรติ

เพลงยอดเยี่ยม

“Goodbye” คำร้อง/ทำนอง/ศิลปิน : ทศพร อาชวานันทกุล (ซิน), “ไม่ต้องรักก็ได้” คำร้อง/ทำนอง/ศิลปิน : ยุวบูรณ์ ถุงสุวรรณ (อาบู), “ทิ้งมันไป” คำร้อง/ทำนอง : อภิชา สุขแสงเพ็ชร ศิลปิน : พีระพัฒน์ เถรว่อง, “เรื่องธรรมดา” คำร้อง/ทำนอง/ศิลปิน : ธีร์ ไชยเดช, “แล้วแต่” คำร้อง/ทำนอง : นรเทพ มาแสง ศิลปิน : เครสเซนโด และ “แม้เราต้องจากกัน (เปียโน)” คำร้อง/ทำนอง/ศิลปิน : เสกสรรค์ ศุขพิมาย

เพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม

“TV” คำร้อง/ทำนอง/เรียบเรียง/ศิลปิน : ธีร์ ไชยเดช, “นะ” คำร้อง : ลินา ลีนุตพงษ์ ทำนอง/เรียบเรียง : พีระพัฒน์ เถรว่อง ศิลปิน : พีระพัฒน์ เถรว่อง, “สุขาอยู่หนใด” คำร้อง/ทำนอง : สมพล รุ่งพาณิชย์ เรียบเรียง : 25 อาวเออร์ส ศิลปิน : 25 อาวเออร์ส, “ช่างมัน” คำร้อง/ทำนอง/เรียบเรียง/ศิลปิน : สมเกียรติ, “ยิ่งกว่าผลลัพธ์” คำร้อง : เขมวัฒน์ เริงธรรม ทำนอง : ชินพัฒน์ หงส์อัมพร เรียบเรียง : เครสเซนโด ศิลปิน : เครสเซนโด และ “ความลับของเงา” คำร้อง/ทำนอง : ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ เรียบเรียง : เดอะ เยอร์ส ศิลปิน : เดอะ เยอร์ส

เพลงร็อกยอดเยี่ยม

“Sentences คำเหล่านั้นที่ทำให้ฉันสุขใจ” คำร้อง : จักรพันธ์ บุณยะมัต ทำนอง : สเลอร์ ศิลปิน : สเลอร์, “ไม่มีวันธรรมดา” คำร้อง/ทำนอง/ศิลปิน : มัชฌิมา, “ติดเชื้อ” คำร้อง/ทำนอง/ศิลปิน : สตั๊บบอร์น, “คืนที่ฟ้าสว่าง” คำร้อง : ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์, ประภพ ชมถาวร และ เชาวเลข สร่างทุกข์ ทำนอง : ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ ศิลปิน : เดอะ เยอร์ส, “ระบายกับเสียงเพรียก” คำร้อง/ทำนอง/ศิลปิน : โซลิจูด อิส บลิสส์ และ “อยู่ตลอดไป” คำร้อง/ทำนอง/ศิลปิน : เสกสรรค์ ศุขพิมาย

เพลงบรรเลงยอดเยี่ยม

“Mysteriously Awake” โดย อินสไปเรทีฟ, “Natural Order” โดย ฟังค์ชั่น, “Youth” โดย อาร์ม ไวยนิยา, “Kingdom Come” โดย อรรถพงศ์ บุญเสริมทรัพย์ และ “Empty” โดย ธีร์ ไชยเดช

“สีสัน อะวอร์ดส์” จะประกาศผลและมอบรางวัลในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 ที่โรงแรมสวิสโฮเท็ล เลอ คองคอร์ด ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

(ภาพประกอบและรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลจากเพจเฟซบุ๊ก Season Awards)