ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม - 6 เมษายน 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | หนึ่งคำถามล้านคำตอบ |
เผยแพร่ |
งานเขียนชุดนี้ในมติชนสุดสัปดาห์เริ่มขึ้นมาจากความเบื่อหน่าย ความรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศที่มีเมฆดำก้อนใหญ่หลายร้อยหลายพันก้อนแผ่ปกคลุมอยู่เหนือศีรษะตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงแค่วันเดียว เมฆที่ว่าเหล่านี้แผ่ปกคลุมวนเวียนอยู่เช่นนั้นนานนับสิบปี
บางทีฝนตก บางทีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แต่เมฆเหล่านั้นไม่เคยหายไปไหน
สิบปีเป็นเวลาที่นานพอที่จะทำให้ผู้คนจิตใจห่อเหี่ยว หมดเรี่ยวแรงบันดาลใจ ไร้พลังสร้างสรรค์ บรรยากาศของความขัดแย้ง ชิงชัง ทุ่มเถียง เกลียดชัง เคียดแค้น ถูกเอาเปรียบ อยากเอาคืน เก่าไม่ไป ใหม่ก็จะมา การรักษาอดีต และการช่วงชิงอนาคต ท่ามกลางบรรยากาศที่เราพูดคุยกันไม่ได้เต็มเสียง เถียงกันไม่ได้อย่างสบายใจ สังคมถูกผลักไปสู่การใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล หรือหลายครั้งแม้ใช้เหตุผลก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องเจือปนอารมณ์รุนแรงไปด้วย
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับผู้คนที่อยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความขัดแย้งไร้ทางออกเนิ่นนาน ไม่ว่าฝ่ายใดย่อมมีอารมณ์สะสมส่วนบุคคล แต่ด้วยอารมณ์เช่นนี้เองที่ก่อตัวเป็นเมฆดำแห่งความขัดแย้ง เกลียดชัง หวาดกลัวกันและกัน
เราอาจมองไม่เห็นเมฆดำเหล่านี้ แต่สัมผัสถึงมันได้
บางเรื่องที่อยากพูด เราเลือกที่จะเงียบ ในวงสนทนากับเพื่อนบางกลุ่ม เรานั่งฟังนิ่งๆ ทั้งที่อยากแลกเปลี่ยนความคิด แต่คิดในใจว่า-ไม่ดีกว่า เมื่อเห็นข่าวสารต่างๆ ที่ไหลผ่านหน้าจอ เมื่อได้อ่านสิ่งที่ผู้คนคอมเมนต์ ความหวาดกลัว ความกังวลก็ก่อตัวขึ้นมาในจิตใจโดยไม่รู้ตัว เพราะเรารู้ดีว่ากำลังอยู่ในสังคมเดียวกันกับผู้ที่มีความคิดเห็นหลากหลาย
และในความหลากหลายนั้นมีความรุนแรงซ่อนอยู่
ความเงียบทางความคิดจึงเป็นทางออกสำหรับบางคน การเซ็นเซอร์ความคิดตัวเองเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ เลือกที่จะหลบซุ่มอยู่ในหลุมหลบภัยแทนที่จะต้องเสี่ยงภัยกับการสู้รบ
ความเงียบเช่นนี้ค่อยๆ กร่อนศักยภาพความคิดสร้างสรรค์
เราคิดบนรากฐานของความกลัวการขัดแย้ง กลัวคนอื่นเกลียด กลัวเพื่อนด่า กลัวโดนจับ กลัวถูกเสียบประจาน
ซึ่งจะว่าไปก็เข้าใจได้ เพราะขณะที่คนกลุ่มหนึ่งเลือกใช้ชีวิตไปตามทางเส้นนี้ อีกกลุ่มหนึ่งก็เลือกที่จะเป็นนักรบเต็มตัว ออกอาวุธรายวัน ออกล่าผู้คิดต่าง จัดการด้วยถ้อยคำรุนแรง ลากคอมาให้เพื่อนช่วยกันกระหน่ำยิง ทำสงครามกับฝ่ายที่ถูกตราหน้าว่า-นี่ไม่ใช่พวกกู
เราอาจค่อยๆ มีพฤติกรรมเช่นนี้จากอุดมการณ์ ความเห็นอกเห็นใจผู้ถูกกระทำ เรียกร้องความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความถูกต้อง
แต่เมื่อลงมือทำสิ่งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า เราก็ค่อยๆ กลายร่างเป็นนักรบไปโดยไม่รู้ตัว
เสพติดการรบ การฆ่าฟัน การทำร้าย และความรุนแรง และค่อยๆ ซึมซับมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา กลายเป็นนิสัย กลายเป็นพฤติกรรม
กลายเป็นคุณค่าหนึ่งในชีวิต
ผมเองก็ใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศเดียวกันกับทุกท่าน
บางวันก็ซ่อนตัวในหลุมหลบภัย
บางวันก็พุ่งออกไปเป็นนักรบ เหตุการณ์วนเวียนเช่นนี้เนิ่นนาน เห็นเพื่อนพ้องน้องพี่วนเวียนกับเหตุการณ์และอารมณ์เดิมๆ มาเนิ่นนานไม่ต่างกัน กระทั่งเกิดคำถามว่า เราจะวนเวียนอยู่ในห้วงบรรยากาศเช่นนี้ไปอีกนานแค่ไหน
มองปัจจุบันก็ท้อ มองอนาคตก็ไม่ค่อยเห็นแสงสว่าง
ผมค่อยๆ รู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า-เราคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ และมันคงเป็นเช่นนี้ต่อไปชั่วนาตาปี
เมื่อคิดเช่นนี้ก็นำไปสู่ความคิดที่ดำดิ่งไปมากกว่านั้น นั่นคือ-ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะอยู่ไปทำไม ในเมื่อความคิดและการกระทำของเราไม่สามารถสร้างสรรค์ให้โลกที่เราอยู่ดีขึ้นไปกว่าที่มันเป็น
เราจะหายใจต่อไปทำไม?
อันที่จริงเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่บางสังคมทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึกได้ขนาดนี้
นี่คือความรู้สึกว่าเราไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้
เราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตของสังคมของเราร่วมกันได้
เราอยู่ในโลกที่ไม่แน่นอน โลกที่ไม่ได้เป็นของเรา
โลกที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหันใดๆ ก็ได้โดยคนใหญ่คนโตแค่ไม่กี่คน และเราก็ทำอะไรไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถูกใจ
ในทางธรรมะ บรรยากาศเช่นนี้คงเป็นสถานที่ฝึกใจที่ดี ให้ศิโรราบต่อโลกที่ไม่ใช่ตัวกูของกู แต่ในทางความฝันและพลังสร้างสรรค์ในชีวิต เราคงต้องการโลกที่เปิดกว้างกว่านี้ และให้เราได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลกของวันพรุ่งนี้อยู่บ้าง
นี่แหละครับ ต้นตอของความรู้สึกเบื่อหน่าย สิ้นหวัง วนเวียน
นี่แหละครับ ต้นเหตุของงานเขียนชุดนี้
เมื่อรู้สึกสิ้นไร้ความหวัง สิ้นไร้เรี่ยวแรง ผมคิดว่าคงถึงเวลาแล้วที่ตัวเองควรจะ “เปลี่ยนแว่น” ในการตั้งคำถามกับความเป็นไปในสังคม
และ “แว่นใหม่” ที่ผมเลือกสวมในช่วงเวลาทำงานเขียนชุดนี้ก็คือ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความขัดแย้งชิงชัง บรรยากาศของสงครามทางอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ หรือบรรยากาศที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจยิ่งใหญ่บางอย่าง มีใครบ้างที่พยายามจุดแสงไฟขึ้นมาในความมืด
เป็นแสงไฟแห่งปัญญาที่ฉายแสงแห่งความหวังให้ผู้คน
บางแสงอบอุ่น ไม่รุนแรง
บางแสงชัดเจน แต่ไม่แข็งกร้าว
บางแสงห้าวหาญ และสร้างแรงบันดาลใจ
บางแสงกระตุกเตือนให้เราตั้งคำถามกับการพยายามจุดแสงไฟของเราเอง
บุคคลเหล่านี้ล้วนใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศแห่งความขัดแย้ง ชิงชัง สับสน วุ่นวาย ไม่ต่างจากพวกเราทุกคน เพียงแค่บางคนต่างยุคสมัยกันไป พวกเขาอึดอัดคับข้องใจและพยายามหาคำตอบให้ตัวเองในใจไม่ต่างกันจากพวกเรา ว่าควรใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในยุคสมัยที่ “อยู่ยาก” หากจะบอกว่าใครสักคน “อยู่เป็น” คำนี้ควรมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่
เราจะอยู่อย่างไรให้มีคุณค่าในโลกที่ดูเหมือน “แสง” หายากเหลือเกิน
ผมพบคำตอบจากการเรียนรู้ชีวิตและความคิดของบุคคลต้นแสงเหล่านี้ว่า ไม่ว่าโลกจะมืดมนเพียงใด สิ่งสุดท้ายที่ควรจะสูญเสียคือความหวัง หากความหวังดับลงเสียแล้ว เราอาจไม่เหลืออะไรอีกเลย กระทั่งความรู้สึกอยากมีชีวิตอยู่ ความหวังที่ว่าคือความหวังว่าโลกจะดีกว่านี้ได้ ความหวังในตัวเพื่อนมนุษย์ ความหวังในสติปัญญาที่เราแบ่งปันถ่ายทอดสู่กันและกันได้
และบางครั้ง, ในวันที่มองไปรอบตัวแล้วสิ้นไร้ความหวังใดๆ ความหวังที่เราควรเชื่อมั่นที่สุดก็คือความหวังในตัวเราเอง
งานเขียนนี้คล้ายกล่องไม้ขีดไฟบรรจุประกายแสงหลากสีสัน ไล่ตั้งแต่ปราชญ์จีนโบราณอย่างขงจื่อ จวงจื่อ เรียนรู้ที่จะฝึกจิตใจไปกับอุปสรรคในชีวิตและปัญหาในสังคมกับคานธี โอบกอดและศรัทธาในความเป็นมนุษย์กับ เชอเกียม ตรุงปะ ตั้งคำถามกับเสรีภาพและความโดดเดี่ยวของยุคสมัยกับ อีริก ฟรอมม์ จาริกไปสู่ชีวิตที่ดีงามกับ อี.เอฟ.ชูมาเกอร์ กล้าหาญที่จะตั้งคำถามกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมกับ โซฟี โชลล์ สร้างสรรค์โลกจินตนาการที่สวยงามท่ามกลางสงครามกับ เจ.อาร์.อาร์.ทอลคีน (ผู้เขียน The Lord of the Rings) / เรียนรู้บาดแผลจากสงครามกับคล้อด อันชิน ธอมัส / และออกจากความขัดแย้งด้วยการเสนอความหวังกับ จัสติน ทรูโด
บุคคลเหล่านี้เป็นเสมือน “แสง” ในยุคสมัยของพวกเขา บางแสงทอดยาวมาถึงปัจจุบันด้วยซ้ำไป แม้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ยากลำบากเพียงใด พวกเขายังพยายามจุดแสงแห่งปัญญาขึ้นมา คุณค่าของแสงชนิดนี้คือ มันทำให้ผู้คนที่ได้สัมผัสรู้สึกว่า “ตัวฉันเองก็มีแสงเช่นกัน”
หากบางบรรทัด บางบทตอนในหนังสือเล็กๆ เล่มนี้ ทำให้คุณผู้อ่านสัมผัสได้ถึง “แสง” ในตัวเอง ย่อมนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี
หนึ่งแสงที่สว่างขึ้นย่อมช่วยลดเมฆครึ้มให้ลดลง
“แสง” นั้นสว่างในตัวเอง และมอบความสว่างให้ผู้อื่นด้วยเสมอ