New Normal หลังยุค Covid-19 : สุขภาพหรือเสรีภาพ? | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

หลัง Covid-19 สงบลง, โลกจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป

นี่คือความเห็นของคนเป็นจำนวนไม่น้อย…ไม่เฉพาะคนไทย แต่เป็นความสอดคล้องในข้อสรุปของคนเกือบทั้งโลก

ความจริง โรคระบาดครั้งนี้ยังไม่ต้องสงบลงด้วยซ้ำ อะไรต่อมิอะไรก็เริ่มจะมีท่าทีว่าจะไม่ยอมกลับไปเป็นแบบเดิมอีกแล้ว

เรื่องระดับชีวิตประจำวันก็ปรับเปลี่ยนกันมากถึงขั้นที่เชื่อกันว่าคนจะใส่หน้ากากอนามัยกันมากขึ้น

คนจะล้างมือกันบ่อยขึ้น

ผู้คนจะทักทายด้วยการจับมือกันน้อยลง

ไม่แน่ โลกทั้งโลกอาจจะหันมาใช้วิธีการไหว้แบบไทยแทนการจับมือ

แต่คนจะยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตรอีกหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ยังต้องพิสูจน์กัน

ที่ค่อนข้างจะแน่ก็คือธุรกิจการซื้อ-ขายทางออนไลน์ และการส่งของหรือ logistics จะกลายเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

ผู้คนจะทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตกันอย่างคล่องแคล่วมากขึ้น

การเรียนการสอนของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะทำผ่านระบบออนไลน์อย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

แต่อีกด้านหนึ่งเราจะเจอกับคำถามใหญ่ว่าเมื่อรัฐบาลอ้างวิกฤตนี้เอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เพื่อสู้กับวิกฤตแล้ว หลังจากโควิดหายไปข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อการควบคุมกิจกรรมของประชาชนในทางที่เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่

เช่น ตอนนี้หากเราให้ข้อมูลส่วนตัวไปเพื่อเจ้าหน้าที่ตามเราได้เพื่อดูว่าเราติดโควิดหรือไม่ เรากำลังยอมเสีย “เสรีภาพส่วนตัว” หลายประการ

หลังโควิดจบลง เราจะได้เสรีภาพนั้นคืนหรือไม่ยังน่าสงสัย

ที่อ้างว่า “สุขภาพมาก่อนเสรีภาพ” นั้น อีกหน่อยจะกลายเป็น “อำนาจรัฐมาก่อนเสรีภาพส่วนบุคคล” หรือไม่ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ที่น่ากังวลลคือรัฐบาลทั่วโลกจะมีแนวโน้มเป็น “เผด็จการ” มากขึ้นโดยอ้างความจำเป็นที่ขยายความและต่อยอดจากโควิดหรือไม่

Edward Snowden (Photo by FREDERICK FLORIN / AFP)

ผมเห็น Edward Snowden ออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้ในทวิตเตอร์ของเขาค่อนข้างจะถี่แล้ว

สโนวเดนคือ “คนเป่านักหวีด” (whistleblower) ชาวอเมริกันที่แอบเอาข้อมูลราชการลับจาก “สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ National Security Agency (NSA) มาปล่อยให้ประชาชนทั่วโลกได้รับรู้เมื่อปี 2013

เขาทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทที่รับจ้าง CIA หรือสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐ

เมื่อเห็นว่าทางการสหรัฐไปแอบเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชนด้วยความร่วมมือของบริษัทโทรคมนาคมเพื่อสอดส่องพฤติกรรมของชาวบ้านอย่างผิดกฎหมาย เขาก็ตัดสินใจเปิดโปงเรื่องนี้จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลก

สโนวเดนถูกรัฐบาลอเมริกันตั้งข้อหาว่าละเมิดกฎหมายความรับราชการสหรัฐ เขาหนีไปลี้ภัยที่รัสเซีย และยังหลบลี้หนีการจับกุมอยู่ถึงทุกวันนี้

ข้อกังวลของสโนวเดนสอดคล้องกับความหวาดหวั่นของคนทั่วไปไม่น้อย…หากรัฐบาลทั่วโลกใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บในช่วงทำสงครามกับโควิดมาเพื่อควบคุมความประพฤติของประชาชนในทุกกิจกรรม

นั่นคือการทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกบั่นทอนอย่างหนักหน่วงเท่าที่เคยเป็นมาทีเดียว

นี่คือ New Normal อีกด้านหนึ่งหลังยุค Covid-19 ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

Yuval Noah Harari (Source : https://www.ynharari.com)

นักเขียนยิวชื่อดัง Yuval Noah Harari เขียนบทความภายใต้หัวข้อ “โลกหลังโคโรนาไวรัส” (The World After Coronavirus) ตีพิมพ์ใน Financial Times

ฮารารีโด่งดังจากหนังสือสามเล่มที่เขาวิเคราะห์โลกอดีต, ปัจจุบันและอนาคต : Sapiens, 21 Lessons for 21st Century และ Homo Deus

ในบทความนี้เขาตั้งประเด็นเรื่องนี้เลย : สุขภาพกับเสรีภาพ

เขาเตือนว่าสังคมควรจะต้องถกแถลงกันให้ชัดเจนว่าจะอยู่ในโลกแบบไหน

จะเป็นระบอบเผด็จการรวมศูนย์แห่งอำนาจหรือเสรีประชาธิปไตย

เขาวิเคราะห์ว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา มีการนำเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารล้ำสมัยรวมถึง Big Data, AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการติดตามตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวกับส่วนบุคคลกันมากขึ้นในการบริหารงานของรัฐ

แน่นอนว่ามีคนมองว่านี่เป็นการล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลจนเลยขอบเขตไปไม่น้อย

วิกฤต Covid-19 เป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วน เป็นข้ออ้างที่จะใช้เทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อจัดการกับการระบาดของโรค

คนทั่วไปอาจจะไม่รู้สึกอะไรในช่วงวุ่นวายนี้ พร้อมจะให้ข้อมูลส่วนตัว และเปิดทางให้รัฐบาลเข้ามารับรู้ข้อมูลส่วนตัวมากมายเพราะความกลัวไวรัส

เพราะบางคนอาจจะคิดว่าเป็นการเลือกระหว่าง “ความตาย” กับ “เสรีภาพ”

เมื่อทางเลือกมีจำกัด ก็ยอมส่งมอบข้อมูลส่วนตัวเพื่อรักษาชีวิต ซึ่งหมายถึงต้องยอมสละเสรีภาพโดยดุษฎี

จีนเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน

 

(Photo by Anthony WALLACE / AFP)

รัฐบาลจีนใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเพื่อติดตามตรวจสอบประชาชนแต่ละคนในระดับลึกลงไปถึง “ใต้ผิวหนัง” กันเลยทีเดียว

เขาใช้คำว่า Underskin surveillance

นั่นหมายถึงการใช้เทคโนโลยีเอไอผ่านโทรศัพท์มือถือ ให้ทุกคนรายงานข้อมูลส่วนตัว ทั้งรายละเอียดชีวิตประจำวันและความเคลื่อนไหวทั้งหลายทั้งปวง

ที่ว่าลงลึกไปถึงระดับใต้ผิวหนังนั้นหมายถึงอุณหภูมิ แต่ละคนแต่ละวัน รวมถึงอาการป่วยไข้ จะไอ จะจาม จะหอบ จะเหนื่อยแค่ไหนอย่างไรเจ้าหน้าที่รู้หมด

ฮารารีบอกว่า หลังโควิดจบแล้ว รัฐบาลก็อาจจะใช้ข้อมูลเหล่านั้นควบคุมกำกับสังคมต่อไปอย่างต่อเนื่อง

และจะไม่ใช่ตรวจสอบแค่เรื่องไอ จามหรืออาการของร่างกายเท่านั้น

แปลว่า ไม่ใช่แค่ติดตามตรวจสอบทางชีวภาพหรือ biometrics เท่านั้น

แต่จะขยายวงไปสู่การควบคุมความประพฤติทางสังคม, การเมืองและความมั่นคง

ที่เคยกลัวกันว่าจะมี Big Brother ของผู้ปกครองเผด็จการมาคอยเฝ้ามองทุกอิริยาบถของเราในนิยายเรื่อง 1984 ของ George Orwell นั้นก็อาจจะกลายเป็นความจริงในโลกศตวรรษที่ 21 หลังความสูญเสียครั้งใหญ่เพราะโรคระบาดก็ได้

(Photo by GREG BAKER / AFP)

หากเป็นเช่นนั้น การที่รัฐเก็บข้อมูลระดับบุคคลขนาดนี้จะลงไป “ใต้ระดับผิวหนัง” จริงในแง่ที่ว่าจะรู้ว่าใครคิดอะไรอย่างไร

รู้ถึงขั้นว่าแต่ละคนมีความเห็นตรงกับแนวนโยบายของรัฐหรือไม่

และตรวจสอบได้ว่าเป็น “มิตร” หรือ “ศัตรู” ของผู้มีอำนาจ

ฮารารียืนยันว่า หลังภาวะฉุกเฉินแห่งไวรัสผ่านไปแล้ว ประชาชนไม่ควรจะต้องถูกบังคับให้เลือกระหว่าง “สุขภาพ” หรือ “เสรีภาพ”

ต้องไม่ใช่การกดดันให้ประชาชนให้เลือกระหว่าง “สิทธิส่วนบุคคล” หรือ “การยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ”

และยิ่งไม่ควรต้องเลือกระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย

(Photo by GREG BAKER / AFP)

สุดท้ายโลกต้องให้ทั้งสองอย่างเดินเคียงคู่ไปด้วยกัน

นั่นคือผู้คนยังต้องการเสรีภาพในการแสดงออก…และต้องสามารถปกปักรักษาข้อมูลส่วนบุคคลในระดับที่สมเหตุสมผลอีกด้วย

สถาบันวิจัย McKinsey ศึกษาแนวโน้ม “New Normal” ของโลกหลังวิกฤตโควิดแล้วทำนายว่าหนึ่งในประเด็นที่สำคัญคือสิ่งที่เรียกว่า Rethinking Social Contracts หรือการทบทวน “สัญญาสังคม”

นั่นหมายความว่าในช่วงวิกฤต รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการดูแลประชาชน และจัดลำดับความสำคัญและการบริหารจัดสรรทรัพยากรในชาติ

นั่นทำให้ภาคประชาชนและธุรกิจต้องปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

หนึ่งในความกังวลคือ “ความเป็นส่วนตัวทางดิจิตอล” ที่โยงกับการติดตามสังเกตการณ์ประชาชนและข้อมูลทางการแพทย์เพื่อควบคุมการระบาด

มีการยกตัวอย่างในฮ่องกงซึ่งรัฐบาลใช้แอพพ์บนโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของคนที่ต้องอยู่ระหว่างถูกกักกันโรค

หลายประเทศก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ภายใต้ข้ออ้างเพื่อการช่วยดูแลรักษาคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าหลังวิกฤตโรคระบาดผ่านไปแล้ว ผู้มีอำนาจรัฐจะ “ต่ออายุ” แนวทางอย่างนี้เพื่อขยายขอบเขตอำนาจในการควบคุมกิจกรรมของประชาชนมากน้อยเพียงใด

(Photo by Noel Celis / AFP)

นี่คือหนึ่งใน New Normal ที่จะต้องเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมโลกต้องนำมาถกแถลงและหาข้อสรุปให้ชัดเจน

ก่อนที่จะถูก “ไวรัสการเมือง” กลืนกินความเป็นส่วนตัวของประชาชนจนทำเสรีภาพตกหล่นข้างทาง ไม่อาจจะเรียกศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์กลับคืนได้

รอดตายจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

แต่อาจจะตายด้วยไวรัสการเมืองสายพันธุ์ไดโนเสาร์ก็เป็นได้!