วิกฤตดีๆ ก็มีถมไป! | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนถึง “เกิดวิกฤตทั้งที อย่าให้เสียของ” อย่างที่อดีตนายกฯ อังกฤษยุคสงครามโลกครั้งที่สอง วินสตัน เชอร์ชิลล์ เคยประกาศเอาไว้

Never let a good crisis go to waste

คำว่า “good crisis” ย่อมหมายความว่า “วิกฤต” ย่อมมีทั้งดีและเลว หากเรารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ก็ย่อมไม่มีคำว่า “วิกฤตที่ไม่ดี”

ผมชอบตรงที่ว่าวิกฤตดีหรือชั่วย่อมอยู่ที่เราจะทำให้ตัวเราเองเป็นเหยื่อของสถานการณ์หรือเป็นผู้ “ขี่ยอดคลื่น” ของความผันผวนปรวนแปร

เราต้องตั้งต้นด้วยการยอมรับว่าไม่ว่าวิกฤตนี้จะลงเอย (หรือไม่ลงเอย) อย่างไร เราจะอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้ ทำอะไรแบบเก่าก็ไม่ได้

เพราะจะไม่มีอะไรเหมือนเดิม

ใครที่ยังยืนยันจะอยู่ใน “เขตคุ้นเคย” หรือ Comfort Zone แบบเดิมของตนก็เตรียมพบกับความล้มเหลวได้เต็มๆ

วิธีคิดใหม่คือเราต้องหัดตั้งคำถามใหม่

เช่น โอกาสใหม่อยู่ที่ไหน

และเราจะสร้างและหาโอกาสใหม่ได้อย่างไร

อีกทั้งต้องถามต่อว่ามีเครื่องมืออะไรที่เราจะสามารถเรียนรู้และจะช่วยให้เราสร้างและหาโอกาสใหม่ได้

สุวิทย์ เมษินทรีย์

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งคำถามได้น่าสนใจว่า สุดท้ายแล้วอยู่ที่ว่าเราจะทำตัวเป็นคนแบบไหนเมื่อเกิดการระบาดของ Covid-19

นักวิชาการด้านนี้เรียกมันว่าเป็นการออกนอก comfort zone ไปสู่ growth zone

ต้องยอมรับกันว่าเศรษฐกิจปีนี้แย่แน่ การส่งออกและการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ที่ต้องรับรู้อีกทางก็คือกิจกรรมเกือบทุกๆ ด้านในประเทศจะลดน้อยถอยลง

นั่นหมายความว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะต่ำเตี้ย และการบริโภคกับการใช้จ่ายไม่มีการหมุนเวียนมากพอ

ทางออกคือออนไลน์

ผมเชื่อของผมว่าคุณูปการสำคัญที่สุดของโรคระบาดครั้งนี้คือการบังคับให้สังคมไทยต้องก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอลอย่างมีนัยสำคัญ

ที่เรียกว่า Digital Transformation

ดร.สุวิทย์บอกว่า ทางเดียวที่จะทำให้กิจกรรมในประเทศสูงขึ้นคือการส่งเสริมกิจกรรม online เต็มรูปแบบ

“ผมเชื่อว่ากิจกรรมมากกว่า 50% สามารถมาทำแบบออนไลน์ได้”

แต่รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการทำให้การแปรเปลี่ยนครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

รัฐต้องทำอะไรเพื่อไม่ให้ “เสียของ”?

หากจะสร้าง “เศรษฐกิจใหม่” หลังวิกฤตโควิด-19 บางเรื่องสำคัญที่ต้องลงมือทำอย่างจริงจังมีเช่น

1. จัดการเรื่อง logistics หรือการขนส่งให้รวดเร็วและต้นทุนต่ำ ทางที่ดีรัฐควรจะต้องรับภาระค่าขนส่งให้สินค้าเกษตรกรรมทุกประเภท โดยใช้ไปรษณีย์ไทยเป็นเครื่องมือหลัก

2. ตั้งหน่วยส่งเสริมการขายออนไลน์ประจำตำบล โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านออนไลน์ภาคเอกชน สนับสนุนชาวบ้านและเกษตรกรให้ขายสินค้าออนไลน์ด้วยคุณภาพที่ดี มีการปรับปรุงและตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ และมีการวัดผลงานทุกไตรมาส

3. ส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง platform แบบเปิดขนาดใหญ่ในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ค้า และ startup รายเล็กๆ สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าขนาดใหญ่ได้

เป็นไปได้ที่ข้อมูลจากโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” และ “เราไม่ทิ้งกัน” มาเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับชาวร้านระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง

4. ส่งเสริมให้เกิด “สังคมไร้เงินสด” อย่างจริงจัง โดยเริ่มที่เมืองใหญ่ก่อน เพราะสังคม cashless จะทำให้เงินหมุนได้เร็วขึ้น ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลไปในตัว ในกรณีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเป็นเจ้าภาพหลักและมีการวัดผลงานทุกไตรมาส

(อีกเหตุผลหนึ่งของการต้องเร่งผลักดันสังคมไร้เงินสดคือความกลัวโควิด-19 จะแพร่ผ่านการใช้ธนบัตรและเหรียญที่ผ่านมือคนมากมายโดยไม่รู้ว่าจะติดเชื้อไวรัสมาด้วยหรือไม่)

5. ปรับโครงสร้างภาคการเงินให้มีผู้เล่นรายเล็กที่เป็นดิจิตอลเต็มรูปแบบ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ เข้าถึงคนจำนวนมากได้ และทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ เข้าถึงแหล่งทุนในระบบง่ายขึ้น

ที่สำคัญคือหน่วยราชการต้องไม่ทำอะไรในรูปแบบเดิมๆ ด้วยข้ออ้างเก่าๆ ว่าชาวบ้านไม่รู้เทคโนโลยี

หากยังทำอย่างเดิม ก็จะวนกลับไปจุดเก่าที่การบริการมีต้นทุนสูงและไม่คุ้มที่จะให้บริการรายเล็กที่เสี่ยงเกินไปเพราะไม่คุ้มต้นทุน

ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรที่รัฐบาลที่มุ่งไปสู่ e-government จะเน้นการทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายขึ้น

แต่การที่รัฐบาลและประชาชนจะก้าวข้ามวิกฤตนี้อย่างยั่งยืนต้องปรับวิธีคิดหรือที่เรียกว่า mindset อย่างจริงจังด้วย

ผลการศึกษาของ Oxford Leadership บอกว่าในสภาวะที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงระดับโลกขณะนี้คนส่วนใหญ่จะอยู่ใน “เขตแห่งความตระหนก” (Fear Zone)

เมื่อความคิดความอ่านตกอยู่ในห้วงแห่งความกลัวและหวาดระแวงแล้ว สมองก็คิดอะไรไม่กระจ่างแจ้ง

หากจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สภาพความคิดที่จะฝ่าข้ามวิกฤตได้ ทุกคนต้องฝึกให้เข้าสู่โหมดของ “เขตแห่งการเรียนรู้และปรับตัว” (Learning Zone)

จากนั้นก็กระโจนเข้าสู่ “เขตแห่งการมองบวกและเติบโตไปข้างหน้า” (Growth Zone)

คนที่อยู่ใน Fear Zone มีพฤติกรรมที่ตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์

สังเกตได้จากการแย่งกันซื้ออาหารในลักษณะกักตุนและเวชภัณฑ์ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น เป็นการเลียนแบบของคนตื่นกลัวโดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง

ความกลัวเรื่องไข่จะขาดตลาดไม่มีพื้นฐานของข้อมูลใดๆ เพราะหากจะตรวจสอบข่าวและซักถามคนรู้ก็จะเข้าใจว่าประเทศไทยผลิตไข่เกินความต้องการตลอด ถึงขั้นที่ส่งออกและในหลายๆ ปีที่ผ่านมาไข่ล้นตลาดเป็นประจำ

ความตื่นตระหนกนี้เปิดทางให้นักฉวยโอกาสสร้างความต้องการเทียม และดันราคาขึ้นไปอย่างไร้เหตุผล

คนอยู่ใน “โซนแห่งความตระหนก” จึงกลายเป็นเหยื่อได้ง่าย

คนกลุ่มนี้มักจะแชร์ข้อมูลทุกอย่างโดยไม่ตรวจสอบ และเข้าใจว่าการแชร์ข้อมูลให้เพื่อนๆ ในกลุ่มออนไลน์นั้นไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อความถูกต้องแม่นยำของข่าวสารนั้นๆ

ใครที่อยู่ในกลุ่มนี้มีแนวโน้มต่อว่าต่อขานคนอื่น มีความพร้อมที่จะพร่ำบ่นถึงความเลวร้ายของสถานการณ์

ลงท้ายก็กลายเป็นคนพูดถึงปัญหา ไม่ช่วยคิดหาทางแก้ไข

ส่วนคนที่ข้ามเขตความกลัวนั้นมาสู่ Learning Zone จะเริ่มทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งสติ ปรับตัวและทำในสิ่งที่ถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับและแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น รวมทั้งปล่อยวางในสิ่งที่อยู่นอกเหนือความควบคุม

คนกลุ่มนี้เข้าข่าย “ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” กับวิกฤตโควิด-19

หากผ่านจากสองโซนแรกเข้าสู่ Growth Zone ก็จะเห็นกลุ่มคนที่มองบวกและพร้อมเติบโตไปข้างหน้า

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

คนที่ผ่านสองด่านแรกก็จะมีความเข้าใจในสถานการณ์ มีทัศนคติที่สร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ที่สำคัญคือสามารถทำความเข้าใจกับตัวปัญหาและปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ที่เป็นคุณสมบัติพิเศษของคนกลุ่มนี้คือสามารถมองหา “โอกาสในวิกฤต”

นั่นหมายความว่าจะมองทะลุไปถึงแนวทางที่ไม่เพียงแต่ช่วยประคองตัวเองให้พ้นวิกฤตเท่านั้นแต่ยังสามารถทำประโยชน์ต่อคนอื่นและสาธารณะในส่วนรวมได้อีกด้วย

เมื่อมองเห็นว่า “ไหนๆ ก็มีวิกฤตแล้ว อย่าให้เสียของ” จึงเป็นโอกาสทองที่เราจะได้ปรับและแปลงความเสียหายอันเกิดจากวิกฤตแห่งโรคระบาดระดับโลกนี้เป็นโอกาสที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่อาจจะทำไม่ได้ในยามปกติ

เพราะหากเพียง “ตั้งรับ” เฉยๆ และ “กินยาตามอาการ” สิ่งที่จะได้ก็คือการเลียแผลและค่อยๆ ฟื้น รอให้มีการรักษาเยียวยา และแม้จะหายป่วยแล้วก็อาจจะยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะลุกขึ้นเดินได้

นั่นเพราะยังอยู่ใน “โซนแห่งความตระหนก”

แต่หากเราปรับวิธีคิดและกระโดดข้ามอุปสรรคแห่งความกังวลไปสู่ “โซนแห่งการเติบโต” ได้ วิกฤตครั้งนี้อาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่จะพลิกโฉมทั้งหน้าที่งานการส่วนตัวและการเขย่าสังคมไทยให้ลุกขึ้นเดินหน้าเข้าสู่ทิศทางใหม่อย่างเป็นรูปธรรมได้เลย

หากทำไม่ได้…นั่นคือการ “เสียของ” โดยแน่แท้!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่