สมชัย ศรีสุทธิยากร | ยอมได้เรื่องเสรีภาพ แต่ยอมไม่ได้เรื่องการตรวจสอบ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ถูกปัดฝุ่นนำขึ้นมาใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นความจำเป็นของสถานการณ์ที่ต้องมอบอำนาจพิเศษให้แก่ผู้นำประเทศในการสั่งการให้หน่วยราชการต่างๆ รับคำสั่งการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วทันการณ์

มาตรา 7 ของ พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นการโอนอำนาจของรัฐมนตรีจะเป็นบางกระทรวง หรือหลายกระทรวง หรือทั้งหมด มาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

โดยมีคีย์เวิร์ดที่สำคัญ คือ “เอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ”

คงช่วยไม่ได้หากใครจะเผลอคิดว่าแล้วการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมานั้น “ต่างคนต่างทำ ล่าช้า และหย่อนยานจนเสียการ” หรืออย่างไร

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าว หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเสียก่อน แต่ก็ยังให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่อาจจะประกาศไปก่อนแล้วมาขอความเห็นชอบภายใน 3 วัน

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงถือเป็นกลไกสำคัญที่จะต้องร่วมกันอภิปรายและกลั่นกรองอย่างรอบคอบว่า ประเทศถึงความจำเป็นในการที่จะประกาศเป็น Emergency State หรือไม่

กลไกที่สำคัญในการนี้คือ การให้อำนาจแก่บรรดาหัวหน้าส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ทหาร ตำรวจ ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ หรือเรียกกันว่า ผู้บัญชาการสถานการณ์ที่เป็นผู้ตัดสินใจสูงสุดในกรณีที่มีปัญหาในพื้นที่นั้นๆ

เราจึงเห็นคำสั่งแต่งตั้ง ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี แม่ทัพภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดูแลปัญหาต่างๆ ทำให้คิดไปไกลว่า รัฐมนตรีกระทรวงโน้นกระทรวงนี้ถูกนายกรัฐมนตรีไม่ไว้วางใจ วิเคราะห์ถึงว่าหลังวิกฤตคงมีการปรับออกกัน

แต่แท้จริงตามกฎหมายเขาให้แต่งตั้งจากข้าราชการประจำเท่านั้น

ข้อกำหนดที่ลดทอนเสรีภาพ

เครื่องมือสำคัญของ พ.ร.ก.ฉบับนี้คือ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ออก “ข้อกำหนด” ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้สถานกาณ์ที่ฉุกเฉินยุติโดยเร็ว ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเป็นทั้งเรื่องการห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ที่มีประกาศห้ามออกนอกบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. หรือการให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะประกาศห้ามเดินทางเข้า-ออกจังหวัด หรือห้ามเปิดธุรกิจบางประเภทที่มีความเสี่ยง เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านตัดผม ประกอบกิจการ เป็นต้น

ความลักลั่นต่างๆ จึงเห็นอยู่ เช่น บางจังหวัดห้าม แต่บางจังหวัดไม่ห้าม ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัด ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้มของผู้รับผิดชอบในพื้นที่และการประเมินสถานการณ์ที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ไป

เสรีภาพต่างๆ ของประชาชนย่อมหายไป เช่น การออกนอกเคหสถาน การเดินทางสัญจร การเข้าไปในสถานที่บางแห่ง ตลอดจนการการห้ามอยู่ร่วมกันในกิจการสังคมต่างๆ เช่น งานประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น

สิ่งที่เรายังไม่เห็นแต่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้เขียนไว้ในมาตรา 11 ที่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม ควบคุมตัวบุคคล เรียกให้คนมารายงานตัว ยึดสินค้าอุปโภคบริโภค ตรวจค้นอาคารสถานที่ หรือแม้กระทั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรศัพท์ หรือวิธีการสื่อสารอื่นใด และอำนาจอื่นๆ ที่ไม่เคยมีในกฎหมายปกติอีกมากมาย

จนหลายคนกล่าวว่า นี่คืออำนาจที่รวมศูนย์ที่นายกรัฐมนตรี โดยไม่มีกลไกใดๆ มาตรวจสอบถ่วงดุล

บางคนถึงขนาดกล่าวว่า นี่คือการรัฐประหารโดยไม่มีการใช้อาวุธด้วยซ้ำ

อำนาจที่เบ็ดเสร็จล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ขาดหายไปหรือผลกระทบในทางเศรษฐกิจ เพราะหากในกรณีปกติของสถานการณ์โลก เมื่อประเทศใดประกาศภาวะฉุกเฉิน ย่อมเป็นการปิดกั้นรายได้การท่องเที่ยวจากต่างชาติและสร้างความลังเลใจในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติซึ่งมีผลต่อความชะงักงันทางเศรษฐกิจ

แม้ในปัจจุบันที่สถานการณ์ทั้งโลกประสบเหตุที่รุนแรงคล้ายคลึงกันและมีการประกาศภาวะฉุกเฉินแทบทุกประเทศ ผลกระทบจากการลงทุนข้ามชาติและนักท่องเที่ยวอาจไม่ต้องพูดถึงเพราะคงเหมือนกันทั่วโลก

แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการหยุดประกอบกิจการในประเทศ การว่างงาน ปัญหาความยากจน จนกลายเป็นปัญหาทางสังคมนั้น เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่าต้องเกิดแน่ เพียงแต่จะมีระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงไรเท่านั้น

การมีอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงควรรู้จักจำกัดขอบเขตเวลาให้สั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่การหลงระเริงในอำนาจจนอยากมีเก็บไว้ยาวนาน โดยหารู้ไม่ว่า อำนาจที่เบ็ดเสร็จนั้นล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย และราคาแพงมากด้วย

การที่รัฐบาลประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึง 30 เมษายน 2563 จึงเหมือนการกำหนดกรอบเวลาที่น่าจะเพียงพอในการใช้มาตรการต่างๆ ภายใต้อำนาจที่คล่องตัวของนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการกับสถานการณ์โรคร้ายที่คุกคาม

แต่หากเวลาถึงเดือนเศษแล้ว การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จยังไม่สามารถจัดการสถานการณ์ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ คงต้องคิดทบทวนว่า ยังสมควร “ลงทุน” กับมาตรการแบบนี้อีกหรือไม่

การตรวจสอบการใช้อำนาจยังจำเป็นต้องมี

อํานาจเบ็ดเสร็จนำไปสู่การคดโกงเบ็ดเสร็จ (Absolute power corrupts absolutely) เป็นคำกล่าวที่เราคุ้นเคยของปราชญ์เมธีทางรัฐศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลนั้น อาจมีช่องโหว่ของความรอบคอบในการตัดสินใจ ที่ทำให้เกิดช่องทางของการทุตริตประพฤติมิชอบได้ โดยเป็นทั้งความตั้งใจแสวงหาประโยชน์ของผู้มีอำนาจหรือการใช้โอกาสของบุคคลแวดล้อม

โครงการที่ใช้เงินอย่างมหาศาลเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ยิ่งอาศัยการออกเป็นพระราชกำหนดก่อนแล้วจึงไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภาภายหลัง เช่น พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งมีมูลค่านับล้านล้านบาท ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถตั้งข้อเคลือบแคลงสงสัยถึงความโปร่งใสในการดำเนินการได้

ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ไว้วางใจ แต่พฤติกรรมของผู้มีอำนาจในอดีตและปัจจุบันทำให้ต้องหวาดระแวงสงสัย

การตรวจสอบในเรื่องราวดังกล่าว จึงเป็นทั้งหน้าที่ของรัฐสภา ที่สมควรต้องใช้ที่ประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณารายละเอียดของรายการใช้จ่ายตามพระราชกำหนดอย่างรอบคอบ มิใช่ให้รัฐบาลเป็นผู้ใช้จ่ายโดยกำหนดรายการภายหลังในลักษณะ “ตีเช็คเปล่า” เหมือนกับราวว่าขอวงเงินไว้ก่อนจะใช้อะไรค่อยคิดตามภายหลัง

การประชุมวิสามัญดังกล่าว ก็ควรให้เวลาอย่างเพียงพอต่อสภา ในการที่จะร่วมอภิปรายและแสดงความเห็นให้รัฐบาลนำความคิดบางอย่างที่น่าจะเป็นผลดีไปใช้ มิใช่รีบเปิด รีบปิด ใช้มติข้างมากหักเอา

สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว อย่าได้ดูถูกตัวเองว่าไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ การแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลตรงไปตรงมาในสื่อสังคมนี่แหละ คือพลังในการตรวจสอบและผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ หลายอย่างพอชาวบ้านยี้ สิ่งที่รัฐมนตรีตั้งท่าเสนอเป็นโครงการหลายพันล้านยังต้องชักเท้ากลับแทบไม่ทัน

เชื่อไม่เชื่อลองถามเจ้ากระทรวงใบเสมาที่คิดจะแจกแท็บเล็ตให้แก่เด็กนักเรียนเพื่อเรียนออนไลน์ในยุคโควิดดูได้