คนมองหนัง : “บทอวสาน” ที่ “ไม่จบ” ของ “แก้วหน้าม้า”

คนมองหนัง

ละครจักรๆ วงศ์ๆ “แก้วหน้าม้า” ฉบับล่าสุด อวสานลงแล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ตอนที่ 102

อย่างไรก็ดี ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่โกยเรตติ้งสูงมาโดยต่อเนื่องเรื่องนี้ กลับถูกแฟนละครในโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์และบ่นใส่มิใช่น้อย

ด้วยข้อหาฉกาจฉกรรจ์ “อวสาน” แบบ “จบไม่ลง”

 

ทั้งนี้ คงต้องแยกพิจารณาข้อหาดังกล่าวออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก คือ ความผิดพลาดของผู้ผลิต ซึ่งก็มีอยู่จริงๆ โดยเฉพาะเรื่องการ “ทิ้งตัวละคร”

ถ้าเข้าใจไม่ผิด ดูเหมือน “นันทนา วีระชน” มือเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ คนปัจจุบันของค่ายสามเศียร น่าจะไม่เคยรับมือหรือจัดการกับ “ละครทะลุ 100 ตอน” มาก่อน

เธออาจเคยมีสถานะเป็น “ผู้ร่วม” เขียนบท “สังข์ทอง” (ฉบับปี 2550-2551) ที่ออกอากาศเกิน 100 ตอนเช่นกัน แต่นั่นก็เป็นการมารับช่วงต่อตรงกลางทางจาก “รัมภา ภิรมย์ภักดี” มือเขียนบทจักรๆ วงศ์ๆ คนก่อนหน้า

ด้วยเหตุนี้ งานเขียนบทละครเกิน 100 ตอนแบบเต็มตัวเป็นเรื่องแรกของนันทนา จึงมีส่วนไม่เรียบร้อยหรือมีรอยตะเข็บอยู่พอสมควร (ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหาว่าด้วยคิวงานของนักแสดงด้วย)

ทั้งๆ ที่เธอมักจัดระบบเรื่องราวและเคลียร์ปลายทางให้แก่ตัวละครทุกคนได้ดีเสมอมา เมื่อครั้งต้องรับมือกับการเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ความยาวประมาณ 50-60 ตอน

หลักฐานสำคัญของความไม่เรียบร้อย ก็ได้แก่ การหายสาบสูญไปเสียเฉยๆ ของตัวละคร “สร้อยสุวรรณ” และ “จันทร์สุดา” พระชายายักษ์ของ “พระปิ่นทอง” โดยไม่นับรวมถึงนักแสดงสมทบเพิ่มสีสันบางรายที่หลุดลอยไปจากจอเช่นเดียวกัน

การหายตัวอย่างไร้เหตุผลของสองพระชายายักษ์ ยังนำไปสู่ผลลัพธ์อีกประการ นั่นคือ ตัวละคร “ยักษ์” ใน “แก้วหน้าม้า” ล้วนถูกชำระล้างจนหมดสิ้น

เพราะยักษ์ร้ายๆ ยักษ์ดีๆ ยักษ์ตลกไร้น้ำยา และยักษ์ร้ายที่กลับกลายเป็นดี ต่างทยอยล้มตายลงจนหมดเกลี้ยง ขณะที่สองเจ้าหญิงเมืองยักษ์ ผู้อยากใช้ชีวิตแบบมนุษย์ และอยากมีสามีเป็นมนุษย์ ก็ต้องหมดบทบาทไปแบบดื้อๆ เช่นกัน

รอยตะเข็บเหล่านี้ย่อมสร้างความค้างคาและรำคาญใจให้แก่คนดูละครได้ไม่น้อย

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ “อวสาน” แบบ “ไม่จบ” ของ “แก้วหน้าม้า” ยังมีความเกี่ยวพันกับกลวิธีการเล่าเรื่องราวให้จบลงในลักษณะ “ปลายเปิด” ที่เอื้อต่อการคิดตีความและจินตนาการของผู้ชม

ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า กลวิธีแบบนี้ถือเป็นปัญหาหรือไม่เป็นปัญหา?

“ปลายเปิด” ข้อแรก ที่แฟนละครค้างคาใจกันเยอะ คือ เรื่องราวในตอนจบ ซึ่งแก้วหน้าม้าขณะกำลังเสียทีให้แก่พญายักษ์อย่าง “ท้าวกาฬราช” คลอดลูก “แฝดสาม” ออกมากลางนภากาศ

ปรากฏว่าเทวดาและฤษีที่คอยสนับสนุนแก้ว ต่างเหาะเข้ามาช่วยรับทารกไว้ได้เพียงสองคน แต่เด็กอีกหนึ่งรายกลับตกหายไปอย่างไร้ร่องรอย และไม่มี “บทสรุปแน่ชัด” เกี่ยวกับทารกผู้นี้

มีเพียงคำกล่าวของพระฤษีที่ระบุทำนองว่ามนุษย์แต่ละคนล้วนถูกกำหนดมาโดยบุญกรรมของตนเอง แต่ผู้ทรงศีลก็ยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าลูกของแก้วหน้าม้าน่าจะเป็นผู้มีบุญญาบารมี และสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้

ทว่า สิ่งที่น่าสนใจซึ่งบังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับ “แฝดสาม” (ที่หายไปหนึ่ง) ก็ได้แก่ ปรากฏการณ์ที่น้ำคร่ำจากร่างกายของแก้วหน้าม้า สามารถทำลายความเป็นอมตะของท้าวกาฬราช กระทั่งพญายักษ์ตนนี้หมดฤทธิ์ และถูกพระปิ่นทองสังหารในท้ายที่สุด

มองมุมนี้ การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ จึงมีส่วนขจัดชะล้างสิ่งเก่าๆ ที่กำลังก่อปัญหา

แต่คำถามที่ละครทิ้งค้างเอาไว้ ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสิ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ยังขาดความสมบูรณ์? (กรณีนี้ ได้แก่ การหายตัวไปของแฝดรายที่สาม)

หรือจริงๆ แล้ว การเปลี่ยนผ่านของสิ่งเก่ามาสู่สิ่งใหม่ ล้วนประกอบสร้างขึ้นมาจากความไม่สมบูรณ์แบบนานัปการเสมอ

ปัญหามีอยู่ว่า เราจะมองความไม่สมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องสามัญธรรมดา หรือประเมินมันในฐานะวิกฤตการณ์?


“ปลายเปิด” ข้อต่อมา ที่สร้างความหงุดหงิดใจให้แฟนๆ “แก้วหน้าม้า” คือ ชะตากรรมของนางเอกใน “รุ่นลูก” อย่างพระธิดา “สุวรรณดารา”

สุวรรณดาราผู้ตัดสินใจนุ่งขาวห่มขาวออกบวช เพราะไม่ต้องการจะอภิเษกสมรสกับทั้ง “พระปิ่นแก้ว” และ “พระปิ่นศิลป์ชัย” โอรสของพระปิ่นทอง

ถ้าดูละครมาโดยตลอด จะพบว่า พระปิ่นแก้ว ผู้เป็นลูกของแก้วหน้าม้า และพระปิ่นศิลป์ชัย ผู้เป็นลูกของ “เจ้าหญิงทัศมาลี” นั้นต่อสู้ขับเคี่ยวกันมาตั้งแต่เด็ก ในฐานะลูกคนละแม่

แม้ตอนโต ทั้งคู่จะมาอยู่ฝ่ายเดียวกัน แต่ก็ไม่ค่อยลงรอยกันนัก โดยเฉพาะเรื่องความรัก ซึ่งเทวดาลิขิต, ชะตาลิขิต และคนลิขิต ได้ก่อให้เกิดเรื่องรักสามเส้าระหว่างสุวรรณดารา พระปิ่นแก้ว และพระปิ่นทอง

ในตอนอวสาน แม้พระปิ่นศิลป์ชัยจะแอบรับรู้ว่าพระปิ่นแก้วหลงรักสุวรรณดารา (แต่ไม่กล้าบอก) และตระหนักว่าพระปิ่นแก้วมีส่วนช่วยเหลือตนหลายครั้งหลายหน ทว่า สุดท้าย พระปิ่นศิลป์ชัยก็เลือก “กินรวบ” ด้วยการประกาศจะอภิเษกสมรสกับสุวรรณดาราและกัณหารัชนี (น้องสาวของสุวรรณดารา ผู้กำลังจะให้กำเนิดทายาทแก่พระปิ่นศิลป์ชัย)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ส่งผลให้สุวรรณดาราต้องหันไปหา “ทางเลือกที่ 3” ซึ่งสร้างความผิดหวังงงงวยให้แก่เจ้าชายทั้งสองพระองค์

แน่นอน การเลือกจบแบบให้นางเอกออกบวช ส่วนพระเอกสองคนต้องพานพบกับความพลาดหวัง อาจถือเป็นอาหารตาที่มีรสชาติแปร่งปร่าสำหรับคนดูทีวี

อย่างไรก็ดี โดยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าฉากจบของ “แก้วหน้าม้า” ฉบับนี้ สามารถสื่อแสดงอารมณ์ดราม่าอันเข้มข้นออกมาได้ในระดับน้องๆ ฉากจบของภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท” โดยท่านมุ้ย ซึ่งฉายภาพการปะทะกันทางสีหน้าแววตาระหว่างสมเด็จพระมหาธรรมราชา (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) กับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) เลยทีเดียว

เพียงแต่ฉากจบอันซึมเศร้า ตื่นตะลึง ไปไหนต่อไม่เป็น ของพระปิ่นแก้วและพระปิ่นศิลป์ชัย อาจถูกทำให้เสียอรรถรสความเป็นดราม่าลงไปบ้าง เพราะมุขสองพระโอรสต้องทรง “รับประทานแห้ว” ของบรรดาพระพี่เลี้ยง (ซึ่งอีกนัยหนึ่ง ก็ได้ช่วยตอกย้ำสถานะความเป็น “ละครตลก” ให้แก่ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้)


ไปๆ มาๆ คำวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “อวสานแบบไม่จบ” ที่มีต่อ “แก้วหน้าม้า” จึงอาจเป็นข้อกล่าวหาที่พอจะแก้ต่างได้อยู่

เพราะอย่างน้อย ก็ไม่เคยมีเรื่องเล่าแนวมุขปาฐะพื้นบ้านเรื่องไหน ที่ปิดฉากเรื่องราวลงอย่างสมบูรณ์

ดังที่ “ภู กระดาษ” เคยตั้งข้อสังเกตอันเฉียบคมเอาไว้ผ่านนวนิยายเรื่อง “เนรเทศ” ของเขา ว่าแม้ตำนานพื้นบ้าน เช่น จันทคาธชาดก และ พญาคันคาก จะแสดงให้เห็นความเป็นไปได้หรือโอกาสแห่งชัยชนะ รวมทั้งช่วงเวลาแห่งการลืมตาอ้าปากของเหล่าคนเล็กคนน้อย คนข้างล่าง ผู้เคยถูกกดขี่ปกครอง

แต่เราก็มิอาจไว้วางใจได้ว่า คนที่เคยถูกกระทำ ซึ่งพลิกผันชะตากรรมมาเป็นฝ่ายชนะและครอบครองอำนาจนั้น จะ “ไม่เปลี่ยนไป” หรือไม่หันกลับมาเอารัดเอาเปรียบขูดรีดขูดเนื้อผู้ด้อยอำนาจรายอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง

เนื่องเพราะเรื่องราวการบริหารปกครองบ้านเมืองของผู้ชนะที่เคยถูกกดขี่ข่มเหงมาก่อน มักจะไม่ปรากฏหรือไม่ถูกเล่าถึงในตำนานพื้นบ้านส่วนใหญ่ ซึ่งเลือกปิดฉากแบบ “ปลายเปิด” ลงตรงการได้ครองเมืองและครองรักของเหล่าตัวละครเอก

ผู้ฟัง ผู้อ่าน และผู้ดูตำนานพื้นบ้านในแบบฉบับเรื่องเล่า หนังสือ และละครโทรทัศน์ จึงไม่สามารถหยั่งรู้ได้ว่าพระเอก-นางเอกของพวกตน จะกลายเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองที่ดีหรือไม่

เนื่องจาก “บทจบที่ปราศจากความสมบูรณ์” ของเรื่องเล่าพื้นบ้าน จักรๆ วงศ์ๆ ไม่เคยนำพาพวกเขาไปถึงสถานการณ์ ณ จุดนั้น

“แก้วหน้าม้า” ฉบับ 2558-2559 ก็อวสานลงอย่างไม่สมบูรณ์เหมือนๆ กัน เพียงแต่ “จุดจบปลายเปิด” ถูกขยับขับเคลื่อนจากการได้ครองรัก/ครองเมืองแบบ “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” มาสู่ปริศนาว่าด้วยโอรสที่พลัดพรากหายไป (โดยไม่รู้ว่าหายไปไหน และมีชีวิตหรือไม่อย่างไร?) และเจ้าหญิงผู้จากลา (โดยไม่รู้ว่าบรรดาเจ้าชายที่ต้องกินแห้วจะอยู่กันอย่างไรต่อไป?)

ถ้าพิจารณาจากแง่มุมนี้ ดูคล้าย “แก้วหน้าม้า” เวอร์ชั่นล่าสุด จะพาคนดูเดินทางไปยังอาณาจักรที่พวกเขาไม่เคยไปถึงมาก่อน