ศัลยา ประชาชาติ : ผ่าแผน “อุ้ม” ครั้งสุดท้าย ฟื้นฟู “การบินไทย” คลังลดถือหุ้น-ยุบสหภาพ

“ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่จะพิจารณาแผนฟื้นฟูองค์กรแห่งนี้ เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พยายามที่จะฟื้นฟูให้ได้มาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ยาก เพราะต้องปรับทั้งโครงสร้างองค์กรและบุคลากรต่างๆ จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน โดยเฉพาะสหภาพของการบินไทย ถ้าสหภาพไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตามแผน จะทำให้เกิดปัญหาและจะยิ่งลำบากกันมากกว่านี้”

นี่เป็นคำกล่าวของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ถึงแผนการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ธุรกิจกำลังแขวนบนเส้นด้ายอีกครั้ง หลังจากธุรกิจขาดทุนต่อเนื่องมา 3 ปี และยังต้องมาเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ซ้ำเติมเข้าไปอีก

นายกรัฐมนตรีบอกด้วยว่า ในแผนฟื้นฟูมีระบุเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามประมาณ 10 ข้อ ซึ่งต้องขอความร่วมมือพนักงานและลูกจ้างของการบินไทยให้ความร่วมมือกับแผนฟื้นฟูนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเดินหน้าไปกันไม่ได้ โดยการที่รัฐบาลยังคงให้มีการบินไทยไว้ ก็เพราะยังเห็นโอกาสเติบโตอื่นๆ อยู่

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่าสถานะของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท หนี้สินรวม 244,899.44 ล้านบาท รายได้รวม 188,954.45 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท มีเงินสด 21,663 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการปี 2563 ประเมินว่า ช่วง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 จะประสบปัญหาขาดทุน 18,038 ล้านบาท และเริ่มมีกระแสเงินสดติดลบตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 พิจารณาแผนการฟื้นฟูการบินไทยดังกล่าว ซึ่งเดิมจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการวันที่ 5 พฤษภาคม ทว่ายังไม่สามารถเสนอได้ ส่งผลให้เวลาต้องทอดออกไปอีก 1 สัปดาห์

“อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง กล่าวว่า จะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูให้เป็นรูปธรรม โดยกำลังรวบรวมเงื่อนไขที่การบินไทยต้องดำเนินการ เช่น การปรับระบบการขายตั๋วโดยสาร, การดูแลบุคลากร และการจัดซื้อ ตลอดจนเงื่อนไขพิเศษอื่นที่นอกเหนือจากแผนฟื้นฟูช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“กำลังรวบรวมเงื่อนไขว่า มีอะไรบ้างที่จำเป็น ทำแล้วจะนำไปสู่การฟื้นฟูการบินไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม วันนี้การบินไทยก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนธุรกิจอื่นๆ แต่ยอมรับว่าการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนมาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโอกาสร่วมกันที่จะแก้ปัญหาเพื่อครั้งนี้ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างการบินไทยจะยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ กระทรวงการคลังยังถือหุ้นใหญ่” นายอุตตมกล่าว

สำหรับการค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาท รมว.คลังบอกว่า เป็นเพียงการเพิ่มสภาพคล่อง โดยส่วนหนึ่งสามารถไปเจรจากับเจ้าหนี้ ผู้ให้เช่าเครื่องบินได้ เมื่อเจรจาแล้ว อาจจะใช้วงเงินไม่ถึงก็ได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ จะมีการเสนอแผนการฟื้นฟูการบินไทย ระยะ 5 ปี (ปี 2563-2567) ให้ ครม.เห็นชอบในหลักการ จากนั้นก็ให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีนายอุตตมเป็นประธาน ต้องเรียกประชุมเพื่อพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขค้ำประกันเงินกู้ให้แก่การบินไทย เนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนต่อเนื่องมา 3 ปี

พร้อมกับเห็นชอบเสนอ ครม. ปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 โดยเพิ่มวงเงินค้ำประกันเงินกู้ให้แก่การบินไทยเข้าไปในแผน ซึ่งวงเงินค้ำประกันน่าจะอยู่ระหว่าง 5-7 หมื่นล้านบาท

“การค้ำประกันเงินกู้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่การบินไทยจำเป็นต้องใช้โอกาสนี้ผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ เนื่องจากปัญหาใหญ่ของการบินไทยคือ ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) สูง ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าซ่อมบำรุงต่างๆ” แหล่งข่าวกล่าว

โดยแนวทาง “ผ่าตัด” การบินไทย ที่คลังและคมนาคมมีข้อสรุปร่วมกันก็คือ การปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นรูปแบบ “โฮลดิ้ง” โดยมีการบินไทยที่เป็นบริษัทแม่ และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกนั้นจะแยกธุรกิจตั้งเป็นบริษัทลูก 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ฝ่ายครัวการบิน 2.บริษัท บริการภาคพื้น 3.บริษัท คลังสินค้า 4.บริษัท ฝ่ายช่าง และ 5.สายการบินไทยสมายล์

ขณะเดียวกันคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% ให้หน่วยงานของรัฐอื่นๆ เข้ามาถือมากขึ้น อาทิ ธนาคารออมสิน กองทุนรวมวายุภักษ์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลายเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่ 3 จากเดิมอยู่ประเภทที่ 1 บริหารงานได้คล่องตัวขึ้น และจะมีผลทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสิ้นสถานะลงไปด้วย

 

ฟากแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หัวใจฟื้นฟูการบินไทยคือ เงิน คน เส้นทาง เครื่องบิน และการจำหน่ายตั๋ว ที่จะต้องบูรณาการใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างรายได้และลดปัญหาการขาดทุน ซึ่งหากดำเนินการตามแผนที่มีการเสนอ จะทำให้ผลประกอบการในปี 2564 ไม่ขาดทุน

โดยระยะสั้น ขอกู้ฉุกเฉินระยะสั้น 5-7 หมื่นล้านบาท ให้คลังค้ำประกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินสด และเป็นค่าใช้จ่ายในช่วง 5 เดือน (พฤษภาคม-กันยายน 2563) ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเจรจาเจ้าหนี้ ขอยืดเวลาชำระหนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงต้องลดค่าใช้จ่าย

อาทิ ปรับลดคนให้เหมาะสมกับโครงสร้างใหม่ จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 2 หมื่นคน ซึ่งจะเปิดให้มีการลาออกแบบสมัครใจ ปรับลดสวัสดิการ ปรับปรุงระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารเป็นขายผ่านออนไลน์ และปรับโครงสร้างราคาตั๋วใหม่ให้เป็นมาตรฐาน

นอกจากนี้ ต้องปรับเส้นทางการบินใหม่ โดยการบินไทยจะบินระหว่างประเทศและเน้นเส้นทางที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนเส้นทางในประเทศ จะให้ไทยสมายล์บินเป็นหลัก

พร้อมกับการปลดระวางและกำหนดขนาดเครื่องบินใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมการเดินทางทั่วโลกเปลี่ยนไป เช่น เครื่องบินที่ใช้งานมานาน หรือบินในเส้นทางที่ไม่มีกำไร ก็ให้ปลดระวางเร็วขึ้น ส่วนเครื่องบินลำใหญ่ก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป พร้อมเปลี่ยนจากซื้อมาเป็นการเช่าแทน

 

สําหรับแผนระยะยาว การบินไทยจะขอเพิ่มทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ และเป็นค่าใช้จ่ายบริหารจัดการภายในองค์กร เพื่อเดินหน้าธุรกิจหลังจากสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง

คงต้องจับตากันต่อไปว่า แผน “ผ่าตัด” การบินไทยรอบนี้ จะทำให้สายการบินแห่งชาติแห่งนี้ “อยู่รอด” ได้ในระยะยาว

หรือที่สุดแล้วยังคงเป็นแค่ “เลี้ยงไข้” อุ้มกันต่อไปไม่สิ้นสุด