ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ระบอบประยุทธ์ ทำสังคมไร้อนาคต ในโลกยุคหลังโควิด-19

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกสังคมต้องใช้สมองคิดมากกว่าเรื่องเชียร์หรือไม่เชียร์รัฐบาล แต่ทั้งที่ปัญหาไวรัสและปัญหาจากวิธีหยุดการระบาดของไวรัส ทำให้คนในประเทศเดือดร้อนไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน รัฐบาลยังทำราวกับวิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง

รัฐมนตรีสาธารณสุขเคยพูดว่าโควิด-19 ไม่ใช่ไวรัสที่อันตรายโดยตัวเอง แต่อันตรายจะเกิดเมื่อมีการระบาดวงกว้างจนระบบสาธารณสุขรับผู้ติดเชื้อไม่ได้ทั้งหมด

และถึงแม้คำพูดนี้จะขัดหูคนไทยที่คิดว่าโควิดเหมือนซอมบี้ มาตรการที่ไทยใช้จนตอนนี้ก็มุ่งคุมการระบาดแบบที่รัฐมนตรีพูดไว้จริงๆ

รัฐบาลประยุทธ์สู้ศึกไวรัสด้วยวิธีสกัดไม่ให้ไวรัสระบาดในเขตเมือง และในเมื่อเมืองมีประชากรหนาแน่น มาตรการของรัฐบาลจึงมุ่งลดความหนาแน่นของประชากรเมืองให้มากที่สุด โดยเฉพาะการปิดกิจการและธุรกิจต่างๆ จนส่งผลให้คนนับล้านตกงานและอพยพกลับชนบทในช่วงที่ผ่านมา

ไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลตั้งใจหรือไม่ที่จะให้คนชนบทกลับบ้านพร้อมกับนำไวรัสโควิด-19 ไปสู่ชุมชน

แต่มาตรการของรัฐส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านห่างไกลตามจังหวัดต่างๆ จนระบบสาธารณสุขใน “ชนบท” ต้องรับภาระดูแลการระบาดของผู้ติดเชื้อที่กลับบ้านเพราะไม่มีทางทำมาหากินในเมือง

โดยปกตินั้นชนบทมีทรัพยากรสาธารณสุขน้อยกว่าเมือง แต่ในเมื่อโควิดโดยเนื้อแท้แล้วอันตรายเพราะการระบาดมากกว่าจะเป็นโรคร้ายแรงโดยตัวเอง การส่งคนชนบทกลับบ้านจึงกระจายภาระด้านสาธารณสุขจากเมืองไปสู่ชนบทโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครต้องรับภาระหนักเกินไปโดยปริยาย

ระบบสาธารณสุขไทยควรได้รับคำชื่นชมที่จัดการไวรัสโควิด-19 ได้อย่างดี แต่คำว่า “ระบบ” ไม่ได้หมายถึงแค่บุคลากรในโรงพยาบาลที่รักษาผู้ติดเชื้อทั้งโดยตรงและโดยอ้อม หากหมายถึงสถาบันและบุคลากรนอกโรงพยาบาลทั้งหมดที่ทำให้การระบาดต่ำจนโรงพยาบาลไม่ต้องรับภาระเกินกำลัง

แกนหลักของระบบสาธารณสุขคือระบบราชการ แต่กลไกในการสกัดการระบาดของไวรัสได้แก่พลังนอกระบบราชการอย่าง อสม., ประชาชนที่ขวนขวายใส่หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าตั้งแต่ต้นจนจบ, บริษัทที่ตรวจอุณหภูมิและติดตั้งเจลล้างมือตามทางเข้า-ออก ฯลฯ ไม่ใช่ระบบราชการ

ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ที่รัฐบาลพยายามสร้างว่าประเทศไทยผ่านวิกฤตโควิดเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการจัดตั้ง ศบค.ขึ้นมาบริหารประเทศผ่านระบบราชการตามคำแนะนำของปลัดและหมอโดยไม่ฟังประชาชน ระบบราชการไทยล้มเหลวในการสู้ศึกโควิดนอกโรงพยาบาลอย่างสิ้นเชิง

ความสำคัญของพลังนอกระบบราชการอย่าง อสม., หมออนามัย, พยาบาลนอกราชการ ฯลฯ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยอมเพิ่มค่าตอบแทนหรือบรรจุคนเหล่านี้เป็นข้าราชการ 45,242 คน ทั้งที่ปฏิเสธเรื่องนี้เป็นเวลาหลายปี

แต่นอกจากเรื่องนี้แล้ว การปรับปรุงระบบราชการแทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

รัฐไทยบริหารวิกฤตโควิด-19 โดยแบ่งเป็นกลุ่มปัญหาสาธารณสุขและกลุ่มที่ไม่ใช่เรื่องสาธารณสุขโดยตรง แต่ขณะที่ระบบราชการปฏิบัติภารกิจด้านสาธารณสุขสำเร็จแค่ในรั้วโรงพยาบาล ระบบราชการกลับประสบผลในการแก้ปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องสาธารณสุขน้อยจนใกล้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

กระทรวงการคลังคือเสาหลักของระบบราชการในการดูแลปัญหาโควิด-19 ส่วนที่ไม่ใช่สาธารณสุข แต่ความล้มเหลวของคลังในการเยียวยาประชาชนนั้นเจิดจ้าจนไม่ต้องพูดอะไรอีก เพราะการจ่ายเงิน 5,000 ที่ล่าช้าถึงหนึ่งเดือนเป็นหลักฐานความไร้ประสิทธิภาพที่น่าอดสูอย่างสมบูรณ์

ภายใต้ความล่าช้าในการเยียวยา เม็ดเงินที่ถึงมือประชาชนอย่างเชื่องช้าส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในวังวนของหนี้นอกระบบไม่รู้จบ หนึ่งเดือนที่รัฐทำให้ประชาชนไม่มีรายได้โดยไม่ได้รับการเยียวยาคือหนึ่งเดือนที่ประชาชนถูกผลักให้กู้หนี้นอกระบบอย่างไม่มีทางออกจากวังวนนี้ได้เลย

ทันทีที่คลังโอนเงินเข้าบัญชีประชาชนในเดือนเมษายนและพฤษภาคม เงินก้อนนี้ก็ไหลไปเข้ากระเป๋าสตางค์เจ้าหนี้เพื่อชดใช้หนี้ที่ประชาชนก่อหลังตกงานเดือนมีนาคมแทบทั้งหมด

ผลก็คือประชาชนหมดตัวทันทีที่คลังโอนเงินให้ ซึ่งหมายความว่าประชาชนต้องกู้หนี้นอกระบบมาเลี้ยงตัวเองในเดือนต่อไป

นักวิชาการจำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยยุคหลังโควิด-19 จะเป็นสังคมที่ปัญหาความยากจนรุนแรงขึ้นอย่างน่ากังวล

ประเทศไทยที่ในรอบสิบกว่าปีพยายามคิดเรื่องทำอย่างไรให้พ้น “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” อาจกลายเป็นต้องคิดว่าทำอย่างไรให้อยู่กลุ่มรายได้ปานกลางต่อไป

ความล่าช้าของระบบราชการทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบขยายตัว และสิ่งที่จะมาจากหนี้นอกระบบขยายตัวก็คือการขยายตัวของความยากจนและไม่มีจะกิน ทั้งที่หากระบบราชการเยียวยาประชาชนเร็ว หรือหากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “ปิดเมือง” โดยมีมาตรการรองรับ ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

นอกจากคลังจะล้มเหลวในการเยียวยาประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งตั้งปลัดทุกกระทรวงให้เป็นใหญ่ใน ศบค.ก็ล้มเหลวในการดูแลประชาชนด้วย ศบค.ออกกติกาโง่ๆ ว่าคนที่มีประกันสังคมไม่มีสิทธิได้เงินเยียวยาห้าพัน แต่ตอนนี้ประกันสังคมยังไม่จ่ายเงินชดเชยการว่างงานให้ใครเลย

รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเคยระบุว่าประกันสังคมจะจ่ายเงินทุกคนในเดือนเมษายน แต่ขณะที่สัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมกำลังจะผ่านไป ประชาชนที่ควักเงินตัวเองซื้อประกันกับรัฐบาลกลับไม่ได้เงินชดเชยว่างงานสักบาท ทั้งที่เงินนี้มาจากเงินที่ประชาชนจ่ายกองทุนประกันสังคมทุกเดือน

รัฐบาลเยียวยาล่าช้าทำให้ประชาชนอดอยากเป็นเบือ แต่จนถึงเดือนพฤษภาคม ระบบราชการก็ยังไม่มีปัญญานำอาหารไปสู่ประชาชนโดยทั่วถึงและสม่ำเสมอ คนตกงานอยู่รอดเพราะประชาชนช่วยกันเองมากกว่าหน่วยงานรัฐ แต่องค์กรทางสังคมที่หละหลวมจะทำให้ในที่สุดประชาชนแผ่วกำลังลง

หกปีของเผด็จการประยุทธ์คือหกปีแห่งการสร้าง “ระบอบประยุทธ์” ซึ่งมีเจ้าสัวอุปถัมภ์ผู้มีอำนาจบน “โครงสร้าง” ที่มีระบบราชการเป็นแกนกลาง กลไกในการปกครองของระบอบประยุทธ์ได้แก่การใช้ทหารสร้างกติกาประเทศซึ่งระบบราชการเป็นมือเป็นไม้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำตามที่ต้องการ

พล.อ.ประยุทธ์ชอบสร้างวาทกรรมว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่ดี ลิ่วล้อระบอบประยุทธ์เองก็ชอบปลุกปั่นตรรกวิบัติประเภทเผด็จการแก้ปัญหาประเทศดีกว่าประชาธิปไตยเยอะ วิธีคิดในการอธิบายส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับการอวยจีนซ้ำๆ ซากๆ ว่าจีนเป็นเผด็จการ แต่ประเทศก็เจริญ

คนที่มีสติย่อมรู้ว่าจีนเจริญเพราะปัจจัยอย่างขนาดของประเทศ, กำลังซื้อ ฯลฯ แต่ต่อให้เป็นคนที่มีพัฒนาการทางปัญญาเท่า พล.อ.ประยุทธ์และกองเชียร์ อย่างน้อยก็ควรคิดได้ว่าระบบราชการไทยแตกต่างจากระบบราชการจีนอย่างเทียบไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึง “ผู้นำ” ซึ่งเผด็จการไทยสู้จีนไม่ได้เลย

ทุกคนในประเทศรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์และหมอที่ขี่คอ พล.อ.ประยุทธ์อยู่นั้นแก้ปัญหาโควิด-19 ด้วยมาตรการจีน

แต่ขณะที่ประชาชนจีนเชื่อมั่นเผด็จการจีนว่ามีปัญญาทำให้รวยขึ้น

ประชาชนไทยที่เชื่อมั่นเผด็จการประยุทธ์กลับมีน้อยมาก เช่นเดียวกับความสามารถของรัฐในการดูแลประชาชน

ขณะที่จีนใช้ระบบราชการจัดการประเทศช่วงโควิดสำเร็จทั้งในแง่ไวรัสและผลต่อประชาชน ระบบราชการไทยกลับไม่มีสมรรถนะในการบริหารประเทศยามวิกฤต “ปิดเมือง” ที่เผด็จการประยุทธเลียนแบบเผด็จการจีนจึงเป็นของก๊อปเกรดต่ำที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและประชาชาติไทย

แม้บัดนี้สถานการณ์การระบาดของไวรัสจะผ่านไป แต่เส้นทางสู่การฟื้นฟูประเทศยังไม่มีแสงสว่างให้เห็น ระบอบประยุทธ์ทำให้ประเทศไทยพินาศตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 และในสถานการณ์ที่โลกและประเทศพังแบบหลังโควิด

ระบบราชการภายใต้ผู้นำแบบนี้มีแต่พาประเทศสู่ความมืดมน

โลกหลังโควิดจะเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาล เมืองจะไม่มีวันเหมือนเดิม ยุทธวิธีที่ พล.อ.ประยุทธ์ผลักคนออกจากเมืองเป็นยุทธวิธีชั่วคราวซึ่งในที่สุดต้องหยุด ระบบราชการพัฒนาประเทศโดยสร้างเมืองบนการทำลายล้างชนบท การตรึงเมืองคือการตรึงประเทศ เรื่องนี้ไม่มีทางทำได้ในระยะยาว

ประเทศไทยยุคหลังโควิด-19 จำเป็นต้องมีการออกแบบใหม่ แกนของประเทศทั้งหมดใช้ไม่ได้ เศรษฐกิจส่งออกพัง รายได้เสริมจากการท่องเที่ยวพินาศ ภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่มีวี่แววฟื้น และการพัฒนาที่มีเมืองเป็นศูนย์กลางต้องถูก “รื้อสร้าง” ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ระบบราชการไม่มีปัญญาสร้างประเทศในสภาพแวดล้อมนี้ ผู้นำระบบราชการไม่มีศักยภาพจะนำประเทศฝ่าวิกฤต เราจำเป็นต้องสร้างสังคมใหม่โดยระดมสมองจากทุกฝ่ายตั้งแต่ภาคเอกชน, ประชาสังคม, นักออกแบบ ฯลฯ

แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดไม่ได้เลยหากระบบราชการขวางประเทศอย่างปัจจุบัน

ประเทศไทยยุคหลังโควิด-19 ต้องมีการปลดล็อกจากพันธนาการครั้งใหญ่ และในการปลดล็อกเพื่อปลดปล่อยประเทศจากกลไกที่ไร้ประสิทธิภาพ การปลดแอกประเทศจากระบอบประยุทธ์คือความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะระบอบนี้คือลูกตุ้มถ่วงให้ประเทศจมดิ่งสู่ก้นบึ้งอย่างที่เห็นกัน

ไม่มียุคสมัยไหนแล้วที่การเปลี่ยนผู้นำประเทศสำคัญต่อความอยู่รอดของชาติอย่างปัจจุบัน