เผด็จการ – เสรีประชาธิปไตย การปกครองใดเหมาะสมกว่าในวิกฤตโควิด ? | ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก เล่มใหม่ (๖๔.๑๓)

มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง นั่นคือระบอบการปกครองแบบใดที่จะเหมาะสมกว่าในวิกฤตโควิด ระหว่าง

๑ ระบอบเผด็จการ

๒ ระบอบเสรีประชาธิปไตย

แต่คิดดูดีๆ มันไม่ต่าง ความต่างอยู่ที่

๑ Proactive หรือการรับมือแบบเตรียมตัวล่วงหน้า

๒ Reactive หรือการรับมือแบบตามหลังเหตุการณ์

ตัวอย่างที่น่าชมมากคือประเทศเวียดนาม ที่รับมือแบบแรก ประเทศนี้เป็นประเทศในอาเซียน มีภูมิอากาศคล้ายเรา และเป็นคู่แข่งของเราในหลายอย่าง มีประชากรราว ๙๕ ล้านคน

แต่มาถึงวันนี้มีคนติดเชื้อเพียงแค่สองร้อยกว่าคน และหายแล้วสองร้อยกว่าคน และไม่มีคนเสียชีวิตเลย

ช่างเป็นฝันดีอะไรเช่นนั้น เกิดอะไรขึ้นหรือ

เมื่อมองดู พบว่ามันไม่ใช่ความฟลุก หากแต่เพราะพวกเขามีเตรียมการล่วงหน้า

เวียดนามเจอคนติดเชื้อคนแรกในวันที่ ๒๓ มกราคม แต่พวกเขาเตรียมตัวก่อนหน้านั้น ทันทีที่ประเทศจีนค้นพบคนติดเชื้อนี้ในอู่ฮั่น เวียดนามก็ไหวตัว มีการป้องกันตามด่าน และมีการประชุมเพื่อวางแผนรับมือ

ในวันที่ ๑๕ มกราคม พวกเขามีการติดตาม ดูแลคนป่วยอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อรับมือกับโรคระบาด

ความน่าทึ่งอยู่ที่ว่า พวกเขาเป็นชาติที่มีทรัพยากรไม่มากนัก ไม่ได้ร่ำรวยอะไร จริงอยู่ พวกเขามีพรรคการเมืองเดียว แต่สาเหตุสำคัญอยู่ที่ความเป็น Proactive มากกว่า

สิ่งนี้เองที่เหมาะสมที่สุดในการรับมือกับโรคระบาด

หากทุกชาติทำตัวเช่นนี้ โควิดจะไม่ร้ายแรงอะไรเลย

แต่ในโลกนี้ ชาติส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะเป็น Reactive นั่นคือ เป็นฝ่ายไล่ตามหลังไวรัส

แต่ไวรัสตัวนี้ ยิ่งวิ่งไล่ตามมัน ยิ่งอันตราย

ฉันเป็นคนหนึ่งที่อยากให้คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือคุณทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อนำพาประเทศของเราให้พ้นวิกฤติโควิดครั้งนี้ ด้วยเพราะพวกเขาเป็นคนมีวิสัยทัศน์ มีความเฉลียวฉลาด

ฉันชอบฟังพวกเขาพูด ด้วยมีแนวคิดเหนือกว่าคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายชั้น

แต่ก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า หากตอนนี้คุณธนาธรเป็นนายกฯ เขาจะมีความเด็ดขาดปานใดในการใช้กฎหมาย

เพราะหากใช้มากไป เขาก็จะถูกด่าว่า คุณก็ไม่ต่างจากเผด็จการ

และคำด่านี้จะเจ็บจี๊ด ด้วยเพราะตัวเขามาจากสายเสรีประชาธิปไตยสุดโต่ง ที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการ เขาคงทำไม่ได้ แม้เขาจะเฉลียวฉลาด มีความสามารถ

แต่ทว่าในเหตุการณ์วิกฤตโควิด เขาจะรับมืออย่างไร อาจบางทีคุณประยุทธ์จะรับมือได้ดีกว่าเสียอีก

ด้วยเพราะเขาไม่ต้องคิดมาก แค่ทำตามคณะนายแพทย์

ฉันลองย้อนไปดูคลิปในช่วงที่ไวรัส Covid-19 ระบาดใหม่ๆ คือในเดือนมกราคม ว่าช่วงนั้นๆ คนไทยทำอะไร ดูเกือบทุกสื่อ ฉันพบว่าสิ่งที่มาขวางกั้นข่าวสารของไวรัสก็คือการเมือง เรียกว่า คนไทยมัวแต่สนใจการต่อสู้ทางการเมือง ไม่มีใครสนใจไวรัสเลย ต้องรอจนมันระบาดหนัก จึงหันมาสนใจ ซึ่งก็จะช้าไปหลายก้าว

การเมืองจึงเป็นตัวถ่วงมนุษย์ มันเกิดขึ้นไม่เฉพาะในเมืองไทยหรอก แต่ทั่วทั้งโลก

นี้เป็นโศกนาฏกรรมของมนุษยชาติ ที่ทุกวิกฤตระดับโลกที่เกิดขึ้น มนุษย์จะรับมือไม่ทัน ปรับตัวไม่ได้ ด้วยเพราะจะถูกบดบังด้วยการเมือง เสียงทะเลาะทางการเมือง มันกลบหมดทุกอย่าง

ความแปลกคือ แม้ในวันนี้ วันที่ไวรัสโควิดระบาดหนัก การเมืองก็ยังไม่หายไปไหน อาจลดความสำคัญลงไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่

ฉันยังเห็นการจับผิดกัน การเยาะเย้ย การถากถาง และอคติที่มีต่อกัน

ขนาดพรรคเพื่อไทย ซึ่งดูเหมือนจะเข้าใจ ประกาศตัวว่าพอแล้ว จะไม่เล่นการเมืองละ จะให้ความร่วมกันรัฐบาลในการรับมือโควิด แต่พอไม่นาน นิสัยเก่าก็กลับมา ด้วยเพราะหักห้ามใจตัวเองไม่ได้

นิสัยการเมืองมันฝังลึกมาก และนิสัยคนไทย จริงแล้วที่ว่า ชอบทะเลาะกัน ชอบคุ้ยเขี่ยในทุกสิ่งที่คุ้ยได้

ฉันพูดแบบคนชอบพรรคเพื่อไทย แต่ระอากับธรรมชาติของมนุษย์

๓ฉันกำลังคิดว่า โควิดนี้เป็นวิกฤต แต่วิกฤตก็สร้างโอกาสด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้โลกของเรามีวิกฤตหลายอย่าง ที่ร้ายแรงเช่นสภาวะโลกร้อน ซึ่งมีคนกล่าวเตือนมาหลายครั้ง แต่มนุษย์ก็ยังไม่มี will จะแก้ไข แต่ทว่าโควิดนี้เองที่กำลังสร้างโอกาส

บางวิกฤต เราต้อง Reactive เท่านั้น เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด

แต่มีบางวิกฤต เราควรจะเป็น Proactive เท่านั้น

เช่น กรณีโรคระบาด หรือปัญหาโลกร้อน ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าโควิดเป็นหมื่นเท่า ด้วยเพราะหากโลกของเราเข้าสู่สภาวะโลกร้อนจริงแล้ว มันจะแก้ไขไม่ได้เลย นานถึงหมื่นปี หรือแสนปี

คาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมา จะทำให้โลกของเรานี้กลายเป็นดาวอังคารดวงที่สอง และมนุษย์แม้จะไม่สูญพันธุ์ แต่เราก็ต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนอยู่ในนครใต้ดิน ไม่อาจท่องเที่ยว ไม่อาจมองเห็นท้องฟ้าสีฟ้าอีกแล้ว ไม่มีทะเล มหาสมุทร หรือแม้แต่แม่น้ำลำคลอง เราจะมีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน

และที่แสบแสนก็คือ เราคือสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เราปล่อยคาร์บอนออกไปเอง เราเปลี่ยนดาวเคราะห์โลกที่สุดจะสวยงาม ให้กลายเป็นดวงดาวแห้งผาก

รัฐบาลที่เป็น Proactive สมควรจะวางแผนระยะยาว สมควรทำอะไร ที่จริงก็มีการศึกษามาบ้างแล้ว เพียงแต่ขาดการทำจริง การแสวงหาพลังงานธรรมชาติ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดการใช้เครื่องบิน ลดการท่องเที่ยว เราหมดสิทธิฟุ่มเฟือยเหล่านี้แล้ว การจัดทำรถโดยสารสาธารณะใหม่ การขยายระบบรถไฟฟ้า มันคือการทำจริง ลดการเผาผลาญน้ำมันให้เหลือน้อยที่สุด

ดังนั้น เราอาจกำหนดเป็นกฎหมายให้ในหกวัน จันทร์ถึงเสาร์ ในนครใหญ่ ให้รถยนต์ส่วนตัววิ่งได้เฉพาะวันที่ตรงกับทะเบียนรถ เลขคี่หรือเลขคู่

ผู้กระทำผิดต้องโดนปรับ มันจะลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวไปได้ไม่น้อย

ส่วนวันอาทิตย์ก็เคอร์ฟิว งดรถส่วนตัวทั้งหมด ไม่ต้องเกี่ยงว่ารอให้ชาติอื่นทำก่อน การเป็น Proactive หมายถึงคุณทำก่อนเลย แล้วชาติอื่นจะทำตาม และยอมเจ็บตัวในทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีราคาใดๆ หากวิกฤตโลกมาถึง

หากเป็นปกติ กฎหมายเหล่านี้คงออกมาไม่ได้ หรือออกมาคงมีคนต่อต้านมาก

แต่โควิดสอนมนุษย์บางอย่าง ว่าเราต้องไม่ประมาท วันนี้เรายอมเสียสละคนละเล็กละน้อย โดยจำภาพช่วงเกิดโควิด หากเราเคอร์ฟิวนานเป็นเดือนทำได้ ทำไมกับการเคอร์ฟิวอาทิตย์ละวันจะทำไม่ได้

หากรัฐบาลนั้นๆ มีความเป็น Proactive เพียงพอ ฉันว่าประชาชนจะเข้าใจ หากทุกชาติทำแบบนี้ เราจะเข้าแก้ปัญหาโรคร้อนนี้ได้ สงครามโลกสองครั้งก็มีข้อดี คือมันทำลายระบบอาณานิคมได้ทั่วโลก

เช่นเดียวกัน โควิดก็มีข้อดี มันสามารถทำลายความลุ่มหลงในการใช้ชีวิตของเราลงได้ มันทำลายนิสัยฟุ่มเฟือยของเรา

การแก้ปัญหาโลกร้อน คือทำอย่างไร ทุกชาติจะตื่นตัว อะไรจะทำให้พวกเขาตื่นตัวได้ จะมีสัญญาณเตือนภัยใด ที่ดังเพียงพอ โควิดนี้เพียงพอไหม

ฉันสงสัย ฉันกลัวว่า วันที่โควิดผ่านพ้นไป ผู้คนจะกลับไปเหมือนเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ปัญหาเรื่องการจัดการเรื่องน้ำ เรื่องอากาศ เราต้องเป็น Proactive เท่านั้นจึงจะแก้ได้ ล้วนต้องการการวางแผนระยะยาวและทำจริง อย่างแก้มลิง ต้องทำจริง และทำเป็นร้อยเป็นพันแห่ง เป็นกฎหมายที่ไร้การโต้แย้ง

ไม่ต้องสนใจว่าเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย

เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่หลวงเกินตัวมนุษย์