วิกฤติศตวรรษที่ 21 | กิจกรรมของมนุษย์ ต้นเหตุวิกฤตินิเวศ

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (3)

วิกฤตินิเวศเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

วิกฤตินิเวศที่กำลังเผชิญอยู่นี้ ที่สำคัญเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เห็นได้ง่ายๆ จากกรณีต่อต้านไข้โควิด-19 ด้วยมาตรการเข้มงวดได้แก่การปิดเมืองและปิดประเทศ ลดการเคลื่อนไหวและรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นการลดกิจกรรมของมนุษย์ในทุกด้านและอย่างฉับพลัน สร้างความรู้สึกเกิดผลดีต่อระบบนิเวศแบบเห็นได้ชัด เช่น หมอกควัน มลพิษทางอากาศลดลง มีรายงานว่าระดับมลพิษทางอากาศเอ็มพี 10 ที่กรุงนิวเดลีลดลงถึงร้อยละ 40 เมืองชลันธรา ที่รัฐปัญจาบห่างจากเทือกเขาหิมาลัยราว 160 ก.ม. ชาวเมืองสามารถมองเห็นยอดเขาหิมาลัยได้เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

น้ำในคลองเมืองเวนิสที่เคยขุ่นดำจากเรือโดยสารนักท่องเที่ยวกลับใสสะอาดจนมองเห็นตัวปลาและมีเป็ดมาแหวกว่าย ส่วนสุขภาพของแม่น้ำคงคาในอินเดียดีขึ้นมาก จนหลายแห่งสามารถลงอาบได้อย่างปลอดภัย

ตามเมืองต่างๆ ที่ผู้คนถูกบังคับให้อยู่ในบ้าน เมืองกลายเป็นเมืองร้าง ปรากฏสัตว์ป่าหลายชนิดได้เข้ามาอยู่ในเมืองเหล่านี้ บ้างเพื่อหาอาหาร บ้างเพื่อหาเสรีภาพในการเดินทาง เช่น ฝูงกวางเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อนักท่องเที่ยวลดลง ฝูงกวางก็ท่องไปในเมืองรวมทั้งสถานีรถไฟใต้ดิน

เสือพูม่าลงมาหาอาหารจนถึงเมืองซานติอาโก นครหลวงของชิลี

ฝูงหมาป่าโคโยตี้ท่องเมืองซานฟรานซิสโก ไปจนถึงสะพานโกลเด้นเกต ที่เมืองบาร์เซโลนา สเปน มีผู้พบเห็นฝูงหมูป่าท่องเที่ยวไปตามท้องถนน

แต่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องมีการเจ็บป่วยล้มตาย ประสบความทุกข์ระทมใหญ่กันถ้วนหน้า จึงใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชั่วคราวแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้มากน้อยเพียงใด

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เปิดเผยสิ่งที่เห็นได้ยากหรือคิดว่าอยู่ห่างไกล ให้เห็นง่ายขึ้น และอยู่ประชิดตัวจนรู้สึกว่ารับมือแทบไม่ทัน จากวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม ความหายนะจากภัยธรรมชาติ การสั่งสมความรู้ในการผลิต การบริหารจัดการ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน

ทำให้เราเห็นชัดว่ากิจกรรมของมนุษย์ก่อให้เกิดวิกฤตินิเวศได้อย่างไร

เรื่องเป็นทำนองนี้ว่า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในแบบการผลิตและกระบวนทัศน์ของมนุษย์ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เริ่มจากยุโรปแล้วลามไปที่สหรัฐ และประเทศต่างๆ ทั่วโลก เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยม ประกอบด้วยการปฏิบัติและแนวคิดสำคัญคือ

1) ระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล บุคคลมีสิทธิในทรัพย์สินของตน ที่จะไปประกอบกิจการแสวงหากำไรและความสุขได้ ไม่ถูกยึดริบไปง่ายๆ

2) ระบบสิทธิเสรีภาพ บุคคลมีเสรีภาพในชีวิตหรือเหนือร่างกายของตนเอง เป็นแรงงานเสรี ไม่ถูกบังคับ กะเกณฑ์หรือถูกกดเป็นทาส เสรีภาพนี้มีการขยายรวมไปถึงเสรีภาพอื่น เช่น เสรีภาพในการแสดงออก ขึ้นกับแต่ละสังคมและระดับการพัฒนา ในตอนหลังมีบางประเทศเห็นว่าการเข้าถึงระบบการแพทย์สาธารณสุขก็เป็นสิทธิเช่นกัน

3) การผลิตโดยเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงาน จากเดิมที่การผลิตใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์ การผลิตแบบนี้สามารถผลิตได้ปริมาณมากและมีราคาถูก เกิดเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่ใช้แรงงานคนจำนวนมาก และอาศัยวัตถุดิบที่ต้องส่งมาจากหลายแหล่งในปริมาณมาก เกิดการจำแนกงานและการแบ่งงานกันเป็นแผนกฝ่ายต่างๆ ไม่ผลิตเป็นรายชิ้นเหมือนเดิม

ซึ่งการผลิตแบบเก่านั้นช่างตีมีดก็ทำเป็นรายชิ้นคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ แต่การผลิตสมัยใหม่มีการแบ่งขั้นตอน มีแรงงานที่ชำนาญทำแต่ละขั้น และยังมีแผนกการตลาดเพื่อทำให้สินค้าเหล่านั้นขายได้

รวมความว่าทำให้การผลิตเป็นแบบสังคม ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานจากหลายแหล่ง ในนี้ที่สำคัญมีการแปรแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้า ในอีกด้านหนึ่งพัฒนาระบบตลาดขึ้นในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ นานาชาติ และระดับโลกขึ้น

4) มีการพัฒนาพลังการผลิตอยู่เสมอ ด้านหนึ่งเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้กำไร อีกด้านหนึ่งเพื่อเอาชนะคู่แข่งและการเข้าครอบงำหรือมีอำนาจสูงในตลาดระดับต่างๆ ซึ่งเป็นไปได้เพราะว่ากรรมสิทธิ์เป็นส่วนบุคคล

การพัฒนาการพลังการผลิตอยู่เสมอก่อผลสำคัญคือ

ก) เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มทุนทั้งหลาย ที่สู้ไม่ไหวต้องเลิกกิจการ ขายกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดแก่บริษัทที่ใหญ่กว่า ดังนั้น การแข่งขันอย่างเสรี นำมาสู่การผูกขาดในที่สุด เกิดการรวมศูนย์และกักกันทุนสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น มหาเศรษฐีของอเมริกันใน 3 ตระกูล มีความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันที่อยู่ด้านล่างของสังคม

ข) เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ เครื่องจักรที่เรียนรู้ด้วยตนเอง ข้อมูลใหญ่ การคำนวณแบบข้อมูลใหญ่ การสร้างธุรกิจแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า การสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 เป็นเทคโนโลยีที่มีลักษณะกวาดล้างของเก่าอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ก่อผลดีแก่คนจำนวนไม่มากที่ปรับตัวได้หรือบังเอิญโชคดีอยู่ในที่เหมาะในเวลาเหมาะ มีแนวโน้มทิ้งคนจำนวนมากที่อ่อนแอ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไว้เบื้องหลัง

ค) ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศอยู่ในกลุ่มเสี่ยงรุนแรง หลายสปีชีส์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ระบบนิเวศโลกอ่อนแอถึงขั้นล่มสลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแบบการผลิตและการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง

5) ก่อนหน้าและเคียงคู่กับการปฏิวัติอุตสาหกกรรม ได้เกิดการปฏิวัติการเกษตรขึ้น เพราะถ้าหากไม่มีการเกษตรเป็นพื้นฐานก็ไม่อาจมีทุน แรงงานและวัตถุดิบเพื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้

การปฏิวัติการเกษตรนี้กระทำด้วยการเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร ได้จากการจัดระบบชลประทานสมัยใหม่บ้าง การหักล้างถางพงที่ทำได้ง่ายขึ้นบ้าง การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ (ในตอนหลังมีการดัดแปรพันธุกรรม) การปรับปรุงดินและการใช้สารเคมีอื่น ได้แก่ ปูนขาว ปุ๋ยเคมี เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม การใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ยาปฏิชีวนะ การใช้เครื่องกล เริ่มจากการใช้เครื่องปั่นฝ้ายในสหรัฐตั้งแต่ปี 1793 สามารถผลิตฝ้ายได้จำนวนมาก

การเครื่องกลทางการเกษตรนี้มีการปรับปรุงขึ้นมาก มีขนาดใหญ่ เป็นแบบอัตโนมัติ รับสัญญาณจากดาวเทียม เป็นต้น

6)จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเกษตรข้างต้น เกิดผลกระทบใหญ่ต่อประชากรและการตั้งถิ่นฐานสองประการ ได้แก่

ก) เกิดการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว มนุษย์ใช้เวลากว่าสองแสนปีเพื่อมีประชากรจำนวน 1 พันล้านคนในปี 1800 แต่หลังจากนั้นใช้เวลาเพียงราว 200 ปีเศษ เพื่อให้มีประชากรกว่า 7 พันล้านคนในต้นศตวรรษที่ 21

การเพิ่มขึ้นของประชากรแบบทวีคูณยาวนานเช่นนี้นับเป็นครั้งแรกของมนุษย์ ก่อนหน้านั้นเมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นเร็วก็จะมีเหตุด้านลบทำให้จำนวนประชากรลดลง ได้แก่ โรคระบาด สงคราม ความอดอยาก ภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ภูเขาไฟระเบิด และแผ่นดินไหว เป็นต้น

ที่มนุษย์สามารถทำเช่นนี้ได้ก็เพราะว่าสามารถรักษาปัจจัยด้านบวกให้อยู่เหนือปัจจัยด้านลบไว้ แต่พบว่าปัจจัยด้านลบไม่ได้อ่อนแรงลง กลับทวีความเข้มแข็ง กดดันต่อจำนวนและการอยู่ดีของประชากรหนักมือยิ่งขึ้น ซึ่งปรากฏตัวอย่างทั่วไป ด้านโรคระบาดมีโควิด-19 ด้านสงครามมีสงครามนิวเคลียร์คุกคามอยู่ ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 กลายเป็นเหมือนการรบขนาดเล็กไป ในด้านภัยธรรมชาติก็ก่อความเสียหายรุนแรงอย่างเหลือเชื่อ เช่น ภัยแล้งในประเทศไทย ถ้าหากไม่ถูกกลบด้วยข่าวโควิด-19 ก็จะกลายเป็นเรื่องที่น่าตระหนกมากอีกเรื่องหนึ่ง

ข) เกิดการขยายตัวของเมืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนกระทั่งประชากรเมืองมีมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์มนุษย์ในปี 2008 การเป็นเมืองมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งได้แก่ การได้เปรียบทางขนาด การสามารถสนองความต้องการชาวเมืองได้อย่างหลากหลายทั่วด้าน ส่งเสริมความคิดริเริ่มและการสร้างสรรค์ จุดอ่อนได้แก่ การอยู่อย่างแออัด เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การกินและการบริโภคมาก การนอนน้อย การออกกำลังน้อย มีมลพิษทางอากาศสูง การมีประชากรมากอยู่กันแออัดยังกดดันต่อระบบเมืองรุนแรง เช่น ต่อการจราจร การขนส่ง ระบบขจัดของเสีย การสนองบริการสาธารณะ ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำประปา จนถึงบริการการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อเกิดโควิด-19 ระบบการแพทย์สาธารณสุขในประเทศพัฒนาแล้วเช่นในอิตาลีก็ยังรับมือไม่อยู่

7) เมืองใหญ่ในโลกยังมีการเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวด้วยกระบวนโลกาภิวัตน์และห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนยิ่ง ส่งเสริมการเดินทาง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการอพยพ ทำให้เมืองใหญ่เหล่านี้ต้องพึ่งพากันและกัน ซึ่งมีด้านดีที่ก่อความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่มีด้านเสียที่เกิดความขัดแย้งใหญ่ จนกลายเป็นสงครามการค้าและการแซงก์ชั่นกันทั่วโลก

เหล่านี้คือกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นเหตุปัจจัยของวิกฤตินิเวศ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลกร้อน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และอื่นๆ กับโควิด-19