เกษียร เตชะพีระ | ยอค่าการเมือง (3)

เกษียร เตชะพีระ

(โจนาธาน ซัมพ์ชัน นักเขียน นักประวัติศาสตร์และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษแสดงปาฐกถารีธของบีบีซีประจำปี ค.ศ.2019 เรื่อง “กฎหมายกับความเสื่อมถอยของการเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มหลักของหลายประเทศรวมทั้งไทยเราด้วย ผมจึงใคร่ขอนำมาเรียบเรียงเสนอเป็นอนุสติทางวิชาการดังนี้)

ตอนที่สอง : ยอค่าการเมือง (ต่อ)

มีข้อความจริงบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนใจที่จะยอมรับกัน อย่างหนึ่งก็คือ วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้แก่การปฏิบัติต่อประชาชนในฐานะต้นตอบ่อเกิดของความชอบธรรม ทว่าขณะเดียวกันก็จัดวางด่านขวางกั้นเอาไว้ระหว่างประชาชนกับการขับเคลื่อนคันชักแห่งอำนาจโดยตรงด้วย ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเหนี่ยวรั้งแนวโน้มแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาธิปไตย และเพื่อต่อต้านแนวโน้มซึ่งแฝงฝังอยู่ในประชาธิปไตยที่จะทำลายตัวมันเองลงเมื่อเสียงข้างมากกลายเป็นต้นตอบ่อเกิดของความไร้เสถียรภาพและการกดขี่

ดังที่ผมได้เสนอข้อถกเถียงมาแล้วว่าด่านขวางกั้นดังกล่าวด่านหนึ่งได้แก่แนวคิดการแทนตน ส่วนอีกด่านได้แก่กฎหมายซึ่งมีฉันทาคติอันน่าเกรงขามที่เอียงเข้าข้างสิทธิของปัจเจกบุคคลและความคาดหวังดั้งเดิมของสังคม อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้พิพากษามืออาชีพเป็นแกนกลางคอยบริหารจัดการกฎหมายดังกล่าวโดยมิต้องพร้อมรับผิดต่อบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในคำวินิจฉัยของตนด้วย

ด่านทั้งสองที่ว่านี้หาได้ไม่คงเส้นคงวาต่อกันไม่ คุณมีได้ทั้งสองด่านนั่นแหละ และประเทศส่วนใหญ่จะมากจะน้อยก็มีกัน แต่เราจำต้องเข้าใจขีดจำกัดของกฎหมายว่ามันสามารถบรรลุอะไรได้บ้างในการควบคุมเสียงข้างมาก

และราคาอะไรบ้างที่เราต้องจ่ายหากกฎหมายพยายามควบคุมเสียงข้างมากจนเกินการณ์ไป

แรงดึงดูดใจของการใช้ด่านกฎหมายย่อมเป็นที่เห็นได้ชัด ผู้พิพากษาเป็นคนเฉลียวฉลาด มีวิจารณญาณและถ้อยคารมคมคาย กล่าวโดยรวมแล้ว พวกเขาซื่อตรงทางสติปัญญา พวกเขาคุ้นเคยกับการขบคิดเคร่งเครียดจริงจังกับปัญหาต่างๆ ซึ่งหาคำตอบได้ไม่ง่าย และตรงข้ามกับสำนวนจำเจที่พูดกันคุ้นปาก

อันที่จริงพวกเขารู้เรื่องราวของโลกมากทีเดียว กระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนขับเคลื่อนไปโดยส่วนผสมของการใช้เหตุผลนามธรรม การสังเกตการณ์ทางสังคมและการตัดสินคุณค่าเชิงจริยธรรม ซึ่งผู้คนมากหลายเห็นว่ามันทำให้การตัดสินใจเรื่องส่วนรวมมีศีลธรรมสูงขึ้น

ดังนั้น ในขณะที่การเมืองเสื่อมเสียเกียรติคุณของมันไป ผู้พิพากษาก็พร้อมจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างนั้น วลีติดปากที่ใช้มาให้ความชอบธรรมกับการณ์นี้ได้แก่หลักนิติธรรม (the rule of law)

เอาละทีนี้นะครับ ผู้พิพากษาน่ะสร้างกฎหมายเสมอมา เพื่อวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างคู่ความ ผู้พิพากษาต้องเติมเต็มช่องว่าง จัดหาคำตอบที่หาไม่ได้ในแหล่งกฎหมายที่มีอยู่มาให้ พวกเขาต้องเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่ดำรงอยู่ซึ่งสร้างโดยผู้พิพากษา ถ้าหากกฎเกณฑ์เหล่านั้นผิดพลาด เกินความจำเป็นหรือล้าสมัย กฎหมายจารีตประเพณี (common law) ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างอินทรียภาพผ่านคำวินิจฉัยต่างๆ ของผู้พิพากษานั้นยังคงเป็นแหล่งหลักของกฎหมายของเรา ตามธรรมเนียมที่เป็นมา ผู้พิพากษาวินิจฉัยอรรถคดีภายในกรอบของหลักกฎหมายที่มีอยู่ โดยไม่ไปล่วงล้ำก้ำเกินหน้าที่ของรัฐสภาและฝ่ายบริหาร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสามทศวรรษหลัง สังเกตเห็นได้ว่าอารมณ์ความรู้สึกของฝ่ายตุลาการได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลได้พัฒนาแนวคิดเรื่องหลักนิติธรรมที่กว้างกว่าเดิมซึ่งขยายบทบาทของศาลทางรัฐธรรมนูญออกไปอย่างใหญ่หลวง

ศาลได้อ้างเอาอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลองค์กรอื่นๆ ของรัฐกว้างขวางยิ่งขึ้น

ศาลได้คืบขยับไปสู่แนวคิดกฎหมายพื้นฐานซึ่งลบล้างกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองปกติธรรมดา และสิ่งเหล่านี้ย่อมนำพาศาลเข้าไปสู่ปริมณฑลของนโยบายทางด้านนิติบัญญัติและบริหารระดับกระทรวงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

หากปรับใช้วาทะอันโด่งดังของเคลาสวิตซ์ นักทฤษฎีการทหารชาวเยอรมันมากล่าวแล้ว ก็พูดได้ว่าบัดนี้กฎหมายกลายเป็นการสืบเนื่องของการเมืองด้วยวิธีการอย่างอื่น

ศาลดำเนินงานตามหลักการอย่างหนึ่งที่แม้จะไม่ได้กล่าวยอมรับออกมาอย่างโจ่งแจ้งเสมอไปแต่ปกติก็ดำรงคงอยู่ซึ่งนักกฎหมายเรียกว่าหลักความถูกต้องตามกฎหมาย (the principle of legality)

บางทีอาจเป็นการดีกว่าที่จะเรียกมันว่าหลักความชอบธรรม (a principle of legitimacy)

กล่าวคือ ของบางอย่างถือว่ามิชอบธรรมโดยเนื้อในของมัน อาทิ การบัญญัติกฎหมายให้มีผลย้อนหลัง การกดขี่ปัจเจกบุคคล การขัดขวางการเข้าถึงศาลสถิตยุติธรรม การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น

เอาละ นั่นมิได้หมายความว่ารัฐสภาจะกระทำการเหล่านั้นไม่ได้ แต่พวกที่เสนอสิ่งเหล่านี้จะต้องประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวกำลังทำอะไรและรับของร้อนทางการเมืองไป มิฉะนั้นแล้วมันก็สุ่มเสี่ยงเกินไปว่าผลกระทบสืบเนื่องที่รับไม่ได้จากข้อเสนอบางอย่างซึ่งเขียนขึ้นด้วยถ้อยคำหละหลวมจะลอดหูลอดตาไปได้เมื่อพระราชบัญญัติผ่านรัฐสภา

หลักความชอบธรรมเป็นเทคนิคอันทรงคุณค่ายิ่งในการตรวจสอบให้แน่ใจว่า เอาเข้าจริงรัฐสภามีเจตนาเช่นใดในการออกกฎหมายมา แต่มันก็ยกอำนาจอันใหญ่หลวงไปไว้ในมือผู้พิพากษา ผู้พิพากษาเป็นผู้วินิจฉัยตัดสินใจว่าอะไรคือปทัสถานสำหรับบ่งชี้ว่าการกระทำเฉพาะเจาะจงอันไหนไม่ชอบธรรม ผู้พิพากษาวินิจฉัยตัดสินใจว่าภาษาเช่นใดไม่ชัดเจนพอ

แนวคิดทั้งหลายเหล่านี้ล้วนยืดหยุ่น ปกติแล้วก็ไม่มีหลักกฎหมายที่ชัดเจนไปกำหนดมัน

คำตอบจึงขึ้นอยู่กับข้อพินิจพิจารณาทางอัตวิสัย ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษาย่อมทรงอิทธิพลและบ่อยครั้งก็เป็นตัวชี้ขาดเสมอ

ทว่ากระนั้นแล้วการที่ผู้พิพากษายืนกรานว่าตนมีอำนาจที่จะทำให้ความคิดเห็นและคุณค่าของตัวส่งผลทางกฎหมายนั้น มันจะเป็นอื่นไปได้อย่างไรนอกจากการอ้างสิทธิ์ว่ามีอำนาจทางการเมืองนั่นเอง?

ผมขอสาธิตความข้อนี้ด้วยคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเมื่อเร็วๆ นี้สองคดี ทั้งสองคดีเกี่ยวกับเรื่องซึ่งศาลรู้สึกอ่อนไหวเสมอมา กล่าวคือ ความพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งจำกัดอำนาจหน้าที่ของศาลเอง เผอิญผมไม่ได้ร่วมพิจารณาคดีด้วยทั้งคู่

คดีแรกเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมศาล ศาลจ้างงานถูกก่อตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติของรัฐสภาเพื่อหาวิธีที่ย่อมเยาและไม่เป็นทางการให้ลูกจ้างสามารถบังคับใช้สิทธิของตนได้อันเป็นสิทธิที่พวกเขาได้รับมอบหมายมาโดยบทบัญญัติของกฎหมาย จนถึงเมื่อปี ค.ศ.2013 การเข้าถึงศาลจ้างงานไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ในปีนั้นเองรัฐบาลก็กำหนดให้มีค่าฤชาธรรมเนียมศาลอย่างสูงลิบเสียจนกระทั่งคนรายได้ต่ำหรือปานกลางจ่ายไม่ไหวถ้าหากไม่ยอมเสียสละค่าใช้จ่ายก้อนโตในด้านอื่นๆ

โดยทั่วไปรัฐบาลมีอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายที่จะเก็บค่าฤชาธรรมเนียมศาลแต่ในปี ค.ศ.2017 ศาลฎีกาเห็นว่าภาษาของพระราชบัญญัติหาได้ชัดเจนเพียงพอที่จะให้สิทธิอำนาจแก่รัฐบาลในการเรียกเก็บค่าฤชาธรรมเนียมศาลก้อนโตเสียจนกระทั่งลูกจ้างจำนวนมากไม่สามารถบังคับใช้สิทธิของตนในศาลจ้างงานได้

คำวินิจฉัยนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ผมคิดว่ามันเป็นไปตามธรรมเนียมดั้งเดิมอย่างสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว บรรดาสมาชิกรัฐสภาที่อ่านดูถ้อยคำของพระราชบัญญัติฉบับนี้ระหว่างที่มันผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปย่อมไม่นึกแคลงใจสงสัยว่าอำนาจเก็บค่าฤชาธรรมเนียมศาลจะถูกใช้ไปเพื่อบีบคั้นขัดขวางสิทธิในการจ้างงานของผู้คน

(ต่อสัปดาห์หน้า)