วงค์ ตาวัน | คนไทยคิดเองไม่เป็น!?!

หลังจากรัฐบาลขยายการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวออกไปอีก 1 เดือนจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ปฏิกิริยาจากประชาชนทั่วไปเริ่มไม่เออออห่อหมกด้วยเหมือนหนแรก

เพราะสถานการณ์ในช่วงเดือนมีนาคม ที่เริ่มประกาศใช้ พ.ร.ก.นี้ครั้งแรก เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังหวาดผวากับภาวะโรคระบาด

ร่วมมือด้วยดี บอกให้อยู่บ้านก็พากันเก็บตัวอยู่บ้าน ที่ยังจำเป็นต้องทำงานก็ใช้วิธีเวิร์กฟรอมโฮม ยอมรับทุกมาตรการที่ประกาศออกมา ร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มที่

จนกระทั่งหลังผ่านไปเดือนเศษก็เริ่มพบว่า รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนอยู่บ้านอย่างเพียบพร้อมเพียงพอ ทั้งค่าอินเตอร์เน็ต ค่าน้ำ ค่าไฟ ไปจนถึงเงินเยียวยา

เมื่อกิจการห้างร้านต้องปิดตัวลง ทำให้บรรดาลูกจ้าง พนักงานเริ่มตกงาน แถมกิจการที่ปิดแค่ชั่วคราว ทำท่าจะต้องปิดแบบถาวร เศรษฐกิจชะงักไปหมด ความอดอยากหิวโหยเริ่มแผ่กว้าง

“นำมาสู่เสียงเรียกร้องให้รัฐต้องผ่อนคลายล็อก เพื่อให้ธุรกิจห้างร้านเริ่มสามารถเปิดกิจการได้ นำมาสู่การมีรายได้เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ดีกว่ารอการเยียวยาที่ขาดตกบกพร่องไม่ทั่วถึง”

จะมีเพียงตัวเลขการคุมยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ดูดีด้านเดียวไม่ได้ ต้องดูตัวเลขคนที่เริ่มฆ่าตัวตายเพราะกำลังจะอดตายซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ขณะเดียวกันคำกล่าวที่ว่า สุขภาพต้องนำหน้าเสรีภาพ

“ก็เริ่มมีคำถามมากขึ้นด้วยเช่นกันว่า ทำไมไม่สามารถไปด้วยกันอย่างเสมอภาคได้!”

แล้วโดยธรรมชาติของมนุษย์ หลังจากยอมสูญเสียเสรีภาพเพื่อให้การแก้ปัญหาสุขภาพไปได้ด้วยดี เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ก็เริ่มเกิดความอึดอัดคับข้องใจ แล้วกลายเป็นความเสียดายที่สูญเสียเสรีภาพนั้นไป

ยิ่งเมื่อเกิดข้อสงสัยว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับเคอร์ฟิวนั้น มีส่วนช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดโควิดได้มากน้อยเพียงใด อาจมีบ้างเพื่อแก้ปัญหาการควบคุมคนบางส่วน

“แต่คนส่วนใหญ่กลับถูกละเมิดเสรีภาพไปทั้งหมด จึงเริ่มมีความไม่พึงพอใจมากขึ้นเป็นลำดับ”

ภาพรวมของมาตรการหยุดเชื้อไวรัสของรัฐบาล จึงเป็นเหมือนการควบคุมประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎต่างๆ ราวกับประชาชนเป็นคนหัวอ่อนว่านอนสอนง่าย

เป็นคำสั่งภายใต้ความไม่เชื่อมั่นในประชาชน ว่ามีสติ มีวิจารณญาณในการคิดตัดสินใจ

คงเคยชินมาจากวิธีแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหารล้มกระดานประชาธิปไตย ซึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าคนไทยยังคิดไม่เป็น ต้องใช้อำนาจพิเศษเข้ามาจัดระเบียบ เข้ามาควบคุมการปกครองยังไม่ต้องมามีส่วนร่วมใดๆ สักช่วงระยะหนึ่งก่อน!

แม้แต่เรื่องการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล และไม่เห็นความจำเป็นของการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนภายใต้มาตรการให้เก็บตัวอยู่กับบ้าน

คล้ายกับชาวบ้านเป็นหุ่นยนต์ สั่งให้อยู่ก็ต้องเข้าไปอยู่ในบ้านเฉยๆ

ไม่คำนึงว่า ระหว่างเก็บตัวดูหนังฟังเพลงอยู่ภายในเคหสถาน คนจำนวนไม่น้อยนิยมชมชอบในการจิบดื่ม กลับไม่มีจำหน่ายให้เอามาดื่มได้ ทั้งที่แค่ดื่มตามลำพัง หรือดื่มในครอบครัว ไม่ได้ตั้งวงสังสรรค์ใหญ่โตกับใครที่ไหน

“มาตรการห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมายังพอทำใจกันได้ แต่ผ่านพ้นเทศกาลนั้นแล้วก็ยังยืดมาตรการต่อ เช่นนี้แล้วเริ่มทำให้ประชาชนเริ่มรู้สึกถูกละเมิดสิทธิรุนแรงมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน เมื่อเห็นท่าทีขององค์กรที่มีภารกิจรณรงค์ให้เลิกดื่ม ไปจนถึงกลุ่มหมอที่ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงความพึงพอใจที่ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ไม่ต้องมานั่งนับศพ 7 วันอันตรายจากเมาแล้วขับ พร้อมกับโยนหินถามทางไปถึงสงกรานต์ปีหน้า ว่าอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการแบบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้

สอดรับกับกระบวนการผลักดันไม่ให้จำหน่ายสุราในทุกเทศกาลหยุดยาว ที่พยายามทำกันมาตลอด แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะเสียงคัดค้านในด้านละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคลยังดังกระหึ่ม

ส่อแสดงว่า คณะเดียวกันนี้มีส่วนอย่างมากในการอาศัยสถานการณ์ช่วงโควิด ผลักดันการห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์แบบยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานสำหรับการผลักดันการห้ามขายห้ามดื่มในเทศกาลหยุดยาวในปีต่อๆ ไปนั่นเอง”

เรื่องแบบนี้ ไม่ได้มองในเรื่องยอดจำหน่ายของเหล่าเจ้าสัวเจ้าของกิจการน้ำเมา

แต่มองในแง่สิทธิส่วนบุคคลของประชาชน ที่ยังมีคนจำนวนมากที่นิยมการดื่มแบบสร้างความรื่นรมย์ ไม่ใช่การเมาเลอะเทอะ กลับถูกการใช้อำนาจมาสั่งห้าม สั่งควบคุม

ราวกับเราอยู่ในสังคมเผด็จการ ที่รัฐกำหนดการใช้ชีวิตประชาชนทุกย่างก้าว กำหนดการเสพข่าว ดูหนังฟังเพลง ไปจนถึงการกินการดื่ม

คงเพราะรัฐบาลนี้มีนักการเมืองจากการเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนประกอบ แต่เนื้อแท้คือแกนนำที่ต่อเนื่องมาจากยุค คสช. จากรัฐบาลทหาร

มีท่าทีจากนักการเมืองพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลว่า ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนมาตรการทางสาธารณสุข แต่เป็นการสนองตอบในทางการเมืองในด้านความมั่นคงของรัฐบาลมากกว่า

หลังจากที่เริ่มมีประชาชนไม่พอใจต่อการเยียวยาไม่ทั่วถึง กลายเป็นม็อบบุกไปประท้วงที่กระทรวงการคลัง ไปจนถึงคนอดอยากที่ออกมารอรับของบริจาคจำนวนมากในหลายๆ จุด แล้วเริ่มกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พยายามเข้าไปหยุดการแจกจ่ายข้าวปลาอาหาร ด้วยข้ออ้างว่าทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และขัดกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“ม็อบคนหิวโหยหรือแค้นเคืองเรื่องเงินเยียวยา อาจจะเป็นปัญหาทำนองน้ำผึ้งหยดเดียวก็เป็นได้!”

แต่ในขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิต-นักศึกษา ที่เคยร้อนแรงในกรณีแฟลชม็อบเมื่อปลายปีต่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อขับไล่รัฐบาล และต้องการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเต็มเปี่ยมกว่านี้ แต่ต้องสะดุดกับสถานการณ์โควิด

มาล่าสุดเริ่มออกมาเคลื่อนไหวแล้ว ด้วยเห็นว่าเงื่อนไขความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโควิดและการเยียวยาต่างๆ เริ่มสุกงอม เพราะวิจารณ์กันมากว่า ไม่มีฝีมือเพียงพอ

“จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวม็อบฟรอมโฮม ประท้วงแบบสอดรับกับสถานการณ์วิกฤต คือประท้วงผ่านออนไลน์”

เริ่มจากประเด็นไล่รัฐบาลและต่อต้าน 250 ส.ว. พร้อมกับคำยืนยันว่าโควิดซาเมื่อไร ได้ฮือกันอีกรอบแน่

เพราะคนรุ่นใหม่ที่มากด้วยพลัง ทั้งเป็นพลังบริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้าใดๆ ผูกพัน และไม่สามารถใช้ข้อหาไร้สาระว่ารับเงินมาไล่รัฐบาลได้

“จุดใหญ่ก็คือ ทนไม่ไหวกับการควบคุมสถานการณ์ของรัฐบาลด้วยวิธีแบบจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

ไปจนถึงไม่มีความสามารถในการบริหารและแก้ไขภาวะวิกฤตโรคระบาดได้ดีพอ

นั่นคงต้องยอมรับว่า นับวันการจำกัดและละเมิดเสรีภาพภายใต้ปัญหาโควิด จะเริ่มทำให้ประชาชนและบรรดาคนรุ่นใหม่ไม่ยอมทนกับกฎเหล็กต่างๆ อย่างคนว่านอนสอนง่ายอีกต่อไป!