ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระแม่โพสพ และเทพีศรี ผีแม่ข้าวอุษาคเนย์ ที่ถูกบวชให้เป็นพราหมณ์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ถึงแม้จะมีชื่อแขกๆ ว่า “พระแม่โพสพ” แต่พระแม่องค์นี้ก็ไม่ได้เป็นเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และไม่ได้มีในอินเดียหรอกนะครับ

แถมเอาเข้าจริงแล้ว ก็ยังมีหลักฐานในทวาทศมาสโคลงดั้น วรรณกรรมยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ที่เรียก “พระแม่โพสพ” ว่า “พระไพศพ” ที่ปราชญ์ทางภาษาเขาอธิบายกันว่า มาจากคำสันสกฤตว่า “ไพศฺรพณะ” (ไวศฺรวณะ) ตรงกับคำบาลีว่า “เวสฺสวณฺ” หรือที่ไทยเรียกว่าท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวรนั่นเอง

ตามคติในศาสนาพุทธแล้ว ท้าวเวสสุวรรณเป็นหนึ่งในสี่ของท้าวจตุโลกบาล โดยประจำอยู่ทางทิศเหนือ ในสวรรค์ชั้นแรกซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาวงแหวนยุคนธร ที่มีชื่อว่าจาตุมหาราชิกา โดยทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถือว่าเทพเจ้าองค์นี้เป็นเทพผู้พิทักษ์ทรัพย์ในดินสินในน้ำ เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ เป็นประธานใหญ่ของหมู่อสูรและรากษส ตลอดจนภูตผีทั้งปวง

อันที่จริงแล้ว คำ “โพสพ” ในชื่อพระแม่องค์นี้ จึงไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “ข้าว” ทั้งที่พระแม่เป็นเทพีแห่งข้าวมันเสียอย่างนั้น แถมชื่อของพระแม่ยังกลายมาจากชื่อของเทพเจ้าที่เป็นผู้ชายด้วยอีกต่างหาก

 

ดังนั้น พ่อพราหมณ์จากชมพูทวีป ท่านจึงไม่คุ้นหูเมื่อมีใครเอ่ยถึงชื่อพระแม่โพสพ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ก็ไม่มีเทพหรือเทพีองค์ไหนที่เป็นสัญลักษณ์ของต้นข้าวเป็นการเฉพาะ

พระแม่โพสพจึงเป็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผีแม่ข้าวใน “ศาสนาผีพื้นเมือง” ของอุษาคเนย์ ที่แต่เดิมควรจะมีชื่อเรียกอย่างอื่นมาก่อน ต่อมาเมื่อรับศาสนาพุทธและพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดียแล้ว จึงค่อยถูกจับบวชให้เป็นพราหมณ์ และเปลี่ยนมาใช้ชื่อเรียกด้วยภาษาที่กลายมาจากบาลี-สันสกฤตในภายหลัง

ที่สำคัญก็คือ ชื่อ “โพสพ” นี้ก็มีมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาเสียด้วย เพราะนักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ค้นคว้าเอาไว้ว่า คำ “แม่โพสพ” มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ในพระอัยการเบ็ดเสร็จ (ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง) ที่ถูกตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1884 หรือเก่าแก่กว่าการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 9 ปีเลยทีเดียว

 

แต่เรื่องของเทพีแห่งข้าวของอุษาคเนย์ที่ถูกจับบวชให้เข้ารีตเป็นพราหมณ์ ไม่ได้มีแต่เฉพาะเรื่องพระแม่โพสพของไทยเท่านั้นนะครับ

เพราะยังมีหลักฐานที่สำคัญอีกแห่งอยู่บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย แถมยังเป็น “เทพี” หรือเป็น “ผีผู้หญิง” มาแต่เดิม เหมือนพระแม่โพสพอีกด้วย

ในชวาเรียกเทพีแห่งข้าวของพวกเขาว่า “ศรี” ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ใช่คำชวาเก่า แต่เป็นคำที่เอามาจากภาษาสันสกฤต คำว่าศรีนั้นเป็นพระนามอีกพระนามหนึ่งของ “พระลักษมี” เทพีแห่งความงามและความอุดมสมบูรณ์ ผู้เป็นชายาของพระนารายณ์ ตามคติของพวกพราหมณ์

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรด้วยที่ในวัฒนธรรมชวา เทพีศรีก็เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์อื่นๆ ด้วย เพราะนอกจากจะผีแม่ข้าวของพวกชวาจะถูกรวมเข้ากับเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ของพวกพราหมณ์อย่างพระลักษมีแล้ว ข้าวยังเป็นอาหารหลักของผู้คนบนเกาะใหญ่แห่งนี้ เช่นเดียวกับในไทย

ทั้งพระแม่โพสพและเทพีศรี จึงต่างก็เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ไปโดยปริยาย

และสิ่งที่เทพีศรีเหมือนกันกับพระแม่โพสพอีกอย่างก็คือ ทางฟากของชวาเอง ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมของเทพีแห่งข้าว และความอุดมสมบูรณ์ไม่ต่างไปจากพระแม่โพสพ

 

นิทานเก่าแก่ของชวามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพีศรีอยู่หลายเรื่อง แต่มี 2 เรื่องที่ควรกล่าวถึงในที่นี้

เรื่องแรกเล่าว่า แต่เดิมข้าวมีอยู่แต่บนสวรรค์ จนกระทั่งมีเด็กคนหนึ่งซึ่งขึ้นมาอยู่บนสวรรค์กับเทพีศรีนานหลายปี ได้แอบนำข้าวลงไปปลูกยังโลกมนุษย์ สุดท้ายเทพีศรีรู้เข้าก็โกรธ แต่เด็กคนนั้นอ้อนวอนขอให้เทพียอมให้มนุษย์ปลูกข้าวบนโลกได้ เทพีจึงยอมใจอ่อน และบอกให้มนุษย์ดูแลข้าวให้ดี เพราะข้าวก็เปรียบได้ดังลูกของพระนาง

ส่วนเรื่องที่สอง มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เล่าว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ภัทรคุรุ (ภาคหนึ่งของพระอิศวร) ผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุดในจักรวาลวิทยาของชวา ได้สาปให้ชายที่คิดคดต่อพระองค์ให้ตกลงไปที่ก้นของสมุทร ซึ่งก็คือท้องของนาคราช ความชั่วร้ายในท้องทำให้นาคราชป่วยไข้ ภัทรคุรุจึงได้มาช่วยด้วยการแตะไปที่ตัวของนาคราช จนทำให้ความชั่วร้ายนั้นหลุดหายไป พร้อมกับทำให้เกิดพี่น้องขึ้นมาคู่หนึ่ง คือมีเทพีศรี เป็นพี่สาว และสุทานะ เป็นน้องชาย

สุดท้ายทั้งคู่ได้แต่งงานกันเอง ซึ่งก็เป็นที่มาของพิธีกรรมที่ชาวนาในชวาใช้ในเทศกาลเฉลิมฉลองในท้องนา โดยมีความเชื่อว่า เจ้าสาวทุกคนก็คือเทพีศรี ส่วนเจ้าบ่าวทุกคนก็คือสุทานะ ซึ่งสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ เพราะเชื่อว่าศรีเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ส่วนสุทานะเป็นวิญญาณแห่งข้าว

นิทานเกี่ยวกับเทพีศรียังมีอีกหลายเรื่อง หลายสำนวน และยังพบกระจายไปนอกเกาะชวา ทั้งที่เกาะบาหลีและเกาะอื่นๆ ในประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน แต่โดยรวมแล้วสามารถสรุปได้ว่า “เทพีศรี” ในวัฒนธรรมชวา เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ (Mother Goddess) ที่มี “ข้าว” เป็นสัญลักษณ์มาตั้งแต่ในศาสนาผีพื้นเมืองของชวาเอง ไม่ต่างอะไรไปกับความเชื่อเรื่อง “พระแม่โพสพ” ของไทยนั่นเอง