เศรษฐกิจ / จับตา ‘พลังงาน’ หาทางออก อุ้มค่าไฟอุตสาหกรรม ต้องไม่โยนภาระให้ผู้ประกอบการ

เศรษฐกิจ

 

จับตา ‘พลังงาน’ หาทางออก

อุ้มค่าไฟอุตสาหกรรม

ต้องไม่โยนภาระให้ผู้ประกอบการ

 

ในสถานการณ์ปกติ ประเด็นค่าไฟแพงในช่วงฤดูร้อน หลายคนมองเป็นเรื่องปกติ เพราะสาเหตุหลักมาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น กอปรกับการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หนักขึ้นด้วย

แต่ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องปกติ แต่กำลังเป็นอีกภาระสำคัญ ทั้งที่รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน ให้นักเรียน นักศึกษาเรียนออนไลน์ที่บ้าน และยังมีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ บางคนถูกเลิกจ้างบ้าง เงินเดือนได้รับไม่เต็มจำนวนบ้าง มีความเสี่ยงจะตกงาน

ความเดือดร้อนเหล่านี้ ประชาชนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยเฉพาะเสียงสวดจากโซเชียลมีเดียที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกสารพัดมาตรการช่วยเหลือ

 

ย้อนไทม์ไลน์มาตรการด้านพลังงานที่ช่วยเหลือประชาชน พบว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 2 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สถานการณ์โควิดเพิ่งเริ่มต้น

มาตรการที่สำคัญ อาทิ มาตรการคืนเงินประกันผู้ใช้ไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก จำนวน 23 ล้านรายทั่วประเทศ เงินประกันมีมูลค่าตั้งแต่ 300-12,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าและจำนวนเฟสที่ใช้งานตามบ้านพักอาศัย คิดเป็นวงเงินประมาณ 33,000 ล้านบาท มาตรการตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ไว้ที่ -11.6 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลง 11.60 สตางค์ต่อหน่วยจากค่าไฟฟ้าฐาน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2563 มาตรการลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 3 เดือน ในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ กฟน. และ กฟภ. จะลดค่าไฟฟ้าในอัตรา 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์ประมาณ 24 ล้านราย

มาตรการขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ (ประเภทที่ 1.1 ของการไฟฟ้านครหลวง และประเภทที่ 1.1.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) รวม 4.265 ล้านราย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2563 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้ กฟน. และ กฟภ.โดยไม่มีเบี้ยปรับ

และล่าสุดกับมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย รวม 3 เดือน ตั้งแต่รอบบิลมีนาคม-พฤษภาคม 2563 แบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภท 1.1 (บ้านอยู่อาศัย) ที่มีขนาดมิเตอร์ 5 แอมป์ เดิมจะได้รับสิทธิใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน จะขยายเป็นไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน

กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภท 1.2 (บ้านอยู่อาศัย) ที่มีขนาดมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ขึ้นไป จะมีมาตรการช่วยเหลือส่วนเกินค่าไฟฟ้า โดยจะยึดฐานการใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (หรือบิลที่ออกเดือนมีนาคม 2563) เป็นตัวตั้ง ซึ่งถ้ามีจำนวนหน่วยใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย จะได้ใช้ไฟฟ้าส่วนต่างฟรี แต่หากเกิน 800-3,000 หน่วย ส่วนเกินหน่วยไฟฟ้าจะได้รับส่วนลด 50% และเกิน 3,000 หน่วย จะได้ลดหน่วยไฟฟ้าส่วนเกิน 30%

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมาตรการแล้ว ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 20 ล้านราย รวมวงเงินช่วยเหลือประมาณ 20,000 ล้านบาท

 

ทันทีที่กระทรวงพลังงานประกาศมาตรการนี้ออกไป ส่วนใหญ่ดีใจ เพราะช่วยเซฟเงินในกระเป๋าไปมาก แต่ก็มีคำถามว่ามาตรการลักษณะนี้ จะทำให้ประชาชนนอกจากไม่ประหยัดแล้ว อาจเกิดพฤติกรรมใช้ไฟมากขึ้นหรือไม่ แต่เมื่อได้รับความช่วยเหลือภาพรวมก็แฮปปี้!!

จบจากภาคประชาชน กลุ่มต่อมาที่ออกมาเรียกร้อง ขอให้ช่วยเหลือต้นทุนค่าไฟคือ ภาคธุรกิจ

ซึ่งไทม์ไลน์ของภาคธุรกิจ ก็มีมาตรการออกมาช่วยอย่างต่อเนื่องแล้วเช่นกัน

มาตรการสำคัญได้แก่ มาตรการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) ตลอดจนไม่คิดค่าปรับ (ดอกเบี้ย) ตลอดระยะเวลาการผ่อนผัน โดยไม่มีการงดจ่ายไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว และผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563

มาตรการลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 30% ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรือหอพักที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักหรือโรงพยาบาลสนาม 2 รูปแบบ คือ ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 และที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง

และมาตรการผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (มินิมัม ชาร์จ) โดย กกพ.มีมติให้ผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด จากที่กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายในจำนวนที่ตายตัว (70% ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน) ไม่ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะใช้ไฟฟ้าถึงจำนวนที่กำหนดหรือไม่ก็ตาม หรือเหมาจ่าย เป็นผ่อนผันให้จ่ายตามการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ดีมานด์ ชาร์จ) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับการผ่อนผันจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3-7 อาทิ กลุ่ม เอสเอ็มอี โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม

ให้มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 รวม 3 เดือน

 

แต่ในมุมของภาคเอกชนยังไม่เพียงพอ ภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จึงเดินหน้าขอให้ภาครัฐช่วยเหลือด่วน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม 32 กลุ่มที่เผชิญวิกฤตคำสั่งซื้อและผลประกอบการลดลงกว่า 70% จากผลกระทบโควิด-19

ข้อเสนอสำคัญของเอกชน คือ ขอให้ภาครัฐขยายผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด จากมิถุนายนเป็นธันวาคม 2563 และขอให้ดำเนินการช่วยทั้ง 32 กลุ่ม ขณะเดียวกันภาคเอกชนมองว่ารัฐไม่ผลักภาระ 20,000 ล้านบาทจากการช่วยลดค่าไฟประชาชนมาใส่ในค่าเอฟทีอนาคต และควรให้ 3 การไฟฟ้า เว้นจ่ายเงินเข้าคลังเพื่อชดเชยการช่วยเหลือครั้งนี้ นอกจากนี้ ขอเสนอให้มีการคำนวณเอฟทีด้วยวิธีการที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเร็วขึ้น โดยใช้วิธีการคำนวณแบบค่าเฉลี่ยการใช้ 3 เดือน จากปัจจุบันคำนวณทุก 4 เดือนและใช้ราคาก๊าซย้อนหลัง 6 เดือน เพื่อให้อัตราค่าเอฟทีสะท้อนราคาพลังงานมากที่สุด

จากท่าทีของ กกพ.พบว่า ยังแบ่งรับแบ่งสู้และรอหารือกับ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกครั้ง

      ส่วนข้อสรุปจะออกมาเป็นอย่างไรต้องติดตาม แต่ดูจากท่าทีเอกชนที่กำลังเมาพิษโควิด ข้อเรียกร้องรัฐดูแลค่าไฟช่วยเอกชนคงไม่จบง่ายๆ แน่…