การศึกษา / ‘สาธิต ม.ร.’ ตีฝ่า ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ไม่สน ‘โควิด-19’ รุกเปิดเทอม 1 มิ.ย.??

การศึกษา

 

‘สาธิต ม.ร.’ ตีฝ่า ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’

ไม่สน ‘โควิด-19’ รุกเปิดเทอม 1 มิ.ย.??

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงบนโลกโซเชียล ภายหลัง “โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม)” หรือโรงเรียนสาธิต ม.ร. (ฝ่ายประถม) เผยแพร่ประกาศเปิดเรียนในเฟซบุ๊กเพจ “งานประชาสัมพันธ์สาธิตรามประถมอนุบาล” ของโรงเรียนสาธิต ม.ร. (ฝ่ายประถม) โดยระบุว่า “โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563”

ซึ่งเป็นการประกาศเปิดเรียนที่ค่อนข้างเร็วจน “น่าตกใจ” สำหรับพ่อ-แม่ และผู้ปกครอง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ทั่วโลกยังคงมีอัตราของผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน

ทั้งๆ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอขยายระยะเวลาในการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน…

เพราะแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตลดลง แต่เกรงว่าหากคลายล็อกดาวน์ประเทศเร็วเกินไป จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในรอบ 2 ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศทั่วโลกแล้ว

อีกทั้งประกาศเปิดเรียนวันที่ 1 มิถุนายน ของโรงเรียนสาธิต ม.ร. (ฝ่ายประถม) ยังเป็นการ “เพิกเฉย” ต่อความเห็นร่วมของที่ประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต 96 แห่ง ในสังกัดมหาวิทยาลัย ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน

ที่มีความเห็นพ้องกันให้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม พร้อมๆ กับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)!!

 

ภายหลังจากผู้ปกครองคัดค้านว่อนโซเชียล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร. (ฝ่ายประถม) ออกมาชี้แจงผ่านเพจดังกล่าวว่า “นัดร้านมาตัดเสื้อแล้ว เดี๋ยวตัดเสื้อไม่ทัน ไม่มีการเลื่อนเปิดวันอื่นๆ อีกแล้ว”

ทำให้หลายคนสงสัยว่า…การตัดชุดนักเรียน สำคัญมากกว่า “ความปลอดภัย” ของเด็กๆ อย่างนั้นหรือ??

นอกจากนี้ ยังมี “คำถาม” ตามมาจากผู้ปกครองจำนวนมากมาย อาทิ “ไม่เห็นด้วยค่ะ ขนาดไข้หวัดใหญ่ระบาดยังมีปัญหามากมาย แต่โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน…”, “ความรับผิดชอบของทางโรงเรียน กรณีที่มีเด็กติดเชื้อจากโรงเรียน”, “เรื่องชุดนักเรียน เด็กหลายประเทศ ความฉลาดไม่ได้ขึ้นกับชุดนักเรียน ถึงตัดไม่ทัน ก็ไม่ต้องใส่ในช่วงนี้ได้” ฯลฯ

ซึ่ง รศ.นพคุณ คุณาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและวางแผน ม.ร. ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) ได้ใช้เฟซบุ๊ก “Noi Knoppakun” ชี้แจงผู้ปกครองว่า “รอจดหมายของโรงเรียนค่ะ โรงเรียนเปิดเรียนเพราะสถานการณ์ดีขึ้นมากแล้ว และโรงเรียนได้ทำความสะอาดด้วยการที่มหาวิทยาลัยมาพ่นยาฆ่าเชื้อให้ตลอด…”

คำชี้แจงของผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ได้ทำให้ผู้ปกครองคลายความกังวล และเข้าไปตั้งคำถามต่างๆ อีกมากมาย อาทิ “หากคนใดคนหนึ่งติด อาจกระจายเป็นวงกว้าง ที่ผ่านมาขนาดแค่ไข้หวัดใหญ่… ยังลุกลามติดกันเยอะมาก” และ “หากเด็กเล็กติด ต้องแยกไปรักษาคนเดียวเกือบเดือน คงแย่น่าดู ขอให้ทางโรงเรียนพิจารณาอีกครั้งหนึ่งค่ะ…”

แต่เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร. (ฝ่ายประถม) ยืนยันเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 1 มิถุนายน ผู้ปกครองบางส่วนจึงร้องต่อ ศบค.!!

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าว ผู้บริหาร ม.ร.เองไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร. (ฝ่ายประถม) เกี่ยวกับความกังวลใจของผู้ปกครอง…

แต่ก็ได้รับคำยืนยันจากผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร. (ฝ่ายประถม) ว่าจะเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน โดยได้กำหนดมาตรการต่างๆ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด แต่หากใกล้เปิดเรียน และสถานการณ์ยังรุนแรง ทางโรงเรียนก็พร้อมเลื่อนกำหนดการเปิดภาคเรียนออกไป

ส่วนมาตรการที่โรงเรียนจะดำเนินการ อาทิ จะมีจุดคัดกรองอาการเจ็บป่วย วัดอุณหภูมิ ให้ผู้ปกครองและนักเรียนใส่หน้ากากอนามัย จัดที่นั่งเรียนให้มีระยะห่าง รวมถึงจัดให้นักเรียนเลขที่คู่ มาเรียนในวันคู่ และเลขที่คี่ มาเรียนในวันคี่ ส่วนวันหยุดจะมอบหมายงานให้กลับไปทำที่บ้าน เป็นต้น

เรื่องนี้ได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้บริหาร ม.ร.มากเช่นกัน…

ขณะเดียวกัน มาตรการป้องกันต่างๆ ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ชั้นอนุบาล ที่ยังไม่รู้จักป้องกันตัวเอง และโรงเรียนไม่สามารถควบคุมเด็กๆ ได้ เพราะเด็กๆ คงไม่รู้เรื่องการรักษาระยะห่าง หรือ social distancing แน่นอน

อีกทั้งเด็กเล็กๆ คงไม่มีความอดทนในการใส่หน้ากากอนามัยเรียนหนังสือได้ทั้งวัน ยิ่งใส่ๆ ถอดๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

ที่สำคัญ นักเรียนอนุบาล อายุระหว่าง 3-5 ขวบ คือ “กลุ่มเสี่ยง” ต่อการติดเชื้อ ซึ่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น!!

 

จากประเด็นร้อนแรงนี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ปัญหานี้เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เพราะกลุ่มเด็กหากติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่แทบไม่มีอาการ ไม่ว่าโรงเรียนจะคัดกรองอย่างไร จะมีเด็กติดเชื้อเข้าโรงเรียนได้เยอะอยู่ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระบาดเงียบในโรงเรียน และลักษณะของโรงเรียนมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และด้วยอาการที่น้อย อาจทำให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้รวดเร็ว โดยที่คุณครูและผู้ปกครองอาจตรวจจับไม่พบ

แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ หากระบาดในกลุ่มเด็ก จะมีผลกระทบในสังคม เช่น ครู พ่อ-แม่ ผู้สูงอายุ ที่ติดเชื้อจากเด็ก อาจมีอาการรุนแรงได้ในสัดส่วนที่มากกว่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจมีอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้มากกว่า

นั่นหมายความว่า ผู้เกี่ยวข้องต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กติดเชื้อ และป้องกันไม่ให้มีการระบาดในโรงเรียน ไม่ใช่เพื่อปกป้องเด็ก แต่เพื่อปกป้องผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกับเด็กๆ

ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า กลุ่มกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง หากผ่อนคลายเปิดปกติแล้ว อาจมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สูง คือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย บาร์ กีฬาในร่มในที่ปิด กีฬากลางแจ้งบางชนิด การจัดประชุมในห้องปิด ฯลฯ

โดยเฉพาะ “โรงเรียน” และ “มหาวิทยาลัย” เพราะมีผลกระทบสูง หากเด็กติดเชื้อ จะเกิดแพร่กระจายอย่างรุนแรง ทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน

การผ่อนคลายต้องชะลอลง อย่ารีบร้อนเกินไป!!

 

ล่าสุด นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ควบคุมเรื่องการแพร่ระบาดการติดเชื้อโควิด-19 กำลังติดตามกรณีโรงเรียนสาธิตดังในกรุงเทพฯ โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กทม.จะประเมินสถานการณ์เป็นช่วงๆ หากในระยะนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น กทม.จะพิจารณาออกคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้บริหารโรงเรียนสาธิต ม.ร. (ฝ่ายประถม) คงต้องบวกลบคูณหารให้ดีๆ ชั่งน้ำหนักระหว่าง “ผลดี” และ “ผลเสีย” ที่จะเกิดขึ้น หากยังดื้อรั้น หรือดึงดันที่จะเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน

แล้วเกิดการแพร่ระบาดขึ้น…

  “ผู้อำนวยการโรงเรียน” จะ “รับผิดชอบ” ได้หรือไม่!!