รายงานพิเศษ / กระตุกหนวดพยัคฆ์เฒ่า เกมการเมือง พปชร. เช็กบารมี ‘พี่ใหญ่’ ‘บิ๊กตู่’ หัวหน้าตัวจริง จับอาการ ‘บิ๊กแดง’ เคาต์ดาวน์ ‘บิ๊กบี้’ เข้ม! จับตาวางตัว ‘ปลัด กห.’

รายงานพิเศษ

 

กระตุกหนวดพยัคฆ์เฒ่า

เกมการเมือง พปชร.

เช็กบารมี ‘พี่ใหญ่’

‘บิ๊กตู่’ หัวหน้าตัวจริง

จับอาการ ‘บิ๊กแดง’ เคาต์ดาวน์

‘บิ๊กบี้’ เข้ม!

จับตาวางตัว ‘ปลัด กห.’

 

ก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลาย จนทำให้พรรคพลังประชารัฐแตก หรืออาจลามถึงถูกยุบพรรค

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สวมบท “หัวหน้าพรรคตัวจริง”

เริ่มจากสั่งเสธ.อ้น พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา แกนนำสมาชิกวุฒิสภา สาย คสช. ปิดปาก งดให้สัมภาษณ์ งดการเคลื่อนไหว

หลังเปิดตัวบทบาทการเป็นน้องรักสายทหารเสือราชินี “มือการเมือง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ และพี่ใหญ่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ในการเดินเกมในพรรค เคลียร์ทางให้ พล.อ.ประวิตรขยับจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ที่กำลังถูกเพ่งเล็งในฐานะ ส.ว. แต่มาแทรกแซงการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ อาจขัด กม. และนำไปสู่การยุบพรรคได้

แถมให้สัมภาษณ์เขย่านายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็น รมว.คลัง ที่ไม่มีเวลาดูแลพรรค ดูแล ส.ส. แถมทั้งไม่รู้จักชื่อ ส.ส.ทุกคนด้วยซ้ำไป

ก่อนที่จะเรียกนายอุตตมและนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และ รมว.พลังงาน เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยุติปัญหา ด้วยการให้ทั้งคู่นั่งเก้าอี้เดิม ทั้งในพรรคและใน ครม.ต่อไป

และให้ไปพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร

อันสะท้อนถึงการแสดงออก ถึงการเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริง และเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง

 

เพราะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำเช่นนี้ แม้จะเป็นเพราะกระแสสังคมที่โจมตีเกมการแย่งชิงอำนาจในพรรค ทั้งๆ ที่ควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเพราะเกรงใจนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่หนุนหลังนายอุตตมและนายสนธิรัตน์อยู่

แต่ทว่าก็เป็นการหักหน้า พล.อ.ประวิตรที่กำลังเตรียมนั่งหัวหน้าพรรคในอนาคตอันใกล้

เสมือนเป็นการเบรกพี่ใหญ่ ยังไม่ให้ยึดพรรค

แม้ความเป็นพี่น้อง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะคุยกันมาก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยิ่งทำให้ถูกมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ขัดแย้งกับ พล.อ.ประวิตร อย่างเช่นที่มีการปล่อยข่าว ปูกระแสกันมาก่อนหน้านี้

แต่ทว่า หมากเกมนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการถอยเพื่อเตรียมรุกในอนาคต

เพราะรู้ดีว่า นักการเมืองก๊วนต่างๆ กำลังเล่นเกมการเมืองเพื่อต่อรองการปรับ ครม. หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ราวเดือนมิถุนายนนี้

และรู้ดีว่านายสมคิดและทีมจับมือกับกลุ่มสามมิตร เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และดึง ส.ส.เข้ากลุ่มให้มากขึ้น

แม้แต่ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่เคยเป็นมือขวาของ พล.อ.ประวิตรในการเจรจาคุมเกมกับ ส.ส.ในพรรค จนถูกมองว่าเป็น “มือแจกกล้วย” ของพรรค ก็ยังย้ายข้างมาอยู่ฝ่ายกลุ่มสามมิตร

ทั้งการนัด ส.ส.ตบเท้าให้กำลังใจนายสนธิรัตน์

ทั้งการงัดข้อกับ ส.ส.ในพรรค สาย กปปส. ทั้งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาฯ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลฯ ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ และมีข่าวว่าลาออกจากกรรมการบริหารพรรค เพื่อเดินเกมกดดันให้คนอื่นลาออกแล้วเลือกใหม่ หมายดัน พล.อ.ประวิตรขึ้นหัวหน้าพรรค

 

ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.กนิษฐ์ และ ส.ส.สาย กปปส.ก็พอจะเป็นการชี้ชัดว่า การเดินเกมให้ พล.อ.ประวิตรขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ไม่ใช่เกมที่ พล.อ.ประวิตรคิด ตัดสินใจคนเดียว แต่ พล.อ.ประยุทธ์รับทราบและไฟเขียวด้วย

แต่เมื่อมาเจอเกมการเมืองภายในพรรคของกลุ่มนายสมคิดและสามมิตร ที่ต่อต้านการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องถอยก่อน

ทว่าเป็นการถอยไปตั้งหลัก รอแก้ปัญหาโควิดให้เรียบร้อยก่อน พล.อ.ประยุทธ์จะยึดพรรคคืนแน่

แต่จะยึดด้วยการให้ พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคในที่สุด หรือว่าอาศัยความขัดแย้งภายใน พล.อ.ประยุทธ์นั่งหัวหน้าพรรคเอง คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งรัฐบาลและพรรค

เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นหัวหน้าพรรคเอง คงไม่มีใครคัดค้าน

แต่สำหรับ พล.อ.ประวิตรแล้ว อาจเสียฟอร์มพี่ใหญ่ไปไม่น้อย เพราะมีการต่อต้านในพรรค แถม พล.อ.ประยุทธ์ยังมาเบรกเกมแบบนี้

ที่ พล.อ.ประวิตรยังเคืองคือ การปล่อยข่าวโจมตีตนเองอย่างต่อเนื่องในห้วงที่ผ่านมา โดยที่ก็รู้ว่าเป็นใคร อย่างไร แต่ก็อดทนไว้ เพราะกลัวพรรคแตก แต่ทว่าเจ็บนี้ต้องจำ

 

เกมการเมืองในพรรคพลังประชารัฐทำให้พี่น้อง 3 ป. ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์ ได้รู้จักนักการเมืองมากขึ้น รู้พิษสงนักการเมืองที่ไม่ใช่ทหารเกณฑ์ ที่จะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ และคุยกันด้วยการต่อรองเก้าอี้เท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต้องปรับแผนใหม่ และรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการยึดพรรคคืน

เพราะต้องไม่ลืมว่า พรรคพลังประชารัฐได้ชื่อว่าพรรค คสช. และล้วนเป็นคนของพี่น้อง 3 ป.ทั้งนั้น ที่อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรค เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.นั่นเอง

เพราะถึงอย่างไร พรรคพลังประชารัฐขาด พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ เพราะเป็นนายกฯ ของพรรค และยังมีคะแนนนิยมดี โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาโควิด

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ขาด พล.อ.ประวิตรไม่ได้ แม้ว่าวันนี้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีบารมีมากกว่าพี่ใหญ่ แต่ทว่าเป็นบารมีที่สร้างขึ้น แตกต่างจาก พล.อ.ประวิตรที่ใช้เวลาสั่งสมมานาน และด้วยสไตล์ของพี่ใหญ่

บารมีของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นลักษณะของพระเดช และการใช้อำนาจ ส่วนบารมีของ พล.อ.ประวิตรในแง่ของพระคุณ และดูแลช่วยเหลือตามสไตล์พี่ใหญ่ ที่เคยทำให้กลายเป็นประธานรุ่นเตรียมทหาร 6 ตลอดกาล และเป็นพี่ใหญ่ค่ายบูรพาพยัคฆ์

โดยเฉพาะบารมีในกองทัพ ที่แม้ว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่ได้เป็น รมว.กลาโหมแล้ว แต่น้องๆ ทหารในกองทัพยังคงให้ความเคารพ “พี่ป้อม” ผบ.เหล่าทัพยังคงไปทานข้าวเช้าบ้านป่ารอยต่อฯ กับ พล.อ.ประวิตรทุกวันศุกร์มาตลอด

มาในช่วงโควิดนี่ที่งดไปก่อน ยกเว้นที่ต้องมีการปรึกษาหารือ ก็ยังคงมาพบ พล.อ.ประวิตรอยู่

ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ควบ รมว.กลาโหมเอง คุมทหาร คุมตำรวจเองหมดทุกอย่าง ให้ พล.อ.ประวิตรเป็นรองนายกฯ เก้าอี้เดียว ก็เพื่อให้มาคุมพรรค มาทำงานการเมือง ก็คงต้องเดินหน้าต่อไป

แต่จะมาแบบไหนให้รอดูเกมของพยัคฆ์เฒ่า ที่แม้เป็นนักการเมืองมือใหม่ แต่ศักดิ์ศรีความเป็นทหารก็ไม่ยอมนักการเมืองง่ายๆ แน่นอน

 

ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ ยิ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มี social distancing กับ ผบ.เหล่าทัพ จนเหมือนห่างเหิน เพราะนอกจากไม่ไปประชุมสภากลาโหมเอง 3 เดือนแล้ว ล่าสุดยังใช้การประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แบบไม่ต้องเจอหน้ากันเลย

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งตัดงบประมาณเหล่าทัพมากกว่า 30% มากกว่าทุกกระทรวง รวมกลาโหมตัดไป 1.8 หมื่นล้านบาท ที่สะเทือนโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหญ่ๆ และสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งนั้น

ที่ถูกโฟกัสมากที่สุดคือ บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ลดบทบาทตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งในช่วงโควิด

ประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะเหตุกราดยิงที่โคราช จนมาถึงสนามมวยลุมพินี ที่แพร่เชื้อโควิดจนทำให้เกิดข่าวสะพัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่แฮปปี้

รวมทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้มีบทบาทใน ศบค. โดย พล.อ.ประยุทธ์ดึงตัวบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. มาช่วยงานที่ ศบค. และเป็นนายทหารหลัก ในสายความมั่นคงเลยทีเดียว

และการตั้งบิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.)

ที่แม้จะเป็นไปตามสายการบังคับบัญชาที่ ผบ.ทหารสูงสุดคุม 3 เหล่าทัพและตำรวจก็ตาม แต่ก็ทำให้บทบาทของ พล.อ.อภิรัชต์ลดน้อยลง

พล.อ.อภิรัชต์ จึงไม่ได้ออกมาแอ๊กชั่นใดๆ ทั้งในเรื่องการเมืองและโควิด เพราะต้องคุมไม่ให้มีทหารติดเชื้อเพิ่มขึ้น และทำหน้าที่สนับสนุน ศบค. และ ศปม.

รวมทั้งการทำหน้าที่ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) เท่านั้น

จนมีกระแสข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์เริ่มนับถอยหลังวันเกษียณ 30 กันยายนนี้แล้ว แม้จะเหลือเวลาอีกกว่า 4 เดือนก็ตาม

แต่จะว่าไปแล้ว วันเวลาก็เดินไปอย่างรวดเร็ว พล.อ.อภิรัชต์จึงมักพูดติดปากเสมอๆ ว่า “เดี๋ยวก็เกษียณแล้ว” ราวกับว่าจะได้พ้นภาระทั้งปวง เพราะปีนี้เป็นปีชง มีแต่เรื่องวุ่นๆ ใน ทบ.เกิดขึ้นตลอด

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.อภิรัชต์จะผ่องถ่ายงานต่างๆ ให้บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผช.ผบ.ทบ. ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ ทั้งงานใน ทบ. และใน ฉก.ทม.รอ.904 ซึ่ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็เป็นรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย

ท่ามกลางการจับตามองว่า กองทัพบกในยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ จะเป็นอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้น รวมถึงความเคลื่อนไหวที่สั่นสะเทือนต่อสถาบัน

เพราะในช่วงที่ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ.นั้น ได้แสดงบทบาทของการเป็นทั้งผู้ปกป้องรัฐบาล ปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ อย่างชัดเจนในฐานะน้องรัก

รวมทั้งปกป้องการละเมิดสถาบัน ทั้งการใช้ไม้นวมในการเจรจาและการเปิดหน้าปะทะ ด้วยการขึ้นเวทีฉะพวกซ้ายจัดดัดจริต หนักแผ่นดิน จนถูกจับคู่ตรงข้ามกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาแล้ว

จริงอยู่ แม้บทบาทของ พล.อ.อภิรัชต์อาจถูกวิจารณ์ว่าแทรกแซงการเมือง แต่ทว่าด้วยหมวกหลายใบที่สวมอยู่ ทำให้เป็นความจำเป็น

แต่สังคมก็จับตาไปที่ ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ อย่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์นั้นจะมาแนวไหน จะเอาอยู่หรือไม่ ในการช่วยประคับประคองรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

แม้ พล.อ.ณรงค์พันธ์จะไม่ได้สนิทสนมกับ พล.อ.ประยุทธ์มากนัก เพราะโตมาจากคนละสาย พล.อ.ณรงค์พันธ์โตมาจาก ร.31 รอ. ใน พล.1 รอ. เรียกว่าสายวงศ์เทวัญ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์โตจาก พล.ร.2 รอ. สายบูรพาพยัคฆ์ แต่ก็อยู่ในกองทัพภาคที่ 1 เช่นกัน

เพราะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จนเป็น ผบ.ทบ. ก็ได้ปกครองบังคับบัญชา พล.อ.ณรงค์พันธ์มาแต่ตอนนั้น ยังไม่มีใครคิดว่าเขาจะมาจ่อเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไปเช่นตอนนี้

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน มีการตั้งทหารคอแดง สาย ฉก.ทม.รอ.904 พล.อ.ณรงค์พันธ์ได้ไฟเขียวให้เตรียมเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป

 

เห็นเงียบๆ นิ่งๆ ไม่ค่อยพูด อาจทำให้เข้าใจว่าอ่อนนุ่ม ไม่เหมาะกับสถานการณ์ทางการเมือง และสถานการณ์ประเทศในอนาคตอันใกล้

แต่เป็นที่รู้กันดี ในบรรดานายทหารลูกน้องว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์นั้นหนักกว่า พล.อ.อภิรัชต์ ดุ เด็ดขาด เอาจริง แต่ไม่ค่อยพูดเท่านั้น

พล.อ.ณรงค์พันธ์ได้ผ่านการทดสอบมาแล้ว จนได้ไฟเขียวให้มาจ่อต่อ พล.อ.อภิรัชต์ แบบไม่ต้องกังวลว่ากองทัพบกจะอ่อนลง

ที่สำคัญ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เตรียมทหาร 22 มีอายุราชการยาวถึงกันยายน 2566 ยาวจนสิ้นสุดรัฐบาลสมัยแรกของ พล.อ.ประยุทธ์เลยทีเดียว

อีกทั้งเชื่อกันว่า แม้จะเกษียณไปแล้ว พล.อ.อภิรัชต์ก็ยังจะมีตำแหน่งสำคัญรองรับให้มีบทบาทต่อ แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตาม แต่จะเป็นคนที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ให้ความเคารพอย่างยิ่ง

ที่สำคัญ พล.อ.ณรงค์พันธ์ให้ความสำคัญในการปกป้องสถาบันอย่างที่สุด

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์

ขณะที่ ผบ.เหล่าทัพกำลังนับถอยหลังสู่การเกษียณราชการ มีการมองเห็นตัวเต็งที่จะขึ้นมาเป็น ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่กันแล้ว

ทั้งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร ที่จะมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด แทนบิ๊กกบ พล.อ. พรพิพัฒน์ เบญญศรี แม้ยังมีลุ้นกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะดัน พล.อ.ณัฐพล รอง ผบ.ทบ. น้องรัก ข้ามฟากมาเสียบยอดแทนก็ตาม

ส่วน ทร. คาดกันว่า บิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผช.ผบ.ทร. เป็นตัวเต็งขึ้นเป็น ผบ.ทร.คนใหม่ แทนบิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ แม้จะมีชื่อของบิ๊กช่อ พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ รอง ผบ.ทร. จะมาแรงก็ตาม

ส่วน ทอ. คาดกันว่า บิ๊กจ้อ พล.อ.อ.ธรินทร ปุณศรี ผช.ผบ.ทร. จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ แทน พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์

แต่ที่ยังไม่เกษียณคือ บิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ที่จะเกษียณอายุราชการถึงกันยายน 2564 แต่ทว่า ก็เตรียมวางตัวนายทหารที่จะขึ้นมาเป็นปลัดกลาโหมคนต่อไปเอาไว้ ที่จะได้เห็นหน้ากันในโผโยกย้ายใหญ่นี้

ด้วยเหตุที่ พล.อ.ณัฐ ตท.20 แต่อายุน้อย เลยทำให้นายทหารในรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นใกล้เคียง ก็เกษียณกันไปหมด หรือไม่ก็เกษียณพร้อมกันปีหน้า จึงทำให้คาดกันว่า ปลัดกลาโหมคนต่อไปอาจข้ามไปหลายรุ่น

ระดับรองปลัดกลาโหมจากทุกเหล่าทัพเกษียณกันหมด เหลือแต่บิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ที่เป็นเพื่อน ตท.20 ของ พล.อ.ณัฐ ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2565 ที่ก็มีสิทธิ์ลุ้นเป็นปลัดกลาโหม เพราะไม่มีทหารเรือเป็นปลัดกลาโหมมานานหลายสิบปีแล้ว เพราะทหารบกยึดโควต้ามาอย่างต่อเนื่อง

เคยมีปลัดกลาโหมที่ไม่ใช่เหล่าทหารบก ก็ตั้งแต่ผู้การตึ๊ง พล.อ.อ.สุวิช จันทประดิษฐ์ เมื่อปี 2535 เท่านั้น

พล.อ.อ.ธรินทร ปุณศรี

แต่คาดกันว่าทหารบกก็คงยึดโควต้าปลัดกลาโหมเช่นเดิม เพราะมีการวางตัวบิ๊กหนุ่ม พล.ท.สนิธชนก สังขจันทร์ ผบ.ศอว.กลาโหม เตรียมทหาร 24 ลูกเลิฟของ พล.อ.ประวิตร และน้องรักของ พล.อ.ณัฐ ให้เป็นปลัดกลาโหมคนต่อไป

ที่ต้องรีบดันขึ้นเป็น พล.อ. ในโผโยกย้ายตุลาคมนี้ แล้วขยับขึ้นรองปลัดกลาโหมตอนกลางปี 2564 เพื่อจ่อเป็นปลัดกลาโหม

ทั้งนี้เพราะ พล.ท.สนิธชนกเปลี่ยนเส้นทางเดินจาก ทบ. จากรอง ผบ.นรด. ย้ายจาก ทบ.มากลาโหม เพื่อหมายเติบโตที่นี่

เพราะใน ทบ. มีเพื่อน ตท.24 อย่างรองอ๊อบ พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นความหวังของรุ่น ในการชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ.ในอนาคตอยู่แล้ว

พล.ท.สนิธชนก สังขจันทร์

แต่ก็คงต้องรีบเร่งในการดัน พล.ท.สนิธชนก แม้ว่าความจริงปลัดกลาโหมจะขึ้นจาก พล.อ. ที่ไม่ต้องครองอัตราจอมพล หรือเป็นรองปลัดกลาโหมก่อนได้ก็ตาม

จึงเริ่มมีการมองโอกาสที่ พล.ร.อ.สมประสงค์จะเป็นปลัดกลาโหม สายทหารเรืออยู่บ้าง

เพราะหากส่ง พล.ร.อ.สมประสงค์กลับ ทร. ก็จะต้องไปเป็นรอง ผบ.ทร. หรือ ผบ.ทร.เท่านั้น แต่ทว่าเขาได้ถูกส่งออกนอกวงโคจรอำนาจใน ทร.แล้ว

แต่ด้วยอาวุโส จะส่ง พล.ร.อ.สมประสงค์ไปลงตำแหน่งใดได้ เพราะจะกระทบแผนการวางตัว ผบ.ทร.

ความจริงสามารถให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ได้นั่งปลัดกลาโหมก่อน 1 ปี จากนั้น พล.ท.สนิธชนกจึงค่อยนั่งปลัดกลาโหม เพราะยังเหลืออายุราชการอีกถึง 4 ปี

ที่กลาโหม จึงมีเรื่องให้ลุ้นกันพอสมควร

แต่เพาเวอร์ของ พล.อ.ประวิตรจะยังไม่เสื่อมคลาย ในการจัดโผทหารใหญ่ครั้งหน้านี้ แม้จะไม่ได้เป็น รมว.กลาโหมแล้วก็ตาม

แต่ดีกรีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และความเป็นพี่ใหญ่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องฟัง จึงยังคงทำให้โผทหารครั้งหน้า พล.อ.ประวิตรก็ยังคงจะเป็นคนช่วยตัด ช่วยดูให้ก่อนเช่นทุกครั้ง

แต่หากตำแหน่งใดมีปัญหา พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นคนตัดสินใจท้ายที่สุด

            พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จึงยังคงต้องมีกันและกันต่อไป ช่วยกันดูแล บริหารจัดการต่อไป ไม่ว่าจะกองทัพ หรือการเมืองก็ตาม