ECO วิด ปัจจัยเศรษฐกิจ ชี้ขาดรัฐบาล “ตู่” | ฉบับประจำวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2563

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับเอง

ว่า สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ

คงจะมีผลกระทบไปอีกนานพอสมควร

ไม่ใช่แค่ 3 เดือน อาจถึง 6 เดือน 9 เดือน

ถือเป็นภาวะที่หนักและเหนื่อยยิ่งสำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

แค่ 6-9 เดือนข้างหน้าที่เงินเยียวยาเฉพาะหน้าไม่มีแล้ว

หากปัญหายังไม่คลี่คลาย ก็น่าห่วงยิ่ง

ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ จึงต้องมีฐานแน่นๆ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะก้าวต่อไปได้

แต่ก็เกิดคำถาม แล้วรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างไร

แน่นอน ภาพที่เราเห็นที่กระทรวงการคลัง ที่ประชาชนแห่มาร้องขอสิทธิเยียวยา 5 พันบาทจากรัฐบาล

ซึ่งเป็นแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ก็ยังสะท้อนถึงจุดอ่อนมากมาย

แล้วการแก้ไขปัญหาระยะปานกลาง และระยะยาวเล่า

แน่นอนทุกคนย่อมเฝ้ารอที่ได้รับการดูแลและเอาใจใส่ โดยมีประสิทธิภาพกว่านี้ ทั่วถึงกว่านี้

แม้ทุกคนทราบดีว่า รัฐบาลได้อำนาจตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึง 1.9 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินก้อนมหึมา และเป็นหนี้ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมจ่าย

ดังนั้น การนำมาใช้จำเป็นจะต้องมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง โปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่า รั่วไหล หรือเป็นประโยชน์ต่อพวกพ้อง หรือพรรค

ซึ่งตรงนี้เอง ทุกคนอยากได้ความเชื่อมั่นจากรัฐบาลอย่างยิ่ง

ขณะที่ชาวบ้านขาดความมั่นใจ กลไกที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยฟิ้นฟูเศรษฐกิจ

ความเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เองก็ยังเพิ่มความไม่มั่นใจให้ชาวบ้านขึ้นไปอีก

เมื่อมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงหัวหน้าและเลขาธิการพรรค และมีสถานีสุดท้ายที่การปรับคณะรัฐมนตรี

โดยเป้าหมายอยู่ที่การโละ “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุทธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ด้วยการชี้ถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการไม่เอาใจใส่ ส.ส.ในพรรค

ซึ่งแน่นอน มันก็ได้ตอกย้ำแม้แต่ในพรรคเองว่ายังไม่ยอมรับการทำงานของทีมเศรษฐกิจ แล้วข้างนอกจะยอมรับได้อย่างไร

แต่กระนั้น กลุ่มที่จะเข้ามาใหม่ ไม่ว่านายวิรัช รัตนเศรษฐ์ นายสุชาติ เฮงสวัสดิ์ นายอนุชา นาคาศัย นายสันติ พร้อมพัฒน์ และรวมถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ก็ไม่ได้มีภาพพจน์ที่จะเป็นมือเศรษฐกิจ อันมีความหวังแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น นายณัฏฐพลกำลังถูกกระแสตีกลับว่า เป็นเจ้าของไอเดียที่ไปผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ส่งจดหมายขอความช่วยเหลือจากเหล่าบรรดา “เจ้าสัว” เศรษฐีติดอันดับของเมืองไทยมากู้วิกฤตโควิด-19 ซึ่งแทนที่จะได้รับคำชม

กลับกลายเป็นถูกกระแสสังคม และฝ่ายค้านรุมกระหน่ำว่าเป็น “รัฐบาลขอทาน”

จนต้องแก้เกมว่าไม่ใช่ต้องการเงิน แต่ต้องการความคิดมาช่วยเหลือประเทศ ทำให้ความปรารถนาดีกลายเป็นร้ายที่หวังผลบวกก็กลายเป็นลบ

จึงทำให้ทีมเศรษฐกิจทั้งชุดเก่าที่กำลังถูกขับไล่ และกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาแทน มิได้สร้างความมั่นใจว่าจะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีความพร้อมและมีประสิทธิภาพในการรับมือกับ “มหาวิกฤตเศรษฐกิจ” ที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้อย่างไร

ตรงกันข้าม ปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่หรือไปเลยทีเดียว

ฝีมือและผลงานจะพิสูจน์