วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ความเปลี่ยนแปลงต้องมีอยู่ตลอด

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

ความเปลี่ยนแปลงต้องมีอยู่ตลอด

เรื่องของ “มติชน” และเรื่องของ “เด็กคนนี้มีอะไรอีกหลายอย่าง” ที่ผมร่ายยาวมาตั้งแต่ต้น ขอรับสารภาพว่าไม่ได้ไล่เรียงตามวันเดือนปีที่เกิดขึ้น อาจข้ามไปข้ามมาตามความทรงจำ

ส่วนที่วันเวลาบันทึกไว้แน่นอนด้วยหยิบยกจาก “หลักฐาน” ที่บันทึกไว้ในหนังสือพิมพ์และหนังสืออื่น ตลอดจนสอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์ เช่นเดียวกับ “ชื่อ-แซ่” ที่บันทึกไว้อาจมิได้เรียงตามลำดับ หรือมิได้บันทึกไว้เป็นเรื่องเป็นราว

ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

 

เริ่มต้นเพียงต้องการบันทึกถึงความเป็นมาของคนทำหนังสือพิมพ์และที่มาที่ไปของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้-มติชน โดยเฉพาะเรื่องของคดีความซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลของกฎหมายที่ไม่ควรให้ “ประชาชนคนหนึ่ง” ซึ่งทำหน้าที่เป็น “บรรณาธิการ” ต้องมีโทษในคดีอาญาถึง “จำคุก” ทั้งที่ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพ กับกฎหมายอาญาที่ต้องลงโทษผู้กระทำความผิดหรือร่วมกระทำความผิดที่มีหลักฐานเท่านั้น

หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่ง “บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และเจ้าของ” ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ที่บัญญัติให้ลงโทษ “ผู้ประพันธ์” และ “ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ”

ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย

เป็นเรื่องที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต่อสู้มานานนับแต่ก่อนมีพระราชบัญญัติการพิมพ์เกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดแจ้งว่า การเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องพ่วงผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือเจ้าของไปกับบรรณาธิการด้วย เพราะหนังสือพิมพ์ประกอบด้วยบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และ/หรือเจ้าของ ด้วยเหตุบัญญัติแห่งกฎหมายการพิมพ์ เมื่อฟ้องร้องจะได้ฟ้องเป็นจำเลยคนเดียวกัน

ทั้งนี้ การมีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 เป็นนิยามจึงเพียงให้หมายความว่า “ผู้พิมพ์” หมายถึงบุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ “ผู้โฆษณา” หมายความว่า บุคคลซึ่งต้องรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า “บรรณาธิการ” หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย

 

ตําแหน่ง “บรรณาธิการ” นั้นมีเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า “หนังสือพิมพ์” เท่านั้น ผู้ใดจะเป็นบรรณาธิการต้องไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์

“เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล และต้องไปจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ การปฏิบัติงานในกองบรรณาธิการมีการแบ่งงานรับผิดชอบเป็นบรรณาธิการฝ่ายหลายฝ่าย แล้วแต่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นแบ่งฝ่ายข่าวออกเป็นฝ่ายใดบ้าง การทำหน้าที่ของบรรณาธิการโดยทั่วไปต้องบริหารงานตามลำดับตำแหน่งหน้าที่ซึ่งบริษัทหนังสือพิมพ์แต่งตั้งให้เกิดขึ้นรับผิดชอบลดหลั่นกัน

บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาไม่มีหน้าที่ในการบริหารและตรวจสอบการทำงานในการบริหาร เนื่องจากมีผู้รับผิดชอบแต่ละตำแหน่งหน้าที่อยู่แล้ว ทั้งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่มีบทบัญญัติโทษเอาไว้ว่าบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาต้องรับผิดชอบแทนผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์

ส่วนกรณีที่ศาลจะเอาผิดบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา โดยนำมาตรา 59 มาลงโทษบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา นำนิยามในมาตรา 4 มาใช้เป็นดุลพินิจลงโทษรับผิดชอบแทนผู้ประพันธ์หรือผู้เขียน ต้องพิจารณให้รอบคอบ เพราะมิฉะนั้น การใช้ดุลพินิจอาจขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 และขัดต่ออิสรภาพตามหลักการต่อรัฐธรรมนูญของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนก็เป็นได้

ที่ว่ามานั้น หมายถึงการจะเอาความผิดบรรณาธิการในกรณีหมิ่นประมาทตามที่มีผู้กล่าวหา พึงสังวรว่าในหลายกรณี การ “หมิ่นประมาท” เป็นเรื่องของความคิดเห็น เพราะเหตุที่เกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมและรัฐ ดังนั้น แม้ความคิดเห็นนั้นอาจกลายเป็นการสร้างความเสียหายให้เกิดแก่บุคคลนั้น แต่ความคิดเห็นนั้นอาจไม่เป็นหมิ่นประมาทก็ได้

หากเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามดุลพินิจความผิดที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นความผิดของผู้ประพันธ์หรือผู้เขียน (หากหาตัวได้) และถึงจะมีความผิด ก็น่าจะเป็นความผิดทางแพ่ง ซึ่งควรฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้ประพันธ์หรือผู้เขียน หรือบริษัทเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ไม่ใช่โทษจำคุก ดีกว่าไหม

 

กลับมาที่ “นิราศ” คำนำตอนหนึ่งบอกไว้ว่า “ในการเขียนนิราศ เด็กสองคนบังเกิดความน้อยใจที่สังคมกำลังมองไปข้างหน้าไกลเกินตัว จนลืมที่จะมองตัวเองแลข้างหลัง…”

ดังที่สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ว่า

 

“สังคมไทยไกลกว่าจะคว้าถึง         เอาโซ่ล่ามโซ่ก็ขึงเสียตึงเป๋ง

เดินถอยหลังเข้าคลองแล้วร้องเพลง            ดีกว่าเก่งเดินหน้าแต่ตาฟาง”

 

และจบว่า “…เพียงต้องการกลอนตลาดสร้างชาติเอย…”

ของขรรค์ชัย บุนปาน ที่ว่า “เด็กคนนี้มีอะไรอีกหลายอย่าง” ต่อด้วย

 

“…จักต้องสร้างมโหฬารกว่างานเขียน

ตราบใดที่ชะตาคนยังวนเวียน        มันคงเปลี่ยนสิ่งถ่อยถ่อยคอยดูเอย”

 

หนังสือพิมพ์มติชนฉบับประจำพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2563 หน้า 2 เรื่อง “ก้าวที่ 43 ของมติชน ก้าวที่ 76 ของชีวิตขรรค์ชัย บุนปาน “ความจริง” คือ ทางออก

ผู้สัมภาษณ์ถามว่า ในการก้าวสู่ปีที่ 43 มติชนมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งผู้บริหารด้วย?

คำตอบคือ “ใช่ ความเปลี่ยนแปลงต้องมีอยู่ตลอด ไม่อย่างนั้นเป็นงานได้อย่างไรเล่า คนเราต้องปรับ ต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว เดี๋ยวผมก็หงอก ฟันก็คลอน ตาก็เข” (หัวเราะ)

ตอนหนึ่งของคำถาม “เชื่อว่าการปรับตัวเป็นทางออกประเทศ?” คำตอบคือ

“…โลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงมันมาตลอดและมันผูกพันกันหมด กฎหมายไม่สำคัญเท่าคำร้องขอให้ร่วมมือของประชาชน หลักง่ายๆ คือ ประหยัด สะอาด ขยัน จะทำอะไรต้องรู้เรื่อง ไม่ใช่ทำถนนลอยฟ้า แต่ปล่อยน้ำเน่า ทั้งที่น้ำคือชีวิต ให้ชีวิต ถ้าดูแลน้ำ ปลาก็ตามมา ข้าวก็เขียว ต้องมองทางยาว ต้องมองธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ให้ทะเลมีชีวิต ให้ป่าไม้มีชีวิต ผู้ใหญ่ในประเทศต้องเป็นคนนำด้วย…”