ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต/ เทียบฟอร์มการขับ-ความคุ้มค่า ‘ฮอนด้า ซิตี้’ VS ‘นิสสัน อัลเมร่า’

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

 

เทียบฟอร์มการขับ-ความคุ้มค่า

‘ฮอนด้า ซิตี้’ VS ‘นิสสัน อัลเมร่า’

 

แม้จะเคยนำ 2 ยอดรถซิตี้คาร์ในเมืองไทยยามนี้มาเปรียบเทียบข้อมูลกันไปแล้ว

แต่การนำ “ฮอนด้า ซิตี้” และ “นิสสัน อัลเมร่า” มาปะทะกันอีกยก ขอเน้นไปที่อารมณ์การขับขี่ และความคุ้มค่า

เนื่องจากผมมีโอกาสทดลองขับรถทั้ง 2 รุ่นในเวลาไล่เลี่ยกัน

รุ่นที่นำมาเทียบกันเป็นซิตี้ “SV” และอัลเมร่า “VL”

หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมถึงเอาซิตี้ “SV” มาเทียบฟอร์มแทนที่จะเป็นรุ่น “RS”

เรื่องของเรื่องเพราะฮอนด้าระบุว่า ซิตี้ “SV” ถือเป็นรุ่นท็อปเช่นกัน สำหรับ “RS” นั้นจัดว่าเป็นรุ่นพิเศษ

อีกส่วนเป็นเรื่องของราคา เพราะซิตี้ “RS” แพงกว่าอัลเมร่า “VL” ถึง 1 แสนบาท

หากเอามาเทียบฟอร์มการขับขี่อย่างเดียวคงไม่กระไร เพราะเครื่องยนต์ของซิตี้เป็นบล็อกเดียวกันทั้งหมด แต่หากดูอุปกรณ์ตกแต่งภายนอก-ในแล้ว ย่อมต่างกันโดยสิ้นเชิง

แต่ถ้าเป็นซิตี้ “SV” ราคาจะต่างจากอัลเมร่า “VL” 2 หมื่นกว่าบาท นำ 2 รุ่นนี้มาเทียบจึงน่าจะเหมาะสมกว่า

 

ความสวยผมขอละไว้แล้วกัน เนื่องจากแล้วแต่รสนิยมของแต่ละท่าน เพราะรถทั้ง 2 รุ่นมีคนให้ความนิยมและชื่นชมแตกต่างกันไป

มาดูข้อมูลภายนอกเบื้องต้นแบบคร่าวๆ

ซิตี้หน้าตาออกแนวสปอร์ตมากกว่ารุ่นเดิม ได้อารมณ์น้องๆ ซีวิค กระจังหน้ามีแถบโครเมียมขนาดใหญ่ ไฟหน้าแบบโปรเจ็กเตอร์ พร้อมไฟเดย์ไทม์

ฝากระโปรงมีลูกเล่นเส้นสาย ไม่ดูโล้นเกินไป

ไฟท้ายดีไซน์ใหม่

ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว

ส่วนอัลเมร่า หน้าตาโฉบเฉี่ยวสวยงาม กระจังหน้าวีเชฟ ตรงกลางเป็นโลโก้ขนาดใหญ่ ติดตั้งเซ็นเซอร์พร้อมระบบเตือนการชน และช่วยเบรกด้านหน้า

ไฟหน้าทรงบูมเมอแรงแบบแอลอีดี มีเส้นคิ้วด้านบนหรือ “LED Signature Light” แต่ไม่มีไฟเดย์ไทม์มาให้

ไฟท้ายแบบ LED เช่นกัน

ใช้ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว ไม่ต่างจากซิตี้

มิติตัวถังได้เปรียบเสียเปรียบต่างกันเล็กน้อย

ซิตี้ (กว้าง x ยาว x สูง) 1,748 x 4,553 x 1,467 ม.ม. ฐานล้อ 2,589 ม.ม.

อัลเมร่า (กว้าง x ยาว x สูง) 1,740 x 4,495 x 1,460 ม.ม. ฐานล้อ 2,620 ม.ม.

 

ภายในอัลเมร่า ใช้สีทูโทนดำกับเบส เสริมด้วยวัสดุสีเงิน แผงแดชบอร์ดด้านหน้าบุด้วยหนังนุ่ม ส่วนคอนโซลพลาสติกขึ้นรูป

พวงมาลัยท้ายตัดพร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่นปรับได้ 4 ทิศทาง (ขึ้น-ลง, เข้า-ออก)

มาตรวัดแบบเรืองแสง Fine Vision Meter แบบ Digital หน้าจอสี TFT 7 นิ้วอยู่ด้านซ้าย ปรับเปลี่ยนได้หลากรูปแบบ ทั้งเรียกดูข้อมูลต่างๆ หรือปรับเป็นมาตรวัดความเร็วรอบก็ได้เช่นกัน ส่วนด้านขวาเป็นมาตรความเร็ว

ระบบอินโฟเทนเมนต์หน้าจอขนาด 8 นิ้ว ระบบข้อมูลและความบันเทิง Nissan Connect พร้อมช่องเชื่อมต่อ Bluetooth, USB และ AUX IN เชื่อมต่อโทรศัพท์สมาร์ตโฟนอย่าง Apple CarPlay ลำโพง 6 จุด

ช่องยูเอสบีจัดมาให้ถึง 3 จุด บริเวณใต้จอ ช่องเก็บของ และด้านหลังที่เท้าแขนคนขับสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง

ไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร

คันเกียร์หุ้มหนังจับหัวเกียร์ดูเล็กไปนิด มีปุ่มสตาร์ต-สตUอปอยู่บริเวณคอนโซลเกียร์

เบาะผ้าสีดำตัดขอบสีเทา ขนาดพอดีตัวไปหน่อย

ส่วนซิตี้ออกแบบทูโทนเช่นกัน คอนโซลหน้าเป็นพลาสติกขึ้นรูป บุหนังสีครีมในบางจุดเพิ่มไม่ให้เข้มเกินไป เบาะนั่งหนังนุ่มพอสมควร

ระบบอินโฟเทนเมนต์หน้าจอขนาด 8 นิ้ว เช่นกัน รองรับระบบต่างๆ คล้ายกับอัลเมร่า

แต่หากจะเชื่อมต่อ Bluetooth ต้องจอดรถ เข้าเกียร์ “P” และดึงเบรกมือให้เรียบร้อยก่อน

หัวเกียร์ขนาดใหญ่จับกระชับมือ แบบลากขึ้น-ลงธรรมดา สามารถลากเกียร์ลงต่ำกว่า “D” เพื่อใช้โหมดสปอร์ต (S)

ส่วนเกียร์ของอัลเมร่า มีปุ่มโหมดสปอร์ตอยู่หลังหัวเกียร์ เวลาใช้งานอาจรู้สึกขัดๆ นิดหน่อย

 

อารมณ์การขับขี่หากดูจากสเป๊กเครื่องยนต์ ซิตี้น่าจะได้เปรียบกว่า ใช้ขุมพลัง DOHC VTEC TURBO 3 สูบ 12 วาล์ว ขนาด 1.0 ลิตร พร้อม Turbo Charger กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร ที่ 2,000-4,500 รอบต่อนาที

ส่วนเกียร์แบบอัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง (CVT) 7 สปีด

ขณะที่อัลเมร่าแบบ DOHC 3 สูบ ความจุ 999 ซีซี เทอร์โบ กำลังสูงสุด 100 แรงม้า แรงบิด 152 นิวตัน-เมตร เกียร์ XTRONIC CVT

แม้กำลังจะต่างกัน 22 แรงม้า แต่อัตราเร่งของอัลเมร่าไม่ได้ขี้เหร่ จากความรู้สึกของผม กำลังของทั้ง 2 รุ่นแทบไม่ต่างกันเลย หรือซิตี้อาจเหนือกว่านิดๆ

นิดเดียวจริงๆ หากไม่ได้ทดสอบแบบขับสลับคันกันเดี๋ยวนั้น หรือไม่ได้เห็นสเป๊กเครื่องยนต์มาก่อน ต้องคิดว่าไม่ต่างกันมาก

เพราะไม่ว่าจะเป็นตีนต้น กลาง และปลาย มาได้เร็วและไหลลื่นพอๆ กัน

ความเร็วไต่ขึ้นค่อนข้างลื่น เหยียบ 140-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง มาชิล ชิลมาก หากมากกว่านั้นอาจต้องใช้เวลาอีกนิด

การเก็บเสียงทำได้พอๆ กัน หากเร็วเกิน 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง เริ่มได้ยินเสียงลมเข้ามาแล้ว

 

พวงมาลัยแม่นยำใกล้เคียงกัน แต่ช่วงล่างซิตี้เซ็ตมาได้นุ่มนวลกว่า แม้ทั้งคู่จะใช้แบบเดียวกัน ด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต/เหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม/เหล็กกันโคลง

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตามสเป๊กแล้วอัลเมร่าเติมลมแข็งกว่าพอสมควร หากอยากได้ความนุ่มนวลมากขึ้นลดความดันลมยางลงอีกหน่อยจะขับสบายกว่ามาก

ในความเร็วระดับ 150-160 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ช่วงล่างของซิตี้เสถียรกว่าหน่อยๆ ส่วนอัลเมร่าอาจต้องกระชับวงมาลัยขึ้นนิดหนึ่งจะช่วยได้เยอะ แต่ทั้งคู่ยังมีอาการยวบนิดๆ

แต่ในย่านความเร็วระดับ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมงลงมา การควบคุมของทั้ง 2 รุ่นถือว่าทำได้ดี และไม่เครียดสำหรับผู้ขับขี่

แต่ว่าก็ว่าเถอะ รถอีโคคาร์จะเหยียบตะบี้ตะบันขนาดนั้นก็เกินไป แถมยังผิดกฎจราจรด้วย

เทคโนโลยีความปลอดภัยและตัวช่วยต่างๆ ถือว่ามาพอๆ กัน

อัลเมร่ายังมีจุดเด่นที่กล้องมองรอบคัน ภาพจะส่งมาที่จอกลางขนาด 8 นิ้ว

ความสบายของเบาะนั่งทั้งด้านหน้า-หลัง ผมให้ซิตี้ได้เปรียบกว่า

ค่าตัวสู่ขอถือว่าไม่ต่างกันมาก

ฮอนด้าซิตี้ “SV” ราคา 665,000 บาท

นิสสัน อัลเมร่า “VL” ราคา 639,000 บาท