เครื่องเคียงข้างจอ /วัชระ แวววุฒินันท์ / อาลัย… ‘พนมเทียน’

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

อาลัย… ‘พนมเทียน’

 

เครื่องเคียงฯ ฉบับที่แล้ว ผมเขียนถึงผลงานของนักเขียนซีไรต์ “วินทร์ เลียววาริณ” ไป

ฉบับนี้ผมยังคงอยู่ในโลกของตัวอักษร แต่ไม่ได้พูดถึงผลงาน หากพูดถึงผู้เขียนที่เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2540 สาขาวรรณศิลป์ และได้รับการยอมรับว่าเป็น “นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่” คนหนึ่งของเมืองไทย

เขาคือ “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” หรือชื่อ “พนมเทียน” ในโลกของนักเขียน

คนอายุ 40 ปีขึ้นไปต้องรู้จักนิยายชุดเรื่องยาวที่ชื่อ “เพชรพระอุมา” แน่นอน และหลายคนก็เป็นแฟนผลงานชิ้นนี้อย่างเหนียวแน่น

“เพชรพระอุมา” เป็นผลงานชิ้นเอกอุของ “พนมเทียน” ที่ได้รับการบันทึกว่าใช้เวลาเขียนนานที่สุดในโลกคือ 25 ปี 7 เดือน เริ่มเขียนในปี 2507 และเขียนต่อเนื่องลงในนิตยสารจนมาปิดฉากการผจญภัยเมื่อปี 2533

ผู้ที่จะแสดงความสามารถเช่นนี้ได้ ไม่ใช่เพียงนักเขียนธรรมดาแน่นอน จึงสามารถร่ายจินตนาการผ่านการผจญภัยในพงไพรให้ผู้อ่านติดตามอย่างเสพติดและนำไปจินตนาการต่อกันเอิกเกริกได้

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อ่านแล้ว เหมือนได้ออกผจญภัยไปกับพรานรพินทร์ ไพรวัลย์ ที่เก่งกาจไปด้วย เป็นสุภาพบุรุษพรานป่าที่ไม่มีใครเหมือน และขอโทษ พรานรพินทร์นั้นมาก่อนนักโบราณคดีที่ชอบผจญภัยอย่างอินเดียนา โจนส์ ของฮอลลีวู้ดตั้งหลายสิบปี

แสดงว่าจินตนาการของผู้เขียนนั้น ไปไกลกว่าโลกตะวันตกมากนัก

 

ในเรื่อง “เพชรพระอุมา” หลายคนฝันว่าตนเองคือรพินทร์ ไพรวัลย์ แต่ขอโทษ ผมอ่านแล้วอยากลุกขึ้นเป็น “แงซาย” คู่ปรับที่แสนเท่ มีเสน่ห์และลึกลับของรพินทร์มากกว่า

เรื่องนี้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ของงานเขียนแล้ว แต่มีความมหัศจรรย์ก่อนหน้านั้นอีก เมื่อ “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” ยังเป็นแค่นักเรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ แต่ได้แต่งนิยายที่เป็นผลงานอมตะ ซึ่งได้รับความนิยมมาถึงทุกวันนี้ นั่นคือ “จุฬาตรีคูณ”

รักระหว่างรบที่จบลงอย่างแสนเศร้า เป็นนิยายที่มีภาษาสวยเหลือเกิน และช่างมีความละเมียดละไมในความรู้สึกของความรักจนนึกไม่ออกว่าจะมาจากการเขียนของผู้ชายวัยแค่ 17 ปีได้อย่างไร มหัศจรรย์นักแล

และก็ไม่น่าเชื่อว่า ผู้เขียนเรื่องรักแนว Tragedy อย่าง “จุฬาตรีคูณ” จะเป็นคนเดียวกับผู้เขียนเรื่องผจญภัยสไตล์ผู้ชายแมนๆ อย่าง “เพชรพระอุมา” นั่นสะท้อนถึงความหลากหลายในความสามารถทางจินตนาการและอักษรของ “พนมเทียน” ได้ชัดเจน

และเมื่อศึกษาไปถึงผลงานที่โด่งดังเรื่องอื่นๆ ของท่าน ก็พบว่ามีความหลากหลายไปอีก อย่างเช่น “ละอองดาว” “สกาวเดือน” “ศิวาราตรี” “ทางเสือผ่าน”

หากเพชรพระอุมาเป็นเพศชายจ๋า ละอองดาวก็เป็นเพศหญิงชัดเจน หากผู้เขียนเป็นสตรีจะไม่แปลกใจเลย แต่ผู้เขียนที่เป็นบุรุษอย่าง “พนมเทียน” สามารถเข้าถึงความรู้สึกลึกๆ ของผู้หญิง และถ่ายทอดออกมาเป็นความคิดและการกระทำของตัวละครได้อย่างดียิ่งนั้น

นั่นแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนมีความละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์เพียงใด

 

ผมได้รู้จัก “พนมเทียน” ผ่านการอ่านผลงานเขียนของท่านมาตั้งแต่เด็ก ได้ชมผลงานที่แปลงมาจากการประพันธ์ของท่านก็หลายชิ้น อย่างเช่น ภาพยนตร์หรือละครเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” ที่มีการนำมาสร้างหลายหน หนังไทยเรื่อง “เพชรพระอุมา” ที่สร้างได้ตอนเดียวก็ไม่มีตอนต่อไปให้ได้ดูอีกเลย

ได้เคยดูละครโทรทัศน์ที่นำนิยายดังๆ ของท่านมาสร้าง เช่น “เล็บครุฑ” “มัสยา” “ละอองดาว” “สกาวเดือน” “แววมยุรา” “ศิวาราตรี” “กัลปังหา” “รัตติกาลยอดรัก”

นับว่าโชคดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เมื่อ เจ เอส แอล ได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิสุนทราภรณ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดทำละครเวที เรื่อง “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ขึ้นในปี 2553 เนื่องในชาตกาล 100 ปีครูเอื้อ สุนทรสนาน

ซึ่งเป็นเรื่องการทำละครเวทีการกุศลของคณะละครคณะหนึ่ง โดยนำนิยายเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” มาแสดง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการแสดงเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” ทั้งเรื่อง แต่ได้นำบางฉากบางตอนโดยเฉพาะที่มีบทเพลงไพเราะมาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง

นั่นทำให้ผมได้มีโอกาสรู้จักท่านเป็นครั้งแรก เพราะได้ต้อนรับท่านในการมาชมละครเรื่องนี้ในรอบปฐมทัศน์ด้วย

และท่านก็ได้กล่าวชื่นชม พร้อมแนะนำอะไรดีๆ หลายอย่าง รวมทั้งบอกว่า ถ้ามีโอกาสลองนำจุฬาตรีคูณมาแสดงทั้งเรื่องดูสิ

นับว่าเป็นเกียรติอย่างสูง ที่เจ้าของบทประพันธ์ได้เอ่ยปากขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งก็ตรงกับความอยากส่วนตัวของผมเองไม่น้อย เสียดายที่ว่าจากวันนั้นจนถึงวันที่ท่านจากโลกนี้ไปแล้ว การเอ่ยปากวันนั้นของท่านยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงเสียที

 

จากโอกาสได้พบปะกันครั้งนั้น ถัดมาอีก 6 ปี ผมก็ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านมากขึ้น เจ เอส แอล ได้รับเกียรติให้เป็นผู้สร้างละครเรื่อง “ละอองดาว” ให้กับช่อง 7 สี จึงได้นำผู้เขียนบทและผู้กำกับฯ เข้าไปขอคำแนะนำจากท่านในฐานะเจ้าของบทประพันธ์

ท่านเปิดบ้านต้อนรับและให้ความเมตตากับทีมงานอย่างยิ่ง โดยได้พูดถึงเบื้องหลังของนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร แก่นของเรื่องคืออะไร ความสนุก จุดพลิกผัน และความน่าสนใจของเรื่องคือตรงไหน เพื่อจะได้สร้างออกมาให้ตรงใจผู้ประพันธ์มากที่สุด

ตรงใจผู้ประพันธ์ ไม่ได้หมายความว่าต้องตรงตามบทประพันธ์เป๊ะๆ ท่านเข้าใจโลกของละครดีว่ามีความแตกต่างจากโลกหนังสืออย่างไร ท่านเปิดโอกาสให้เล่าเรื่องได้ตามจินตนาการของผู้สร้าง จะปรับเปลี่ยน ปรุงอย่างไรก็ได้ แต่ขอแก่นของเรื่องไว้

และขอไว้ 3 ฉากที่ให้คงตามที่เขียน เพราะเป็นหัวใจของเรื่อง ซึ่งเราก็รับปากกับท่าน

 

จากนั้นก็ได้มีโอกาสนำนักแสดงนำ คือ “นาว ทิสานาฏ” ที่รับบทละอองดาว “อ๋อม อรรคพันธ์” ในบทกรกฎ “เบนซ์ ปุณยาพร” ในบทผดาชไม และ “แอนดรู กรเศก” ในบทธัชชัย เข้าไปพบท่าน

ซึ่งท่านก็ได้บอกถึงแคแร็กเตอร์ตัวละครแต่ละตัวให้ทราบอย่างละเอียด พร้อมให้กำลังใจให้แสดงออกมาให้ดี

ระหว่างการถ่ายทำก็ได้แวะเวียนไปเยี่ยมเยียนท่านและรายงานความคืบหน้าให้ท่านฟังเป็นระยะ

จนเมื่อละครสำเร็จออกอากาศได้แล้วสักระยะ ก็ได้เข้าไปพบท่านอีก และท่านก็ให้คำชมเชยกับละครอย่างมาก

“เป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยทำมาเลย” ท่านกล่าวชมเสียงดัง “นักแสดงที่เป็นละอองดาวนั้น สวย และมีบุคลิกตรงตามบทประพันธ์มาก คนอื่นก็เล่นดีกันหมด”

ภรรยาและลูกสาวท่านได้แอบกระซิบว่า ท่านได้เปิดย้อนดูจากยูทูบเป็นสิบๆ เที่ยว ดูวนไปวนมาไม่รู้กี่รอบ

แม้เมื่อละครจบไปนานหลายปีแล้ว และได้เยี่ยมท่านและครอบครัวเป็นระยะ ท่านก็จะพูดย้ำทุกครั้งว่าถูกใจละครละอองดาวมากเพียงใด พร้อมเชียร์ให้นำบทประพันธ์ของท่านเรื่องอื่นไปสร้างอีก

ท่านบอกว่า “เชื่อมือ เจ เอส แอล”

 

เมื่อนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “พนมเทียน” ให้คำชมและให้เกียรติกับ เจ เอส แอล เช่นนี้จึงยังความปลาบปลื้มใจให้กับผู้บริหาร พนักงาน และทีมงานละครอย่างมาก จนไม่รู้จะเอ่ยอย่างไรถูก

จากที่แวะเวียนไปเยี่ยมท่านและครอบครัวทุกปี ในปีล่าสุดคือปี 2562 ก็ไปกราบอวยพรท่านในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบ 88 ปี ก็ได้สังเกตเห็นแล้วว่าท่านซูบผอมลงไปมาก ความจริงก่อนหน้านี้ที่แวะไปหาท่านหลายเดือนก่อนก็พอจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายท่านอยู่บ้าง

แต่ไปครั้งนี้สังเกตเห็นได้ชัดเจน ซึ่งก่อนไปได้บอกกับละอองดาว ลูกสาวท่านว่า หากคุณพ่อไม่สะดวกมารับรองก็ไม่เป็นไร เพราะทราบว่าท่านไม่ค่อยสบาย แต่ลูกสาวท่านบอกว่า ท่านบอก…ไม่ได้ ยังไงก็ต้องมาต้อนรับ

วันนั้นท่านแต่งตัวหล่อ เรียบร้อยเช่นเคยออกมาพบปะเรา ได้พูดคุยกันหลายเรื่อง และหนึ่งในนั้นท่านก็ยังคงเอ่ยชมละครละอองดาวอีกครั้ง จากที่ตั้งใจจะรบกวนไม่นาน กลายเป็นว่ากินเวลาถึง 3 ชั่วโมงที่ได้สนทนากัน ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

เมื่อแยกย้ายแล้ว ลูกสาวท่านได้บอกว่า ท่านมีความสุขมาก ดีใจที่ท่านได้หัวเราะ พูดคุยเสียงดังอย่างมีความสุข ซึ่งไม่ได้เห็นบ่อยนักช่วงหลังนี้ เนื่องจากอาการป่วย

หลังจากการเยี่ยมเยียนวันนั้น ก็ตั้งใจจะไปเยี่ยมท่านอีก แต่มาติดภาวะโควิดเสียก่อน เพราะไม่อยากเสี่ยงต่อการอาจนำโรคไปติดท่านได้ แต่ทราบว่าท่านเข้า-ออกโรงพยาบาลถี่ขึ้น ก่อนหน้าจะสิ้นก็ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 21 วัน

ยังตั้งใจว่า หากโควิดจางลง จะต้องไปเยี่ยมท่านให้ได้

 

แต่ในวันที่ 21 เมษายน ก็ได้รับข่าวการจากไปของท่าน เป็นข่าวที่ทำให้ใจหาย เสียใจ และเสียดาย ต่อการสิ้นชีวิตของท่านอย่างมาก

วันที่ 22 เวลา 4 โมงเย็น ได้พบท่านอีกครั้ง ด้วยร่างที่ไร้วิญญาณ จากการไปร่วมพิธีรดน้ำ เป็นการพบปะท่านอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งสุดท้ายก่อนร่างของท่านจะถูกบรรจุไว้ เพื่อรอการสวดฌาปนกิจอย่างเป็นทางการต่อเนื่อง และรอการพระราชทานเพลิงศพ

ขอกราบคารวะท่าน และขอแสดงความอาลัยกับครอบครัวของท่านเป็นอย่างมาก รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้ออกเดินทางผจญภัยครั้งใหม่แล้ว เป็นการเดินทางท่องไปยังสวรรคภูมิที่เราเชื่อมั่นว่า ผู้มีเมตตา มีความคิดดีต่อมนุษย์โลก และมีความเป็นสุภาพบุรุษของท่าน จะนำพาให้ดวงวิญญาณของ “พนมเทียน” ได้ไปสถิตยังที่อันสงบ สวยงาม แน่นอน

อาลัยยิ่งถึง “พนมเทียน”