คนมองหนัง : วงน้ำชา, สตรีชรา และความเป็นอนิจจังของชีวิต

คนมองหนัง

ในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 3 เมษายนที่ผ่านมา ณ หอภาพยนตร์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ผู้เขียนมีโอกาสไปชมภาพยนตร์สารคดีความยาว 70 นาที จากประเทศชิลี เรื่อง “Tea Time” ผลงานของผู้กำกับหญิง Maite Alberdi ซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์วงดื่มน้ำชาของสตรีสูงอายุกลุ่มหนึ่ง ที่นัดสังสรรค์กันเรื่อยมา นับแต่จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมฯ และต่างคนต่างไปมีชีวิตครอบครัว (รวมถึงชีวิตโสด) ของตนเอง

วงน้ำชาดังกล่าวดำเนินไปปีแล้วปีเล่า (โดยในปีหนึ่งๆ พวกป้าๆ จะนัดมาพบปะพูดคุยกันหลายครั้ง) กระทั่งถึงปีที่ 60 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการบันทึกเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง “Tea Time”

ก่อนหนังจะปิดฉากลง พร้อมกับการหวนกลับมาดื่มน้ำชา-สนทนากันในรอบปีที่ 64

 

แรกเริ่ม คล้ายภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะถ่ายทอดเพียงการนั่งเมาธ์กัน ว่าด้วยประเด็นวัยเยาว์/อดีตที่ไม่อาจหวนกลับ และชีวิตครอบครัว ที่บ้างก็เต็มไปด้วยวันชื่นคืนสุข บ้างก็จบลงอย่างล้มเหลวเคียดแค้น

ครั้นพอเดินเรื่องไปได้สักพัก ภาพและสถานการณ์ต่างๆ ก็บ่งชี้ว่าหนังมีอะไรมากกว่านั้น อาทิ

ผู้กำกับและผู้กำกับภาพ เริ่มจับจ้องไปที่ “คุณป้าหน้าเครียด” ผู้ไม่มีครอบครัว ซึ่งเหมือนจะใช้ชีวิตอย่างทันสมัย (หน้าจอคอมพิวเตอร์) ทว่า กลับแลดูไม่ค่อยมีความสุขหรืออารมณ์ขันมากนัก

แม้แต่คนดูเอง ก็อาจสามารถคาดเดาได้ว่าเธอคงจะถอยห่างออกจากวงน้ำชานี้ในไม่ช้า

แล้วสุดท้าย คุณป้ารายนี้ก็หายตัวไปจริงๆ ทั้งเพราะอาการเจ็บป่วยและทัศนคติส่วนบุคคล ซึ่งพยายามจะ “ปิดกั้น” ตัวเองออกจากคนรอบข้าง จนเพื่อนๆ พากันจับกลุ่มวิจารณ์เธอลับหลังว่า ที่เธอไม่ได้แต่งงาน ไม่ใช่เป็นเพราะไม่มีผู้ชายเข้ามาหาเธอ แต่เป็นเพราะเธอไม่เลือกผู้ชายเหล่านั้นเองต่างหาก

(จริงๆ แล้ว สามารถโต้แย้งหรือโต้เถียงแทน “คุณป้าหน้าเครียด” ได้เช่นกันว่า นั่นเป็นสิทธิในการเลือกของเธอ และเธอก็ต้องแบกรับความผิดชอบในการดูแลตนเอง ณ บั้นปลายชีวิตไปคนเดียว โดยเพื่อนคนอื่นๆ ไม่ต้องมาแชร์ความรับผิดชอบด้วย)

การปลีกตัวเองจากโต๊ะน้ำชาของ “คุณป้าหน้าเครียด” เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับการเข้ามาทีหลังของ “คุณป้าอีกรายหนึ่ง” ซึ่งดูเหมือนจะถูกแอนตี้-ไม่ยอมรับจากเพื่อนฝูงบางคน

แต่ไปๆ มาๆ เธอกลับสามารถยืนระยะอยู่กับเพื่อนๆ ได้นานพอสมควร นานจนคุณป้ารายอื่นๆ และผู้ชม เริ่มสังเกตเห็น “อาการหลง” ของเธอ ที่จดจำเหตุการณ์อดีตอันไกลโพ้นได้ ทว่า จำเหตุการณ์ย้อนหลังที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้ไม่ได้

 

“ดาวเด่น” คนหนึ่งของวงน้ำชา คือ คุณป้าผู้เป็นเสมือน “ตัวเอก” ในภาพยนตร์เรื่องนี้

เพราะหากเทียบกับเพื่อนเพศ/วัยเดียวกันรายอื่นๆ “คุณป้าตัวเอก” จะมีบุคลิก/นิสัย/ทัศนคติ/รูปแบบการใช้ชีวิตที่ “สว่างไสว” “ร่าเริง” “เสรีนิยม” “เป็นปัญญาชน” “มองโลกแง่บวก” “โรแมนติก” “หัวทันสมัย” ที่สุดในกลุ่ม

เธอพูดถึงช่วงชีวิตอันเปี่ยมสุขกับสามีผู้ล่วงลับ, เธอเป็นคนแนะนำให้ชักชวนเพื่อนบางคนมาเข้ากลุ่มเพิ่มเติม, เธอเป็นคนเดียวที่ชื่นชอบหนังเลสเบี้ยนร่วมสมัย ซึ่งได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ ขณะที่เพื่อนๆ ต่างพากันไม่ยอมรับกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน

ในทริปไปเที่ยวต่างจังหวัด แม้เพื่อนๆ จะพากันนอนกลางวัน ณ สวนสาธารณะอันร่มรื่น แต่เธอกลับเป็นคนเดียว ที่หยิบหนังสือขึ้นมานอนอ่าน นอกจากนี้ เธอยังแลกจูบกับชายชราที่พบเจอกัน ณ โรงพยาบาล และรู้สึกปลื้มปริ่ม เมื่อเขามีท่าทีอยากจีบเธอ

ไม่นับว่าเธอมีหน้าตาสวย และมีความสาว-กระฉับกระเฉง มากกว่าเพื่อนร่วมโต๊ะน้ำชาคนอื่น

อย่างไรก็ดี หนังค่อยๆ คลี่แผ่ให้เห็นถึงแง่มุม “ไม่สว่าง” ในชีวิตของ “คุณป้าตัวเอก” โดยเฉพาะการเปิดตัว “ลูกสาว” ของเธอ ซึ่งเป็นดาวน์ซินโดรม

จากนั้น คนดูจึงมีโอกาสได้รับรู้ปัญหาหนักอกของเธอ มิหนำซ้ำ นอกจากเรื่องลูกแล้ว หนังยังเผยให้เห็นว่า หญิงชราที่ดูสดใสเยาว์วัยที่สุดในกลุ่ม กลับกลายเป็นผู้มีสุขภาพอ่อนแอย่ำแย่ที่สุดในหมู่เพื่อนฝูง

ฉากหนึ่ง ที่ขับเน้นอารมณ์หม่นเศร้าของ “คุณป้าตัวเอก” ได้เป็นอย่างดี ก็คือ ฉากที่ป้าๆ นัดกันมาล้อมวงดื่มชา และรวมกลุ่มเชียร์ทีมฟุตบอลทีมชาติชิลีหน้าจอโทรทัศน์

นี่เป็นฉากดูฟุตบอล แต่กลับไม่โฟกัสไปที่การแข่งขันฟุตบอลในจอ (แถมยังนำเสนอภาพจอโทรทัศน์แบบเบลอๆ อีกต่างหาก ส่วนจังหวะที่ทีมชาติชิลียิงเข้าก็ไม่มีให้เห็น)

ขณะเดียวกัน “คุณป้าตัวเอก” ซึ่งปกติจะชอบเฮฮากับเพื่อนๆ กลับแสดงสีหน้าเซ็ง ไม่อินกับเกมลูกหนังโดยสิ้นเชิง เพราะกำลังวิตกกังวลเรื่องลูกสาว

 

การแข่งขันฟุตบอลแมตช์ดังกล่าว เป็นเกมฟาดแข้งระหว่างชิลีกับเปรู ซึ่งล้อไปกับความสัมพันธ์ของผู้หญิง “สองกลุ่ม” ในหนังสารคดีเรื่องนี้

ในซีนแรกๆ ของภาพยนตร์ คนทำหนังฉายภาพราวกับว่าคุณป้าชาวชิลีที่มี “ฐานะดี” แต่ละคน (บางคนมีสามีเป็นนายพล ยิ่งกว่านั้น พวกเธอยังมีเงินมากพอที่จะซื้อทัวร์ไปเที่ยวพักผ่อนร่วมกันทุกๆ ปี) เป็นผู้จัดแจงหุงหาขนม-น้ำชา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยมือของตัวเอง

แต่แล้วหนังก็เผยให้ผู้ชมได้ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของมือ เสียง ตลอดจนใบหน้า-ร่างกายของ “แม่บ้าน” ที่คอยรับใช้บรรดาคุณป้า

บทสนทนาในวงน้ำชา ทำให้คนดูพอจะทราบว่าแม่บ้านเหล่านี้เป็นแรงงานข้ามชาติมาจากประเทศเปรู

การจับภาพวงสนทนาบนโต๊ะอาหารของคุณป้า “ไฮโซ” ชาวชิลี ที่เต็มไปด้วยน้ำชาในถ้วยเซรามิก และขนมหรูหรานานาชนิด พลันปะทะเข้าอย่างจังกับผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่า

ดังนั้น ในหมู่ “ผู้หญิง” จึงมีระดับชั้นทางสังคมที่ลดหลั่นกันแฝงเร้นอยู่ หรืออาจกล่าวได้ว่า ในบรรดาสตรีด้วยกันเอง ก็มีปัญหาเรื่อง “ชนชั้น”

ผู้ชมเลยมีโอกาสได้เห็นภาพและฟังเสียงของผู้หญิงสูงอายุชาวชิลี (ที่ก๊อสซิปนักการเมืองสายอนุรักษนิยมในประเทศบ้านเกิดอย่างสนุกสนาน) ซึ่งพูดจาจิกกัดเหยียดหยามแม่บ้านจากเปรู รวมทั้งพร่ำบ่นถึง “ความไม่รู้เรื่องรู้ราว” ของสตรีจากประเทศเพื่อนบ้าน

ฉากที่คุณป้าเจ้าภาพวงน้ำชาแต่ละราย พยายามเข้าไป “ให้การศึกษา” แก่แม่บ้านของตัวเอง ว่าวิธีการจัดขนมที่ดีที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ก็แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำซึ่งดำรงอยู่ได้เป็นอย่างดี


อย่างไรก็ตาม ถึงจะแตะปัญหาทางสังคม-การเมืองอยู่บางๆ แต่สุดท้าย “Tea Time” ได้เลือกปิดฉากตัวเองลง ด้วยอารมณ์ดราม่า ที่ระคนระหว่างความเศร้าสร้อยและงดงาม

ในตอนเปิดฉาก คนทำหนังใช้เสียงพูดของ “คุณป้าคนหนึ่ง” มาบรรยายเกริ่นนำเรื่องราวและแนะนำตัวละครรายอื่นๆ

ตามจารีตของหนังเล่าเรื่องและหนังสารคดีโดยทั่วไป “เจ้าของเสียงวอยซ์โอเวอร์” ช่วงต้นเรื่อง มักจะใช้/มีชีวิตเคียงคู่กับคนดูไปจวบจนตอบจบ

แต่ภาพยนตร์สารคดีจากชิลีเรื่องนี้ กลับกล้าแหวกขนบดังกล่าวออกมาได้อย่างซาบซึ้งและร้าวราน เมื่อเจ้าของเสียงบรรยายตอนเปิดเรื่อง กลายเป็นอีกหนึ่งเสียงและหนึ่งบุคคลที่ปลาสนาการไปจากวงน้ำชา

เหลือไว้เพียงจดหมายลายลักษณ์อักษรที่เธอเขียนอำลาเพื่อนๆ ผู้ยังคงมีชีวิตอยู่