วรรณะ “จนฑาล”

ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ไทยที่จะมีคนเดือดร้อนขนาดนี้

ภาพคนจำนวนมากมายืนต่อคิวยาวเหยียดแทบทุกจังหวัด

เพียงเพื่อรอรับแจก “ข้าวกล่อง” 1 กล่อง

หรือ “ถุงยังชีพ”

ฝนตกหรือแดดร้อนเปรี้ยงก็ยอมทนรอ

บางคนมารอตั้งแต่ตี 4 เพื่อจะได้คิวแรกของที่แจกตอน 9 โมงเช้า

เป็นภาพที่ชัดเจนว่าคนไทยเดือดร้อนจากวิกฤตไวรัสโควิดจริง

เพราะถ้าไม่เดือดร้อนจริงคงไม่มายืนตากแดดเพียงเพื่อข้าวกล่องแค่ 1 กล่อง

ทั้งนี้ วิกฤตนี้เพิ่งเริ่มต้นได้เพียง 2-3 เดือน

เหมือนเป็นคำตอบว่าช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ขนาดไหน

ก่อนที่ “โควิด” จะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่หล่นลงมา

ถ้าการควบคุมจำนวนคนติดเชื้อโควิดจนเหลือเพียงแค่เลขตัวเดียวต่อวัน เป็นผลงานของรัฐบาล

มาตรการ 5,000 บาท ก็เป็น “ตราบาป” ของรัฐบาลชุดนี้

ตั้งแต่การใช้วิธีการ “คัดเข้า” ที่ยุ่งยาก-ซับซ้อน

และล่าช้าอย่างยิ่ง

ทั้งที่ช่วงเวลานี้ “ความเร็ว” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ถ้าข้าว 1 กล่อง คนยังยอมต่อคิวตั้งแต่ตีสี่

เงิน 5,000 บาทย่อมมี “ความหมาย” อย่างยิ่งสำหรับคนยากจน

การที่รัฐบอกว่าจะให้ แล้วไม่ให้

คนที่หวังว่าจะได้ แล้วไม่ได้

ในโลกนี้ไม่มีอะไรเจ็บปวดเท่ากับ “ความหวัง” อันน้อยนิดถูกทุบทำลาย

ไม่แปลกที่จะมีบางคนเลือกหนทาง “ฆ่าตัวตาย” เพราะความเจ็บแค้นที่ไร้ทางออก

แต่กระทรวงการคลังกลับเลือกแนวทางของ “นกกระจอกเทศ”

ซุกหน้าอยู่ใต้ดิน

ไม่เห็น ไม่ได้ยิน

แสดงว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

หลังเหตุการณ์ที่คนมาประท้วงที่กระทรวงการคลังจนเป็นข่าวใหญ่โต

วิธีแก้ปัญหาของ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็คือ ปิดประตูไม่ให้คนที่มาร้องเรียนเข้ากระทรวง

คนที่ต้องการร้องเรียนเรื่องเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ต้องมายืนอยู่หน้าประตูรั้วกระทรวงการคลัง

มีเจ้าหน้าที่ 2-3 คนมารับเรื่องแบบขอไปที

ทำให้ “คนจน” เป็นยิ่งกว่า “คนอนาถา”

ว่ากันว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ในเมืองไทยวันนี้ไม่ต้องไปดูที่ไหน

ไปที่หน้ากระทรวงการคลังก็เห็นชัดเจนแล้ว

ในขณะที่ท่านรัฐมนตรีและข้าราชการทั้งหลายนั่งอยู่ในห้องแอร์ที่มาจากภาษีประชาชน

แต่คนจนที่เดือดร้อนต้องยืนตากแดด ตากฝน อยู่หน้ารั้ว

จะเข้ามาในกระทรวงเพื่อขอร่มเงาจากอาคารหรือต้นไม้บ้างก็ยังไม่ได้เลย

เหมือนเป็นคนละ “วรรณะ” กัน

ไม่รู้ว่าอยู่เมืองไทยหรืออินเดียกันแน่