คำ ผกา | อย่าเปลี่ยนประชาชนให้เป็นขอทาน

คำ ผกา

หลังโควิด-19 อยู่กับเราจนครบ 100 วันแล้ว และมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 มาให้เราติดตามชนิดที่ใน 24 ชั่วโมง เราแทบจะไม่ได้พูดถึงเรื่องอื่นกันเลย ราวกับว่ามันเป็นไวรัสตัวอันตรายที่จะเข้ามาล้างโลก

เมื่อเรากลัวตายจากเจ้าไวรัสตัวนี้จนเกินกว่าเหตุ

จึงเป็นเหตุให้รัฐเผด็จการในหลายประเทศฉวยโอกาสใช้ความกลัวตายจากไวรัสนี้คืบคลานเข้าไปใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตัดตอนกระบวนการทางรัฐสภา จับคนเห็นต่างไปดำเนินคดี

ออกกฎข้อห้ามที่ละเมิดสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน

เช่น การห้ามจำหน่ายสุรายาวนานเกินสัปดาห์ บนข้ออ้างที่ว่า รัฐจำเป็นต้องทำเช่นนี้ มิเช่นนั้นเราจะปราบปรามไวรัสนี้ไม่ได้ นี่เป็นห้วงเวลาพิเศษ เป็นห้วงเวลาแห่งการยกเว้น ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ไวรัสตัวร้ายกำลังบุกประเทศ เราอย่าเพิ่งมาถามประชาธิปไตยอะไรกันเลย ประชาชนมีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล อย่าทำตัวให้เป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละชีวิต ความสุข เงินทอง มารบรากับไวรัส

ในสังคมที่ประชาชนถูกล้างสมองมาให้ชื่นชอบระบอบอำนาจนิยมอยู่แล้ว

(ผ่านระบบการศึกษาที่กล่อมเกลาคนให้ภูมิใจในเครื่องแบบนักเรียน เสพติดการเป็นเด็กดีของครู วันๆ ใช้เวลาไปกับการตรวจผม ตรวจเล็บ ประกวดมารยาท คัดลายมือ ยินยอมมอบชีวิตให้อยู่ในกำมือของครูฝ่ายปกครอง ฯลฯ) ก็จะ “ฟิน” มากที่รัฐบาลเริ่มทำตัวเหมือนผู้ปกครอง และครูฝ่ายปกครอง

วันๆ เทศนาให้ประชาชนทำตัวดีๆ อย่ากินเหล้า อย่าเล่นการพนัน ทำตัวให้เรียบร้อย กลับบ้านแต่หัววัน จงอยู่กับครอบครัว จงทำครอบครัวให้อบอุ่น จงสวดมนต์ไหว้พระ จงขยัน จงปลูกผัก จงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฯลฯ

ประชาชนกลุ่มที่ยังฝังตัวเองไว้ในลัทธิครูฝ่ายปกครองก็จะเคลิ้มว่า นี่แหละคือรัฐบาลในฝัน คือผู้นำที่เราต้องการ

ชอบจังเลย

สังคมที่ประชาชนจำพวกนี้อยู่เยอะๆ และมี “เสียงดัง” ทีละเล็กทีละน้อย ก็จะโดนเรียกค่าไถ่ทางเสรีภาพไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่า อย่ามีเลยเสรีภาพ มอบชีวิตให้ครูฝ่ายปกครองดูแล และกำราบเลยดีกว่า ชีวิตจะได้ปลอดภัย และสงบ

จริงๆ แล้ว ไวรัสโควิด-19 น่ากลัวหรือไม่ และความน่ากลัวของมัน น่ากลัวในมิติใดบ้าง?

ในแง่ของอัตราการเสียชีวิต

อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 4.7% ประเทศที่อัตราการตายต่ำที่สุดคือ เยอรมนี คือ 0.7% ประเทศที่อัตราการตายสูงที่สุดคืออิตาลี คือ 10.8%

ทำไมตัวเลขจึงต่างกันราวฟ้ากับเหวเช่นนั้น ก็ต้องไปดูอีกตารางหนึ่งคือ อัตราการตายเมื่อแยกตามอายุ พบว่า

ต่ำกว่า 9 ปี อัตราการตาย 0%

10-19 ปี 0.18%

20-49 ปี 0.32%

50-59 ปี 1.3%

60-69 ปี 3.6%

70-79 ปี 8%

80 ปีขึ้นไป 14.8%

ดูตารางนี้เสร็จ ย้อนกลับไปดูอายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อในเยอรมนีคือ 47 ปี ในขณะที่อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อในอิตาลีคือ 67 ปี

แน่นอนว่า เราไม่อาจฟันธงได้ว่า

เหตุที่อัตราการเสียชีวิตจากโควิดของเยอรมนีต่ำเพราะอายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อน้อย

เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาอีก เช่น ถ้ามีโอกาสเข้าถึงการตรวจ ก็จะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที โอกาสตายก็น้อย

หรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หอบ ทางเดินหายใจ มีนัยสำคัญต่อการเสียชีวิตหลังการติดเชื้อหรือไม่

รายละเอียดเช่นนั้น วงวิชาการแพทย์ก็คงต้องค้นคว้าหาข้อสรุปกันต่อไป

ภายใต้ข้อมูลความรู้อันจำกัดที่เรามีเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ความย้อนแย้งของเจ้าไวรัสตัวนี้คือ มันไม่น่ากลัวแฮะ

เพราะเราสามารถติดเชื้อไวรัสตัวนี้ โดยไม่เป็นอะไรเลย ไม่แสดงอาการ เป็นเอง หายเอง

แต่ความน่ากลัวของมันก็คือ ในขณะที่เราเป็นแล้วเราไม่รู้ว่าเราเป็น ยังคงใช้ชีวิตฮิฮะ มีความสุข

แต่เราอาจเอาไปติดคนที่ หนึ่ง แก่มาก สอง มีโรคประจำตัวที่อ่อนไหวกับไวรัสตัวนี้ และดูเหมือนว่า คนสองจำพวกนี้แหละที่มีสิทธิจะตาย

ในแง่ของปัจเจกบุคคล เมื่อรู้เช่นนี้แล้วสิ่งหนึ่งที่เราได้ทำทันทีคือ ให้คิดว่าตัวเอง “ติด” ไปแล้ว และเรามีหน้าที่ “ไม่แพร่เชื้อ”

นั่นหมายความว่าเราต้องใส่หน้ากากป้องกัน ไม่ใช่ป้องกันการ “รับเชื้อ” แต่ป้องกันการ “ส่งเชื้อ” ถ้าที่บ้านมีคนแก่ คนมีโรคประจำตัว ก็เพิ่มความ “กังวล” ไปที่จุดนั้น

ในแง่ของรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลต้อง “กลัว” กับไวรัสตัวนี้คือ ความกลัว และความกังวลว่า ทรัพยากรทางสาธารณสุขของเราจะเพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยหรือไม่

เช่น ถ้าหากมีคนติดเยอะและแสดงอาการจนต้องเข้ารับการรักษากันเป็นแสนเป็นล้าน ก็คงทำให้ระบบสาธารณสุขต้องถึงแก่การล่มสลายเป็นแน่แท้

ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตา “ปราบ” ไวรัส แบบถือดาบ ถือโล่ ตั้งแถวเป็นด่านหน้าประจัญบาน ชิ่วๆๆๆ ไล่ไวรัสออกนอกประเทศไป

แต่เป็นเรื่องของการ “บริหาร” ภาวะการระบาด มิให้เกินกำลังที่ระบบสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ จะรับมือได้

นั่นแปลว่า สัมฤทธิผลของการบริหาร “ไวรัส” จะไม่ใช่การเอายอดตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ต่ำลงเรื่อยๆ ให้เท่ากับการ “ประกาศชัยชนะ” ของการทำสงครามกับไวรัสเสมอไป แต่ “ความสำเร็จ” ของการบริหาร “ไวรัส” รวมถึงโมเดลการจัดการของแต่ละประเทศก็ไม่สามารถเอามาเทียบเคียง ชี้วัด แข่งขันกันได้จากตัวเลขผู้ป่วย ผู้ตาย ผู้ติดเชื้อ โดยไม่สัมพันธ์กับมิติอื่นๆ

เช่น ถ้าเราดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ ก็พบว่า โอ้โห เยอรมนีติดเยอะมาก แบบนี้เรียกว่าล้มเหลวหรือเปล่า?

มาดูที่ตัวเลขการตาย อ้าวต่ำมาก แบบนี้จะเรียกว่า “ประสบความสำเร็จหรือเปล่า?”

หันไปดูสวีเดน ที่มีประชากรสิบล้านคน ตอนนี้มีคนติดเชื้อ 15,000 คน ส่วนใหญ่ระบาดอยู่ในสตอกโฮล์มและเมืองรอบๆ รัฐบาลสวีเดนบริหาร “ไวรัส” โดยใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของตัวเองเป็นตัวตั้ง

ประเมินแล้วพบว่า ไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจพอที่จะล็อกดาวน์ประเทศได้

จึงบริหารด้วยการเจาะดูแลเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ คนแก่ กับคนที่มีโรคประจำตัว (กลุ่มที่เสี่ยงว่าติดแล้วมีโอกาสตายสูง) เป้าหมายที่สาธารณสุขสวีเดนตั้งเอาไว้คือ ให้ประชากรร้อยละ 60 เกิดภูมิคุ้มกัน ณ วันนี้ ประชากร 20% ของสตอกโฮล์มมีภูมิคุ้มกันแล้ว คาดว่าภายในสองสัปดาห์จะเข้าเป้าร้อยละ 60 – ถ้าตัวเลขเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับการฉีดวัคซีน

ทีนี้ถ้าเราดูแต่ตัวเลขคนติดคนตายอย่างเดียวก็จะร้องโอ้โห สวีเดนล้มเหลว เพราะตัวเลขคนติดคนตายเยอะมาก

แต่พอวางตัวเลขสถิติลงไปในบริบท ก็จะพบว่า อ๋อ เขาตั้งใจให้คนติดเยอะๆ จนเกิดภูมิคุ้มกัน

ดังนั้น ตัวเลขที่ติดเยอะขึ้นเรื่อยถือเป็น “ความสำเร็จ” ของสวีเดน ตัวเลขเดียวที่เขาต้องดูแลคือตัวเลขคนตาย ที่กำลังค่อยๆ ลดลง

และ ณ วันนี้ กราฟทุกอย่างสวีเดนก็เริ่มนิ่ง คือ มีคนติดพร้อมๆ กับคนมีภูมิไปเรื่อยๆ

ซึ่งรัฐบาลสวีเดนมองว่าการบริหาร “ไวรัส” แบบนี้ยั่งยืนกว่า เพราะถ้าปิดเมือง ล็อกดาวน์ ประเมินแล้วรัฐอุ้มเศรษฐกิจไม่ไหว (พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เขามองว่า เงินนั้นเป็นเงินภาษีประชาชน จะเอามาแลกกับการล็อกดาวน์จะคุ้มไม่คุ้มก็ต้องมองให้รอบด้าน) แถมถ้าเปิดเมืองมาอีกที ยังไงการระบาดระลอกสองก็ต้องมา เลยเลือกทางนี้ ให้ติดจนมีภูมิ แล้วเศรษฐกิจเสียหายในระดับที่ดูแลได้ ไม่เกินกำลัง

กรณีไต้หวันกับเกาหลีใต้หลังจากพบคลัสเตอร์ใหญ่ ใช้วิธีการ soft lockdown คือปิดเฉพาะเมืองที่มีการระบาด สุ่มตรวจ รักษา ป้องกันการระบาดใหม่ สร้างพฤติกรรมใหม่ในการใช้ชีวิต

จากนั้นก็เปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ชะงัก เร่งผลิตหน้ากาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งขาย ทั้งบริจาค

สิงคโปร์แม้จะพบจำนวนคนติดสูงเป็นพันๆ แต่ก็รู้สาเหตุชัดเจนว่าเป็นการติดภายในที่อยู่อาศัยบ้านพักคนงาน

จากนั้นก็รับมือได้ ดูแลคนที่ติดได้ รัฐบาลประเมินศักยภาพทางเศรษฐกิจแล้ว มีกำลังพอจะเยียวยาทุกคน ก็ตัดสินใจปิดเมือง ล็อกดาวน์ โดยที่ทุกคนไม่เสียรายได้ มีกิน มีใช้ มีความมั่นคง

รัฐจ่ายเงิน “ชดเชย” โอกาสทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่

ยกตัวอย่างมาเยอะแยะขนาดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ลำพังตัวเลขผู้ติด ผู้ป่วย ผู้ตาย ล้วนโดยสัมพันธ์กับมิติอื่นๆ ไม่ใช่ตัวชี้วัด “ความสำเร็จ” ของรัฐบาลในการบริหาร “ไวรัส”

ความผิดพลาดของรัฐบาลไทยคือ การไม่สร้างกระบวนการกักตัวคนที่มาจากต่างประเทศอย่างไม่มีเงื่อนไข ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่พบการระบาดของไวรัสตัวนี้ โดยที่ตอนนั้นอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ความผิดพลาดของรัฐบาลไทยประการต่อมาคือ การปล่อยให้มีการจัดแข่งขันมวย อันเป็นการทำให้คนไปชุมนุมอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก

ทั้งๆ ที่รู้ว่า ณ เวลานั้น ไวรัสโคโรนานี้มี local transmitted หรือการติดกันภายในประเทศแล้ว

เมื่อมีการพบคลัสเตอร์ใหญ่ภายในประเทศ โจทย์ที่รัฐบาลไทยทำถูกต้องในเวลาต่อมาคือ ต้องบริหารตัวเลขคนติด คนป่วย ไม่ให้เกินกำลังที่ทรัพยากรทางสาธารณสุขเราจะรับไหว

อันนำมาซึ่งการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การปิดเมือง ยกเลิกไฟลต์บินและรถทัวร์ต่างๆ ไปจนถึงการประกาศเคอร์ฟิว ไปจนถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อ

เพิ่มช่องทางการเข้าถึงการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยไม่ได้ทำคือ

หนึ่ง ก่อนปิดเมือง ก่อนมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้คำนวณว่าจะมีผู้ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจ ธุรกิจเท่าไหร่ จากนั้นต้องมานั่งประเมินว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเรา ณ เวลานี้ จะรับมือกับการปิดเมืองได้นานที่สุดกี่วัน

ในรายละเอียด รัฐบาลต้องไปดูว่า ในความเสียหายทั้งหมดนี้ ประกันสังคมรับภาระได้เท่าไหร่

รัฐต้องเข้าไปพยุงเจ้าของธุรกิจภายใต้เป้าหมายไม่ให้เกิดการเลิกจ้างเท่าไหร่

มีแรงงานนอกระบบ ที่รัฐต้องเข้าไปดูแลเท่าไหร่

มีพ่อค้าแม่ขาย “นอกระบบ” ที่ต้องเข้าไปเยียวยา ชดเชยเท่าไหร่

ก่อนปิดเมือง รัฐต้องเตรียมเงินก้อนนี้ให้พร้อม มีฐานข้อมูลประชากรตรงนี้พร้อม ที่สำคัญต้องรู้อย่างแน่ชัดว่า มี “สายป่าน” ปิดเมืองได้กี่วัน

สมมุติคำนวณแล้วมีสายป่านปิดเมืองได้ 40 วัน ก็ต้องเอา 40 วันนี้ไปเวิร์กกับระยะเวลาของการทำงานของไวรัสตัวนี้คือ 14 วัน บวก 7

สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือ ไม่ใช่ทำให้ตัวเลขคนติด คนป่วย คนตายเหลือศูนย์โดยไม่มองหน้ามองหลัง แล้วประกาศชัยชนะ

แต่ควรมองเรื่องการ “ลด” การระบาดให้เหลือในระดับที่ไม่เกินกำลังที่สาธารณสุขของเราจะรับมือได้ นั่นแปลว่า มีคนติดบ้าง ป่วยบ้าง – เป็นเรื่องธรรมดา

นั่นแปลว่าโจทย์ที่รัฐบาลต้องตั้งให้กับตัวเอง – ไม่ใช่มากดดันด่าทอที่ประชาชน – คือการบอกว่า รัฐมีเวลาแค่ 40 วันที่จะสร้างสมดุล ระหว่างทำให้การระบาดนี้ไม่เกินกำลังของการสาธารณสุข กับไม่ให้ภาวะไวรัสส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจนเกินกำลังที่รัฐจะรับมือได้ หรือเกินกว่าสายป่านที่เรามี

รัฐต้องมีเส้นตายให้กับการทำงานของตัวเองในเรื่องการปิดเมือง และตระหนักว่านี่คือความรับผิดชอบของตนเอง เพราะแต่ละวันที่เลยเส้นตายไป มันหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมันก็คือภาระทางงบประมาณ อันหมายถึงภาษีของประชาชน

การวัดความสำเร็จของการรับมือกับไวรัส ไม่ใช่จำนวนผู้ติด ผู้ป่วย ผู้ตายที่น้อยลงเรื่อยๆ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องวัดจาก

1. จำกัดวงของการระบาดไม่ให้เกิดผู้ป่วยจนเกินกำลังและทรัพยากรด้านสาธารณสุข

2. ผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองในทุกมิติได้รับการชดเชยอย่างสมเหตุสมผล

3. มีแผนฟื้นภาคเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุดหลังจากเปิดเมือง

4. มีแผนรองรับในระยะยาวเกี่ยวกับ new normal ที่มีผลต่ออนาคตและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เช่น แผนการปรับ/ปฏิรูปการศึกษาของโลกยุคหลังโควิด เช่น ลดเวลาที่ใช้ในโรงเรียน ปรับขนาดห้องเรียน ปรับการเรียน การสอนให้สนองมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม

5. ทุกมาตรการต้องไม่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของพลเมือง ไม่กระทบต่อหลักการประชาธิปไตย

ถ้ารัฐบาลวางแผนบริหารไวรัสเช่นนี้ มันจะไม่นำมาซึ่งการต้องไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าสัว

เพราะการบริหารไวรัส พึงทำได้โดยรัฐเอง เป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรง

การช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมและธุรกิจ เป็นเรื่องที่รัฐไม่พึงนำมาปะปนกับการทำงานของรัฐ

ถ้าเอกชนจะทำอะไร เป็นเรื่องที่รัฐแค่ “ไม่ขัดขวาง” หรือไม่เป็นอุปสรรคเท่านั้น โดยยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ถ้ารัฐบริหารไวรัสโดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง วันนี้จะไม่มีภาพประชาชนที่ครั้งหนึ่งคือผลิตภาพที่สำคัญและมีศักดิ์ศรี มีเรี่ยวมีแรง มีชีวิตมีชีวา มีงานทำ ต้องกลายเป็นคนที่ไปเข้าคิวรอรับแจกข้าว แจกน้ำ

ไม่มีใครอยากกลายเป็นขอทาน เพราะการมีงานทำมันคือเครื่องพยุงศักดิ์ศรี คุณค่า ความหมายของการมีชีวิต

วันนี้รัฐบาลต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนให้ประชาชนว่า การปิดเมืองนี้ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

เพราะมันคือกรอบเวลาการบริหาร “ไวรัส” ของรัฐบาล ไม่ใช่กรอบเวลา Time out ลงโทษประชาชน ในทำนองว่า “ทำตัวดีเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น”

อย่าเปลี่ยนประชาชนให้เป็นขอทาน