ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่ถูกตรวจสอบน้อยมาก

มนัส สัตยารักษ์ | มหาเศรษฐีคนที่ 21
นับแต่เริ่มวิกฤต “โควิด-19” รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ “ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ” (ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน) ไป 2 โครงการ คือ แจก 2,000 บาท เพื่อกระตุ้นตลาด กับแจก 5,000 บาทเพื่อเยียวยาผู้เดือดร้อนจากมาตรการต่อต้านการระบาดของไวรัสโควิด-19

รายการแจกเงิน 2,000 ในชื่อโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ได้รับการวิพากษ์ในเชิงไม่เห็นด้วยมากมาย เพราะเป็นแค่การ “สร้างภาพความเคลื่อนไหวของตลาด” ซึ่งเท่ากับเอาเงินหลวงไปช่วยเหลือจุนเจือนักธุรกิจและการท่องเที่ยว โดยผู้รับแจกไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อนแต่อย่างใด

แจก 2,000 แม้จะมีเสียงคัดค้านกันมาก แต่สรุปแล้วเหตุการณ์เรียบร้อย ส่วนจะได้ผลดีแก่ประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ เพียงใด-ไม่ทราบ

ส่วนที่แจก 5,000 เป็นเวลา 3 เดือน ตามโครงการ “เราจะไม่ทิ้งกัน” นั้น ไม่มีใครวิจารณ์เป็นเชิงลบ เพราะเห็นกันตำตาแล้วว่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการที่เข้มข้นกว่ามาตรการทางสาธารณสุข เช่น ล็อกดาวน์ หยุดงาน ปิดเมือง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว ซึ่งทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก อัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจเล็ก-ใหญ่เลิกจ้าง คนตกงานเพิ่มขึ้น คนจนไม่มีเงินออมและไม่มีรายได้ เวลาผ่านไปอาจถึงขั้นอดอยากไปจนถึงฆ่าตัวตาย

แจก 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนไม่มีคนค้านในหลักการ แต่เหตุการณ์กลับสับสนวุ่นวายและยังไม่มีข้อยุติ สร้างความผิดหวังและโกรธแค้นแก่ผู้ที่ถูกระบบ AI ปฏิเสธ

เป็นเรื่องพิกลที่เป้าหมายกับผลที่ได้วิ่งสวนทางกัน…

เรื่องที่ไม่น่าทำกลับราบรื่น ในขณะเรื่องดีที่จำเป็นกลับมีอุปสรรคยุ่งยากและยังหาจุดจบที่ลงตัวไม่ได้!

ต้องถือว่ารัฐบาลเริ่มต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 อย่างแท้จริง เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” (ศบค.) ประชุมแพทย์ผู้ใหญ่ระดับ “อาจารย์หมอ” แล้วออกมาแถลงข่าวด้วยอาการทรุดโทรมและซีดเซียว เผยแพร่ไปในทีวีทุกช่อง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีก็ได้รับคำยกย่องชมเชยว่า “มาถูกทาง” แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้สับสนวุ่นวายมาพักใหญ่

ถัดมาอีกไม่นาน หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ต่างประสบความสูญเสียมหาศาลด้วยชีวิตผู้ป่วยติดเชื้อ ไทยกลับได้รับคำยกย่องจาก WHO ว่ารับมือวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้คนไทยจะรู้ว่าคำยกย่องมาจากความเสียสละอย่างสูงของบุคลากรทางการแพทย์กับระบบสาธารณสุขที่ดีของไทย แต่ก็ไม่มีใครโต้แย้งในจุดนี้

เมื่อกล่าวถึง “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งเป็นโครงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติ และเพื่อเยียวยาผู้ที่เดือดร้อน ต่างทราบกันดีว่าแม่งานหรือผู้บริหารจัดการ คือกระทรวงการคลัง ซึ่งดำเนินไปอย่างวุ่นวายสับสนทำนองเดียวกับเมื่อเรารับมือ “โควิด-19” ในช่วงแรก

เริ่มต้นวันแรกด้วยการรับรองว่าประชาชนจะได้สิทธิ์ด้วยความเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็ข่มขวัญผู้มาลงทะเบียนว่าการลงทะเบียนด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จจะถูกดำเนินคดี เพราะตรวจสอบและคัดกรองด้วยระบบ AI ที่เรารู้จักกันว่าเป็น “ระบบอัจฉริยะ”

แต่แล้วก็เลิกคุยประเด็นนี้เมื่อเกิดกรณี “5,000 บาท มันก็แค่เงินหลังตู้เย็น”

แถลงข่าวครั้งแรกว่าจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน แต่วันถัดมาแก้ข่าวว่าเยียวยาได้แค่ 3 เดือน ถัดมาไม่กี่วัน นายกรัฐมนตรีมาแถลงเองกลายเป็นว่าเงินไม่พอ คงเยียวยาได้แค่เดือนเดียว ที่เหลือต้องรอหลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน

“พูดไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด” หนนี้ ทำให้มีคนขู่จะฆ่าตัวตาย และผู้เดือดร้อนส่วนหนึ่งเกือบก่อการจลาจลขึ้นที่กระทรวงการคลัง

ร้อนถึงโฆษกรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และใครต่อใครอีกหลายคนต้องตามกันออกมาแก้ข่าวแบบทุกครั้งที่ความสับสนอลหม่านเกิดขึ้น

ในที่สุดลงเอยที่เพิ่มยอดจำนวนคนรับสิทธิ์เยียวยาจาก 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน ด้วยเงินที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.1 แสนล้านบาท… สงบลงได้ชั่วคราวจนกว่าจะมีข่าวสับสนใหม่เกิดขั้น!

ผมอาจถูกมองว่าเป็นคนมีทัศนคติในแง่ร้าย ถ้าพูดว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ที่นิยมชมชอบบรรยากาศแห่งความสับสนวุ่นวาย เพราะยึดติดกับวาทกรรม “วิกฤตสร้างโอกาส” หรือ “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” มาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557

บรรยากาศแตกตื่นเป็นโกลาหลทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นเพราะ “เด็กเลี้ยงแกะ” มาถึงยุคไวรัสโควิด จะเรียกว่าเป็น “ผู้ใหญ่เลี้ยงโค” ก็น่าจะได้

ถ้ามองในแง่ดี เราจะเห็นว่าหลังจากประชุม ศบค. กับบรรดาแพทย์ระดับอาจารย์หมอโดยไม่มีนักการเมืองแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ได้รู้จักคำว่า “มาถูกทางแล้ว” เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

ดังนั้น เมื่อมาถึงวาระของ “ปัญหาเศรษฐกิจ” อันน่าวิตกไม่น้อยไปกว่า “ปัญหาไวรัสโควิด” ก็น่าจะมาถูกทางอีกครั้งได้เหมือนกัน ถ้าได้คุยกับ 20 มหาเศรษฐีโดยไม่มีนักการเมือง!

แม้จะไม่เคยคิดในแง่ร้ายว่า พล.อ.ประยุทธ์ไป “ขอทาน” คนร่ำรวยมาแก้ปัญหา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นด้วยทั้งหมด

ลำดับแรกเลย ทำไมต้อง 20 คน ทำไมไม่ 19 หรือมากกว่า 21?

มโนนึกว่าตัวเองเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดลำดับ 21 ก็จะอดกังขาไม่ได้ว่า ท่านเห็นเราเป็นพรรคพวกหรือสาวกของ “คนที่อยู่เมืองนอก” หรืออย่างไร?

หรือท่านไม่เชื่อความคิดและไม่เชื่อมือคนร่ำรวยลำดับที่เกินกว่า 21?

อีกประเด็นที่ชวนให้กังวลก็คือ มีคำพูดว่า “ช่วยกันเสนอวิธีแก้ปัญหามาคนละข้อ” คำพูดนี้จะจริงหรือเท็จไม่ทราบ แต่ฟังดูคล้ายกับเป็นคำสั่งของครูสอนเด็กชั้นประถม ทำให้นึกถึงคำแนะนำต่างๆ ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลไม่เคยอินังขังขอบเลย เพราะรัฐบาลมองว่าผู้เสนอเป็นพรรคพวกของอำนาจเก่าที่ไม่ปรารถนาดี

ถ้ามหาเศรษฐีไม่ติดอันดับ “ท็อปทเวนตี้” เสนอแนะให้รัฐบาล “ปราบโกง” อย่างจริงจังโดยมีจีนเป็นโมเดล ผู้เสนอจะถูกเชิญให้ออกจากที่ประชุมและจะถูกนำไปปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือไม่?

ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่ถูกตรวจสอบน้อยมาก โดยเฉพาะเงินที่อ้างว่าได้มาจากการบริจาค ดูเหมือนไม่มีการตรวจสอบเลย

แต่งานแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาติหนนี้ รัฐบาลได้เงินมาจากการกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่ขณะเดียวกันก็มีมหาเศรษฐีหลายท่านเอ่ยปากพร้อมจะบริจาคอีกด้วย

จึงมีทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา หลายท่านเอ่ยปากว่าคราวนี้จะตรวจสอบเข้มข้นเพราะเชื้อชั่วในรัฐบาลยังไม่ยอมตายเหมือนเชื้อโควิด

ในฐานะเศรษฐีไม่มีอันดับ ย่อมรู้สึกเป็นห่วงนายกรัฐมนตรี ผู้หวังว่าจะได้รับคำชมว่า “มาถูกทาง” อีกครั้ง คำชมจะเพี้ยนจนกลายเป็น “ไปถูกทาง” นะครับ!